ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เรื่องจริงของประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป (6) : นายจำกัด พลางกูรพบจอมพลเจียง ไคเชก

“เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เรื่องจริงของประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป (6) : นายจำกัด พลางกูรพบจอมพลเจียง ไคเชก

13 ตุลาคม 2013


ประวัติศาสตร์ที่เราได้เรียน ได้อ่านกันมาเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างยกย่องเชิดชูขบวนการเสรีไทยที่มีคุณาปการกับประเทศไทยเป็นอันมาก เพราะปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องทำเอกสารยอมจำนน ไม่ถูกปลดอาวุธ ไม่ถูกยึดครอง ไม่เสียค่าปฏิกรรมสงคราม และที่สำคัญไม่เสียเอกราช

แต่เบื้องหลังปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย มีคนไทยคนหนึ่งชื่อ “จำกัด พลางกูร” ได้ปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่เพื่อชาติ เพื่อ humanity แต่กลับไม่เป็นที่รับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ หรือรู้จักในวงจำกัดมากเมื่อเทียบกับเสรีไทยอีกหลายๆ คน

ดังนั้น เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวาระที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ผู้ริเริ่มแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง มีอายุครบ 72 ปี ในปี 2556 ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง และชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการแสดงละครเวทีของบรรดาศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่อง “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเชิดชูเกียรติและแสดงมุทิตาจิตแก่อาจารย์ทั้งสอง

ละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เป็นละครที่ ดร. ฉัตรทิพย์ อำนวยการสร้างและเขียนบทละครเองจากบันทึกเกือบ 1,000 หน้า ของนายจำกัด พลางกูร เสรีไทยที่จดบันทึกทุกเหตุการณ์ในระหว่างปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่อย่างละเอียด

ฉากที่ 6 : พบจอมพลเจียง ไคเชก

จากฉากตอนที่แล้ว เมื่อนายจำกัดถูกปฏิเสธการรับรองจากอังกฤษ และสถานทูตไทยที่วอชิงตันก็ไม่แสดงจุดยืนชัดเจนในการรับรองเขา ทำให้เขาคิดว่าต้องหวังพึ่งจีนมากขึ้น และการพบจอมพลเจียง ไคเชก ถือเป็นภาระกิจอันยิ่งใหญ่

กว่า 2 เดือนหลังจากที่เขาไปถึงจุงกิง นายจำกัดจึงมีโอกาสพบนายพลเจียงเมื่อวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2486 เวลา 11.00 น. นายเซายู่หลินและล่ามภาษาอังกฤษ-จีน พาเขาและนายไพศาลไปพบจอมพลเจียงที่บ้านรับแขก

สถานที่ที่นายจำกัดพบจอมพลเจียง ไคเชก
สถานที่ที่นายจำกัดพบจอมพลเจียง ไคเชก

นายจำกัดแนะนำตัวเองกับจอมพลเจียงว่าเป็นนักปฏิวัติไทย ซึ่งนายปรีดีและคณะกรรมาธิการของไทยอิสระส่งมาสถาปนาความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างจีนกับไทย เขาเท้าความถึงวัตถุประสงค์และแผนการของคณะเสรีไทยที่ส่งมาก่อนหน้านี้ และขอให้จอมพลเจียง ไคเชก รับรองว่า สัญญาร่วมรบระหว่างรัฐบาลจอมพล ป. กับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2484 เป็นโมฆะ ดังที่จอมพลเจียงพูดในวิทยุ (27 กุมภาพันธ์ 2486) ว่าเป็นสัญญาที่ทำกันเพราะอำนาจหอกปลายปืนญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นความยินยอมเห็นชอบของทหารและราษฎรไทย

จอมพลเจียงตอบเขาว่า “เรื่องสัญญานั้นเป็นโมฆะเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้ว ทางรัฐบาลจีนถือเป็นเช่นนั้น”

นายจำกัดกล่าวต่อไปว่า “ตอนนี้รัฐบาลอังกฤษไม่ยอมรับรองคณะเสรีไทย ผมสงสัยว่ารัฐบาลอังกฤษอาจจะอยากฟื้นคณะนิยมเจ้าขึ้นมาใหม่ แต่คณะของท่านปรีดี และพวกผม เป็นคณะรัฐธรรมนูญของท่านปรีดี ชื่นชมหนังสือซันหมินจู่ยี่ และ ดร.ซุนยัดเซ็นมาก ถ้าอังกฤษไม่สนับสนุนพวกผมก็หวังว่าจีนจะสนับสนุนคณะเสรีไทย

จอมพลเจียงตอบกลับว่า “ไม่ว่าการณ์เป็นอย่างไร รัฐบาลจีนยินดีที่จะช่วยเหลือให้ประเทศไทยได้รับเอกราชกลับคืนมา”

นายจำกัดเขียนบันทึกว่า เขาดีใจมาก ที่เขาสามารถทำให้เจียง ไคเชก รับปากจะคืนสถานะเอกราชให้ไทย แม้เจียงจะเคยพูดทางวิทยุว่า จีนไม่ต้องการยึดครองดินแดนไทย แต่ก็ไม่เคยพูดชัดเจนว่า จะช่วยให้ไทยได้เอกราชหลังสงคราม นอกจากนั้น จอมพลเจียงยังกล่าวอนุญาตให้เขาเดินทางไปวอชิงตันได้อีกด้วย ถ้าเป็นความประสงค์ตรงกันของเขาและ ม.ร.ว.เสนีย์

ฝ่ายจีนยังเสนอให้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในจีนด้วย แต่นายจำกัดไม่ยอมทำอย่างนั้น เขายึดมั่นในคำสั่งของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ว่าต้องไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในดินแดนของสัมพันธมิตรที่อื่น เช่น อินเดีย เราจึงจะมีอิสระเต็มที่ เขาจะต้องพยายามให้สัมพันธมิตรทุกประเทศรับรองคณะเสรีไทย และเอกราชของประเทศไทย ไม่ใช่ให้รัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

อีก 5 เดือนต่อมา นายพลเจียงรักษาสัจจะที่พูดไว้กับนายจำกัด เมื่อมีการประชุมระหว่างรูสเวลท์, เชอร์ชิล และเจียง ไคเชก

23-25 พฤศจิกายน 2486 ในการประชุมที่กรุงไคโร เจียง ไคเชก ได้เสนอว่า “หลังสงครามให้คืนฐานะเอกราชกลับให้ไทย” รูสเวลท์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเห็นด้วยตามมา ส่วนเชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษไม่ได้อยู่ในที่ประชุม และในวันปีใหม่ พ.ศ. 2487 เจียง ไคเชก ประกาศย้ำทางวิทยุให้ชาวโลกทราบว่า “จีนและอเมริกาจะให้ไทยเป็นประเทศเอกราชหลังสงคราม”

การที่นายจำกัดสามารถเจรจาให้จอมพลเจียงรับรองคณะเสรีไทย และรับรองเอกราชของไทย เป็นคุณูปการมหาศาลที่เขาทำให้กับประเทศไทย จีนเป็นประเทศแรกในฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประกาศเช่นนี้ชัดเจน และสหรัฐอเมริกาสนับสนุนตามมา ทำให้อังกฤษที่อาจมีความคิดที่จะเอาไทยเป็นรัฐอารักขาอยู่บ้าง และอาจคิดเฉือนดินแดนภาคใต้ของไทยไปรวมกับมลายู ล้มเลิกความคิดนั้น

การตกลงระหว่างจีนกับสหรัฐที่นครไคโร ประกันเอกราชของไทยหลังสงคราม เป็นการตกลงที่สำคัญยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย ทำให้เรามีเอกราชสมบูรณ์มาจนถึงทุกวันนี้ เป็นผลมาจากการเจรจาเป็นผลสำเร็จของนายจำกัดกับเจียง ไคเชก ที่จุงกิงนี้เอง

บันทึกเอสารสรุปการประชุมของจีนในการพบปะระหว่างรูสเวลท์ และเจียง ณ การเลี้ยงอาหารค่ำ วันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1943
บันทึกเอกสารสรุปการประชุมของจีนในการพบปะระหว่างรูสเวลท์ และเจียง ณ การเลี้ยงอาหารค่ำ วันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1943

บันทึกเอกสารสรุปการประชุมของจีนในการพบปะระหว่างรูสเวลท์ และเจียง ณ การเลี้ยงอาหารค่ำ วันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1943 เวลา 20.00 น.รูสเวลท์วิลลา ข้อความที่เกี่ยวกับไทยมีดังนี้…

(7) ว่าด้วยเกาหลี อินโดจีน และไทย ประธานาธิบดีรูสเวลท์เสนอความเห็นว่าจีนและสหรัฐควรตกลงกัน เรื่องฐานะอนาคตของเกาหลี อินโดจีน ดินแดนในอาณานิคมอื่นและไทยด้วย จอมพลเจียงเห็นพ้องด้วย จอมพลเจียงย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องให้เอกราชแก่เกาหลี จอมพลเจียงมีความเห็นด้วยว่า จีนและสหรัฐควรพยายามร่วมกันที่จะช่วยให้อินโดจีนได้เอกราชหลังสงคราม และให้คืนฐานะเอกราชกลับให้ไทย ประธานาธิบดีแสดงความเห็นชอบด้วยกับความเห็นของจีน (จากข้อความย่อหน้าแรกด้านขาวมือ : รูปภาพข้างบน)

ที่มา: Department of State, “Foreign Relation of the United States Diplomatic Papers, The Conferences at Cairo and Tehran,” 1943, pp. 322-325)

โปรดติดตามอ่านฉากที่ 7: พบ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ