ThaiPublica > เกาะกระแส > ผอ. “เอ็นเอสเอ” อหังการอินทรีหรือแพะรับบาป กรณีจารกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประชาชนทั่วโลกกว่าพันล้านคนในอย่างน้อย 35 ประเทศ

ผอ. “เอ็นเอสเอ” อหังการอินทรีหรือแพะรับบาป กรณีจารกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประชาชนทั่วโลกกว่าพันล้านคนในอย่างน้อย 35 ประเทศ

4 พฤศจิกายน 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

ที่มาภาพ : http://www.occupycorporatism.com
ที่มาภาพ : http://www.occupycorporatism.com

ในรอบเดือนที่ผ่านมา คงจะไม่มีข่าวใหญ่ข่าวใดฮือฮาไปทั่วทุกมุมโลกเท่ากับข่าวการเปิดโปงความชั่วร้ายและความอหังการของแดนดินถิ่นอินทรีผยองที่เที่ยวล้วงตับด้วยการแอบดักฟังโทรศัพท์ รวมทั้งจารกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ของประชาชนทั่วโลกกว่าพันล้านคนในอย่างน้อย 35 ประเทศที่เป็นทั้งมิตรและศัตรูของสหรัฐฯ ทั้งในยุโรป เอเชีย และลาตินอเมริกา อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน รัสเซีย บราซิล เม็กซิโก จีน และไทย ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ หรือสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำหลายประเทศ อาทิ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีแดนเบียร์เยอรมนีถึงกว่าสิบปี ตั้งแต่ก่อนหน้าที่เธอจะสวมหัวโขนนายกฯ เสียอีก

ผลของการเกาะติดข่าวของสื่อมวลชนตะวันตกที่ไม่ยอมปล่อยให้ข่าวฉาวโฉ่นี้หายไปกับสายลมแสงแดด นับตั้งแต่ได้ข้อมูลลับสุดยอดมาจากนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตลูกจ้างสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) และสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ยังพบว่าทำเนียบขาวยังรู้เห็นเป็นใจให้เอ็นเอสเอแอบเจาะเครือข่ายซึ่งเชื่อมโยงฐานข้อมูลของยาฮูและกูเกิล บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ที่มีอยู่ทั่วโลก แล้วส่งข้อมูลที่ได้ไปยังหน่วยงานเก็บข้อมูลสำนักงานใหญ่ในรัฐแมริแลนด์ทุกวัน ปรากฏว่า ในช่วงเวลาเพียง 30 วันเท่านั้น ก็มีข้อมูลที่สามารถระบุผู้ส่งและผู้รับอีเมล์ วันเวลา และเนื้อหาที่เป็นข้อความ เสียง รวมถึงวิดีโอ ของผู้ใช้บริการ ถูกนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้วถึง 180 ล้านครั้ง

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับนานาประเทศรวมทั้งกูเกิล ซึ่งต่างได้ตั้งคำถามเดียวกันว่า การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ เท่ากับละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการจารกรรมข้อมูลหรือไม่ แต่สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้ร้ายปากแข็งยืนยันว่าการล้วงตับความลับของประชาชนทั้งชาวอเมริกันหรือประชาชนทั่วโลกนั้นมีขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการก่อการร้าย จนสามารถสกัดกั้นแผนก่อการร้ายได้หลายครั้งด้วยกัน

จำเลยใหญ่ของคดีสะท้านโลกันตร์มากที่สุดในรอบปีหรืออาจจะในรอบหลายสิบปีก็คือสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ซึ่งแม้จะเป็นหน่วยสืบราชการลับระดับตัวแม่ที่เหนือชั้นว่าซีไอเอและเอฟบีไอไม่รู้กี่ร้อยเท่า หรืออาจจะใหญ่ยิ่งกว่าองค์การจารกรรมทั่วโลกเสียอีก ถ้าดูจากงบประมาณและบุคลากร แต่กลับปกปิดร่องรอยของตัวเองอย่างมิดชิดเหมือนกับเป็นองค์กรหรือนินจาล่องหนที่มีคนรู้จักน้อยมาก

ภารกิจสำคัญยิ่งของเอ็นเอสเอก็คือการสอดแนมความลับของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมไปถึงการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลลับของผู้นำทั่วโลกทั้งที่เป็นมิตรและศัตรู ตลอดจนติดตามและดักฟังเป้าหมายส่วนบุคคลในสหรัฐฯ แล้วนำมาถอดรหัสและวิเคราะห์ ก่อนจะป้อนข้อมูลเหล่านั้นให้กับผู้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านการทหาร เพื่อประโยชน์ด้านการตอบโต้การจารกรรม ตลอดจนมีหน้าที่หามาตรการป้องกันการถูกจารกรรมซ้อน

ส่วนรูปแบบการสอดแนมของเอ็นเอสเอจะแตกต่างไปจากสำนักข่าวกรองด้านการทหาร (ดีไอเอ) และซีไอเอ ซึ่งจะเน้นการใช้สายลับเป็นหลัก ขณะที่เอ็นเอสเอจะเน้นการจารกรรมทางไซเบอร์และการสอดแนมผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ ทำให้เอ็นเอสเอได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่มีเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์มากที่สุดในโลก นอกเหนือจากเป็นหน่วยงานที่จ้างนักคณิตศาสตร์มากที่สุดในโลก

ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk
ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk

บุรุษผู้เปรียบเสมือนเสาหลักหรือหัวเรือใหญ่ของเอ็นเอสเอก็คือนายพลสี่ดาวคีธ บี. อเล็กซานเดอร์ นายทหารใหญ่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการบริหารองค์กร กระทั่งได้สวมหมวก 3 ใบซ้อนคือ ผู้บัญชาการประจำกองบัญชาการไซเบอร์แห่งสหรัฐฯ (USCYBERCOM), ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) และผู้อำนวยการการบริหารความมั่นคงกลาง (ซีเอสเอส) มีหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผน ประสานความร่วมมือ และลงมือปฏิบัติการและป้องกันเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การจารกรรมหรือล้วงตับความลับของต่างประเทศ ตลอดจนดูแลเจ้าหน้าที่ของเอ็นเอสเอและซีเอสเอสทั้งที่เป็นทหารและพลเรือนหลายหมื่นคนที่ประจำการตามที่ต่างๆ ทั่วโลก

นายพลคีธ อเล็กซานเดอร์ เกิดที่เมืองซีราคิวส์ รัฐนิวยอร์ก เมื่อปี 2494 เริ่มก้าวสู่อาชีพทหารเมื่อตัดสินใจไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยท์ โดยเพื่อนร่วมรุ่นเดียวได้ติดยศนายพลสี่ดาวอีก 3 คน คือ นายพลเดวิด เพตราอุส อดีตผู้บัญชาการกองกำลังนานาชาติในอิรัก และผู้อำนวยการ ซีไอเอ ที่ลาออกเมื่อราว 2 ปีที่แล้วหลังตกเป็นข่าวฉาวเรื่องการมีชู้ นอกจากนี้ยังมีนายพลมาร์ติน เดมป์ซีย์ และนายพลวอลเตอร์ แอล ชาร์ป

หลังจบจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์แล้ว นายพลอเล็กซานเดอร์ได้ไปเรียนต่อจนได้ปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์จากสถาบันทหารสหรัฐและปริญญาโทอีกหลายใบ ทั้งปริญญาโทสาขาการบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ปริญญาโทสาขาการรบทางอิเล็กทรอนิกส์ และปริญญาโทด้านฟิสิกส์ รวมทั้งปริญญาโทด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติจากวิทยาลัยป้องกันแห่งชาติ

นอกจากนี้ นายพลอเล็กซานเดอร์ยังได้เรียนหลักสูตรพิเศษอีกหลายหลักสูตร อาทิ หลักสูตรพื้นฐานทหารยานเกราะ หลักสูตรพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง ที่วิทยาลัยทหารและวิทยาลัยสงครามแห่งชาติ

ระหว่างนั้น ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เคยเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหาร ประจำทบวงกองทัพบกในกรุงวอชิงตัน ประจำการกองบัญชาการความมั่นคงและข่าวกรองของกองทัพบกที่ฟอร์ท เบลวัวร์ เป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองประจำกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ฐานทัพอากาศแมคดิลล์ รัฐฟลอริดา นอกเหนือจากเคยทำงานที่หน่วยถอดรหัสข่าวกรองของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ ประจำการที่สหรัฐฯ และเยอรมนี

นายพลอเล็กซานเดอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกองบัญชาการความมั่นคงและข่าวกรองของกองทัพบกเมื่อปี 2544 มีเจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบกว่าหมื่นคนที่ประจำการทั่วโลก แต่ไม่ทันไรก็เหมือนกับถูกน็อคสลบกลางอากาศ เมื่อเกิดเหตุวินาศกรรมอาคารเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน นายพลอเล็กซานเดอร์จึงตอบโต้ด้วยการสั่งให้ตรวจสอบอีเมล์และดักฟังโทรศัพท์ของพลเมืองชาวอเมริกัน แม้จะไม่เคยมีประวัติพัวพันกับการก่อการร้าย รวมไปถึงโทรศัพท์ส่วนตัวของนักข่าว

อีก 2 ปีต่อมา ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเสนาธิการทหารฝ่ายข่าวกรองประจำกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งมีข่าวฉาวในเรื่องการทรมานและล่วงละเมิดนักโทษที่เรือนจำอาบู กราอิบ ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก แม้นายพลอเล็กซานเดอร์ให้การต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายกองทัพบกของวุฒิสภายอมรับว่าการล่วงละเมิดนั้นเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุด แต่ก็แก้ตัวว่าเป็นการกระทำของทหารที่ไม่เคารพระเบียบวินัยกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แม้ข่าวนี้จะเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แต่ไม่มีผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของนายพลกระดูกเหล็กอเล็กซานเดอร์แต่อย่างใด หนำซ้ำยังได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผอ.เอ็นเอสเอและซีเอสเอสเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2548 ก่อนจะสวมหมวกใบที่สามในตำแหน่งผู้บัญชาการประจำกองบัญชาการไซเบอร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2553

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งหน้าที่การงานที่เคยมั่นคงดังปราการเหล็กของนายพลอเล็กซานเดอร์ก็สั่นสะเทือนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เมื่อ “ฟ้าให้คีธ อเล็กซานเดอร์ มาเกิดแล้ว ก็ยังให้เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน มาเกิดด้วย” เพื่อสาวไส้เอ็นเอสเอใต้การนำของนายพลอเล็กซานเดอร์ มาประจานให้โลกรู้

ตั้งแต่ต้น ผอ.เอ็นเอสเอยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวว่า หน่วยจารกรรมของสหรัฐฯ กระทำการภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อป้องกันการโจมตีสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร พร้อมกันนั้นก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าเอ็นเอสเอไม่เคยดักฟังโทรศัพท์หลายสิบล้านเบอร์ รวมทั้งยืนยันว่าเอ็นเอสเอไม่ได้เจาะเครือข่าย ยาฮู-กูเกิล ทั่วโลก อ้างว่าเอ็นเอสเอไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทอเมริกันใดๆ ก็ตาม เนื่องจากจำเป็นต้องทำผ่านกระบวนการศาล

ก่อนหน้านี้ นายพลอเล็กซานเดอร์ย้ำว่าโครงการนี้ไม่ได้ละเมิดสิทธิส่วนตัวของชาวอเมริกันแต่อย่างใด ทุกอย่างที่ทำลงไปอยู่ในขอบเขตของกฏหมายสหรัฐฯ พร้อมกับคุยโวว่าการดักฟังโทรศัพท์ของมะกันชนทำให้สามารถยับยั้งการก่อการร้ายจากทั่วโลกถึง 54 ครั้ง รวมถึง 13 ครั้งในสหรัฐฯ ไว้ได้

ไม่ว่าจะพยายามแก้ตัวสักแค่ไหน สุดท้ายนายพลสี่ดาวคีท อเล็กซานเดอร์ ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างเงียบๆ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นแพะรับบาปตัวโตสังเวยข่าวฉาวโฉ่เหมือนกับแพะรับบาปหลายตัวที่เคยถูกเชือดก่อนหน้านี้