ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤติสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นลามเป็นลูกโซ่ สหกรณ์อีก 70 แห่งป่วน แบงก์งดปล่อยกู้แถมปรับขึ้นดอกเบี้ย สมาชิกเดือดร้อนแห่กู้นอกระบบ-ถอนเงิน-ลาออก

วิกฤติสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นลามเป็นลูกโซ่ สหกรณ์อีก 70 แห่งป่วน แบงก์งดปล่อยกู้แถมปรับขึ้นดอกเบี้ย สมาชิกเดือดร้อนแห่กู้นอกระบบ-ถอนเงิน-ลาออก

19 พฤศจิกายน 2013


ปี 2556 เป็นปีที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับวงการสหกรณ์ โดยประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” แต่ปีนี้วงการสหกรณ์กลับต้องเผชิญวิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จากเหตุวิกฤติสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

ตัวเลข 16,000 ล้านบาทเป็นตัวเลขกลมๆ ที่นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยอมรับในวันที่กรมมีคำสั่งปลดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และคณะ จากตำแหน่งกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นชุดที่ 29 ว่าเป็นเงินที่มีปัญหาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของนายศุภชัยและอดีตผู้บริหารสหกรณ์

ผลกระทบ ณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาระบุว่า ยอดเงินค่าหุ้นรวมกับเงินฝากออมทรัพย์ที่สมาชิกยื่นขอถอนจำนวน 4,400 ล้านบาท มากกว่านั้นสมาชิกหลายรายฟ้องร้องสหกรณ์เนื่องจากผิดสัญญาเงินฝาก

ขณะที่สมาชิกหรือผู้ฝากรายบุคคลของสหกรณ์ฯ คลองจั่นมีสถานภาพที่หลากหลาย ตั้งแต่ชาวชุมชนแฟลตคลองจั่น บ้านเอื้ออาทร ข้าราชการเกษียณ หรือแม้แต่นักธุรกิจที่มีฐานะร่ำรวย แต่ส่วนใหญ่มีจุดร่วมหนึ่งคือไม่ค่อยกระจายการลงทุน อาจด้วยเงินปันผลและดอกเบี้ยปลอดภาษีที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสหกรณ์ด้วยกัน

สมาชิกสหกรณ์นั่งคุยปรับทุกข์ ที่ระเบียงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นทุกๆวัน
สมาชิกสหกรณ์นั่งคุยปรับทุกข์ที่ระเบียงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นทุกๆ วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีสมาชิกรายบุคคลของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นอีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หมุนเวียนกันมานั่งเฝ้าที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยหวังว่าวันหนึ่งถ้าสหกรณ์อนุญาตให้ถอนเงินจะได้เป็นคิวแรก ระหว่างรอก็จับกลุ่มพูดคุยปรับทุกข์ซึ่งกันและกัน หลายคนไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมให้หลาน หลายคนต้องปล่อยที่ดินหลุดจำนองไป หรือหนักกว่านั้นคือไม่มีเงินจะดำรงชีวิต เพราะเงินฝากในธนาคารอื่นไม่มี บัตรเครดิตก็รูดจนเต็มวงเงิน มีสมบัติเก่าก็เอาไปจำนำหมด บางคนแก้ปัญหาโดยเอาของมาขายในสหกรณ์ให้สมาชิกร่วมทุกข์ช่วยกันอุดหนุน

นอกจากนี้ มีผู้ฝากเงินที่เดือดร้อน อย่างมูลนิธิบ้านนกขมิ้น มูลนิธิขนาดเล็กซึ่งดำเนินกิจการให้ความอุปการะเด็กเร่ร่อนทั่วประเทศ ทั้งการดำรงชีวิตและให้การศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยนายสุรชัย สุขเขียวอ่อน หรือครูอ๊อด ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวว่ามูลนิธิบ้านนกขมิ้นไม่ได้เป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ คลองจั่น แต่เริ่มนำเงินมาฝากออมทรัพย์พิเศษตั้งแต่ 3 ปีก่อน โดยปัจจุบันมียอด 5 แสนกว่าบาท เงินส่วนนี้มีความสำคัญกับมูลนิธิมาก เพราะเป็นเงินที่เก็บเอาไว้จ่ายค่าเทอมเด็กๆ ที่อยู่ในการดูแล ปัจจุบันทั้งประเทศมีจำนวน 200 คน อายุตั้งแต่ 3 ขวบจนถึงจบปริญญาตรี มูลนิธิแห่งนี้ไม่ได้มีเงินเก็บจำนวนมาก ปกติต้องใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน เฉลี่ยเดือนละ 5 แสนบาท และถึงแม้มูลนิธิจะกระจายเงินเก็บไว้ที่อื่นๆ บ้าง แต่ก้อนที่ฝากไว้กับสหกรณ์ฯ คลองจั่นมีจำนวนมากที่สุด คิดเป็นราวร้อยละ 60 ของเงินทั้งมูลนิธิ ปัจจุบันมูลนิธิพยายามหมุนเงินจากส่วนอื่นๆ มาชำระค่าเทอม หรือพยายามผัดผ่อนกับทางสถานศึกษา

“ผมคิดว่าหลักการสหกรณ์ที่เป็นการรวมพลังกันของคนเล็กคนน้อย เป็นหลักการที่ดี ที่น่าศรัทธา ประกอบกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นก่อตั้งมานานก็ไม่เคยมีปัญหา ก็เชื่อว่าสถาบันการเงินอย่างสหกรณ์จะมีความมั่นคง เพราะมีภาครัฐที่รณรงค์ให้คนออมกับสหกรณ์คอยสอดส่องดูแล ประชาชนไม่มีทางรู้ว่ามีปัญหาซ่อนอยู่ เงิน 5 แสนของมูลนิธิเป็นเงินที่ผู้คนในสังคมมีจิตกุศลให้เด็กๆได้มีอนาคตที่ดี ผมก็คิดว่าเงินก้อนนี้ต้องเก็บรักษาไว้ในที่ดีที่สุด จึงเลือกฝากกับสหกรณ์ฯ คลองจั่น แต่ไม่อยากเชื่อว่าผมจะเลือกผิด แบบนี้ต่อไปประชาชนที่ไหนจะเหลือความศรัทธาในระบบสหกรณ์อีก ก่อนเกิดปัญหาเราคาดหวังว่าภาครัฐจะช่วยสอดส่องแทนและช่วยเยียวยาบ้าง และถ้าหากภาคราชการดูแลแต่แรกก็คงไม่มีปัญหาอย่างทุกวันนี้” นายสุรชัยกล่าว

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก เพื่อนครูอ๊อด บ้านนกขมิ้น
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก เพื่อน ครูอ๊อด บ้านนกขมิ้น

ผลกระทบไม่เพียงเฉพาะสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่นเท่านั้น ด้วยสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมีสินทรัพย์มากเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และมีสินทรัพย์มากเป็นอันดับ 9 เมื่อเทียบกับสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 8 พันแห่ง ขณะเดียวกัน มีสหกรณ์อื่นๆ นำเงินมากฝากกว่า 70 สหกรณ์ คิดเป็นยอดเงินรวมกว่า 8,000 ล้านบาท เมื่อสหกรณ์เจ้าหนี้ดังกล่าวถอนเงินจากสหกรณ์ฯ คลองจั่นไม่ได้ การบริหารสภาพคล่องเริ่มมีปัญหา ส่งผลให้สมาชิกของแต่ละสหกรณ์เจ้าหนี้ไม่มั่นใจ ทำให้สภาพคล่องในระบบสหกรณ์โดยเฉพาะออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนหายไปนับหมื่นล้านบาท

ขณะที่สหกรณ์หลายแห่งที่มีสภาพคล่องสูง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน พร้อมเพิ่มเงื่อนไขในการปล่อยกู้ และปรับลดระยะเวลาให้กู้ยืม

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับสถานะความเสี่ยงวงการสหกรณ์เป็น “กลุ่มความเสี่ยงสูง” ไม่ว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ย ไม่รับการค้ำประกันด้วยบุคคล ไม่ต่อตั๋วเงินทั้งระยะสั้นและยาว หรือบางแห่งถึงกับขึ้นบัญชีดำ ห้ามปล่อยกู้ให้สหกรณ์ที่นำเงินมาฝากที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น

แหล่งข่าวจากวงการสหกรณ์ให้ความเห็นว่า ผลกระทบจากการที่สหกรณ์เจ้าหนี้ขาดสภาพคล่อง ทำให้สมาชิกต้องไปหาแหล่งเงินกู้อื่น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยโสธร ที่มีเงินฝากค้างกับคลองจั่นกว่า 930 ล้านบาท โครงสร้างของสหกรณ์ครูทั่วประเทศคือรับสมาชิกที่เป็นครูและใช้หลักเกณฑ์ปล่อยกู้ตามจำนวนหุ้นที่สมาชิกมีการสะสม โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และคิดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ ทำให้สหกรณ์เป็นแหล่งเงินกู้อันดับ 1 ของครู

ต่อเรื่องนี้ นายมณฑล ผาริโน ผู้จัดการสหกรณ์ครูยโสธร กล่าวว่า แม้สหกรณ์ครูยโสธรจะไม่พบปัญหาสมาชิกแห่ลาออกมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้กับสหกรณ์อยู่ด้วย แต่ในส่วนของสหกรณ์ฯ เองได้ทวงถามการขอถอนเงินไปหลายครั้ง ซึ่งทางสหกรณ์ฯ คลองจั่นก็ประวิงเวลามาตลอดหลายเดือน ทำให้สหกรณ์เดือดร้อนมากเพราะเงิน 930 ล้านถือเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับสหกรณ์ฯ ยโสธรที่มีทุนดำเนินการเพียง 6,600 ล้านบาท กรรมการสหกรณ์ต้องเดินสายขอกู้เงินจากสหกรณ์อื่นๆ และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เพื่อนำมาให้สมาชิกกู้ได้แต่ก็ยังให้บริการได้ไม่ทั่วถึง แต่ละเดือนสมาชิกต้องติดตามกันเองว่ากรรมการจะหาเงินมาได้เท่าไหร่ สมาชิกที่ไม่ได้รับอนุมัติก็ต้องหาแหล่งอื่นๆ เช่น ธนาคารออมสิน ที่ปล่อยกู้ยากกว่า หรือเงินกู้นอกระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงมาก

นายมณฑลกล่าวต่อว่า แม้สหกรณ์ครูยโสธรไม่ได้กู้จากธนาคาร แต่ก็ทราบว่าตอนนี้ธนาคารลดเครดิตสหกรณ์ทั้งระบบ หลังจากเกิดปัญหาที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น เพราะมองว่าระบบไม่มั่นคง มีช่องโหว่ จึงปรับดอกเบี้ยให้กู้สหกรณ์เพิ่มตามระดับความเสี่ยง เช่น ธนาคารกรุงไทย เคยปล่อยกู้ที่ร้อยละ 4.25 ปัจจุบันปรับเป็นร้อยละ 5.5 หรือธนาคารกรุงเทพ เคยปล่อยกู้ที่ร้อยละ 6 ก็ปรับเป็นร้อยละ 7.25 โดยเฉพาะที่ธนาคารธนชาติหนักที่สุด คือ ห้ามปล่อยกู้แก่สหกรณ์ที่นำเงินมาฝากสหกรณ์ฯ คลองจั่น

“ทางกรรมการของสหกรณ์ฯ ยโสธรเข้าใจว่าปัญหานี้แก้ยาก แต่ที่ประชุมมีมติแล้วว่าจะให้ฟ้องเรียกเงินฝากคืนจากคลองจั่นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเรา แต่ถ้ากรรมการชุดชั่วคราวมีแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันที่รับฟังได้ก็จะพิจารณาใหม่อีกรอบ” ผู้จัดการสหกรณ์ครูยโสธรกล่าว

ทางด้านสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนครูดอยสะเก็ด มีเงินฝากที่สหกรณ์คลองจั่น 188 ล้านบาท นายธีระพงษ์ ศรีนุ ประธานสหกรณ์ฯ ดอยสะเก็ด กล่าวในที่ประชุมสันนิบาตสหกรณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ว่า 5-6 เดือนที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินกิจการสหกรณ์ได้เลย ทั้งสมาชิกและกรรมการของสหกรณ์ครูดอยสะเก็ดเดือดร้อนกันมาก เพราะเงิน 188 ล้านบาทที่นำไปฝากสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นเงินที่ไปกู้จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 แต่ตอนนี้ปรับดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 4.25 เพราะข่าวคลองจั่น ขณะที่เงินฝากคลองจั่นที่คาดว่าจะได้ดอกเบี้ยร้อยละ 5.5 ก็ไม่ได้แล้ว ต้องนำเงินที่สมาชิกชำระหนี้หมุนไปก่อน อีกทั้งสิ้นเดือนพฤศจิกายนต้องคืนเงินกู้งวดแรกราว 30 ล้านบาท ยังไม่ทราบว่าจะหาจากที่ไหนไปชำระ

นายสมชาย ทองพันธ์อยู่ (ใส่สูท)กรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ตอบข้อสงสัยสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
นายสมชาย ทองพันธ์อยู่ (ใส่สูท) กรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ตอบข้อสงสัยสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

“ผมต้องปิดบัญชีประจำปีในเดือนพฤศจิกายนก็ไม่สามารถทำได้ ตอนนี้มีสมาชิกถอนออกไปราว 70 ล้าน อีกทั้งมีสมาชิกรอได้ปันผลแล้วจะลาออกประมาณ 50 ราย ตอนนี้เหลือแค่ตัวสหกรณ์กับประธานคนเดียวแล้ว นอกนั้นหายหมด ผมต้องตอบปัญหาสมาชิกไม่รู้จบทุกวัน ก็อยากได้ข่าวดีไปบอกสมาชิกบ้าง” ประธานสหกรณ์ฯ ครูดอยสะเก็ดกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยงานขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งสหกรณ์กลุ่มนี้เป็นแหล่งเงินกู้ให้กับสหกรณ์อื่นๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์กรมบัญชีกลาง ซึ่งมีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษกับคลองจั่นราว 150 ล้านบาท จากสินทรัพย์ราว 1,500 ล้านบาท กรรมการสหกรณ์ฯ กรมบัญชีกลางรายหนึ่งกล่าวในที่ประชุมสันนิบาตสหกรณ์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2556 ว่า สหกรณ์กรมบัญชีกลางไม่เคยมีประวัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ปกติฝากเงินไว้ที่ใดถ้าเรียกคืนเมื่อไหร่ก็ได้ตามสิทธิ ไม่เคยบริหารแล้วเจอหนี้สูญ แต่วิกฤติคลองจั่นทำให้เงินก้อนใหญ่เหมือนถูกแช่แข็ง อีกทั้งสมาชิกแห่ถอนและลาออกจำนวนมาก ทำให้สหกรณ์อยู่ในภาวะขาดสภาพคล่อง ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่น มีค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยมากขึ้น ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้ให้สหกรณ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะเชื่อว่าภาครัฐกำกับดูแลและส่งเสริมอยู่ พอมีกรณีเครดิตยูเนี่ยนคอลงจั่น ธนาคารก็ปรับดอกเบี้ย ก็ขึ้นมาอีกร้อยละ 1.25 ตอนแรกคิดว่าจะกู้เงินเพียง 1 เดือน แต่ปัจจุบันล่วงมาเกือบ 4 เดือนแล้ว แม้มีความคิดจะชำระเงินกู้คืนก็ทำไม่ได้เพราะสมาชิกยังแห่ถอนตลอดเวลา

“เราพยายามชี้แจงกับสมาชิกว่าสหกรณ์ฯ คลองจั่นไม่ล้ม เงินของเราต้องได้คืนในวันหนึ่ง เพียงแต่ต้องใช้เวลาแก้ปัญหาสักหน่อย แต่สมาชิกก็ยังขอถอนเงินอยู่ตลอด ก็เข้าใจว่าทุกคนต้องหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้ตัวเองสบายใจก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

กรรมการสหกรณ์กรมบัญชีกลางยังกล่าวอีกว่า ถ้าใช้หลักบัญชีเดิม เงินที่ฝากคลองจั่นทุกสหกรณ์ต้องบันทึกเป็นหนี้สงสัยจะสูญ คิดเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่มาก ทำให้หลายสหกรณ์อาจต้องปิดบัญชีเป็นขาดทุนไป สมาชิกจะไม่ได้เงินปันผล และจากนั้นอาจจะลาออกเพิ่มอีกจำนวนมาก จึงเสนอให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ผ่อนปรน ยอมให้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตามระยะเวลาที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นใช้เวลาแก้ปัญหา อาจจะเป็น 10 ปีหรือ 20 ปี ดีกว่าให้ขาดทุนอย่างหนักจนระบบเสีย ซึ่งถ้าไม่ผ่อนปรน สหกรณ์ฯ กรมบัญชีกลางอาจจะต้องกู้เงินเพื่อจ่ายปันผล