ThaiPublica > คอลัมน์ > โศกนาฏกรรมของทรัพยากรและชุมชน

โศกนาฏกรรมของทรัพยากรและชุมชน

25 ตุลาคม 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ชะตากรรมจากการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างไม่มีขอบเขตอันนำไปสู่ความเจ็บปวดนั้นเป็นที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการ แต่มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งซึ่งเชื่อมั่นในสปิริตของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ออกมาบอกว่าชุมชนนี่แหละ สามารถร่วมมือกันหลีกหนีโศกนาฏกรรมนี้ได้

ในปี 1968 นิตยสาร Science ได้ตีพิมพ์บทความซึ่งต่อมามีการกล่าวขวัญถึงทั่วโลกของ Garrett Hardin ชื่อ “The Tragedy of the Commons”

ข้อเขียนพยายามอธิบายว่าเหตุใดปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงยากที่จะแก้ไขได้ Hardin ผู้ประดิษฐ์วลี “โศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน” ซึ่งเป็นชื่อของบทความนี้อธิบายว่า ลองจินตนาการว่าที่ดินแปลงหนึ่งที่ “เป็นของทุกคนจนไม่มีใครเป็นเจ้าของ (อย่างแท้จริง)” “เปิดกว้างสำหรับทุกคน” ถูกใช้เป็นที่เลี้ยงวัว สถานการณ์เช่นนี้จะจูงใจให้แต่ละคนเอาวัวเข้าไปเลี้ยง เพราะวัวทุกตัวที่นำไปเลี้ยงจะนำกำไรมาสู่เจ้าของ จำนวนวัวก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงจูงใจ

ด้วยการเป็นที่ดินซึ่งมีพื้นที่จำกัดและทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ จะทำให้ไม่สามารถใช้เลี้ยงวัวได้ไปเรื่อยๆ โดยไม่จำกัดจำนวน ณ จุดหนึ่งที่มีจำนวนวัวมากเกินไป ระบบธรรมชาติก็จะล้มเหลว ความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียขึ้นเช่นนี้สังคมจะเป็นผู้รับไปไม่ใช่ผู้เลี้ยงแต่ละคน

ในบริบทดังกล่าว Hardin เรียกจุดจบที่เขาเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นี้ว่าโศกนาฏกรรม (tragedy) ซึ่งมิได้สื่อถึงความเศร้า หากหมายถึงการไม่สามารถหลีกหนีสภาวการณ์เสียหายนี้ได้

Hardin มิใช่คนแรกที่เห็นปรากฏการณ์นี้ หากเขาสามารถให้คำอธิบายประกอบวลีใหม่ได้อย่างกะทัดรัดและโดนใจผู้คน เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนหน้านี้ Aristotle ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้แล้ว

เศรษฐศาสตร์ตอบรับไอเดียนี้อย่างอบอุ่นเป็นเวลาหลายสิบปี เพราะสอดคล้องกับปัญหาความไม่ชัดเจนของสิทธิความเป็นเจ้าของ (property rights) ในกรณีที่ทรัพยากรเป็น ‘สมบัติร่วมกัน’ เศรษฐศาสตร์เสนอให้ใช้มาตรการที่ช่วยทำให้ความเป็นเจ้าของปรากฏชัดเจนขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา

ตัวอย่างเช่น การให้เช่าที่ดินสาธารณะหรือการแบ่งพื้นที่ป่าให้ชุมชนเป็นเจ้าของ ในกรณีของการเช่า ผู้เช่า หรือ “เจ้าของ” จะดูแลผลประโยชน์เป็นอย่างดีมิให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เกินความเหมาะสมจนนำไปสู่ความล้มเหลวของสิ่งแวดล้อม

ถ้าที่ดินแปลงเดียวกันนี้แบ่งออกเป็นแปลงๆ ให้เช่า ผู้เช่าก็จะต้องควบคุมให้จำนวนของวัวที่นำมาเลี้ยงและกินหญ้าอยู่ในระดับพอดี หรือกรณี “เจ้าของ” ป่า ก็จะมีการดูแลไม่ให้ใครมาขโมยตัดไม้ หรือใช้ประโยชน์จากป่าอย่างผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ในปี 1965 สตรีผู้หนึ่งคือ Lin Ostrom ผู้เรียนจบปริญญาเอกจาก UCLA ด้าน Political Science ได้เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการจัดการน้ำโดยศึกษาความร่วมมือกันของประชาชนฝ่ายต่างๆ ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการสูบน้ำสะอาดจากฟาร์มและแหล่งต่างๆ มาทำน้ำประปาของเมือง Los Angeles

เธอพบว่าประชาชนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาการมีทรัพยากรอันจำกัดได้กันเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเสมอไปดังที่ Hardin กล่าวไว้ ชุมชนทั้งหลายร่วมกันหาข้อตกลงและร่างสัญญาแบ่งสรรน้ำและกำหนดกติกาใช้น้ำร่วมกันได้อย่างประสบผลสำเร็จ

เธอไม่เห็นด้วยกับบทสรุปของ Hardin ที่ระบุว่า โศกนาฏกรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ภาครัฐเข้ามาจัดการไม่ให้เป็นทรัพยากรที่ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกันอีกต่อไป หรือกลายเป็นของรัฐ หรือจัดการโดยภาคเอกชน เธอมั่นใจในการร่วมมือกันของชุมชนที่จะแก้ไขปัญหาของการมีทรัพยากรที่ต้องใช้ร่วมกัน

ยิ่งศึกษาทั่วโลกเธอก็พบว่า มีชุมชนอยู่ทั่วโลกที่ร่วมกันแก้ไขปัญหา (ตัวอย่างการจัดการทุ่งหญ้าในสวิตเซอร์แลนด์ การจับกุ้งมังกรในรัฐเมน การจัดการใช้ป่าในศรีลังกาและน้ำในเนปาล) โดยเธอคิดว่า ‘สมบัติร่วมกัน’ (commons) นี้ มิได้เหมือนกันไปทั้งหมด แต่ละแห่งก็มีลักษณะแตกต่างกันไป และชุมชนก็ร่วมมือกันในลักษณะที่แตกต่างกันไปด้วย

‘สมบัติร่วมกัน’ เป็นของชุมชนร่วมกัน ดังนั้น ชุมชนจึงสมควรจัดการกันเอง ทุกคนเป็นเพื่อนบ้านกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีตัวอย่างแล้วว่าสามารถจัดการได้ การมีบทบาทของภาครัฐไม่ใช่คำตอบ

ชาวนาสวิสของหมู่บ้าน Torbel มีกฎระเบียบในเรื่องการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม มีบทลงโทษปรับเพื่อจัดการใช้ทุ่งนาและทุ่งหญ้าตลอดจนใช้ไม้ฟืนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 นอกจากนี้ยังมีชาวประมงของเมือง Alanya ในตุรกีที่จับฉลากกันทุกกันยายนของปีเพื่อสิทธิจับปลาในฤดูหน้า

 Alanya ในตุรกี ที่มาภาพ : http://ak6.picdn.net/shutterstock/videos/4179047/preview/stock-footage-alanya-turkey-june-port-of-alanya
Alanya ในตุรกี ที่มาภาพ : http://ak6.picdn.net/shutterstock/videos/4179047/preview/stock-footage-alanya-turkey-june-port-of-alanya

เธอได้ศึกษาไปทั่วโลกและบันทึกสิ่งที่เธอพบเพื่อยืนยันบทบาทของชุมชนในการแก้ไขปัญหา ‘สมบัติร่วมกัน’ งานของเธอมีนัยสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระดับโลกว่าไม่ใช่วิธี top-down (บนลงล่าง) เธอเห็นว่าการลงนามของผู้นำเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อนในระดับโลกเป็นความผิดพลาดเพราะปัญหาการใช้ร่วมกันมันซับซ้อนจนต้องแก้ไขจากชุมชนขึ้นมาแบบ bottom-up (ล่างขึ้นบน)

Lin Ostrom เป็นสตรีคนแรกที่รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2009 เธอเสียชีวิตในวัย 78 ปี เมื่อ 3 เดือนก่อน โดยข้างเตียงของเธอก่อนเสียชีวิตมีร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่เธอกำลังตรวจแก้ไขให้ลูกศิษย์

Garret Hardin และภรรยาเสียชีวิตอย่างตั้งใจพร้อมกันในปี 2007 หลังจากแต่งงานมา 62 ปี และทนทุกข์ทรมานโรคร้ายมานานปี

ถึงแม้ทั้งสองจากไปแล้ว แต่ก็ได้ทิ้งข้อคิดสำคัญไว้อย่างน่าชื่นชมเกี่ยวกับการระมัดระวังการใช้ “สมบัติร่วมกัน” ของชาวโลกและการแก้ไขปัญหาทรัพยากรของโลกด้วยปัญญาของชุมชน

ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 17 ก.ย. 2556