ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สถานการณ์สหกรณ์ฯ คลองจั่น 1 เดือนหลังกรรมการชุดชั่วคราวบริหาร ความหวังที่รอคอยของสมาชิก!

สถานการณ์สหกรณ์ฯ คลองจั่น 1 เดือนหลังกรรมการชุดชั่วคราวบริหาร ความหวังที่รอคอยของสมาชิก!

22 พฤศจิกายน 2013


สถานการณ์วิกฤตของ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง แม้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ปลดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก ออกจากคณะกรรมการชุดที่ 29 และแต่งตั้งคณะกรรมการสหกรณ์ชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำในวงการสหกรณ์ของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม จนถึงขณะนี้ผ่านไปประมาณกว่าหนึ่งเดือน “ไทยพับลิก้า” จึงรวบรวมความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องดังนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในด้านการฟ้องร้อง พบว่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 มีสมาชิกฟ้องคดีแพ่งสหกรณ์ฯ คลองจั่นข้อหาผิดสัญญาเงินฝากทั้งสิ้น 37 ราย รวมทุนทรัพย์กว่า 177.6 ล้านบาท ส่วนเจ้าหนี้สหกรณ์ฟ้องสหกรณ์ฯ คลองจั่น 3 ราย ได้แก่ สหกรณ์ฯ ครูปทุมธานี สหกรณ์ฯ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว และสหกรณ์ฯ โรงพยาบาลราชวิถี รวมทุนทรัพย์ 1,030 .8 ล้านบาท โดยบางคดีมีคำพิพากษาให้สหกรณ์ยอมความตามคำฟ้อง บางคดีมีการไกล่เกลี่ย และบางคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง

นอกจากนี้ยังมีคดีอื่นๆ เช่น คดีดำที่ 3742/2556 โจทก์คือนายกวีวงศ์ ประกอบเสริม ฟ้องละเมิดและเรียกค่าเสียหายกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นและคณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 28 ทุกคน (นายมณฑล กันล้อม ประธานคณะกรรมการดำเนินการ) มีทุนทรัพย์ 4 ล้านบาท คดีที่เครือบริษัทรัฐประชา ฟ้องสหกรณ์ฯ คลองจั่น และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานฯ กับพวก คดีปลอมแปลงเอกสาร และสัญญาเงินกู้ และคดีดำที่ อ. 3472/2556 นางสาวจารุชา ติระกิจสุนทร ฟ้องส่วนตัว นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ในข้อกล่าวหาปลอมแปลงเอกสารและสัญญาเงินกู้ และคดีดำที่ ช. 1176/2556 อัยการสั่งฟ้องนายศุภชัยข้อหาจ่ายเช็คที่ไม่สามารถเบิกเงินได้

ข่าวนายศุภชัย ศรีศุภอักษรในหนังสือพิมพ์เกียวเชือก

ในขณะที่ฝ่ายนายศุภชัยก็มีความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 นายศุภชัยและคณะกรรมการชุดที่ 29 ทั้งหมดยื่นอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 706/2556 เรื่องปลดผู้บริหารสหกรณ์ฯ คลองจั่นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 กับคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เกลียวเชือก โดยให้เหตุผลคัดค้าน 3 เหตุผลที่นายทะเบียนใช้ปลด สรุปได้ 7 ข้อ ดังนี้

1. กรรมการสหกรณ์ฯ ชุดที่ 29 ไม่มีส่วนรับรู้การยืมเงินทดรองในชื่อนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เนื่องจากเป็นการกระทำของคณะกรรมการในอดีต และสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ในฐานะผู้กำกับดูแลไม่ได้เข้าตรวจสอบหรือแนะนำตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน

2. กรรมการสหกรณ์ฯ ชุดที่ 29 ไม่มีส่วนรับรู้การปล่อยกู้ให้กับสมาชิกสมทบรวมทั้งสิ้น 28 ราย ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2555 โดยที่ผ่านมามีการรับรองงบการเงินทุกปีจากผู้สอบบัญชีอย่างไม่มีเงื่อนไขมาโดยตลอด อีกทั้งสำนักฯ พื้นที่ 2 ในฐานะผู้กำกับดูแลไม่เข้าตรวจสอบ แนะนำ หรือให้สหกรณ์ปรับปรุงแก้ไข

3. กรณีคณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 28 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยมีบุคคลภายนอกสหกรณ์เข้าร่วมด้วยนั้น จนมีการเปิดเผยเอกสารที่เป็นความลับของสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์เสียหายอย่างร้ายแรง แต่นายทะเบียนโยนความผิดให้คณะกรรมการชุดที่ 29

4. การถอนฟ้องคดียักยอกทรัพย์ที่คณะกรรมการชุดที่ 28 ฟ้องนายศุภชัยและพวกไว้รวม 5 คดี คณะกรรมการชุดที่ 29 เห็นว่า งบการเงินตั้งแต่เริ่มมีสมาชิกสมทบในปี 2547 ถึงปัจจุบัน ได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชีสหกรณ์อย่างไม่มีเงื่อนไข และได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ทุกปี มีเพียงระบุว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันบางส่วนไม่ทราบราคาประเมินและบางสัญญาเงินกู้หลักทรัพย์ต่ำกว่ามูลหนี้ แสดงว่าสหกรณ์ยังไม่ได้รับความเสียหายจากการยักยอกทรัพย์ อีกทั้งดีเอสไอเคยมีหนังสือ (อสพ) 0800/061 เมื่อวันที่ 19 เมษายน รับรองว่าสอบสวนไม่พบการกระทำผิดยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ ดังนั้น คณะกรรมการชุด 29 พิจารณาแล้วว่า เมื่อศาลยังไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องคดีทั้ง 5 และคณะกรรมการชุดที่ 28 ปล่อยให้คดีที่นำไปฟ้องขาดอายุความ ประกอบกับคณะกรรมการชุดที่ 28 นำเอามูลคดีความผิดและความเสียหายเรื่องเดียวกันร้องเรียนกับตำรวจกองปราบ, ปปง. และดีเอสไอ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานหลังกำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนอยู่ การถอนฟ้องจึงไม่ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย

5. กรณีขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิให้กับสมาชิกสหกรณ์เพียง 2 ราย โดยหักจากเงินรับฝากของสมาชิก 2 รายนั้น กรรมการชุดที่ 29 ไม่มีส่วนรู้เห็นการซื้อหุ้นกู้ดังกล่าว และสำนักส่งเสริมฯ พื้นที่ 2 ส่งหนังสือให้ระงับการขายหุ้นกู้ดังกล่าวหลังจากที่ขายหุ้นกู้ไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามคำสั่งได้

6. กรณีที่อ้างว่าคณะกรรมการชุดที่ 29 แสดงเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ไม่เป็นความจริงเพราะปฏิบัติตามคำสั่งโดยดีมาตลอด และชุดที่ 29 ไม่มีส่วนรู้เห็นการบริหารสหกรณ์ในอดีต นายทะเบียนสหกรณ์จึงควรปลดคณะกรรมการชุดที่ 28 แทน ไม่ควรโยนความรับผิดชอบให้ชุดที่ 29

7. คำสั่งปลดคณะกรรมการชุดที่ 29 ขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ และกระทำไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 60 เพราะโทษคือห้ามเป็นกรรมการในสหกรณ์ใดๆ ตลอดชีวิต ถือว่าเกินกว่าเหตุ

ส่วนความคืบหน้าของกรรมการชุดชั่วคราว หลังจากที่นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยประกาศลาออกเมื่อเดือนตุลาคม มีกรรมการลาออกเพิ่มเติมอีก 4 ราย ได้แก่ นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานชุมนุมสหกรณ์เกษตรฯ, นายสุรศักดิ์ วานิชกิจ ประธานชุมนุมสหกรณ์เพาะพันธ์ุสัตว์น้ำ, นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายศุภกิจ แก้วทรง สมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมสหกรณ์มีคำสั่งแต่งตั้งนายเฉลิมพล ดุลสัมพันธ์ รองประธานชั่วคราว สหกรณ์ฯ คลองจั่น ขึ้นเป็นประธานแทน และแต่งตั้งกรรมการแทนผู้ที่ลาออกอีก 2 ราย ได้แก่ นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์กรมบัญชีกลาง และนายสรรเสริญ อัจจุตมานัส ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ปัจจุบันเหลือกรรมการอยู่ 12 คนจากที่เคยแต่งตั้งไว้ 15 คน

สมาชิกนั่งรอที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยหวังว่าจะเบิกเงินได้
สมาชิกนั่งรอที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยหวังว่าจะเบิกเงินได้

นอกจากนี้วันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 สหกรณ์ฯ คลองจั่นออกประกาศ เลื่อนการชะลอความช่วยเหลือสมาชิกตามความจำเป็นและเดือดร้อน จากเดิมที่มีแนวทางให้สมาชิกถอนเงินได้บางส่วนตามความจำเป็นจนกว่าเงินของสหกรณ์จะหมด โดยให้เหตุผลว่ามีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ร้องให้ศาลบังคับคดีตามคำพิพากษา และศาลให้กรมบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีสหกรณ์ จึงไม่เหลือเงินเพียงพอจ่ายให้สมาชิก

วันที่ 8 พฤศจิกายน กรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเปิดห้องประชุมชี้แจงการดำเนินงานในรอบ 1 เดือนพร้อมสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่นตามคำเชิญของกลุ่มสมาชิกที่ใช้ชื่อว่าเพื่อนช่วยเพื่อน โดยมีกรรมการชุดชั่วคราวเข้าร่วม 3 ราย ได้แก่ นายมานะ สุดสงวน เลขานุการสหกรณ์, นายสมชาย ทองพันธุ์อยู่ เหรัญญิกและผู้จัดการสหกรณ์ และนายศุภกิจ แก้วทรง กรรมการสหกรณ์ โดยมีสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่นเข้าร่วมราว 300 คน

นายสมชายกล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ซึ่งเป็นวันรับตำแหน่ง พบความจริงว่าสหกรณ์ฯ คลองจั่นมีเงินเหลืออยู่เพียง 12 ล้านบาท แม้ตัวเลขกำไรที่ปรากฏในรายงานการประชุมปี 2555 จะเป็น 400 ล้านบาท แต่ความจริงกลับขาดทุนในปีนั้นกว่า 500 ล้านบาท เพราะรายได้ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยค้างรับจากกลุ่มสมาชิกสมทบ สถานภาพสหกรณ์ปัจจุบันขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ต้องพึ่งภาครัฐช่วยเยียวยา

“ปัญหาของวันนี้เกิดจากสมาชิกสหกรณ์ไว้วางใจกรรมการสหกรณ์ว่าพวกเขาจะดูแลเงินให้ นี่คือปัญหาที่ท่านเจอ เวลาประชุมใหญ่ประจำปี ท่านฝากเงินไว้ 1 ล้านบาท ได้ดอกเบี้ย 55,000 บาท ท่านก็ดีใจพอใจแล้ว ไม่ดูบริบทว่าคืออะไร ไม่ได้สนใจงบบัญชีว่ามีความเป็นมาอย่างไร กำไร 400 ล้านมาเป็นปันผลได้ร้อยละ 10 ได้อย่างไร งบดุลก็ต้องเปิดเผยถ้าสมาชิกสหกรณ์ร้องขอ” นายสมชายกล่าว

ผู้จัดการสหกรณ์ฯ คลองจั่นกล่าวอีกว่า มีสมาชิกโทรศัพท์มาสอบถามทุกวัน ได้รับฟังความทุกข์ความเดือดร้อนของสมาชิก พบว่ามีแต่คนเดือดร้อนแสนสาหัส ทุกๆ วันที่มาสหกรณ์จะเห็นสมาชิกสูงวัยมานั่งรอที่สหกรณ์ ถามว่ามาทำอะไรกัน ได้คำตอบว่ามานั่งรอเผื่อจะถอนเงินได้บ้าง แต่ก็ไม่มีใครสมหวัง

ส่วนการแก้ปัญหาของคณะกรรมการชั่วคราว นายสมชายกล่าวว่า ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการทั้งระยะสั้นและระยะกลางแล้ว อยู่ระหว่างการเจรจาประนอมหนี้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ และเจรจาขอกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องจากสหกรณ์พันธมิตร แต่ยังติดเงื่อนไขที่ว่าต้องมีภาครัฐค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจน นอกเหนือไปจากเงินที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดสรรผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (กพส.) 100 ล้านบาท เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นต้องมีการกู้จากที่อื่นๆ

นอกจากนี้ คณะกรรมการประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งรับผิดชอบทรัพย์สินของนายศุภชัยที่อายัดไว้ในรูปแบบคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ โดยมีความคิดจะคืนทรัพย์สินบางส่วนให้สหกรณ์ก่อน ซึ่งได้รับการยินยอมจากนายศุภชัยแล้วหลายแปลง ล่าสุดมีผู้ติดต่อขอซื้อที่ดินอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นเงินประมาณ 300 ล้านบาท แต่เนื่องจากติดจำนองราว 230 ล้านบาท จึงอาจได้เงินคืนไม่ทั้งหมด และจะติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ 28 ราย 32 สัญญา

ด้านมาตรการสำหรับสมาชิกสหกรณ์ นายสมชายกล่าวว่า เนื่องจากมีสมาชิกลุ่มหนึ่งเคยฟ้องสหกรณ์ข้อหาผิดสัญญาเงินฝาก แล้วกรรมการชุดที่ 29 ทำสัญญายอมผ่อนชำระเงินในชั้นศาล แต่เมื่อถึงเวลาชำระกลับไม่สามารถจ่ายเงินตามขั้นตอนตามกฎหมาย จึงนำไปสู่การบังคับคดี อายัดทรัพย์สินสหกรณ์ คณะกรรมการจะพยายามเจรจากับสมาชิกที่ฟ้องเพื่อขอให้ถอนอายัด ปัจจุบันจึงยังไม่สามารถให้สมาชิกถอนเงินได้จนกว่าจะได้เงินกู้

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายไม่อนุมัติให้สมาชิกลาออก เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าหุ้นสหกรณ์ต่ำกว่าหุ้นละ 10 บาทมาก และไม่สามารถคำนวณได้ว่าราคาหุ้นที่แท้จริงคือเท่าใด รวมทั้งไม่อนุมัติให้โอนเงินหุ้นเป็นเงินฝาก และคืนสถานะสมาชิกสำหรับคนที่หยุดส่งค่าหุ้น แต่ออกมาตรการอนุญาตให้โอนเงินในบัญชีออมทรัพย์เพื่อชำระค่าหุ้นรายเดือนได้ ไม่ต้องนำเงินสดมาชำระ

ในที่ประชุมสมาชิกหลายรายเสนอให้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากจากเดิมร้อยละ 5.5 และลดเงินปันผลของปีนี้ อีกทั้งเสนอให้ลดค่าใช้จ่ายโดยให้ปิดสาขาที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และอาจลดจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับปริมาณงาน ซึ่งกรรมการเห็นชอบบางส่วน และคาดว่าน่าจะออกเป็นมติในอนาคต สมาชิกบางรายเสนอให้เร่งรัดดำเนินการฟ้องร้องกับอดีตผู้บริหารสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งทวงเงินคืนจากวัดพระธรรมกาย

หลังการประชุมสมาชิกส่วนใหญ่จับกลุ่มพูดคุยอย่างวิตกกังวลถึงความอยู่รอดของสหกรณ์ โดยส่วนมากรู้สึกพอใจระดับหนึ่งที่คณะกรรมการชั่วคราวชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ควรมีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ นอกจากนี้ สมาชิกบางส่วนนำรูปของนายศุภชัยที่ติดอยู่หลายแห่งในสหกรณ์ออกเพื่อระบายอารมณ์

นายกิตติก้อง คณาจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามคดีฟอกเงินและยาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นายจิรเดช วรเพียรกุล นายกสมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง ในสมัยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่นตามหมายเรียกของดีเอสไอ โดยนายจิรเดชให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอเลื่อนให้การไปอีก 30 วัน ส่วนนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ประธานกลุ่มบริษัทรัฐประชา ขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาไปอีก 10 วัน โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2556 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติดหรือ ปปง. ร่วมกับดีเอสไอ ยึดอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาสองรายนี้ได้มูลค่าราว 2 แสนบาท

สำหรับประเด็นเรื่องคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายดีเอสไอ ปปง. และกรรมการชั่วคราวของสหกรณ์ จะขายที่ดินแปลงใหญ่ที่ถูกอายัดไว้ของนายศุภชัย บริเวณอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นายกิตติก้องกล่าวว่า เรื่องนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นพอประคองตัวไปได้ เพราะขณะนี้ทราบจากกรรมการชั่วคราวว่า สหกรณ์มีรายรับที่ต่ำมาก และสมาชิกก็เดือดร้อนกันมานาน ถ้ามีหนทางใดสามารถหารายได้เข้าสหกรณ์ก็จำเป็นต้องรีบทำ เมื่อเจรจากับเจ้าของที่ดินคือนายศุภชัยให้ยินยอมขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องสหกรณ์ได้ก็ต้องรีบดำเนินการ

“ส่วนประเด็นราคาที่ดิน ดีเอสไอตั้งธงว่าราคาขายต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน คือ ราว 100 กว่าล้านบาท แต่เนื่องจากที่ดินแปลงนี้และแปลงอื่นๆ ที่ยึดมาได้ล้วนติดจำนอง ทำให้สหกรณ์จะไม่ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน แต่ดีเอสไอจะเจรจาให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นได้รับเงินคืนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท” นายกิตติก้องกล่าว