ThaiPublica > คอลัมน์ > “เข้าใจ” ไม่ใช่ “เห็นด้วย” และ “เห็นด้วย” ไม่ได้แปลว่า “เอาด้วย”

“เข้าใจ” ไม่ใช่ “เห็นด้วย” และ “เห็นด้วย” ไม่ได้แปลว่า “เอาด้วย”

27 ตุลาคม 2013


ณัฐเมธี สัยเวช

“เข้าใจ” และ “เห็นด้วย” ดูจะเป็นคำที่มักถูกใช้ไปในความหมายเดียวกัน ทั้งที่สะกดไม่เหมือนกัน ความหมายต่างกัน และเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่างกัน

เมื่อรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ การที่คนเรา “เข้าใจ”ข้อมูลข่าวสารนั้นก็คือสามารถรู้เรื่องว่า ข่าวสารนั้นมีใจความอย่างไร กำลังสื่ออะไร และ (อาจจะ) ต้องการจะนำไปสู่อะไร พูดอย่างมีชั้นเชิงหน่อยก็คือว่า “แปลรหัสออก”

ดังนั้น เห็นได้ว่า “เข้าใจ” นั้นเป็นเพียงขั้นตอนของการรับ-อ่าน-ตีความข้อมูล เพื่อให้รู้ว่าตัวเองกำลังเจอกับอะไร อะไรที่ว่านั่นมาจากไหน กำลังจะไปไหน และที่สำคัญ “มาอย่างไร”

และทั้งหมดนั้น ต่อข้อมูลข่าวสารบางแบบ การทำความเข้าใจก็เพื่อจะนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะ “เห็นด้วย” หรือไม่ (เช่น การแสดง-แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องต่างๆ)

“เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย” หรือกระทั่ง “ไม่สนใจ” (ยักไหล่) ล้วนเป็นหรือควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่คนเราได้ทำความเข้าใจในข้อมูลที่ตัวเองได้รับ

ฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ เข้าใจได้ไม่ยาก ไม่มีอะไรซับซ้อน จนไม่น่าจะต้องมาใช้พื้นที่อธิบายให้สิ้นเปลืองทรัพยากรถึงสิบบรรทัด และบรรยายต่ออีกนับสิบบรรทัด

แต่ก็ต้องมาจำแนกแยกแยะ เพราะมักจะเห็นการเชื่อมโยงที่ว่า “เข้าใจ” เท่ากับ “เห็นด้วย” หรือในเชิงกลับแบบ “ไม่เห็นด้วย” เท่ากับ “ไม่เข้าใจ” (อันสำหรับโลกออนไลน์แล้วมักตามมาด้วย “ไปอ่านใหม่ให้ดี”) อยู่เป็นประจำ

การเชื่อมโยงดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นในลักษณะทำนองว่า จอห์น โด ไม่พอใจที่แจ็ค ดอว์ ไม่ต่อว่าพวกกินเนื้อสุนัขไปกับเขา แถมยังเถียงเมื่อเขาบอกว่าคนกินเนื้อสุนัขเป็นคนไม่ดีอีกด้วย จอห์น โด ไม่พอใจและบอกว่าแจ็ค ดอว์ ก็คงเป็นพวกชอบกินเนื้อสุนัขเหมือนกัน

เมื่อเจน โด ผู้เป็นภรรยา ได้ฟังเรื่องราวแล้วก็เสนอเหตุผลต่างๆ อีกหลายแบบที่เป็นไปได้ ที่เธอคิดว่าทำให้แจ็ค ดอว์ ไม่แสดงออกไปในทางเดียวกันกับสามีของเธอ จอห์น โด ได้ฟังดังนั้นแล้วก็ไม่พอใจ หาว่าเจน โด เมียรักเข้าข้างแจ็ค ดอว์ และก็เลยเถิดในแบบเดียวกัน คือหาว่าเธอเองก็คงอยากกินเนื้อสุนัขด้วย

การเชื่อมโยงในลักษณะดังกล่าวนั้นสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เป็นเหตุให้ผัวเมียคู่นี้ตีกัน เนื่องจากในความเป็นจริง เจน โดว์ ก็ไม่สนับสนุนการกินเนื้อสุนัข รวมทั้งเห็นว่าคนเราควรจะต่อต้านการกินเนื้อสุนัข แต่เธอก็เพียงแค่พยายามจะเข้าใจว่าแจ็ค ดอว์ ทำมันลงไปในแบบนั้นเพราะอะไร รวมทั้งเห็นต่างว่าเขาอาจจะไม่ได้ชอบกินเนื้อสุนัขก็ได้ และไม่รู้สึกว่าแจ็ค ดอว์ นั้นผิดอะไรที่จะเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ หรืออีกลักษณะกรณีคือ ต่อให้แจ็ค ดอว์ ชอบกินเนื้อสุนัขก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรในชีวิตของเธอ

แม้จะเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน แต่ “การทำความเข้าใจ” และ “การตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่” ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า อย่างแรกนั้นเป็นเรื่องเชิง W หรือ Who-What-When-Where-Why คือ ใคร-ทำอะไร-เมื่อไหร่-ที่ไหน-ทำไม เป็นการทำให้ตัวเอง “รู้เรื่อง” เท่าที่ความสามารถจะอำนวย ในขณะที่อย่างหลัง หรือก็คือการตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของการใช้ตรรกะ ใช้เหตุใช้ผล เพื่อประมวลว่าเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลอันปรากฏในข้อมูลนั้นสมเหตุสมผลเพียงไหน กล่าวคือ เป็นการเทียบเคียง “ที่เราคิดว่าจะเป็น” กับ “ที่เราพบว่าเป็น” โดยเทียบบนฐานประสบการณ์และความรู้พื้นหลังของตน หรือ หลังจากรู้ว่าที่มัน B ก็เพราะ A ก็คิดต่อไปว่า เนื่องด้วยหรือเนื่องเพราะ A แล้วนั้น มันสมควรหรือหนักแน่นพอจะ B หรือไม่ ถ้าเพียงพอก็เห็นด้วย ถ้าไม่เพียงพอก็ไม่เห็นด้วย หรือไม่ก็อาจจะไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น จะ A เพราะ B หรือ B เพราะ A ก็รู้เรื่อง แต่ไม่สนใจอะไร

คนเราสามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับมัน และการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยกับข้อมูลนั้นๆ หรือไม่ หรืออย่างน้อยที่สุด จะรู้สึกกับมันอย่างไร และในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอันมาก และเราไม่ควรลัดวงจรมันด้วยการชี้หน้าคนที่พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ว่าเขาสนับสนุนหรือเป็นพวกเดียวกับสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยหรือกระทั่งชิงชังนั้น

อาจเรียกอีกอย่างได้ว่า ลำพัง “เข้าใจ” ไม่ได้หมายความว่า “ยอมรับ” เจน โด สามารถเข้าใจว่าทำไมแจ็ค ดอว์ จึงไม่ว่าหรือถึงขั้นปกป้องพวกกินเนื้อสุนัข เช่น เธออาจจะมองว่า มันเป็นสิทธิของแจ็ค ดอว์ และคนเหล่านั้น ตราบใดไม่มีกฎหมายที่ใช้เอาผิดเรื่องพรรค์นี้ ตราบใดคนพวกนี้ไม่มาฆ่าสุนัขของเธอเพื่อเอาเนื้อไปกิน เธอก็จะไม่ไปด่าประณามพวกเขาด้วยอำนาจรสนิยมส่วนตัวที่ไม่ได้รับการรับรองจากกฎหมาย หรือกระทั่งสามารถไม่เห็นด้วยกับการด่าประณามในลักษณะนั้น โดยที่เธอเองก็ยังคงไม่เห็นด้วยกับการกินเนื้อสุนัขเหมือนเดิม และถ้าเธอมีกำลังพอ เจน โด ก็อาจไปหาทางเคลื่อนไหวให้เกิดกฎหมายออกมาจัดการในเรื่องนี้

ยิ่งไปกว่านี้ นอกจาก “เข้าใจ” ไม่ได้เท่ากับ “เห็นด้วย-ยอมรับ” แล้ว ในอีกระดับหนึ่งต่อไป การ “เห็นด้วย-ยอมรับ” ก็ไม่ได้เท่ากับ “เอาด้วย-ร่วมด้วย”

แจ็ค ดอว์ สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมมีการกินเนื้อสุนัข เห็นด้วยกับเหตุผลของคนพวกนั้น ยอมรับได้ถ้าจะมีวิถีการกินแบบนี้อยู่ในโลก โดยที่ตัวเขาเองไม่เคยและไม่มีวันจะไปกินเนื้อสุนัขอย่างแน่นอน

ในโลกแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมเห็นแจ็ค ดอว์ และเจน โด เต็มไปหมด แต่ก็ยังไม่มากเท่าจอห์น โด ที่คอยชี้หน้าบอกว่าคนนั้นเป็นเจน โด คนนี้เป็นแจ็ค ดอว์ โดยไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นจอห์น โด