ThaiPublica > เกาะกระแส > กางงบฯ กสทช. ปี ’56 ค่าใช้จ่าย 5 อันดับแรก 815 ล้าน “บริจาค-ประชาสัมพันธ์-เดินทางต่างประเทศ”

กางงบฯ กสทช. ปี ’56 ค่าใช้จ่าย 5 อันดับแรก 815 ล้าน “บริจาค-ประชาสัมพันธ์-เดินทางต่างประเทศ”

7 พฤศจิกายน 2013


รายงานโดย อริญชย์ เมธีกุล

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) นำเสนอรายงานในหัวข้อ “การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานกำกับดูแล: กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศ” โดย ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปรียบเทียบการใช้จ่ายงบประมาณของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับองค์กรที่มีหน้าที่คล้าย กสทช. ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา คือ Ofcom และ Federal Communications Commission(FCC) ตามลำดับ

ดร.พรเทพกล่าวว่า งบประมาณของ กสทช. ในปี 2555 มีประมาณ 4,000 ล้านบาท ขณะที่ FCC และ Ofcom มีประมาณ 6,000 ล้านบาท และ 11,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งขนาดของกิจการโทรคมนาคม โทรทัศน์ และการกระจายเสียง ของอังกฤษและสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 8 และ 40 เท่าตามลำดับ นอกจากนี้จำนวนพนักงานของ กสทช. มีจำนวน 1,097 คน ในขณะที่ Ofcom และ FCC มีจำนวนพนักงาน 735 และ 1,685 คนตามลำดับ

ตารางเปรียบเทียบ งบประมาณ ขนาดกิจการ และ จำนวนพนักงาน ปี 2555

ดร.พรเทพกล่าวต่อว่า ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานปี 2555 ประมาณ 1,400 ล้านบาท กสทช. บริหารได้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หลักขององค์กรตามแผนแม่บทเท่าที่ควร โดยรายจ่ายในส่วนนี้ 5 อันดับแรกที่ใช้สูงสุดคือ

1. เงินบริจาคและการกุศล 245.4 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานปี 2555
2. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ 206.5 ล้านบาท คิดเป็น 14%
3. ค่าจ้างเหมาบริการอื่นๆ 137.1 ล้านบาท คิดเป็น 9%
4. ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ 113.6 ล้านบาท คิดเป็น 8%
5. ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม 112.6 ล้านบาท คิดเป็น 8%

รวมทั้งหมดแล้ว 815.2 ล้านบาท คิดเป็น 56.5% ของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน หรือคิดเป็น 23% ของงบประมาณ กสทช. ปี 2555 ทั้งหมด

งบประมาณ กสทช. ปี 2555

ดร.พรเทพกล่าวต่ออีกว่า การบริจาคถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ กสทช. ไม่ควรทำเพราะไม่ใช่บทบาทของตนเอง กสทช. ควรระลึกว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาจากค่าธรรมเนียมซึ่งควรนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนากิจการโทรคมนาคม โทรทัศน์ และการกระจายเสียง ให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ Ofcom และ FCC ไม่มีงบประมาณในด้านนี้

ข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ เรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ กสทช. โดยค่าใช้จ่ายในส่วนการเดินทางของ กสทช. ทั้งในและต่างประเทศในปี 2555 คือ 231 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ Ofcom และ FCC นั้นมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพียง 79 ล้านบาท และ 57 ล้านบาทตามลำดับ กสทช. ตั้งงบประมาณในการเดินทางของคณะกรรมการ กสทช. รวมถึงงบรับรองในปี 2556 ไว้ที่ 400,000 บาทสำหรับการเดินทางในประเทศต่อคณะกรรมการหนึ่งคนต่อปี และ 3 ล้านบาทสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศต่อคณะกรรมการหนึ่งคนต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปี 2557

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ในปี 2555 มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 113.6 ล้านบาท ขณะที่ FCC มีค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ประมาณ 10 ล้านบาท

“ถ้า กสทช. คิดว่าทรัพยากรที่มีอยู่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็ควรส่งงบประมาณที่เหลือกลับคืนสู่รัฐเพื่อให้รัฐจัดสรรตามหน้าที่ และใช้ประโยชน์ตามกระบวนการรัฐต่อไป” ดร.พรเทพกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณที่ไม่มีการระบุถึงที่มาของการใช้ชัดเจน คือ งบประมาณสำหรับ “ภาระต่างๆ ที่จำเป็น” จำนวน 970 ล้านบาท

ดร.พรเทพได้ให้ข้อเสนอว่า กสทช. ควรรายงานและแจกแจงการใช้งบประมาณอย่างชัดเจนและเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส และทุกปีควรมีการประเมินคุณภาพ เช่น สามารถบริหารงบประมาณที่ได้ไปอย่างคุ้มค่าไหม ผลงานที่ออกมาเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน ต้องปรับปรุงตรงไหนบ้าง เป็นต้น

ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ชี้แจงว่า “ภาระต่างๆ ที่จำเป็นก็คืองบขั้นพื้นฐานในการทำกิจกรรมของสำนักงาน ถามว่าคืออะไร ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเขาไม่เคยแจกแจงแยกย่อยว่าคืออะไร”