ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แผนการป้องกันและรับมือน้ำมันรั่วของรัฐ ที่ยังไม่ได้เขียน – “เขาว่าน้ำทะเลใส รู้ได้ไงว่าปลอดภัย”

แผนการป้องกันและรับมือน้ำมันรั่วของรัฐ ที่ยังไม่ได้เขียน – “เขาว่าน้ำทะเลใส รู้ได้ไงว่าปลอดภัย”

2 ตุลาคม 2013


ที่มาภาพ : บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)
ที่มาภาพ : บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)

ดูเหมือนเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จังหวัดระยองของบริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC แม้จะดูเหมือนคลี่คลายแต่ก็ยังคำถามต่อบริษัทผู้รับผิดชอบเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง ทั้งนี้ในแง่”ระบบและกลไก” ในการรับมือเหตุการณ์น้ำมันรั่วของภาครัฐ หากรัฐหรือหน่วยงานของรัฐมี “โครงสร้างและแผนป้องกัน” ที่ดีและเข้มแข็ง การป้องกันและการรับมือรวมถึงการลงโทษผู้กระทำให้เกิดความเสียหายก็จะมีประสิทธิภาพตามไปด้วย

จากงานเวทีสาธารณะ “คำถามที่ ปตท. ต้องตอบ…ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน” ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) ได้กล่าวถึงประเด็น “จุดอ่อนและข้อจำกัด ระบบและกลไกรับมือกับปัญหาภัยด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล: กรณีน้ำมันรั่ว” ว่าระบบและกลไกการรับมือน้ำมันรั่วในประเทศไทยมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยจัดทำเป็น “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.2538” และแต่งตั้งกรรมการชุดหนึ่งมาดูแลและร่างแผนป้องกันขึ้นมา ชื่อ “คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน” หรือ กปน. ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นประธานคณะกรรมการ

การจัดทำแผนดังกล่าวมีการคาดกันในสมัยนั้นว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน แต่เอาเข้าจริงกลับใช้เวลาร่วม 7 ปี โดยได้ “แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ.2545” ขึ้นมาบังคับใช้ มีแผนภูมิโครงสร้างองค์กรที่ดูแลรับผิดชอบดังต่อไปนี้

ที่มา  : ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ที่มา: ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

แผนป้องกันฯ แบ่งระดับของเหตุการณ์น้ำมันรั่วเป็น 3 ระดับ คือ

1. ไม่เกิน 20 ตัน การขจัดคราบน้ำมันให้เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ก่อเหตุ

2. ระหว่าง 20-1,000 ตัน การขจัดคราบน้ำมันจะต้องมีการร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ

3. เกิน 1,000 ตัน การขจัดคราบน้ำมันจะต้องขอการสนับสนุนเพิ่มเติมจากต่างประเทศ

ระบบและกลไกรับมือจากแผนป้องกันฯ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วมีศูนย์ประสานงานขึ้นมาทำหน้าที่จะมีหน้าที่ที่สำคัญคือแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ก่อเหตุ ส่วนศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการและหน่วยปฏิบัติการจะมีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี รวมถึงกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการ (อ่านรายละเอียด: น้ำมันรั่ว บทเรียนด้านการจัดการ)

ส่วนการฟื้นฟูและชดเชยความเสียหายของสภาพแวดล้อม กปน. มีหน้าที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน เพื่อจัดเตรียมแผนปฏิบัติการฟื้นฟูและชดเชยความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมขึ้น โดยให้ผู้ก่อเหตุเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

แต่แล้วในปี พ.ศ.2547 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ออก “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547” ขึ้น โดยให้ยกเลิก “ระเบียบฯ ปี พ.ศ.2538” มีผลทำให้ “แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ.2545” ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

ที่มา  : ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ที่มา: ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ระเบียบฯ ปี พ.ศ. 2547 กำหนดให้คณะกรรมหนึ่งคือ กปน. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ทำหน้าที่จัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติขึ้น ซึ่งในคณะกรรมการไม่มีตัวแทนหน่วยงานจากกระทรวงพลังงาน

ที่มา : ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ที่มา: ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

“จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาใหม่ ทำให้การรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวดูจะสับสนชุลมุน ไม่มีขั้นตอนไม่มีลำดับในการปฏิบัติการ เมื่อเกิดเหตุก็มีหน่วยงานจากหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดการทำงานซ้ำซ้อนขึ้นหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าการรับมือที่ทำนั้นจะถูกหลักปฏิบัติในมาตรฐานสากลหรือไม่”

กปน.ยังไม่มีการจัดทำแผนมลพิษน้ำมันรั่วใหม่ ที่มา  : ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ที่มา: ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม หากยึด “แผนป้องกันฯ ปี พ.ศ.2545” เป็นเกณฑ์ เราคงนึกถึงหน้าที่ของศูนย์ประสานงานที่ว่า “รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ก่อให้เกิดมลพิษให้ชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการขจัดคราบน้ำมัน” ที่ดูเหมือนว่าวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนจากภาครัฐที่ดำเนินการฟ้องร้องบริษัท PTTGC ผู้ก่อเหตุเลย สอดคล้องกับที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อ PTTGC ได้จัดการรับมือสถานการณ์ดังกล่าวได้เรียบร้อยแล้วทุกอย่างก็กลับสู่สภาพปกติ ไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องใดๆ ทั้งสิ้น

“เมื่อรัฐไม่เข้ามาดำเนินการ แล้วใครล่ะครับจะเป็นเจ้าภาพในการไปเอาผิดกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ก่อมลพิษทำลายทรัพยากรของชาติไทย” ดร.บัณฑูรกล่าว

“เขาว่าน้ำทะเลใส รู้ได้ไงว่าปลอดภัย”

เกาะติดน้ำมันรั่ว :  "1 เดือน: การเพิกเฉยของรัฐต่อข้อเรียกร้องตั้งคณะกรรมการอิสระกรณี PTTGC ทำน้ำมันรั่วลงสู่ทะเล" พร้อมกับจัดเวทีสาธารณะ ณ ศาลาร่วมใจ ชุมชนประมงบางกระเฌอ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง
เกาะติดน้ำมันรั่ว : “1 เดือน: การเพิกเฉยของรัฐต่อข้อเรียกร้องตั้งคณะกรรมการอิสระกรณี PTTGC ทำน้ำมันรั่วลงสู่ทะเล” พร้อมกับจัดเวทีสาธารณะ ณ ศาลาร่วมใจ ชุมชนประมงบางกระเฌอ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง

อย่างไรก็ตามเมื่อวันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่ว” ซึ่งประกอบด้วยมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia) และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) ร่วมกับ Change.org ได้จัดแถลงข่าว “1 เดือน: การเพิกเฉยของรัฐต่อข้อเรียกร้องตั้งคณะกรรมการอิสระกรณี PTTGC ทำน้ำมันรั่วลงสู่ทะเล” พร้อมกับจัดเวทีสาธารณะ ณ ศาลาร่วมใจ ชุมชนประมงบางกระเฌอ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง

จากกรณีน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 กลุ่มติดตามปัญหาน้ำมันรั่วมาตั้งแต่ต้น ได้รณรงค์ประชาชนร่วมลงชื่อผ่าน Change.org เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบกรณีน้ำมันรั่วดังกล่าว จนได้รายชื่อสนับสนุนกว่า 32,000 คน ยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2556 กระทั่งปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2556 มีผู้ลงชื่อสนับสนุนกว่า 48,000 คนแล้ว ทว่า ผ่านมากว่า 1 เดือน มีเพียงหนังสือตอบกลับจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาว่า “ได้ประสานงานเพื่อส่งเรื่องให้กระทรวงพลังงานพิจารณาส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว” และไม่มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเพิกเฉยไม่มีการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูล ขาดความโปร่งใสในการดำเนินการ รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และข้อเรียกร้องของประชาชนแต่อย่างใด

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวว่าความไม่ชัดเจนของข้อมูลในการตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่มีหลักประกันที่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา หรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ตามข้อเรียกร้องที่กลุ่มฯ ได้เสนอไว้ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยทางกลุ่มฯ จะเดินหน้าเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้จนถึงที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและมีมาตรการควบคุมตรวจสอบไม่ให้เหตุนี้เกิดซ้ำอีกในอนาคต

เกาะติดน้ำมันรั่ว-เสวนาระยอง-3

จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วมาจนถึงวันนี้ ทางกลุ่ม ปตท. ได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณาชุด “Better Samed” ขึ้นมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเกาะเสม็ดวันนี้ดีขึ้นแล้ว อยากเชิญชวนคนไทยให้ไปเที่ยวเกาะเสม็ดอีกครั้งเพื่อช่วยให้วิถีชีวิตของผู้คนและธุรกิจต่างๆ บนเกาะเสม็ดกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม แต่ทาง “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่ว” และชาวบ้านในพื้นที่กลับไม่คิดอย่างนั้น เนื่องจากเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีผลการตรวจสอบรับรองทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใดว่าน้ำทะเลและอาหารทะเลปลอดภัยจริง

นายวีรศักดิ์ คงณรงค์ ประธานกลุ่มชาวประมงบางกระเฌอกล่าวว่าหลายคนมองพวกเราเป็นคนพาล เรียกร้องไม่รู้จบ แต่เพราะได้รับผลกระทบ การออกโฆษณาบอกว่า เกาะเสม็ดปลอดภัย เป็นเหมือนเดิม สามารถมาเที่ยวได้แล้วนั้นก็เป็นเรื่องดี ช่วยเหลือการทำมาหากินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ควรจะเกิดขึ้นภายหลังจากการนำตัวอย่างน้ำ สัตว์ทะเล และทราย ไปตรวจสอบ ยืนยันความปลอดภัยว่าสามารถกินได้ เล่นน้ำได้เป็นปกติ ไม่มีผลกระทบ ยืนยันว่าไม่มีชาวประมงคนไหนอยากพูดให้นักท่องเที่ยวหวาดกลัว ไม่มาเที่ยว ไม่มาซื้อ แต่ทุกวันนี้ชาวประมงเองยังไม่มั่นใจ กลัวว่าบริโภคไปแล้วจะสะสมก่ออันตรายในภายหลัง

เกาะติดน้ำมันรั่ว-เสวนาระยอง-4

ขณะที่นางเพ็ญโฉมให้ความเห็นว่า”สถานการณ์ในพื้นที่ตรงกันข้ามกับการโฆษณาของ ปตท. ที่กำลังมีการโหมโฆษณาว่าเสม็ดดีขึ้นแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้ประชาชนในพื้นที่จุดเกิดเหตุยังคงยืนยันและร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ว่าผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วยังคงดำรงอยู่และก่อให้เกิดความเสียหายในหลายมิติ โดยเฉพาะการประมง ท่องเที่ยว ค้าขาย รวมถึงระบบนิเวศ อีกทั้งการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ยังไม่ครอบคลุมและเป็นธรรม”

นอกจากนี้ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบสิ่งมีชีวิตและตัวอย่างน้ำทะเลที่ชายหาดอ่าวพร้าว พบสารปรอทและสารหนูที่เป็นสารก่อมะเร็งในน้ำทะเล พบความผิดปกติใน DNA ของปลา พบกระดองหมึกขนาดเล็กจำนวนมากซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ แสดงถึงการตายของหมึกตั้งแต่ยังไม่โตเต็มวัย และกล่าวถึงการตายของเต่าตนุ 3 ตัวในรอบ 3 สัปดาห์ และปลาโลมาตาย 2 ตัวในรอบ 2 สัปดาห์ ว่าเป็นสิ่งผิดปกติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สุดท้ายนี้ ทาง “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่ว” กำลังดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมที่จะเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษในขั้นตอนต่อไป และจะเดินหน้าอย่างถึงที่สุดเพื่อให้รัฐตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอิสระขึ้นมาค้นหาความจริงที่ดูเหมือนจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมันให้ได้