ThaiPublica > คนในข่าว > “ทศ จิราธิวัฒน์” มองจุดแข็งประเทศไทย และทางออกที่เรียบง่ายกับการก้าวข้ามให้เป็น “เปลี่ยน”แต่ไม่ต้อง”รื้อทั้งหมด”

“ทศ จิราธิวัฒน์” มองจุดแข็งประเทศไทย และทางออกที่เรียบง่ายกับการก้าวข้ามให้เป็น “เปลี่ยน”แต่ไม่ต้อง”รื้อทั้งหมด”

15 พฤศจิกายน 2013


ไม่บ่อยนักที่นักธุรกิจแถวหน้าของประเทศไทย “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัดจะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปของประเทศไทย ด้วยบรรยากาศที่คนส่วนใหญ่มักเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่ใคร่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสาธารณะ การสัมภาษณ์ในครั้งนี้เป็นการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลหลากหลายกลุ่มในหัวข้อ “A Nationin Decline” ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา เพื่อรวมเป็นหนังสือ จึงทำให้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เปิดให้ความคิดเห็นเหล่านี้ได้ถูกนำมาถ่ายทอด

“ทศ” ออกตัวว่าบรรยากาศตอนนี้ควรจะเป็นการมองในเชิง positive เพื่อทุกคนจะได้มีกำลังใจ ไม่ควร negative แย้งกันไปแย้งกันมา โดยกล่าวว่า ผมมองว่าประเทศไม่ได้ decline แน่นอน มันปัญหาที่ซีเรียสบางเรื่อง หากไม่แก้มันอาจทำให้ประเทศ decline ได้ ผมกรุ๊ปประเด็นที่พูด 3 เรื่อง

ทุนประเทศไทย..”ประเทศไทยและความเป็นไทย”

เรื่องที่ 1 ประเทศไทยและความเป็นไทย ที่ครอบคลุมทุกอย่างที่อยู่ในเมืองไทยและพฤติกรรมของคนไทย อันนี้เป็นสินทรัพย์ (asset) ของคนไทยที่ดีเลิศ ถามว่ามันชัดเจนอย่างไร คือ นักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยจำนวนเยอะมากและเพิ่มขึ้นมาตลอด เป็นนักท่องเที่ยวทุกชาติ ทุกประเภท ชอบประเทศไทยมาก ไม่ใช่แค่มาเที่ยวแล้วชอบ มาอยู่ก็ชอบ แฮปปี้ที่จะอยู่เมืองไทย

สิ่งนี้เป็นจุดแข็งที่ผมคิดว่าเกือบไม่มีประเทศใดในอาเซียนมีอย่างเรา หรือในเอเชีย หรือเมืองไทยอาจจะเด่นที่สุดในโลกก็ว่าได้ ที่มีคาแรกเตอร์ที่ครบ เรามีคุณลักษณะที่โดดเด่น และถ้าถามว่าอะไร ผมว่าที่สำคัญที่สุดคือวัฒนธรรมและประเพณีไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เรามีระบบพระมหากษัตริย์ที่เป็นจุดศูนย์รวมใจประชาชน เรามีอาหารไทยที่อร่อยและหลากหลาย นิสัยและพฤติกรรมของคนไทย ที่ยิ้มแย้มต้อนรับ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา โบราณสถาน หรือแม้แต่อุทยานแห่งชาติก็ตาม

ทั้งหมดนี้เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญมาก หากไปมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไม่มีเลย พม่าอาจจะมีคล้ายๆ กัน แต่ประเทศอื่นๆ มีน้อยมาก ที่มีทั้งวัฒนธรรม ความสวยงาม อาหารอร่อย คนน่ารัก สถานที่ท่องเที่ยว

และนั่นก็คือสิ่งที่ดีมากๆ ของประเทศไทยใน 20 ปีที่ผ่านมา แต่หากเราไม่ทำอะไรกับมันเลย มันก็จะเสื่อมถอยลงไป ณ เวลานี้สถาบันของเราก็ถูกโจมตี ประเพณีต่างๆ ก็เริ่มหายไป ผมคิดว่าเราอาจจะไม่ต้องยึดติดกับสิ่งดั้งเดิม (traditional) ทั้งหมด แต่ขอให้รู้จักรักษาและผสมผสานความทันสมัย (modern) เข้าไป เช่น การเคารพผู้ใหญ่ การรักษาดูแลโบราณสถาน ปัจจุบันไม่มีงบดูแล สิ่งแวดล้อมเราเสียหายเยอะ เพราะเราไม่ได้จัดสรรงบประมาณมาดูแลและรักษาอย่างจริงจัง ของเหล่านี้ถ้าเราไม่ดูแลให้ดี หากมันหมดไป ก็ถือว่าจบเลย เพราะไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้

ถามว่าเราสามารถทำอะไรที่ “ทำให้ทันสมัย (modernize)” ให้ชัดกว่านี้ ตัวอย่างเช่น สถานที่สำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ พระราชวัง หรือวัด ที่ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะจะมีการห้ามทำสิ่งนั้น ห้ามทำสิ่งนี้ ห้ามเข้าใกล้ ไม่มีใครไปดู ทำให้เด็กไม่อยากไปและก็จะห่างเหินไปเรื่อยๆ อย่างจังหวัดอยุธยาจะเต็มไปด้วยวัดและโบราณสถานที่สวยงาม แต่อากาศก็ร้อนและไม่มีที่พัก หรือวัดพระแก้วสวยงามมาก แต่บริเวณนั้นขาดโรงแรม ขาดที่พัก ขาดร้านอาหาร และก็ห้ามทำในหลายเรื่อง ทำให้คนเข้าถึงได้ยากและไปเที่ยวน้อยลง

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด
นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด

หากเราไปดูตัวอย่างโบราณสถานหรือพระราชวังในยุโรป ที่ตรงนั้นจะมีทั้งโรงแรมและร้านอาหารเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีเวลาสัมผัสถึงความสวยงามของสถานที่ได้อย่างเต็มที่ ว่าสุดยอดของโลก วัดพระแก้วของไทยสวยงามมาก แม่น้ำก็สวย แต่เข้าถึงยากมาก ใช้ประโยชน์ยากมาก จะทำอย่างไรให้คนอยู่กับของที่สวยงามทั้งหมดของเราได้ ทำให้คนเข้าถึงง่าย มันจัดการได้ มันไม่ต้องรื้อเจ้าพระยาทั้งหมด เพียงแต่รักษาให้ดีก่อน อย่าให้เสียหาย

ตัวอย่างของประเทศที่ดีและน่าเป็นแบบอย่างที่เราควรปฏิบัติตาม คือ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ มีอาหารรสอร่อย มีการดูแลโบราณสถานในประเทศเป็นอย่างดี และทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่าย เราแค่ทำตามประเทศเหล่านี้ ที่เป็นแบบอย่างที่ดี ประเทศก็แข็งแกร่งและมีเศรษฐกิจที่ดี ในขณะที่อิตาลี ซึ่งมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน แต่ไม่สนใจใส่ใจดูแลรักษาโบรานสถานและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ปล่อยให้สกปรกและเสื่อมโทรม คนเก่งๆ ของอิตาลีก็หนีไปหมด รัฐบาลมีหนี้เยอะ ประเทศก็ขาดสภาพคล่อง ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแย่และเสื่อมถอยไปหมด

สำหรับประเทศไทย ถ้าเราไม่ดูแลรักษาสถานที่ วัฒนธรรมประเพณี สิ่งแวดล้อมของเราให้ดี และปล่อยให้เกิดความเสียหาย เราก็จะเป็นเหมือนอิตาลีที่เสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้ การรักษาจะต้องควบคู่ไปกับการปรับปรุงให้ทันสมัย และต้องทำให้เข้าถึงง่าย (accessible) ด้วยเช่นกัน อย่าง พิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศสเขาเก็บกินตลอดชีวิต พิพิธภัณฑ์เขาสวยงามสะอาด ไปที่ไหนเขาก็ยอมรับ หากเราตามรูปแบบของฝรั่งเศสได้จะดีมาก ขณะเดียวกันเรามีหลายเมืองให้นักท่องเที่ยวเลือก

อีกเรื่องที่ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีสำหรับประเทศไทยก็คือการประท้วง ซึ่งชาวต่างชาติไม่เข้าใจว่าตามปกติคนไทยจะมีนิสัยน่ารักเรียบร้อยเหมือนคนญี่ปุ่น แต่ทำไมพอเกิดการประท้วง ปฏิกิริยาหรือการกระทำจึงตรงกันข้ามกับนิสัยปกติ ดังนั้น คนไทยจึงต้องช่วยกันรักษาพฤติกรรมที่ดีที่เรียบร้อยซึ่งคนต่างชาติชื่นชอบเอาไว้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็จะมาจากพื้นฐานของการอบรมที่ดี

“เพราะถ้าประชาธิปไตยหมายถึงคุณจะโวยวาย ทำทุกอย่างที่คุณอยากจะทำ มันไม่ใช่ เราเป็นคนไทย เรามีวัฒนธรรม เราต้องทำอะไรที่สมควร ผมคิดว่ามันสำคัญ”

การศึกษา ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งหมด เปลี่ยนบางเรื่องก็พอแล้ว

เรื่องที่สอง การศึกษา ตอนนี้ทุกคนเห็นด้วยว่าปัญหาใหญ่สุดของประเทศคือเรื่องของการศึกษา และถ้าถามว่ารัฐบาลมีหน้าที่อะไร แน่นอนว่าต้องมีมากมายหลายเรื่อง แต่หน้าที่สำคัญที่ทุกๆ รัฐบาลในต่างประเทศทำก็มี 2 เรื่อง ได้แก่

1. รัฐบาลมีหน้าที่ในการวางโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ให้ดี หากวางดีแล้ว ประชาชนจะอยู่ดีกินดีมีสุข อย่างเช่น โครงการ 2 ล้านล้าน ผมขอสนับสนุนเต็มที่ เพราะถ้าดูใน 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีโครงการอะไรที่ใหญ่โตและชัดเจนขนาดนี้ ก็เป็นเรื่องดีที่เราควรต้องทำ แต่มี 3 ประเด็น คือ 1) อย่าใช้เงินเกินตัว ต้องดูความสามารถว่าเราจะสามารถรับภาระหนี้ได้เท่าไหร่ คือต้องทำเต็มที่ แต่คนที่เป็นห่วงคือทำเกินตัวหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ทำไปเลย แต่ถ้าเกินตัว อย่า อย่าเสี่ยง 2) 2 ล้านล้านเอาไปทำอะไรบ้าง ต้องคิดว่านำเงินไปใช้เพื่อทำอะไร คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพหรือไม่ บางคนบางสถาบันบอกว่าใช้ไม่คุ้ม อันนี้ต้องไปเถียงกัน แต่ว่าไม่ต้องความเร็วสูงสุด ต้องไปทุกแห่งหรือไม่ แต่ต้องไป เพียงแต่ว่าตรงไหนเท่านั้น และ 3) ที่คนเป็นห่วงคือว่าโครงการโปร่งใส และปราศจากคอร์รัปชันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องทำ

ทั้งนี้ขอบเขตของโครงสร้างพื้นฐาน จะหมายรวมถึงระบบที่เป็นพื้นฐานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เรายังทำน้อยมาก หรือระบบท่าอากาศยานและถนนหนทางซึ่งเราทำได้ไม่เลวนัก ส่วนระบบรถไฟที่ยังดูแย่และโบราณมากเพราะไม่เคยปรับปรุงมาก่อน ไม่แน่ใจว่ากี่สิบปีแล้ว เพราะตั้งแต่ผมเกิดจนถึงทุกวันนี้มันก็ยังเหมือนเดิม มันเชื่อมไปเรื่องโลจิสติกส์ มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศมาก เพราะทำให้ความเจริญกระจายไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ก็ยังหมายถึง ระบบไฮเวย์ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีจริงๆ ต่างประเทศจะมีไฮเวย์ที่รถสามารถวิ่งทางตรงได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีทางเลี้ยวไปมาเพื่อให้รถสามารถวิ่งได้อย่างปลอดภัยและประหยัดเวลา หรือแม้แต่ระบบไอทียังไม่ค่อยดี และระบบกฎหมายที่เราก็ยังทำได้ไม่ดีเช่นกัน เรื่องเหล่านี้สำคัญ รัฐบาลต้องทำให้ดีที่สุด และเหมาะกับรายได้ของประเทศ

ประเทศที่รัฐบาลทำเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานได้ดีที่สุดคือประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ได้ทำแบบหรูหราหรือมากจนเกินไป แต่พอดีสำหรับทุกคนในประเทศให้ใช้งานได้จริง ไม่ได้ทำเพื่อสวย ดูเท่ แต่สะอาด ทำมาเพื่อใช้งาน และดี ไม่หรูหราหรือเสียเงินในสิ่งที่ไม่ควรเสีย และคุ้มกับเงินที่ลงทุนไป หรือถ้าไปดูประเทศที่เจริญแล้วประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา จะเห็นว่ามีการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งสิ้น

2. เรื่องการศึกษา มันน่าจะมีการประกาศเป็น Changed ที่ให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าการศึกษาเรามีปัญหา และทำไมถึงไม่สามารถแก้ไขได้ พูดกันไปพูดกันมา ผมฟังกี่คนๆ ผมยังจับปัญหาไม่ได้ ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้แก้ยาก และทั่วโลกก็บอกเหมือนกันว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากที่สุด เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับครูและกระบวนการที่จะต้องใช้เวลาแก้ไขในระยะยาว แต่ยังไงก็ตาม มันก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและต้องทำ แต่จะทำอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาช่วยกันคิดและทำต่อไป

แต่จากการจัดอันดับของ World Economic Forum พบว่าการศึกษาของไทยแย่ที่สุดในอาเซียน แพ้เขมรหรือเวียดนามด้วยซ้ำไป ถ้าถามคนไทย แม้ระบบการศึกษาแบบนี้ คนไทยแย่ขนาดนั้นเหรอ ผมว่าคนไทยไม่ได้แย่ขนาดนั้น ผมเห็นเด็กไทยที่ไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก ก็ไม่มีปัญหาที่จะแข่งขันกับเด็กต่างชาติ คนไทยก็ทำงานกับต่างชาติได้ไม่แพ้ใคร

“นักกีฬาอย่างน้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ ปราบมือหนึ่งของจีนในเมืองจีน ได้รับชัยชนะจนคนจีนเองก็ทึ่ง”

หรือจำนวน TAC Award ที่ประเทศไทยได้รางวัลชนะเลิศจำนวนมาก หากเทียบกับสัดส่วนของประเทศ เราได้รางวัลมากเกินปกติด้วยซ้ำไป ซึ่งก็หมายความว่าความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยก็ไม่เลวเลย สรุปแล้ว คุณภาพของคนไทยภายใต้ระบบการศึกษาปัจจุบันก็ไม่ได้แย่เกินไปนักเมื่อเทียบกับสถานะของเรา

ส่วนประเด็นที่บอกว่าเปลี่ยนยากเหลือเกิน ผมไม่รู้ทำไม มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นเปลี่ยนทั้งหมด เปลี่ยนทุกเรื่อง ทำไมไม่เลือกเรื่อง เอาแค่ไม่กี่เรื่องก็พอ ทำบางแห่งก็ได้ ไม่ต้องทุกโรงเรียน เริ่มทำที่ไหนให้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วปัญหาอยู่ที่ไหน เท่าที่ผมฟังดู มี 3-4 เรื่องที่ควรจะทำ

1. ภาษา ตอนนี้ทักษะด้านภาษาของคนไทยค่อนข้างจะล้าหลังคนทั่วโลก เพราะเราพูดได้ภาษาเดียวคือภาษาไทย ตอนนี้อเมริกาเพิ่งมีประกาศออกมาว่าประชากรของประเทศต้องพูดได้อย่างน้อย 3 ภาษา สมัยนี้โลกเขาวัดนี้กันแบบนี้ จากเมื่อก่อนวัดกันที่จบการศึกษาหรือเปล่า กี่เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวนี้วัดว่าพูดได้กี่ภาษา ซึ่งเรายังไม่ได้เริ่มเลย แต่โลกเขาเปลี่ยนไปแล้ว ผมคิดว่าภาษาสำคัญที่สุด จะเป็นภาษาอังกฤษ พม่า เวียดนาม อะไรก็ได้ เด็กไทยควรพูดได้ 2-3 ภาษา เพื่อรองรับกับการวัดขีดความสามารถของประเทศ ซึ่งจะเปลี่ยนจากสัดส่วนของประชาชนที่จบการศึกษา (%) เป็นจำนวนภาษาที่ประชาชนในประเทศพูดได้

ผมคิดว่าภาษามีความสำคัญที่สุด เพราะมีผลการทดลองที่พิสูจน์แล้วว่า การเรียนภาษาตั้งแต่ยังเด็ก จะทำให้สมองเด็กได้รับการพัฒนาเร็วขึ้น นอกจากนี้ การรู้ภาษาจะทำให้เราสามารถติดต่อค้าขายสบาย ฝรั่งเขาทำงานทั่วโลกได้ เพราะภาษา หากคุณพูดภาษาอังกฤษได้ คุณก็ทำงานได้ทั่วโลก รายได้ก็จะเพิ่มมากขึ้น เงินเดือนสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ได้เงินเดือนสูงกว่าแม่บ้านไทยเพราะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ หรือแอฟริกาก็พูดภาษาอังกฤษได้หมด

อย่างประเทศญี่ปุ่นซึ่งควรจะไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าเขาพูดได้ หากประชาชนไม่ปิดตัวเองจากการพูดภาษาอื่น ทั้งนี้ การเรียนภาษาจะต้องทำตั้งแต่ระดับอนุบาลจนโตด้วยซ้ำไป น่าจะสอนกันได้

ผมเห็นกรณีเวียดนาม มีโรงเรียนสอนภาษาทั้งภาษาอังกฤษและไทยจำนวนมาก คนเวียดนามพูดภาษาไทยได้เยอะ หรือแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นล้านๆ คนก็พูดได้ 2 ภาษา คือไทยกับพม่า เขาได้ได้เปรียบในการค้าขายมากกว่าคนไทยที่พูดได้เพียงเฉพาะภาษาไทย

ตามชายแดนเรา พม่าพูดภาษาไทยได้เยอะมาก เขาได้เปรียบ ไม่ใช่เราได้เปรียบนะ เราน่ะเสียเปรียบแต่เราไปดูถูกเขา เราแพ้เขา เพราะเขามาค้าขายกับเรา เราค้าขายกับเขาไม่ได้ หรือเวียดนามเขาเรียนภาษาไทย แต่เราไม่เรียนภาษาเขา เราคิดว่าเราเหนือกว่า มันไม่ใช่ ไม่เกี่ยวว่าใครเหนือใคร คุณไม่รู้ คุณเสียเปรียบเขา

“นั่นคือปัญหาของคนที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่า เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกอย่างนั้นเมื่อนั้นก็จะแย่กว่า เช่นเดียวกับธุรกิจ เมื่อคิดว่าเก่งกว่าก็จบแล้ว คุณต้องรู้สึกเสมอว่าต้องปรับปรุง ฉะนั้น ตราบใดที่คนไทยยังรู้สึกเหนือกว่าและไม่คิดพัฒนาปรับปรุงเรื่องนี้ มันหมายถึงว่าเราแย่กว่าอยู่แล้ว”

2.คนไทยคิดไม่เป็น จากรายงานล่าสุดที่บอกว่าเรื่องการศึกษาของไทยต่ำที่สุด โดยเฉพาะการคิดเป็นได้คะแนนต่ำเป็นพิเศษเลย เรื่องนี้มันก็มีวิธีแก้ไขได้โดยไม่ต้องถึงกับเปลี่ยนทุกวิชาที่เรียน สมมติผมว่าแค่เราเพิ่ม 1 วิชาที่สอนเรื่องของการกล้าคิด กล้าพูด และกล้าท้าทาย (challenge) ครูได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่วิชาอื่นก็สอนเหมือนเดิม ตัดอันเก่าออกไปสักหนึ่ง เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่ง หาคอร์สใส่เข้าไปให้เด็กกล้าคิดกล้าพูด ไม่ต้องไปเปลี่ยนทั้งหมด แบบนี้ก็ช่วยได้มากแล้ว แต่ที่สำคัญ ครูที่สอนก็น่าจะเป็นครูรุ่นใหม่ที่พร้อมรับการการท้าทายจากเด็กนักเรียนด้วย

3. เรื่องการอ่าน ทำให้เด็กรักการอ่านหนังสือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่รักการอ่านหนังสือเท่าใดนัก ซึ่งตรงนี้มันแก้ได้ง่ายและแก้ได้ทันทีด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมเราถึงไม่ทำกัน ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นมาตลอด 20 ปี คือ คุณจะไม่เคยเห็นฝรั่งนั่งเฉยๆ แต่จะมีหนังสืออยู่ในมือตลอด ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ป.1 เด็ก ป.4 หรือคนแก่อายุ 60 เป็นไปได้อย่างไร ก็เหมือนกันหมดคือชอบอ่านหนังสือ ซึ่งหากไปดูระบบการสอนของโรงเรียนอินเตอร์ก็จะเหมือนกัน ถามว่าทำอย่างไร มันง่ายมากอย่างลูกผม คือ เด็กทุกคนตั้งแต่เข้า ป.1 ครูจะสั่งให้อ่านหนังสือทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมง ก่อนเข้านอน โดยที่พ่อและแม่จะอ่านด้วยกันหรือไม่ก็ได้ แต่จะต้องมีลายเซ็นรับทราบว่าเด็กอ่านหนังสือมาส่งให้คุณครูทุกวัน เด็กจะอ่านไม่อ่านเรื่องของคุณ จะโกงก็ได้ เรื่องของคุณ หนังสือก็มีให้เลือกในห้องสมุด ตามที่ชอบ พอปิดเทอมก็สั่งให้ไปอ่านหนังสือ 3 เล่มให้ครบแล้วก็ให้พ่อแม่เซ็นรับทราบ เด็กไปยืมห้องสมุด ถือหนังสือกลับบ้าน ทำแบบนี้ทุกปีตั้งแต่ ป.1 ถึง ม. 6 เด็กทุกคนจะเป็นเหมือนกันหมดคือติดหนังสือตลอดชีวิต ไม่ได้เสียเงินลงทุน ไม่ได้บังคับ ไม่มีระบบการตรวจสอบ เท่าที่ผมเห็นมีแค่นั้น เด็กทุกคนทำเหมือนกัน จากนั้นเด็กจะติดเอง ไปไหนก็ติดหนังสือ มันยากตรงไหนที่จะทำ

เพราะฉะนั้น หากเด็กอ่านหนังสือเป็น ความรู้ก็จะมากขึ้น ความคิดก็จะดีขึ้น สามารถคิดเป็นและแสดงออกได้มากขึ้น มันเกี่ยวกัน จะบอกว่าสอนวิธีคิด หากเด็กไม่อ่านหนังสือก็คิดยากเพราะความรู้น้อย หนังสือสอนให้เด็กคิดไปเรื่อยๆ ยิ่งถ้ารู้ภาษาจะทำให้เราสามารถอ่านหนังสือได้แบบไม่มีข้อจำกัด ฝรั่งมีหนังสือกี่เล่ม ประเทศไทยมีกี่เล่ม มันต่างกันมาก เราไม่รู้ภาษาก็เสียเปรียบ ยิ่งสมัยนี้มีเทคโนโลยีมีอินเทอร์เน็ต ความรู้มีอยู่ทั่วโลกให้เราได้ค้นคว้าและศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเฉพาะหนังสือภาษาไทย ถ้ารู้ภาษาเราจะอ่านหนังสือได้ถึง 5-10 ล้านเล่ม แต่ถ้าไม่รู้ ก็อาจจะอ่านได้เพียงหมื่นเล่ม มันต่างกันเป็นหมื่นๆ เท่าเลย

นี่ก็ทำได้เลย

ทศ จิราธิวัฒน์

4. ทำให้เด็กรักการเล่นกีฬา ในโรงเรียนต่างประเทศ หรือโรงเรียนอินเตอร์ จะมีการบังคับให้เด็กทุกคนเล่นกีฬาอย่างน้อย 1 ประเภท เล่นอะไรก็ได้ เลือกมาหนึ่งอย่าง จะเป็นกีฬาประเภทไหนก็ได้ แล้วยิ่งโตสิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กก็จะแย่งกันเล่นกีฬา แย่งกันเข้าทีมต่างๆ เพื่อแข่งขันกัน ในขณะที่เด็กไทยไม่ใช่ สิ่งพวกนี้เป็นเรื่องสังคม ก็กลับมาที่สังคมว่าถ้าไม่เล่นกีฬา ไม่อ่านหนังสือ แล้วเด็กทำอะไร ก็ฟังเพลง ดูดบุหรี่ กินเหล้า ยาเสพติด ถ้าเด็กอ่านหนังสือ เล่นกีฬา ก็เวลาหมดไปเยอะแล้ว ก็จะแก้ปัญหาพวกนี้ไปในตัว ถามว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ให้เด็กเลือกเอง ไม่ต้องมีโค้ช ผู้ปกครองก็สามารถร่วมเป็นโค้ชเพื่อดูแลเด็กได้ด้วย โดยไม่ต้องจ้างครูหรือโค้ชพิเศษ เพราะมีผู้ปกครองจำนวนมากที่ยินดีและต้องการส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬา

ผมคิดว่าทั้ง 4 เรื่องที่ผมพูดถึงข้างต้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และทำได้ง่าย แต่กลับไม่มีคนทำ ผมไม่ได้บอกให้ไปรื้อระบบราชการ เปลี่ยนวิธีการสอนของครู หรือการเปลี่ยนระบบใดๆ เลย เพราะถ้ายังไม่สามารถเปลี่ยนได้ก็ยังไม่ต้องทำ

ทางออกต้องก้าวข้ามสู่การเรียนการสอนออนไลน์

ตอนนี้ปัญหาการศึกษาของสหรัฐอเมริกาก็มีวิกฤต โดนโจมตีว่าไม่ดีพอ และก็โดนโจมตีค่อนข้างมากว่ามันยังดีไม่พอใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ หนึ่ง เด็กจบมาแล้วทำงานไม่เป็นและมีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการเงิน (personal financial management) ที่นักเรียนไม่เคยได้เรียน เพราะครูก็ไม่รู้เรื่อง ประเทศมีปัญหา คนก็เป็นหนี้ ไม่มีใครเข้าใจ ก็มีการโจมตีว่าทำไมไม่สอนวิชาแบบนี้ให้แก่เด็ก

และ สอง เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก คือ มหาวิทยาลัยออนไลน์ ซึ่งตอนนี้มี 2 ค่ายใหญ่ที่ดังที่สุด คือ Harvard MIT และ Stanford ทำอยู่ เรื่องนี้ไม่ใช่มหาวิทยาลัยทำ แต่เป็นพวก professor ที่ออกมาทำกันเอง เพราะเห็นว่าถ้าสอนแบบออนไลน์ในรูปแบบที่เหมือนในห้องเรียนทุกอย่าง จะสามารถเพิ่มสัดส่วนการสอนนักเรียนได้มากถึง 2 หมื่นคนต่อ 1 วิชา ตอนนี้ นักเรียนที่เข้ามาเรียนมากกว่าครึ่งเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในอเมริกา แต่มาจากศรีลังกา ปากีสถาน รัสเซีย บราซิล ฯลฯ ที่สำคัญคือ รูปแบบการสอนเหมือนกันแต่คนทั่วโลกสามารถเรียนได้ฟรี นี่คือระบบการศึกษาที่เยี่ยมยอดของอเมริกาเลยทีเดียว (education is the best)

ผมว่าถ้าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องระบบการศึกษาอยู่มาก เราก็กระโดดข้ามไปทำระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ไปเลยก็ได้ จะได้ไม่ต้องมานั่งรอการเปลี่ยนแปลงครูทั้งประเทศ เรามีครูเก่งๆ จำนวนมาก มีสถาบันติวเตอร์กี่สถาบัน แต่ละคนทำเงินได้มหาศาล ถ้าเราสามารถเอาครูติวเตอร์เหล่านั้นมาสอนระบบออนไลน์ให้เด็กทั้งประเทศ เด็กที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถเรียนได้ในรูปแบบเดียวกับเด็กกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องมาเรียนที่สยามสแควร์ก็ได้

ตอนนี้ที่มหาวิทยาลัย Stanford ซึ่งมีเด็กนักเรียนในแต่ละชั้นประมาณ 100 คน ได้เปิดให้เด็กนักเรียนเลือกระหว่าง หนึ่ง การนั่งเรียนในห้องที่มีคุณครูมาสอน และ สอง ให้นักเรียนเรียนแบบออนไลน์เองที่บ้าน ผลปรากฏว่ามีนักเรียนเพียง 10 คนที่เข้าเรียนในชั้นเรียน นอกนั้นเลือกเรียนออนไลน์หมด ครูก็ถามว่าแล้วเสียเงินมาเรียนที่ Stanford ทำไม เด็กตอบว่าเรียนออนไลน์ดีกว่า เพราะจะเรียนเมื่อไรก็ได้ในเวลาที่พวกเขาสะดวก และหากฟังไม่รู้เรื่องก็สามารถฟังซ้ำๆ กี่ครั้งก็ได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังมีระบบ chat ที่สามารถคุยกับเพื่อนได้ หากไม่เข้าใจก็ถามได้ แบบนี้ดีกว่าระบบการเรียนในห้องเรียนปรกติเสียอีก

ผมถึงบอกว่า หากเมืองไทยมีปัญหามากในการเปลี่ยนหรือปรับปรุงระบบการศึกษา ก็ให้ลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไปเลย แล้วก็หาอาจารย์ที่เก่งที่สุดมาสอนแบบออนไลน์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศได้เรียน

ถ้ารัฐบาลลงทุน 2 ล้านล้านเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบคมนาคมได้ โครงการนี้ใช้เงินน้อยกว่ามาก และก็ทำได้ง่ายกว่ามาก ครูคุณก็จ้างต่อไปได้ ไม่ได้ให้ใครตกงาน ผมเข้าใจว่าทุกคนคิดว่าปัญหามันเยอะ ครูเป็นแสน เขาไม่ยอมมันเลยเหมือนทำอะไรไม่ได้ พักไว้ก่อน ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เอาแต่สิ่งที่คุณจะแก้ มีเรื่องอะไรบ้าง แก้แบบง่ายๆ ผมมองว่าถ้าเรามัวแต่คิดว่าต้องหาวิธีแก้ไขพร้อมกันทั้งระบบ มันน่าปวดหัว เพราะต้องแก้ไขกับโรงเรียนไม่รู้กี่โรงเรียน ครูไม่รู้กี่คน แต่ละคนก็ไม่ยอมเสียประโยชน์ มันเลยไม่มีทางไปไหน ทำให้คิดต่อไม่ได้ แล้วท้ายที่สุดก็เลิกคิดเลิกทำ

สำหรับคนที่จบออกมาทำงานแล้วทำงานไม่เป็น หากต้องการแก้ไข ก็ทำได้โดยการเปิดโรงเรียนสายอาชีพเพื่อสอนให้พวกเขาทำงานเป็น ตัวอย่างเช่น ผู้รับเหมารายย่อย เป็นงานที่ดีมาก บ้านเรามีปัญหา เวลาจะซ่อมท่อ ทาสี จะโทรหาใคร งานแบบนี้มีเยอะมาก ปัญหาคือผู้รับเหมา ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ดีมากในอนาคต ในอเมริกา อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีอิสระมาก ส่วนใหญ่จะขับรถกระบะ ที่ท้ายรถจะมีรายละเอียดของงานที่รับซ่อมแซมและเบอร์โทรติดต่อ ใครต้องการให้ซ่อมอะไรก็โทรเรียกได้เลย ผมคิดว่าน่าจะมีโรงเรียนสอนให้ซ่อมบ้าน ซ่อมไฟฟ้า ซ่อมท่อ ทำให้เป็นเรื่องเป็นราว จบออกมาก็มีอาชีพ มีรายได้ที่ดี เพราะมีความต้องการสูง สร้างได้เลย

ส่วนอีกอาชีพที่มีคนยอมรับกันทั่วโลกว่าดีที่สุด คือ สปาและนวดไทย ทั่วโลกอยากได้คนไทยมานวด ซึ่งไม่ว่าชีวาศรมหรือวัดโพธิ์ต่างก็ดังที่สุดในโลกในเรื่องนี้ ถ้าประเทศไทยเปิดโรงเรียนสอนอาชีพสปาและนวดไทย แล้วประทับตราว่าจบการศึกษาจากชีวาศรมหรือวัดโพธิ์ เราก็สามารถส่งแรงงานไปยังโรงแรม 5 ดาวทั่วโลกได้อย่างมากมาย เช่นเดียวกับเชฟไทย ถ้าทำให้การเรียนการสอนเป็นระบบ และติดแบรนด์เพื่อรับรองว่าจบจากสถาบันอาหารนี้ เราก็จะสามารถมีเชฟไทยไปทำงานได้ทั่วโลกเช่นกัน

AEC สุดยอดโอกาสของประเทศไทย

หากถามผมว่า 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ผมขอกลับมาที่เรื่องของ AEC ซึ่งผมก็ยังมั่นใจว่า AEC เป็นสุดยอดโอกาสของเรา 20 ปีผ่านมาเราอาจเห็นบางเรื่องว่ามันไม่ดีนัก แต่ในความเห็นของผมกลับคิดว่าประเทศไทยดีที่สุดเหมือนกันในแง่ของพัฒนาการ เราอาจจะแพ้เกาหลีหรือสิงคโปร์ แต่เราก็ชนะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า หรือเวียดนาม ถ้าถามว่าวันนี้ประเทศไทยดีหรือไม่ ผมว่าดีทีเดียว

แต่ถ้าถามว่าในอนาคตเมื่อมีการรวมเป็นหนึ่งภูมิภาค ไม่ต้องหมายถึงอาเซียน แต่แค่รวมไทย พม่า เวียดนาม เขมร ลาว หรืออินโดจีนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน มันก็จะยิ่งดีมากขึ้น และดีด้วยกันทุกคน

แต่ปัญหาใน 20 ปีที่ผ่านมาก็คือว่าเพื่อนบ้านไม่ค่อยรักเรา ทะเลาะกับเขาไปหมด เพราะเราชอบไปดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เค้าไม่ไว้ใจ และทำให้ความสัมพันธ์ก็ดูเหมือนไม่ค่อยดีนัก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรต้องทำก็คือ ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ ต้องทำให้ความสัมพันธ์เป็นเลิศในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับนายกฯ ระดับรัฐมนตรี ระดับราชการ ระดับโรงเรียน ระดับมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ระดับประชาชน ทำให้ positive เพื่อทำให้เพื่อนบ้านของเราชื่นชมเรา และอยากทำงานกับเรา

เหมือนเกาหลีใช้หนังเป็นสื่อ ให้คนไปเที่ยวบ้านเขา ตอนนี้ประเทศไทยเป็นผู้นำในทุกเรื่องและในทุกอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ให้เขารักเรา ร่วมมือกับเรา ความสัมพันธ์ที่เราจะเชื่อมกันทั้งถนนหนทาง ทุกเรื่องเลย ต้องมีคนคิดต้องบูรณาการ (integrate) ในภูมิภาคนี้ ผมว่าแค่นี้มโหฬารแล้ว 300 ล้านคน เพราะถ้าหากเราไม่ทำ พวกเขาก็ทำกันเองอยู่แล้ว แล้วประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ก็จะมาเข้ามาลงทุน ซึ่งทำให้ประเทศไทยยิ่งเสียเปรียบ แต่ถ้าเรายิ่งทำเรื่องเหล่านี้ เราก็จะยิ่งได้เปรียบ

ลองคิดดูว่าถ้าประเทศไทยสามารถทำตรงนี้ได้ เราก็จะเป็นเหมือนศูนย์กลางของทุกเรื่องในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ หรือภาคการผลิต เพราะขนาดประชากร 300 ล้านคนมันใหญ่มาก ทุกคนมาลงทุนในงานวิจัย เรื่องของการผลิตและแรงงานขาดแคลนก็ไม่ต้องเป็นห่วงอีกต่อไป เพราะสามารถย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่พม่าและเวียดนาม เพื่อให้ทั้งสองประเทศได้เจริญบ้าง ส่วนประเทศไทยก็เน้นทำเรื่องการพัฒนาและวิจัย และให้ความสำคัญกับภาคบริการ เพราะเรามีโรงพยาบาลที่ดีที่สุด โรงเรียนที่ดีที่สุด โครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดอยู่แล้ว มันจะทำให้ไทยเหมือนกับประเทศที่ช่วยยกระดับประเทศเพื่อนบ้านไปพร้อมๆ กัน

“ไม่ต้องไปกลัวว่าโรงงานย้าย มันต้องย้ายอยู่แล้ว คุณจะขายแรงานตลอดชีวิตหรือ คุณจะจนตลอดชีวิตหรือ”

ถ้าจะดูตัวอย่างของประเทศที่ทำได้ดีที่สุด ผมคิดว่าเป็นญี่ปุ่น ที่ตอนนี้มีปัญหากับจีนมากถึงขั้นที่ว่าช่วงนี้เลิกมองกันแล้ว ตอนนี้ตลาดที่ญี่ปุ่นจะลุยเต็มที่ก็คืออาเซียน โดยญี่ปุ่นจะทุ่มทุกอย่างมาที่อาเซียน เพราะประเทศจีนและคนจีนกำลังบล็อกญี่ปุ่นอย่างมาก สิ่งที่เขาทำมันเร็วมาก และที่เป็นแบบนี้ได้ก็เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยการไปช่วยเจรจาแบบเป็นแพคเก็จและในทุกอุตสาหกรรรมกับทั้งรัฐบาลพม่า รัฐบาลเวียดนาม หรือรัฐบาลอินโดนีเซีย

ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความคืบหน้าไปถึงไหน กฎหมายก็ไม่เข้าใจ จะติดต่อหาผู้ร่วมทุนก็ไม่รู้จะติดต่อใคร การเมืองก็ไม่รู้ กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ยังมีปัญหา ทำให้ทุกคนต้องทำการบ้านเองหมด ทำให้เสียเวลา แต่ถ้ารัฐบาลช่วย ใช้วิธีแบบญี่ปุ่น คือไปพร้อมกันหมดเลย และคุยกันเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน ไล่ไปทีละอุตสาหกรรมเลยตั้งแต่ภาคการผลิตและภาคบริการ แบบนี้ถึงจะทำให้ประเทศเดินก้าวต่อไปข้างหน้าได้

ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันไม่ได้มาจากปัญหาทางการเมืองเพียงอย่างเดียว เพราะเอกชน สื่อ และทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วมพร้อมกันหมดเพื่อทำให้มันเกิดขึ้น ถ้าเราคุยกันรู้เรื่อง คุยกันชัดเจน ไม่ทะเลาะกัน ไม่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ต้องโทษว่าใครถูกใครผิด มาดูอนาคตร่วมกันดีกว่า ว่าทำยังไงให้ประเทศมันเจริญ ให้ภูมิภาคเจริญ เราควรจะมาจับมือกันดีกว่าและเดินหน้าทำงานได้แล้ว