ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมชลประทานตอบคำถาม 8 ข้อ ถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรณีคัดค้านเขื่อนแม่วงก์

กรมชลประทานตอบคำถาม 8 ข้อ ถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรณีคัดค้านเขื่อนแม่วงก์

5 พฤศจิกายน 2013


ภาพนี้คือผืนป่าบริเวณที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำทั้งหมด โดยสิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่านี่คืออุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คือลำน้ำแม่วงก์และที่ราบริมลำน้ำ ซึ่งเป็นลักษณะของพื้นที่ราบริมลำห้วย ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/SeubNakhasathienFD
ภาพนี้คือผืนป่าบริเวณที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำทั้งหมด โดยสิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่านี่คืออุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คือลำน้ำแม่วงก์และที่ราบริมลำน้ำ ซึ่งเป็นลักษณะของพื้นที่ราบริมลำห้วย
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/SeubNakhasathienFD

หลังจากที่องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นแถลงการณ์คัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ รวม 8 ข้อ กับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 และยื่นแก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 รวมถึงการเดินคัดค้านจากเขื่อนแม่วงก์มากรุงเทพฯ ซึ่งนำโดยนายศศิน เฉลิมลาภ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรระหว่างวันที่ 10–22 กันยายน 2556 นั้น

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 กรมชลประทานมีหนังสือตอบข้อชี้แจงถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียรทั้ง 8 ประเด็น ดังนี้

คำถามที่ 1 รายงานฉบับนี้ไม่ได้ให้ความจริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่นๆ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่นๆ หรือ เทคนิคกำหนดตัวแปรที่เบี่ยงเบนน้ำหนักของการเลือกที่ตั้ง ให้มาก่อสร้างในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

กรมชลประทาน : ทางกรมชลประทานมีกรอบดำเนินโครงการที่ชัดเจน มีผู้เชี่ยวชาญด้านวางโครงการ ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้านนิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ฯลฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และทางเลือกที่ดีที่สุดร่วมกัน

ภาพนิ่ง1

สรุปแล้ว ทางเลือกที่ 5 หรือการสร้างเขื่อนแม่วงก์และพัฒนาระบบชลประทานตามศักยภาพ มีความเหมาะสมที่สุด แม้จะเป็นทางเลือกที่สร้างผลกระทบมากที่สุดก็ตาม เพราะได้พื้นที่ชลประทานมากที่สุดทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ค่าลงทุนต่อปริมาตรน้ำต่ำที่สุดคือ 50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ที่สำคัญคือมีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR%) สูงที่สุด คือ มากกว่า 12

คำถามที่ 2 รายงานฉบับนี้ละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ ไม่มีการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ป่าโดยที่ตั้งของชุมชน ดังมีรายงานข้อมูลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการกระจายตัวของเสือโคร่ง ทั้งจากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย

กรมชลประทาน : สำหรับพื้นที่ตั้งเขื่อนแม่วงก์เป็นชุมชนมาก่อนจนกระทั่งปี 2530 จึงประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งพื้นที่เขื่อนคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของพื้นที่อุทยานและร้อยละ 0.1 ของฝืนป่าตะวันตก โดยพื้นที่โครงการห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ 35 กิโลเมตร ส่วนเรื่องเสือโคร่งจากการสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชปี 2554-2555 โดยตั้งกล้องถ่ายรวม 75 จุดพบว่า มีเสือโคร่งชนิดเดียวกับที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรจำนวน 10 ตัว ซึ่งจุดที่พบใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากหัวงานเขื่อนประมาณ 8 กิโลเมตร ดังนั้น การสร้างเขื่อนจึงไม่กระทบต่อมรดกโลก แต่อาจกระทบสัตว์ป่าเรื่องที่อยู่อาศัยและอาหาร แต่กรมชลประทานมีแผนปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว

คำถามที่ 3 ในรายงานระบุข้อมูลผลประโยชน์จากการสสร้างเขื่อนว่ามีพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 291,900 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 175,355 ไร่ จึงมีพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งเพียง 116,545 ไร่ ดังนั้น พื้นที่ได้รับประโยชน์จริงจึงน้อยกว่าสิ่งที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำจะไปทั่วถึงทั้ง 23 ตำบลตามที่ระบุในรายงาน หากพิจารณาเหตุผลที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่า และงบประมาณในการก่อสร้าง

ภาพนิ่ง3

กรมชลประทาน : โดยทั่วไปแล้วจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ร้อยละ 100 ส่วนในฤดูแล้งจะส่งน้ำได้ร้อยละ 20-40 ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในเขื่อนช่วงปลายฤดูฝน สำหรับเขื่อนแม่วงก์ พื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่ในฤดูฝนจะปลูกข้าว มีความต้องการน้ำเพื่อการชลประทานเฉลี่ย 700 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ส่วนฤดูแล้งจะทำนาปรังและพืชไร่มีความต้องการน้ำเพื่อการชลประทานเฉลี่ย 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่

จากการศึกษาของกรมชลประทานจากต้นทุนน้ำในเขื่อนแม่วงก์ที่ความจุเก็บกัก 258 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีน้ำไหลเข้าเฉลี่ยรายปี 262 ล้านลูกบาศก์เมตร พบว่า ได้พื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนทั้งหมด 301,900 ไร่ และในฤดูแล้ง 126,545 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 40 ของฤดูฝน ซึ่งพื้นที่ชลประทานนี้อาจปรับมากขึ้นหรือน้อยลงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในเขื่อนของปีนั้นๆ โดยฤดูฝนจะปล่อยน้ำจากเขื่อนเฉพาะช่วงฝนทิ้งช่วงเท่านั้นเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทั้งนี้ บางช่วงอาจไม่ต้องปล่อยน้ำให้พื้นที่ชลประทาน เพราะท้ายเขื่อนแม่วงก์มีลำน้ำสายอื่นไหลลงในลำน้ำแม่วงก์และไหลผ่านฝายในระบบของโครงการ 3 แห่ง คือ ฝายบ้านท่าตาอยู่ ฝายขุนราษฎร์บริบาล และฝายบ้านวังสำราญ จากนั้นไหลเข้าสู่พื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ได้บางส่วนหรือทั้งหมด

ภาพนิ่ง4

คำถามที่ 4 รายงานระบุชัดเจนว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึงร้อยละ 70-80 ที่ไหลลงมายังที่ราบอำเภอลาดยาว ดังนั้น การสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงไม่สามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่โครงการได้มากนัก รวมถึงมีผลบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนโมดูล A1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

กรมชลประทาน : อีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ เริ่มศึกษาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 ถึงกรกฎาคม 2555 ก่อนจะเกิดอุทกภัยปี 2554 โดยกรอบการศึกษาเน้นการช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานในเขตลุ่มน้ำแม่วงก์และลุ่มน้ำสะแกกรังบางส่วนเป็นหลักตามศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ และมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ก่อนที่จะมีโมดูลต่างๆ สำหรับเขื่อนแม่วงก์สามารถเก็บน้ำได้เกือบทั้งหมดที่ไหลลงมา จึงสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างได้เกือบร้อยละ 100 แต่อัตราจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีปริมาณน้ำด้านข้างจากลำน้ำสาขาไหลเข้ามาเติมจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ร้อยละ 1

ภาพนิ่ง5

คำถามที่ 5 การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่มีมาตรการที่แน่ใจได้เลยว่าจะได้ผล ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนไม่ได้ระบุว่าจะปลูกพื้นที่ใด มีเพียงการคำนวณว่าจะได้ไม้และผลประโยชน์มากกว่าที่ตัดทิ้งไป ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วพื้นที่นอกเขตอุทยานแม่วงก์มีแต่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านที่ไม่สามารถปลูกป่าได้ถึง 36,000 ไร่ตามที่ระบุ หรือมาตรการลดผลกระทบจากการล่าสัตว์และตัดไม้เกินพื้นที่ในระหว่างการก่อสร้างนั้นเป็นเพียงมาตรการทั่วๆ ไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลเคร่งครัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในขณะก่อสร้างไม่สามารถควบคุมการล่าสัตว์ที่จะไปถึงพื้นที่อื่นๆ รวมถึงห้วยขาแข้งได้

กรมชลประทาน : พื้นที่ปลูกป่า 30,000 ไร่หรือ 2 เท่าของพื้นที่ป่าที่สูญเสียไป ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโซน C บริเวณรอยต่อกับอุทยานเพื่อเป็นแนวกันชนของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยเป็นพื้นที่ที่ประชาชนให้ความร่วมมือด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการที่ประชาชนบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร จึงขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชนในการคัดเลือกพื้นที่และคืนพื้นที่ที่มีการบุกรุกเพื่อใช้ปลูกป่าทดแทน ทั้งนี้จะเสนอให้พื้นที่ปลูกป่านี้ผนวกรวมกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติด้วย

ภาพนิ่ง6

สำหรับมาตรการเรื่องการทำไม้ออกจากพื้นที่ รับผิดชอบโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ตามข้อกำหนดทางกฎหมาย ส่วนมาตรการการลักลอบล่าสัตว์ป่านั้น ทางกรมชลประทานมีแผนตั้งหน่วยพิทักษ์ในพื้นที่ดังกล่าว 3 แห่ง คือ หน่วยพิทักษ์ มว.4 (แม่เรวา) หน่วยพิทักษ์กลางน้ำพร้อมเรือตรวจการณ์ และหน่วยพิทักษ์บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ

ภาพนิ่ง7

คำถามที่ 6 การพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในการประชุมครั้งแรกปลายปี 2555 มีมติให้แก้ไขรายงานและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเสร็จภายใน 1 ปี

กรมชลประทาน : กรมชลประทานดำเนินการตามกรอบอีเอชไอเอที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนดอย่างครบถ้วน และศึกษาเพิ่มเติมหลายประเด็นตามมติ คชก. รวมถึงเรื่องนิเวศสัตว์ป่า ที่ต้องศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับขอบเขตที่อยู่อาศัยของเสือว่าเข้ามาใช้ประโยชน์หรือไม่ ซึ่งจากงานวิจัยของกรมอุททยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามรายละเอียดในข้อ 2 ก็พบว่า จุดที่พบเสือโคร่งใกล้ที่สุดอยู่ห่างไป 8 กิโลเมตร ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทางกรมชลประทานได้ทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าไว้แล้ว

คำถามที่ 7 พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล A5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์

กรมชลประทาน : คลองผันน้ำในโมดูล A5 มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยเป็นหลัก เน้นการผันน้ำเข้าคลองในฤดูน้ำหลาก และหากแนวคลองผันน้ำตัดผ่านคลองส่งน้ำหรือคลองระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์ บริเวณจุดตัดจะมีอาคารบังคับน้ำหรือประตูระบายน้ำ จึงสามารถบริหารน้ำเต็มศักยภาพเหมือนเดิม

คำถามที่ 8 ในการพิจารณารายงานฉบับนี้ รัฐบาลปรับเปลี่ยนบุคลากรของ สผ. และ คชก. อย่างน่าสงสัยตั้งแต่ต้นปี 2556 ได้แก่ การโยกย้ายตำแหน่งของเลขาธิการอย่าง ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ซึ่งมีชื่อเสียงการยอมรับในการทำงานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี มาเป็นนายสันติ บุญประคับ ซึ่งมีภูมิหลังทำงานด้านพัฒนาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จาก ดร.สันทัด สมชีวิตา ผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มาเป็นข้าราชการประจำ หรือนายสันติ บุญประคับ เลขาธิการ สผ. อาจจะสงสัยได้ว่าต้องเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เนื่องจากในขณะนั้นนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังทราบว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลใน คชก. ที่มีความเห็นทางวิชาการต่อความบกพร่องของรายงาน อาทิ ดร.อุทิศ กุฏอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าไม้ นายสมศักดิ์ โพธิสัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้ไม่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนประจำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมชลประทาน :การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน เนื่องจาก คชก. เป็นคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

อ่านฉบับเต็มกรมชลประทานตอบคำถาม 8 ข้อ