ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (5): 10 ปี 9 อธิบดี แต่หาข้อสรุปไม่ได้ ส่วน “ดีเอสไอ-คลัง-สตง.” จี้ส่งคดีให้ศาลชี้ขาด

ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (5): 10 ปี 9 อธิบดี แต่หาข้อสรุปไม่ได้ ส่วน “ดีเอสไอ-คลัง-สตง.” จี้ส่งคดีให้ศาลชี้ขาด

18 พฤศจิกายน 2013


ข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรและบริษัทแอมเวย์ ที่ยังไม่มีข้อยุติเพราะความเห็นต่างของสำนักสืบสวนและปราบปราม (สสป.) กับ สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (สมพ.) ฝั่ง สสป. ในฐานะผู้จับกุมบอกว่า “ต้องนำเงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ตัวแทนจำหน่าย (IBO) นำมาเสียภาษีนำเข้า” ขณะที่ สมพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านประเมินราคาศุลกากรบอกว่า “เป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาด” ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีนำเข้า โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีอธิบดีกรมศุลกากรเกี่ยวข้องกับคดีนี้ 9 คน และอดีตอธิบดีกรมศุลฯ ดำเนินการอย่างไร ทำไมคดียืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

รายชื่ออธิบดีกรมศุลที่เกี่ยวข้องกับคดีแอมเวย์

ที่มาของข้อพิพาทระหว่างแอมเวย์กับกรมศุลฯ เริ่มในสมัยนายชวลิต เศรษฐเมธีกุล เป็นอธิบดีกรมศุลกากร หลังจากที่กรมศุลฯ รับเรื่องร้องเรียนจากสายสืบ วันที่ 6 สิงหาคม 2547 เจ้าหน้าท สสป. นำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมหมายศาล เข้าตรวจค้นและยึดเอกสารของบริษัทแอมเวย์มาตรวจสอบ ยังไม่ทันจะสรุปสำนวนตั้งข้อกล่าวหาก็ปรากฏว่า วันที่ 31 สิงหาคม 2547 คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายนายชวลิตมาเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง และนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อธิบดีกรมสรรพสามิตมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรแทน

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า “คดีนี้เริ่มต้นขึ้นในสมัยนายชวลิต เศรษฐเมธีกุล เป็นอธิบดี แต่พอมาถึงสมัยของผม คดีนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ สสป. ซึ่งต้องใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐาน ตรวจสอบความถูกต้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ข้อมูลต่างๆ ก็ยังไม่ครบถ้วน ขณะนั้นผมจึงไม่สามารถตัดสินใจดำเนินการใดๆ ได้ คดีนี้คงต้องไปถามอธิบดีกรมศุลฯ คนปัจจุบันว่าจะเอาอย่างไรดีกว่ามาถามผม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นายสถิตย์จะถูกย้ายมาเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ วันที่ 24 ตุลาคม 2549 เจ้าหน้าที่ สสป. ได้เชิญบริษัทแอมเวย์มารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับ ประเมินภาษีย้อนหลัง 10 ปี คิดเป็นมูลค่า 4.651 ล้านบาท ซึ่งบริษัทแอมเวย์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมกับยื่นคำชี้แจ้งเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ สสป. และสำนักกฎหมาย (สกม.) เมื่อนายชวลิต เศรษฐเมธีกุล กลับมาเป็นอธิบดีกรมศุลกากรอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550 ไม่ได้สั่งการใด เพราะเหลือเวลาทำงานไม่ถึง 9 เดือนก็เกษียณอายุราชการ

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร ที่มา : http://www.goosiam.com/news/news1/admin/my_documents/my_pictures/36B_551000011274501.jpg
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร
ที่มา: http://www.goosiam.com/

วันที่ 1 ตุลาคม 2550 กระทรวงการคลังส่งนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ มานั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร นายวิสุทธิ์กล่าวว่า “ผมได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร 2 ครั้ง ครั้งแรกที่มานั่งในตำแหน่งนี้ ก็มีเจ้าหน้าที่ทำเรื่องคดีแอมเวย์เสนอขึ้นมาให้พิจารณา แต่ผมไม่สามารถสรุปสำนวนคดีอะไรได้ เพราะเจ้าหน้าที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ สสป. มีความเห็นว่าให้นำเงินโบนัสเป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากร ส่วนเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายมีความเห็นว่าไม่ควรนำมารวม และเท่าที่ผมจำได้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรียกผมไปชี้แจงเรื่องนี้ด้วย คดียังไม่ทันสรุป ผมถูกย้ายมาเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง จากนั้นผมได้รับการแต่งตั้งกลับไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากรครั้งที่ 2 ทำงานที่นั่นได้ไม่กี่เดือนก็เกษียณอายุราชการ”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรต่อจากนายวิสุทธิ์ โดยนายสมชัยกล่าวว่า “ก่อนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมีความคิดเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจะให้นำเงินโบนัสมารวมในราคาศุลกากร อีกฝ่ายหนึ่งบอกไม่ควรรวม ผมจึงขอให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรทำเป็นหนังสือยืนยันว่าควรจะรวมหรือไม่ควรรวม ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่กล้ายืนยัน แนวทางในการแก้ไขปัญหาของผมคือต้องส่งให้ WCO เป็นผู้วินิจฉัย เพื่อให้อธิบดีกรมศุลกากรได้มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคดีนี้ตามหลักสากล จากนั้นผมถูกย้ายออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ไม่ได้ติดตามเรื่องว่าอธิบดีกรมศุลฯ ที่มารับตำแหน่งต่อจากผมส่งเรื่องไปถาม WCO หรือไม่”

นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

วันที่ 1 ตุลาคม 2553 นายประสงค์ พูนธเนศ มารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรต่อจากดร.สมชัย วันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 สำนักงานผู้แทนการค้าไทย เชิญตัวแทนจากกรมศุลกากรและบริษัทแอมเวย์ มาประชุมเพื่อหาทางยุติปัญหาข้อพิพาท ที่ประชุมมีมติให้กรมศุลกากรและบริษัทแอมเวย์รวบรวมประเด็นปัญหาเขียนไปถาม WCO โดยที่ประชุมตกลงกันว่า ในระหว่างที่รอคำวินิจฉัยของ WCO ให้กรมศุลกากรชะลอการดำเนินคดีกับบริษัทแอมเวย์ไว้ชั่วคราว จนกว่าจะทราบผลการวินิจฉัยของ WCO โดยกรมศุลกากรยืนยันว่าจะปฏิบัติตามความเห็นของ WCO

นายประสงค์ พูนธเนศ อดีตอธิบดีกรมศุลกากรในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า เกิดขึ้นมานานและผมก็ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรมา 2 ปี ตอนนี้ผมอยู่นอกวงโคจร ไม่ต้องการไปก้าวก่ายงานของอธิบดีกรมศุลฯ คนปัจจุบัน และที่สำคัญ จำเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว”

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต

ในระหว่างที่กรมศุลกากรทำเรื่องไปหารือ WCO นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ย้ายมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรแทนนายประสงค์ นายสมชาย กล่าวว่า “หลังจากที่กรมศุลกากรรวมรวมประเด็นปัญหาข้อพิพาทกรณีแอมเวย์เขียนไปถาม WCO ผมก็ต้องรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการด้านเทคนิคของ WCO ตามข้อตกลงของที่ประชุมวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ในระหว่างนี้ให้กรมศุลกากรชะลอการดำเนินคดีบริษัทแอมเวย์เอาไว้ก่อน ผลการวินิจฉัยของ WCO เป็นอย่างไรก็ต้องว่ากันไปตามนั้น แต่อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรก็ต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักกฎหมาย, สสป. และ สมพ. ที่สำคัญ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับบริษัทแอมเวย์ด้วย”

ด้านนางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “หลังจากที่ ครม. มีมติแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ประเด็นปัญหาข้อพิพาทแอมเวย์-กรมศุลฯ ถูกส่งไปถามความเห็น WCO ทางกรมศุลกากรก็รอผลการวินิจฉัยของ WCO ซึ่งในระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ตนได้ดำเนินการสรรหาข้าราชการที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สมพ. เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องนี้ พอตนแต่งตั้งเสร็จเรียบร้อยในช่วงต้นปี 2556 ก็ลาออกจากอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง”

นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นางเบญจา กล่าวต่อไปอีกว่า “ก่อนที่จะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกประชุมผู้บริหารกรมศุลกากรหลายเรื่อง เฉพาะคดีแอมเวย์ ตนขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และต้องรับผิดชอบความคิดเห็นนั้นด้วย หลังจากนั้นได้ไม่นาน สมพ. เสนอความเห็นว่า ไม่ควรนำโบนัสไปรวมในราคาศุลกากร แต่ทางสำนักกฎหมาย และ สสป. เห็นว่าต้องนำโบนัสไปรวมในราคาศุลกากร ตนจึงสั่งให้นำคดีแอมเวย์เข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลกากร หากผลการพิจารณาออกมาเป็นอย่างไรให้ดำเนินการทันที แต่ต้องดำเนินการอย่างมีเหตุมีผลและอธิบายได้ วันนี้ตนอยู่ในฐานะ รมช.คลัง ไม่ต้องการไปชี้นำ ควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่อธิบดีกรมศุลกากรคนปัจจุบันเป็นผู้ตัดสินใจ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นางเบญจาจะไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการวันที่ 1 กรกฏาคม 2556 ช่วงกลางเดือนเมษายน 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคาศุลกากรครั้งที่ 36 มี มติให้แขวนประเด็นข้อหารือกรณีแอมเวย์เอาไว้ในภาคผนวกที่ 3 ตามข้อเสนอของศุลกากรไทย หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เริ่มทยอยทำหนังสือมาสอบถามความคืบหน้าคดีแอมเวย์กับกรมศุลกากร อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร ทวงถามความคืบหน้าคดีแอมเวย์ 3 ฉบับ ขณะที่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมศุลกากร เห็นควรให้ส่งคดีแอมเวย์ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการก่อนคดีหมดอายุความ

นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร
นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร

วันที่ 27 สิงหาคม 2556 ครม. มีมติแต่งตั้งนายราฆพ ศรีศุภอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังมาเป็นอธิบดีกรมศุลกากร ต่อมา วันที่ 15 ตุลาคม 2556 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงนายราฆพ แสดงความเป็นห่วงเกรงว่าคดีแอมเวย์ไม่สามรถหาข้อยุติและสั่งคดีได้ ทำให้ใบขนสินค้าจำนวน 4,700 ฉบับทยอยหมดอายุความตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 จึงเสนอแนะให้กรมศุลกากรดำเนินการดังนี้

1. ให้กรมศุลกากรศึกษารายละเอียดของรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นำมากำหนดราคาสินค้า กรณีที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีความสัมพันธ์กัน
2. ควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยอาจส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาโดยเร็ว
3. สตง. ขอทราบแนวทางในการดำเนินการกับบริษัทแอมเวย์ ในเรื่องใบขนสินค้าหมดอายุและกำลังจะหมดอายุความ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากใบขนดังกล่าว