ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > การเมืองเดดล็อก มองทางถอย ทางสู้ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์”

การเมืองเดดล็อก มองทางถอย ทางสู้ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์”

7 พฤศจิกายน 2013


IMG_5166 (640x427)

อานุภาพทำลายล้ายของกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ที่ควบรวมคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าไปด้วย ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องตกอยู่ในภาวะ “เดดล็อก” ทางการเมืองอีกครั้ง

กฎหมายที่ชื่อว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง มีเพียง 7 มาตรา ผ่านการเห็นชอบด้วยการลงมติ 310 ต่อ 0 เสียง ไปแล้ว 7 วัน (สภาผู้แทนราษฎรลงมติวันที่ 31 ตุลาคม)

เป็น 7 วันที่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะถูกพลิกสถานะจากฝ่ายกำหนดเกมมาเป็นฝ่ายตั้งรับและนับถอยหลังวันละหลายก้าว ต้องพลิกตำรากฎหมายเพื่อถอยทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป่านกหวีดตัวจริง ผ่านนายโภคิน พลกุล และนายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กว่าจะรู้ตัวว่าต้องถอย ทุกอย่างก็ “เลยธง”

เพราะที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ มอบความไว้วางใจไว้ในมือของ นายสมชาย-นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ,นายนพดล ปัทมะ ,นายสาโรช หงษ์ชูเวช, นายภูมิธรรม เวชยชัย เท่านั้น ทิ้งให้ทีมยุทธศาสตร์พรรค นักกฎหมาย นักการเมืองรุ่น 111 ทั้งนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายชูศักดิ์ ศิรินิล บ้านเลขที่ 109 ให้อยู่วงนอก ทำให้การสั่งการและการตัดสินใจจำกัดอยู่ในวงแคบ ขาดการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่ล่อแหลม

ดังนั้น ตลอดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณและพวก จึงเป็นฝ่ายจัดวาระทางกฎหมาย และจัดวาระทางการเมือง โดยปราศจากข้อมูลจากทีมงานของนางสาวยิ่งลักษณ์ในตึกไทยคู่ฟ้า กฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรจึงหลุดไปสุดซอย มีทั้งตัดต่อ เพิ่มเติมประเด็น และปล่อยผีคดียักษ์ 13 คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ตลอด 7 วันแรกของการชุมนุมของฝ่ายต่อต้าน ผลักให้พรรคเพื่อไทยและคณะต้องตั้งรับแบบวันต่อวัน ต้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ถือโผ อ่านโพยการแถลงข่าววันละไม่น้อยกว่า 2 รอบ พร้อมส่งลูกให้นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นำทีมกรรมการบริหารพรรค แถลงข่าวด้วยคีย์เวิร์ด “ถอย” ทั้งที่พรรคและส่งสัญญาณสายตรงถึงทุกสถานีโทรทัศน์

ขณะที่แนวร่วมในฝ่ายนิติบัญญัติอย่างนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ต่างออกมาขยับวาระรับลูก ทั้งผลัก ทั้งดันให้กฎหมายนิรโทษ ต้องแท้งไปก่อนที่จะเริ่มปฏิสนธิ ในวาระแรกของสภาสูง

ส่วนแนวรบ ที่เคยเป็นแนวร่วม อย่างคนเสื้อแดง กลุ่ม นปช. ต่างถูก “เจ๊แดง” ผลักไสให้พ้นวงโคจรอำนาจ เคยเป็นทาส ก็ต้องไถ่ถอนตัวเองให้เป็นไท ทั้งนายจตุพร พรหมพันธ์ุ, นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ประกาศอิสรภาพจากการเป็นลูกข่ายของเพื่อไทย

ไม่ต้องนับรวมบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาของนายบรรหาร ศิลปอาชา, พรรคชาติพัฒนาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, พรรคพลังชลของนายสนธยา คุณปลื้ม ที่ต่างพากันหนีหายจากกระดานการเมือง

มีเพียงเสียงโทรศัพท์จาก “ผู้อาวุโส” แห่งพรรคร่วมคนหนึ่ง สายตรงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งสัญญาณข้ามประเทศขอให้ประกาศ “ถอย” แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เก็ต ยังคงสั่งเดินหน้าลุยต่อไป

เสียงโทรศัพท์จากผู้อาวุโสคนเดิม จึงไปเรียกเข้าที่โทรศัพท์แบลคเบอร์รีเครื่องเก่า-เบอร์เดิม ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ให้ส่งสัญญาณชะลอ-หรือหยุดกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ให้ส.ว.ตัดสินพรบ.นิรโทษกรรม  ที่มาภาพ :http://www.bangkokbiznews.com
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ให้ ส.ว. ตัดสิน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ที่มาภาพ: http://www.bangkokbiznews.com

เช้าวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 คณะทำงานในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ทั้งฝ่ายกฎหมายปีกซ้าย ปีกขวา จึงร่างคำแถลงขึ้นอย่างเร่งด่วน ก่อนวางให้นายกรัฐมนตรีขึ้นบนโพเดียมหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทว่า ถ้อยแถลงดังกล่าว กลับกลายเป็นการเรียกแขกให้เวทีพรรคประชาธิปัตย์มีมวลชนเข้าร่วมหนาตามากยิ่งขึ้น

ภาวะที่ไปไม่ถึง กลับไม่ได้ ต้องค้างอยู่กลางซอยอย่างโดดเดี่ยว จึงตกอยู่ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะจากพรรคประชาธิปัตย์ จึงย่างเท้าออกจากรัฐสภา ลงปักหลักข้างทางรถไฟสายมรณะ จากสถานีสามเสน สู่สถานีราชดำเนิน ปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากมวลชนนิรนาม และมวลชนระดับองค์กร ทั้งใน-ต่างประเทศ ท่วมท้น

ภายใต้การวางแผนอย่างรัดกุม-ด้วย “คณะกรรมการแกนนำ” ที่มีเพียง 4 คน คือ นายสุเทพ ,นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ พร้อมๆ กับการขับเคลื่อนการเมือง 3 ทาง

ทางที่ 1 มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวขบวน เดินสายได้ทุกเวที ปรากฏตัว ปรากฏความเห็น ได้ทุกระดับ ทั้งระดับเวทีราชดำเนิน, เวทีวิชาการ, เวทีในรัฐสภา และเวทีการเมืองทั่วประเทศ

ทางที่ 2 มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กับนายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา เป็นแกนนำ ขับเคลื่อนการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ ตระเตรียมข้อมูลสำหรับการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ คาดว่าจะยื่นภายในสัปดาห์กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นอย่างช้า

ทางที่ 3 มีนายสุเทพ และ “คณะกรรมการแกนนำ” และมีกุนซือกฎหมายระดับ “ทนายเทวดา” นายบัณฑิต ศิริพันธ์ุ จากสำนักงานทนายความเสนีย์ปราโมช เคียงข้างให้กำลังและแนะนำ การขับเคลื่อนที่คลาดจากการถูกฟ้องในคดีความต่างๆ

IMG_5118 (640x427) (640x427)

การขับเคลื่อนทุกจังหวะของฝ่ายประชาธิปัตย์ จึงรัดกุมอย่างยิ่ง ทุกจังหวะก้าว แม้แต่การก้าวจากเวทีสามเสนสู่ราชดำเนิน ตั้งเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยังผ่านการวิจัยวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์การเดินไปสู่ที่หมาย ภายใต้สมติฐานถึง 3 แห่ง กับ 1 สถานที่สักการะเอาฤกษ์เอาชัย

ในวันที่ต้องตัดสินใจทิ้งเวทีสามเสน “วอร์รูมวงเล็ก” จึงกางแผนที่ยุทธศาสตร์ ที่หมายแรกคือ วัดพระแก้ว เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จากนั้นกางแผนที่ 3 จุด คือ 1. ถนนราชดำเนิน 2. ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 3. หน้ากระทรวงการต่างประเทศ ทุกจุดอยู่นอกเขตการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคง

แต่ละจุด มีเป้าหมายและเงื่อนไขปัญหาต่างกัน เช่น หากไปลานคนเมือง อาจทำให้ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาทางการเมือง เพราะฝ่ายเพื่อไทยอาจอ้างข้อหาร่วมกันล้มล้างรัฐบาล กรณีหน้ากระทรวงการต่างประเทศ ในทางภูมิศาสตร์ เป็นพื้นที่แคบ ไม่สามารถรองรับมวลชนที่มีอารมณ์ร่วมไปไกลกว่าแกนนำ ตบเท้าเข้าร่วมวันละหลายหมื่นคนได้ แต่เป็นสมรภูมิรบที่ได้เปรียบในเชิงวาระการเคลื่อนไหว ในประเด็นเขาพระวิหารได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ในที่สุด คณะกรรมการแกนนำได้เลือกทำเล “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ด้วยเหตุผลเชิงสัญญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมือง ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยที่ฐานของอนุสาวรีย์ หันหลังให้สะพานพระปิ่นเกล้าฯ หันหน้าไปทางสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเป็นจุดเดียวกับการตั้งเวทีการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ในยุค 14 ตุลาคม 2516 และยังเป็นจุดที่ไม่ซ้ำรอยกับการตั้งเวทีของคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 ที่ตั้งเวทีบริเวณสะพานผ่านฟ้า หันหน้าไปทางลานอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า

อาจนับได้ว่า การจัดการม็อบการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ไม่ใช่ม็อบมือใหม่อีกต่อไป เพราะผ่านการจัดเวที “ผ่าความจริง ต้านกฎหมายล้างผิดคนโกง” มาแล้วทั่วประเทศ 70 กว่าเวที

ความครบเครื่องบนเวที จึงมีตั้งแต่คนรวบรวมประเด็นข่าวความเคลื่อนไหวทุกวัน จากโซเชียลเน็ตเวิร์ก, การนำแนวร่วมดาราคนบันเทิง, กลุ่มเซเลบริตี้, เอ็นจีโอขาใหญ่, ปัญญาชน, นักศึกษา, ประชาชน ที่ถูกเลือกขึ้นเวทีปราศรัยตั้งแต่ 16.00 นาฬิกา ไปถึงเวลา 05.30 ของทุกวัน

ยกเว้นแกนนำของม็อบบางคน ที่คณะกรรมการแกนนำต้องขอ “ยกเว้น” ไม่ให้ขึ้นเวที อาทิ “ผู้กองปูเค็ม” หรือร้อยเอกทรงกลด ชื่นชูผล อดีตนายทหารกองทัพบก หรือผู้นำจากกองทัพธรรมบางราย ที่ส่งสัญญาณผ่านคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ว่าต้องการขึ้นเวที แต่ก็ถูกปฏิเสธ

IMG_5179 (640x427)

หากมีนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการขึ้นเวทีปราศรัย ต้องยอมรับเงื่อนไข 3 ข้อ คณะกรรมการแกนนำจึงอนุมัติให้ “ผ่าน” ขึ้นเวทีได้ คือ 1. ห้ามปราศรัยหาเสียงให้ตัวเอง ให้พรรค 2. ห้ามพูดเรื่องผลงานพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต 3. ห้ามพูดชมเชยประจบนายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ต้องพูดประเด็นต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับ “คนโกง คนฆ่า คนเผา” เท่านั้น

คืนที่สองของการชุมนุม กรรมการแกนนำ จึงจัดให้ 3 พระกาฬการเมืองของพรรค ทั้งนายชวน-อภิสิทธิ์-สุเทพ ขึ้นเวทีเรียกมวลชนอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นแนวต้านการแถลงข่าวคำใหญ่ของฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยที่มีนัยว่า “ไม่ต้องการให้มีการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย”

สิ้นเสียงการยื่นคำขาดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานคณะกรรมการแกนนำ ม็อบต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม กลางดึกของค่ำคืน 7 วันอันตราย ที่เริ่มต้นจากสถานีรถไฟสายมรณะของรัฐบาลเพื่อไทย มุ่งหน้าปักหลักอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป้าหมายที่ไกลยิ่งกว่าไกลจากการต้านกฎหมาย กลายเป็นร่วมล้มรัฐบาล

คณะกรรมการแกนนำฝ่ายต่อต้านกฎหมายนิรโทษ ส่งเสียงกระซิบกันว่า เพื่อไทยยังมีทางถอยที่ยากยิ่งกว่ายากทั้ง 2 ทาง คือ ยุบสภา กับรัฐประหารตัวเอง แต่ทั้ง 2 ทางล้วนเป็นเส้นทางอันตราย กว่าจะหยิบ 2 ทางเลือกนี้มาใช้ ต้องตรึกตรองกันทั้งตระกูลชินวัตร ร่วมกับพรรคผู้อาวุโสในพรรคร่วมรัฐบาล และนายทหารสายสีแดง อีกหลายตลบ

ทางเลือก ทางถอย ของทั้งฝ่ายประชาธิปัตย์ และทางรอดของฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย จึงไปไกลกว่าการถอนกฎหมายออกจากรัฐสภา ถอนฟืนออกจากกองไฟ แต่ต้องถอนไฟออกจากใจคน ที่บัดนี้ร้อนรนยิ่งกว่าไฟในเตาฟืนแห่งความอคติ

ทั้งแกนนำฝ่ายประชาธิปัตย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย จึงคิดในใจและพูดออกไปสู่สาธารณะได้วันละคำ คือ “ต้องประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน”

สถานการณ์จะไปถึงไหน จบเมื่อไร จบอย่างไร ใน 180 วันตามกฎหมาย หรือมีช่องทางใหม่ ทั้ง 2 ฝ่ายล้วนต้องทดไว้ในใจ เพราะกุญแจที่ไขรหัส “เดดล็อก” ทางการเมือง ถูกโยนทิ้งน้ำไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และสุเทพ เป่านกหวีดประสานเสียง