ThaiPublica > เกาะกระแส > จดหมายเปิดผนึกถึง รมต.กระทรวงทรัพยากรฯ แสดงจุดยืนไทยคัดค้านโครงการเขื่อนดอนสะโฮง

จดหมายเปิดผนึกถึง รมต.กระทรวงทรัพยากรฯ แสดงจุดยืนไทยคัดค้านโครงการเขื่อนดอนสะโฮง

18 พฤศจิกายน 2013


ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก หยุด เขื่อนไซยะบุรี(stop Xayaburi Dam)
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก หยุด เขื่อนไซยะบุรี(stop Xayaburi Dam)

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มภาคประชาสังคม เครือข่ายประชาชน และบุคคลผู้อาศัยและพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาทั้ง 8 จังหวัดในประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรในประเทศไทยผู้ติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน แถลงข่าวและได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยขอเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แสดงความชัดเจนในจุดยืนของรัฐบาลไทยในประเด็นข้อเท็จจริงในเรื่องสถานะของเขื่อนดอนสะโฮงต่อประชาชนและภาคประชาสังคมไทย และทำการยับยั้ง สปป. ลาว ในทันที (อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึง 4 นายกรัฐมนตรีไปแล้ว)

ดังเป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่า ในช่วงมากกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขา เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ต่อประชาชนของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง และได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อโลก จากการที่เขื่อนเป็นตัวทำลายล้างพื้นที่แห่งความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศวิทยาและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก ข้อเสนอการสร้างเขื่อน นับตั้งแต่โดยประเทศจีนในแม่น้ำโขงทางตอนบน และมาบัดนี้โดย สปป.ลาวซึ่งประกาศตัวว่าจะเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชีย” ได้กลายเป็นสาเหตุแห่งความแร้นแค้นทางทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรประมง และทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศเพิ่มพูนขึ้น

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก หยุด เขื่อนไซยะบุรี(stop Xayaburi Dam)
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก หยุด เขื่อนไซยะบุรี(stop Xayaburi Dam)

พวกเราเชื่อว่า รัฐบาลไทยได้รับรู้ปัญหาที่มาจากการสร้างเขื่อนทั้ง 6 เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในเขตประเทศจีนต่อประชาชนในเขตภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมาโดยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งความขัดแย้งที่มาจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีขนาด 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างเขื่อนแรกที่ถูกเสนอสร้างโดย สปป.ลาว ในช่วงปี พ.ศ. 2553 โดยบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ของประเทศไทยได้รับสัมปทานเป็นผู้พัฒนาโครงการ ที่ผ่านมากระบวนการเสนอและสร้างเขื่อนไซยะบุรียังค้างคาและไม่ชัดเจน แต่ สปป. ลาว ก็ยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อนนี้ต่อไป แม้ว่าจะได้รับการประท้วงและปฏิเสธโดยรัฐบาลเวียดนาม และกัมพูชา รวมถึงภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และเราเชื่อว่า หากเขื่อนถูกสร้างสำเร็จ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี จะกลายเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดต่อลำน้ำโขง และประเทศที่ต้องพึ่งพาลำน้ำโขงทั้งหมด และในกรณีเขื่อนไซยะบุรีนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า กำลังตกเป็นจำเลยต่อการตั้งคำถามทั้งในภูมิภาคและจากภาคส่วนต่างๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ ผลกระทบของการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงโดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ ได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลแล้วจำนวนหนึ่งโดยเครือข่ายประชาชนในจังหวัดภาคอีสาน ดังรายละเอียดตามเอกสารการศึกษาที่แนบมาพร้อมนี้

เราประสงค์ที่จะส่งจดหมายเปิดผนึกนี้มายังท่านเพื่อขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการแม่น้ำโขงฝ่ายไทย ได้ทบทวนสถานะและความเห็นในประเด็นเขื่อนใหญ่ในลุ่มน้ำโขงและความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราขอเรียกร้องให้ท่านเร่งตรวจสอบและคัดค้านกระบวนการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่ สปป.ลาว กำลังเสนอสร้างเป็นเขื่อนที่สองบนแม่น้ำโขงสายหลักโดยทันที

เราเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องรวบรวมบทเรียนที่เกิดมาก่อนหน้าในเรื่องการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อตรวจสอบและทบทวนท่าทีของตนเอง และดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนไทยอย่างแท้จริง

ในกรณีการสร้างเขื่อน “ดอนสะโฮง” ในพื้นที่ “สีพันดอน” ของลาวใต้ อันเป็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักแห่งที่สองที่ สปป.ลาว เสนอที่จะเริ่มการก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายนนี้ ประเด็นที่ขอให้ตรวจสอบ และเหตุผลที่ไทยควรคัดค้านเขื่อนแห่งนี้โดยทันทีมีดังนี้

หนึ่ง ผลกระทบที่มหาศาลและผลประโยชน์อันน้อยนิด – เขื่อนดอนสะโฮง มีกำลังผลิตติดตั้ง 260 เมกะวัตต์ หรือใหญ่กว่าเขื่อนปากมูนของไทยประมาณ 1 เท่าโดยใช้ระบบเดียวกัน คือเป็นเขื่อนประเภท run-of-river หรือเขื่อนที่ใช้ตัวลำน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำ โดยการขุดท้องน้ำให้ลึกขึ้นและทำการปั่นไฟจากกระแสน้ำที่ไหลผ่าน ทั้งนี้ในท้ายที่สุด ไฟฟ้าที่ใช้ได้จริงอาจเป็นเพียง 1 ใน 3 ของกำลังผลิตติดตั้งเท่านั้น เช่นเดียวกับเขื่อนปากมูล แต่ทว่า เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนที่ถูกเสนอให้สร้างในช่องทางน้ำช่องทางเดียวของพื้นที่ “สีพันดอน” ที่ปลาสามารถว่ายผ่านขึ้นลงได้ตลอดปีเพื่อวางไข่และขยายพันธุ์ ทั้งนี้ สีพันดอน คือ พื้นที่สำคัญที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขงสำหรับการแพร่ขยายพันธุ์ของปลา โดยปลาที่ผ่านทางฮูสะโฮง คือปลาจากทะเลสาบเขมรของกัมพูชา ปลาจากลำน้ำสาขาที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งเซกอง เซซาน และสเรป็อกของกัมพูชา รวมไปถึงจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ทั้งนี้หมายถึงว่า หากปิดกั้นฮูสะโฮงเพื่อสร้างเขื่อน โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ คือประเทศลาวและบริษัทผู้สร้างสัญชาติมาเลเซีย ประเทศอื่นๆ ในลุ่มน้ำจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดและโดยทันที เนื่องจากระบบที่สัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งและแยกออกจากกันไม่ได้ของลำน้ำโขงและลุ่มน้ำเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องการประมงในพื้นที่ลำน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประชาชนในจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย ก็ย่อมจะได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กแม่น้ำโขง: อิสระแห่งสายน้ำ
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กแม่น้ำโขง: อิสระแห่งสายน้ำ

ทั้งนี้ ผลกระทบในเรื่องการประมงในลุ่มแม่น้ำโขง ได้ถูกศึกษาและนำเสนอมาโดยต่อเนื่องโดยนักวิชาการจากนานาประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2551 เมื่อ สปป.ลาว เสนอสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในช่วงแรก กลุ่มนักวิชาการทั่วโลกได้เขียนจดหมายคัดค้านโดยทันที (ปรากฏตามสำเนาจดหมายที่แนบมาพร้อมนี้) โดยแสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งกับประเด็นผลกระทบทางการประมง

สอง กระบวนการที่บิดเบือนและถือเป็นการละเมิดข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 ของ สปป.ลาว – โดย สปป.ลาวอ้างว่า เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนที่สร้างในลำน้ำสาขา ไม่ใช่บนลำน้ำโขงสายหลัก ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจากดอนสะโฮงเป็นส่วนของแม่น้ำโขงสายหลักที่แตกตัวออกเนื่องจากเกาะแก่งในเขตสีพันดอน ก่อนที่จะมารวมตัวกันอีกครั้งในทางตอนล่างและไหลต่อไปยังประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ เขื่อนดอนสะโฮงถูกบรรจุไว้ในชุดของเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก 12 เขื่อนที่มีการเสนอไว้ก่อนหน้านี้ เป็นที่รับรู้โดยประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดังนั้นการบิดเบือนเพื่อการเร่งกระบวนการการสร้างเขื่อน โดยอาศัยกลไกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงด้วยการยื่น “แจ้งล่วงหน้า” (prior notification) แทนที่จะเป็น “ปรึกษาหารือล่วงหน้า” (prior consultation) กับประเทศสมาชิกอื่นๆ จึงเป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ จักต้องแสดงจุดยืนและคัดค้านในทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ สปป.ลาวยื่นการแจ้งล่วงหน้าเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาและแจ้งว่าจะทำการก่อสร้างในเดือนนี้ (พฤศจิกายน)

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประชาชนและภาคประชาสังคมไทย ได้เห็นข้อพิสูจน์แล้วว่า กระบวนการภายใต้กรรมาธิการแม่น้ำโขงเป็นสิ่งที่ล้มเหลวมาโดยตลอด และข้อตกลงการใช้แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนปี พ.ศ. 2538 ระหว่างไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลำน้ำและประชาชนในภูมิภาคได้ ปัจจัยหนึ่งของความล้มเหลว คือการที่ทางสำนักเลขานุการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง อ้างเสมอว่าจะทำงานตามการเสนอของรัฐบาลประเทศสมาชิกเท่านั้น ไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องของประชาชนในลุ่มน้ำได้

เราจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้แสดงความชัดเจนในจุดยืนของรัฐบาลไทยในประเด็นข้อเท็จจริงในเรื่องฐานะของเขื่อนดอนสะโฮงต่อประชาชนและภาคประชาสังคมไทย และทำการยับยั้ง สปป.ลาวในทันที ทั้งนี้ ทั้งในกรอบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและกรอบอำนาจอื่นๆ ที่มีอยู่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งจากกลไกในระดับภูมิภาคที่ทางรัฐบาลยอมรับและเป็นสมาชิก

นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแสวงหาข้อมูล และแก้ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงที่นับวันก็จะทับทวีมากขึ้นอย่างชัดเจนโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

เราขอยื่นจดหมายฉบับนี้ต่อ ฯพณฯ เพื่อเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้น และหวังว่าจะได้รับการตอบสนองและการตอบรับจาก ฯพณฯ ตามที่ร้องขอ เพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยและประชาชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งมวล

อ่านเพิ่มเติม

1. การศึกษาผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขง
2. ดอนสะโฮงจดหมายนักวิทยาศาสตร์ปี 2550
3. จดหมายดอนสะโฮงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

103 องค์กรภาคประชาชนเรียกร้อง รัฐบาลไทยต้องยับยั้ง “เขื่อนดอนสะโฮง” ในลาว

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556  ตัวแทนชาวบ้านแม่น้ำโขง องค์กรพัฒนาเอกชน และช่างภาพมืออาชีพ ร่วมกันแถลงข่าวแสดงความเป็นห่วงต่อโครงการ “เขื่อนดอนสะโฮง” และเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลในการยับยั้ง สปป.ลาวจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ในพื้นที่สีพันดอน ทางตอนใต้ของลาว
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ตัวแทนชาวบ้านแม่น้ำโขง องค์กรพัฒนาเอกชน และช่างภาพมืออาชีพ ร่วมกันแถลงข่าวแสดงความเป็นห่วงต่อโครงการ “เขื่อนดอนสะโฮง” และเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลในการยับยั้ง สปป.ลาวจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ในพื้นที่สีพันดอน ทางตอนใต้ของลาว

ตัวแทนชาวบ้านแม่น้ำโขง องค์กรพัฒนาเอกชน และช่างภาพมืออาชีพ ร่วมกันแถลงข่าวแสดงความเป็นห่วงต่อโครงการ “เขื่อนดอนสะโฮง” และเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลในการยับยั้ง สปป.ลาว จากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ในพื้นที่สีพันดอน ทางตอนใต้ของลาว

สืบเนื่องจากการที่ 103 องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายภาคประชาชน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก (ตามแนบ) หัวข้อ “ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แสดงจุดยืนเพื่อคัดค้านโครงการเขื่อนดอนสะโฮงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และตรวจสอบกระบวนการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงสายหลักทั้งหมด” ถึง นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันนี้(18 พฤศจิกายน 2556)

ทั้งนี้ นายมนตรี จันทวงศ์ จากโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) กล่าวว่า จากการศึกษาของในปี 2550 ที่ร่วมทำกับองค์กรท้องถิ่น พบว่ามูลค่าของปลาที่จับได้ด้วย “หลี่” และเครื่องมือหาปลาอื่นๆ ในฮูสะโฮง มีมูลค่าถึง 41-50 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์และแหล่งรายได้ที่สำคัญของการประมง

นายมนตรียังได้กล่าวถึงประเด็นที่ลาวพยายามระบุว่า พื้นที่สร้างเขื่อนดอนสะโฮงนั้นไม่ใช่ช่องทางน้ำหลัก ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นทางภาคประชาชนไทยจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้สิทธิในการระงับยับยั้งเพื่อให้ลาวต้องเอาโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (prior consultation) ไม่ใช่เพียงแค่แจ้งให้ทราบ (prior notification)

“เอกสารรายงานสิบกว่าปีที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ต่างเข้าใจร่วมกันเสมอมาว่า เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก และมันได้แสดงอยู่ในเอกสารของเอ็มอาร์ซีมาโดยตลอดด้วย การที่ลาวบอกว่าเป็นเพียงน้ำสาขาเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และอีกสามประเทศในแม่น้ำโขงตอนล่างต้องมีส่วนในการรับทราบและได้รับการปรึกษาหารือ เรา-ภาคประชาชนไทยจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการประท้วงโดยเร็วที่สุด” นายมนตรี กล่าว

ส่วนนายสุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพอิสระ ผู้ผลิตผลงานในประเด็นแม่น้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง (ผลงานสารคดีแม่น้ำโขงล่าสุดชุด “อวสานแม่น้ำโขง: จากไซยบุรีถึงสี่พันดอน เมื่อเขื่อนใหญ่สยบมหานที” ในนิตยสารเนชันแนล จีโอกราฟฟิก) พูดถึงข้อสังเกตจากการทำงานระยะเวลา 3 ปีในพื้นที่สีพันดอนของลาวว่า “ปลาเป็นรายได้หลักของประชาชนในพื้นที่ แม้ว่าชาวบ้านจะยังทำนาเป็นหลัก ฮู (รู-หรือช่องทางน้ำผ่าน) สะโฮงเป็นที่ๆ กว้างและความลาดชันน้อย เป็นทางผ่านของทั้งปลาทุกชนิดทั้งปลาเล็กและปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาบึกและปลากระโห้ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกจับได้ที่ฮูสะโฮง เพราะฮูอื่นๆ เป็นหน้าผาชันและน้ำแรงมาก แม้ฮูสะดำก็ไม่ค่อยมีปลาใหญ่ผ่าน ใหญ่ที่สุดคือ 20 กิโลกรัม และฮูช้างเผือกก็เป็นฮูที่มีความสูงชันมาก”

“ลาวเองก็บอกว่าพื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญ และเมื่อเร็วๆ นี้ มีการห้ามไม่ให้ประชาชนจับปลา โดยให้เหตุผลว่าต้องการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ผมก็เห็นด้วยว่าต้องมีการจัดการที่เหมาะสม แต่สงสัยว่าทำไมจึงมีแผนจะปิดฮูสะโฮงซึ่งมีความสำคัญเช่นนี้” นายสุเทพกล่าว

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าห่วงเรื่องการท่องเที่ยวในบริเวณสี่พันดอนคือ ปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ฮูสะโฮง จะทำให้ปริมาณน้ำในบริเวณโดยรอบลดลง รวมทั้งที่คอนพะเพ็งด้วย ซึ่งหากน้ำลดลงถึงครึ่งหนึ่งในฤดูแล้ง จะมีคนไปเที่ยวหรือไม่

ขณะที่นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบล ภายใต้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มนํ้าโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) กล่าวถึงการศึกษาของชุมชนริมโขงในภาคอีสานของไทยซึ่งชี้ให้เห็นถึงการพึ่งพาแม่น้ำโขงของประชาชนที่มีความสำคัญยิ่ง “เราไม่ใช่เพียงแค่จับปลา เรายังพึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งในเรื่องการเกษตร ปลูกผักริมโขงโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย ผลกระทบที่จะเกิดตามมามีมากมาย ทั้งเรื่องตลิ่งพัง และผลผลิตปลาที่จะลดลง ผลกระทบจากเขื่อนกลายเป็นชะตากรรมของประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ต้องเผชิญ ซึ่งรัฐบาลลาวต้องคำนึงถึง และรัฐบาลไทยต้องทำหน้าที่ทักท้วง เราเห็นว่าตอนนี้ทุกรัฐบาลกำลังทำสิ่งที่เรียกว่า “ลูบหน้าปะจมูก” เพราะต่างก็อยากสร้างเขื่อนของตัวเอง ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ต่างพากันสนใจเรื่องความมั่นคงทางพลังงานมากกว่าความมั่นคงทางอาหาร และอย่าลืมว่า การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วย เมื่อลาวอยากเป็น “แบตเตอรีเอเซีย” แต่กลับทำลายแหล่งอาหารของประชาชนในภูมิภาค พวกเราพี่น้องลุ่มแม่น้ำโขง ขอยืนยันว่า พวกเราจะต่อสู้จนถึงที่สุด และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย”

ทั้งนี้ จากการประสานงานระหว่างองค์กรภาคประชาชนเพื่อเข้าพบพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเขื่อนดอนสะโฮงกับ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เลื่อนออกไปจากวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งกำหนดการใหม่ที่เป็นไปได้ในขณะนี้คือ ต้นเดือนธันวาคม โดยองค์กรภาคประชาชนไทยยังคงยืนยันต้องการพบโดยด่วนที่สุด