ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกโตช้าลง ปรับจีดีพีไทยจาก 5.3% เป็น 4%

ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกโตช้าลง ปรับจีดีพีไทยจาก 5.3% เป็น 4%

8 ตุลาคม 2013


ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปีนี้โต 7.1% ขณะที่ปรับลดจีดีพีไทยเหลือ 4% จากเดิม 5.3% ผลจากหนี้ครัวเรือนสูง บริโภคต่ำ การลงทุนภาครัฐล่าช้า หวังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหนุนส่งออกปรับตัวดีขึ้น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังชดเชยอุปสงค์ในประเทศต่ำ และประเมินโครงการจำนำข้าว รัฐบาลขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท ห่วงกระทบคุณภาพข้าวระยะยาวมากกว่าฐานะการคลัง

เศรษฐกิจเอเชียโต 7.1% จากเดิม 7.8%

วันที 7 ตุลาคม 2556 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน “East Asian Pacific Economic Update” โดยประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปีนี้ชะลอลงจาก 7.8% เป็น 7.1% และ 7.2% ในปี 2557 โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ถูกปรับลดเกือบทุกประเทศ ยกเว้น ฟิลิปปินส์ กับกัมพูชา ทั้งนี้ ธนาคารโลกปรับประมาณการจีดีพีของไทยในปี 2556 ลงจากเดิม 5.3% เป็น 4%

แม้ว่าธนาคารโลกจะมองว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและเศรษฐกิจไทยชะลอลง แต่ประเมินตัวเลขดีกว่าธนาคารพัฒนาเอเชีย (อีดีบี) ที่ประเมินว่าจีดีพีในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวได้ 6% ในปีนี้ และ 6.2% ในปีหน้า ส่วนจีดีพีของไทย ทางเอดีบีคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3.8% ในปีนี้ และ 4.9% ในปีหน้า

นายเบิร์ต ฮอฟแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียชะลอตัวลง มีสาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนที่ค่อนข้างต่ำเพราะรัฐบาลต้องการลดขนาดเศรษฐกิจ แต่คาดว่าจีดีพีของจีนจะขยายตัวได้ 7.5% ตามที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ ขณะที่การเติบโตของประเทศรายได้ระดับกลางสูง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ก็ชะลอตัวลง เนื่องจากการลงทุนลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกตกต่ำ และการส่งออกเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกประเมินว่า ถ้าไม่นับรวมเศรษฐกิจจีน ในส่วนของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกก็ยังขยายตัวได้ดีในอัตรา 5% ในปีนี้ และ 5.3% ในปีหน้า

“แต่ในครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น โดยอียูเริ่มออกจากภาวะถดถอยแล้ว ญี่ปุ่นก็เริ่มฟื้นตัว และสหรัฐปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% เพราะฉะนั้น ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวได้จากปัจจัยภายนอกชดเชยอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลง” นายฮอฟแมนกล่าว

“คิวอี-การคลังสหรัฐ-เศรษฐกิจจีน” ปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกต้องเตรียมรับมือคือ

1. การลดขนาดของมาตรการคิวอี (Quantitative Easing: QE) แม้ไม่รู้ว่าจะดำเนินการเมื่อไร แต่ตอนนี้รู้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกจะปรับสูงขึ้น ทำให้อุปสงค์ในประเทศถูกกดทับ และกระทบทำให้การลงทุนลดลง เพราะฉะนั้น ประเทศต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับดอกเบี้ยทั่วโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

2. ภาวะทางตันของการคลังสหรัฐที่มีความไม่แน่นอน ว่างบประมาณจะเบิกใช้ได้หรือไม่ ธนาคารโลกเคยทำแบบจำลองคำนวณไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ถ้าเกิดทางตันของการคลังสหรัฐ คือ ไม่สามารถเบิกใช้งบประมาณได้ในระยะยาว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐทำให้จีดีพีสหรัฐลดลง 2% และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกด้วย โดยถ้าจีดีพีสหรัฐขยายตัวลดลง 1% จะกระทบจีดีพีเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกโดยรวมลดลง 0.5% อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดว่า สหรัฐจะสามารถผ่านข้อตกลงเรื่องงบประมาณไปได้

3. ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน โดยทางการจีนมีนโยบายค่อยๆ ปรับลดขนาดเศรษฐกิจลง แต่ความเสี่ยงเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และปฏิรูปภาคการเงิน ต้องจับตาดูว่าเศรษฐกิจจีนจะทำตามที่วางแผนไว้ได้หรือไม่ เพราะถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอลงกว่าที่คาดหรือมีปัญหาก็จะกระทบเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก

“หนี้ครัวเรือนสูง-ส่งอออกต่ำ” ฉุดจีดีพีไทยโต 4%

ธนาคารโลก

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ธนาคารโลกปรับลดจีดีพีของไทยเหลือ 4% เนื่องจากการบริโภคภาคครัวเรือนในครึ่งหลังของปีจะไม่เป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เพราะอานิสงส์ของมาตรการรถคันแรกหมดแล้ว และหนี้ภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 80% ของจีดีพี จะเป็นข้อจำกัดด้านการบริโภค

อีกเหตุผลที่ปรับลดจีดีพีของไทยคือ การส่งออกสินค้าของไทยครึ่งปีแรกเมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นเพียง 1.2% ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่คาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้การส่งออกกลับมาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

โดยธนาคารโลกประเมินว่า การส่งออกของไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ 2.5% หรือช่วง 6 เดือนหลังของปีจะต้องส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000-21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 6%

“เหตุผลที่ธนาคารโลกปรับลดจีดีพีของไทยอยู่ที่ 4% สูงกว่าเอดีบีที่ปรับลงอยู่ที่ 3.8% น่าจะมีความต่างในมุมมองเรื่องการส่งออก ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่าครึ่งปีหลังส่งออกจะขยายตัวดีขึ้น ขณะที่คาดการว่าจะนำเข้าชะลอตามการบริโภค และการลงทุนที่ชะลอลง ดังนั้น การส่งออกสุทธิจะเพิ่มขึ้นช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจครึ่งปีหลังและส่งต่อเนื่องถึงปีหน้า” ดร.กิริฎากล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารโลกประมาณการว่า ไตรมาส 3/3556 การส่งออกสุทธิขยายตัว 13.3% และ 12% ในไตรมาส 4/2556 เพิ่มขึ้นจาก 9% และ -3.9% ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ธนาคารโลกประมาณการว่า จีดีพีไตรมาส 3/2556 เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อนจะขยายตัวได้ 5.1% และ 2.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปี จากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 5.4% และ 2.8% ในไตรมาสสอง

4 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ดร.กิริฎากล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญที่สุดคือ 1) เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีน เพราะถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวตามที่คาดไว้ หรือเศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ จะกระทบการส่งออกของไทยทันที 2) ความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน เพราะถ้าอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนจะกระทบต่อผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต้องเตรียมรับมือให้ได้

3) การชะลอตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน จากภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น ถ้าระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจไม่โตอย่างที่คาดไว้ 4) ความล่าช้าในการลงทุนของภาครัฐ ถ้าสามารถลงทุนได้ตามแผนที่วางไว้ ภาครัฐก็จะไม่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวอย่างที่คาดไว้

อย่างไรก็ตาม การประเมินจีดีพีของไทยที่ 4% ธนาคารโลกไม่ได้รวมโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท แต่การประเมินจีดีพีปีหน้าได้คาดการณ์ว่า โครงการ 2 ล้านล้านบาท จะมีเม็ดเงินเบิกจ่ายประมาณ 10%

“ธนาคารโลกจะมีการทบทวนประมาณการจีดีพีของไทยอีกครั้งช่วงสิ้นปีหรือเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะปรับประมาณการไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับการส่งออกช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นสำคัญ” ดร.กิริฎากล่าว

ไม่ห่วงการเมืองกระทบเศรษฐกิจ

นายแมททิว เวอร์จิส (ขาว) ดร.กิริฎา เภาพิจิตร (ขาว)
นายแมททิว เวอร์จิส (ขวา) ดร.กิริฎา เภาพิจิตร (ซ้าย)

นายแมททิว เวอร์จิส หัวหน้าเศรษฐกรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารโลก กล่าวว่า ประเทศไทยมีความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ภาคธุรกิจไทยก็สามารถดำเนินการได้ และครั้งนี้ก็น่าจะผ่านไปได้เหมือนครั้งก่อนๆ

ดร.กิริฎากล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้าจะกระทบก็คือการลงทุนอาจเลื่อนออกไป แต่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ถ้าไม่ปิดท่าเรือ ไม่ปิดสนามบิน ไม่ปิดถนน แล้วธุรกิจไทยยังสามารทำธุรกิจค้าขายได้ในช่วงที่เศรฐกิจโลกดีขึ้น ก็จะไม่กระทบเศรษฐกิจไทย

ธนาคารโลกประเมินรัฐบาลขาดทุนจำนำข้าวปีละ 2 แสนล้านบาท

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า โครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว 4 ฤดูการผลิตภายในเวลา 2 ปี ใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 6.6 แสนล้านบาท (22 พันล้านเหรียญสหรัฐ) แต่จากการคำนวณผลขาดทุนจำนำข้าวในแต่ละปี พบว่าจะขาดทุนประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี หรือเกือบ 2% ของจีดีพี

ดร.กิริฎากล่าวว่า ธนาคารโลกคำนวณผลขาดทุนโครงการจำนำข้าว โดยเอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดในโครงการรับจำนำที่รัฐบาลใช้ในแต่ละปี (ยังไม่รวมค่าเสื่อม กับ อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้ ธ.ก.ส.) หักออกด้วยประมาณการรายได้จากการขายข้าวในแต่ละปี โดยราคาข้าวที่ขายได้จะคำนวณจากราคาข้าวที่ธนาคารโลกประมาณการหักลบกับราคาข้าวที่รัฐบาลรับจำนำ พบว่าข้าวที่รัฐบาลขายจะขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 50% ของราคารับจำนำ จึงทำให้ขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท

“เงินขาดทุนจำนำข้าวปีละประมาณ 2% ของจีดีพี ไม่ใช่เงินจำนวนน้อย เพราะฉะนั้น ภาครัฐต้องมาคิดว่าจะลดภาระอย่างไร” ดร.กิริฎากล่าว

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลยังคงดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อในปีนี้ โดยประกาศรับจำนำข้าวต่ออีก 2 ฤดูการผลิต (ตุลาคม 2556-กันยายน 2557) ในราคารับจำนำเท่ากับปีก่อน แต่จะกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อจำกัดปริมาณข้าวที่รับจำนำ แต่ไม่กังวลเรื่องฐานะการคลังรัฐบาลสักเท่าไร เพราะรัฐบาลไทยค่อนข้างอนุรักษนิยม คือไม่ชอบขาดดุลงบประมาณ โดยพยายามรักษาการขาดดุลงบประมาณไว้ไม่เกิน 2-3% ของจีดีพี

เพราะฉะนั้น ในแง่ฐานะการคลังไม่ค่อยเป็นห่วง แต่ที่น่าห่วงมากกว่าคือ อาจกระทบเงินงบประมาณที่ต้องนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศระยะยาว และถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ อาจกระทบเรื่องการพัฒนาคุณภาพข้าวในระยะยาว เพราะเกษตรกรจะไม่พัฒนาพันธุ์ข้าว ถ้าได้ราคารับจำนำที่ดี

“เงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าวไม่น่าห่วงเรื่องผลกระทบฐานะการคลังมากเท่ากับเรื่องคุณภาพข้าวในระยะปานกลางและระยะยาว โดยรายละเอียดเรื่องความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวทางธนาคารโลกจะเผยแพร่ช่วงสิ้นปีนี้” ดร.กิริฎากล่าว