ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมส่งเสริมสหกรณ์เผย 3 เหตุผล ปลด “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” ประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่นและบอร์ดทั้งคณะ

กรมส่งเสริมสหกรณ์เผย 3 เหตุผล ปลด “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” ประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่นและบอร์ดทั้งคณะ

10 ตุลาคม 2013


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 นายกิตติพงษ์ โตโพธิ์ไทย ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ ได้มีคำสั่งปลดคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ทั้งนี้มาจากรายงานการตรวจสอบของผู้ตรวจการสหกรณ์แจ้งว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 29 (มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการ) มีการ กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก ดังนี้

1. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีข้อบกพร่องในการดำเนินงาน โดยเฉพาะในเรื่องการจ่ายเงินยืมทดรองจ่าย และการให้เงินกู้แก่สมาชิกสมทบไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ชุดที่ 28 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับสหกรณ์และกฏหมาย และได้ฟ้องร้องคดีต่อศาลแพ่งและอาญา ในนามของสหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยได้ฟ้องร้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก เป็นรายบุคคล รวม 5 คดี และได้มีการเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามคดีหมายเลขดำที่ 728/2556 เป็นเงิน 391.40 ล้านบาท และคดีหมายเลขดำที่ 1260/2556 เป็นเงิน 12,696.35 ล้านบาท

ต่อมา คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 29 กลับมีมติและดำเนินการถอนฟ้องคดีที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 28 ได้ฟ้องร้องต่อศาลไว้แล้วทั้งหมด ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องตามกฎหมายสหกรณ์์ ให้คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 29 หาผู้ต้องรับผิดชอบในการถอนฟ้องคดีต่อศาลทั้งศาลแพ่งและอาญา ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดที่ 29 รับทราบแต่ไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด ถือว่าไม่ปฏิบัติคำสั่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

2. คณะกรรมการฯ ชุดที่ 29 ได้ขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้แก่สมาชิก 2 ราย โดยวิธีการให้หักบัญชีเงินรับฝากของสมาชิกที่มีกับสหกรณ์ในการซื้อหุ้นดังกล่าว เป็นเงิน 8.96 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท ตามลำดับ แต่สหกรณ์ฯ ได้เงินสดจากการขายหุ้นด้อยสิทธิแค่ 1.21 ล้านบาท นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่า ในขณะที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่การที่คณะกรรมการฯ ชุดที่ 29 ทำเช่นนั้น แท้จริงแล้วมีเจตนานำหลักทรัพย์ไปหักกลบลบหนี้ให้แก่สมาชิกเพียง 2 รายได้ประโยชน์เท่านั้น แต่สมาชิกสหกรณ์ฯ อื่นไม่ได้รับประโยชน์จากการขายหุ้นดังกล่าวที่ต้องนำมาเฉลี่ยเพื่อคืนเงินฝาก จึงมีคำสั่งให้ระงับการซื้อขายหุ้นดังกล่าว และยกเลิกการจดทะเบียนซื้อขายหุ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทว่าคณะกรรมการฯ ชุดที่ 29 รับทราบแต่ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันควร

3. คณะกรรมการฯ ชุดที่ 29 มีพฤติกรรมที่แสดงเจตนาให้เห็นว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนฯ และผู้ตรวจการสหกรณ์ที่ให้จัดส่งรายงานการประชุมคณะกรรมการฯ ทุกครั้งที่มีการประชุม แต่ไม่ได้ส่งให้ครบถ้วน รวมทั้งการให้จัดส่งธุรกรรมทางการเงินภายในวันศุกร์ทุกสัปดาห์ก็ไม่ได้จัดส่งให้ รวมถึงมีพฤติกรรมปกปิดข้อมูลในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เป็นผลให้เกิดความเสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิกโดยรวม

จึงได้มีคำสั่งอาศัยตามมาตรา 22 (4) พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 และคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 131/2555 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 ให้คณะกรรมการฯ ชุดที่29 พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียตามคำสั่งนี้สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่ง

แถลงข่าวปลดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นทั้งคณะและแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ที่กรมสวบสวนคดีพิเศษ
แถลงข่าวปลดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นทั้งคณะ และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ที่กรมสวบสวนคดีพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 ตุลาคม 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้แถลงข่าวร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และ ปปง. โดยนายสุรกิจ ลิ้มสิทธิกูล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะว่า จากที่รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น ช่วงเดือนสิงหาคม 2556 จากกรณีที่ถอนเงินจากสหกรณ์ฯ คลองจั่นไม่ได้ แต่กระบวนการแก้ปัญหายังดำเนินไปได้ค่อนข้างช้า สุดท้าย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ มีหนังสือแจ้งนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเร่งให้ปลดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ฯ คลองจั่น ซึ่งนายยุคลก็สั่งการตามหนังสือจากดีเอสไอ แต่กระบวนการที่นำไปสู่คำสั่งนายทะเบียนปลดและแต่งตั้งคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น ต้องชัดเจนและมีองค์ประกอบมากมาย หากทำผิดขั้นตอน มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะถูกฟ้องกลับได้ ซึ่งกรรมการชุดใหม่ก็ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ และข้าราชการจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นคนทาบทามให้เข้ารับตำแหน่งทั้งหมด

ด้ายนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีการดำเนินการที่ผิดปกติต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ทางกรมก็เข้าไปตรวจสอบและได้รับรายงาน เมื่อตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2553 ก็แต่งตั้งคณะผู้ตรวจการเข้าตรวจสอบ พบว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง 9 ประเด็น และตนได้สั่งให้สหกรณ์แก้ไขแล้ว โดยกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น ชุดก่อนๆ ดำเนินการแก้ไขไป 6 ประเด็น ตามลำดับ จนถึงคณะกรรมการชุดที่ 28 (นายมณฑล กันล้อม เป็นประธาน) ต้องแก้ไขประเด็นสุดท้ายเรื่องความเสียหายของสหกรณ์ที่ดำเนินผิดกฎระเบียบของสหกรณ์ การให้กู้ยืมและการยืมเงินทดรองจากสหกรณ์ออกไป ซึ่งชุดที่ 28 ดำเนินการแจ้งความและฟ้องศาลตามที่กรมแนะนำแล้ว แสดงให้เห็นว่าต้องมีผู้รับผิดชอบและผู้เสียหาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 มีการประชุมใหญ่ประจำปีของสหกรณ์ฯ คลองจั่นและเลือกตั้งคณะกรรมการดำรงตำแหน่งแทนชุดที่ 28 มีการเลือกตั้ง 4 ครั้ง จนกระทั่ง 28 พฤษภาคม 2556 ได้กรรมการชุดที่ 29 ที่มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้รับความไว้วางใจจากที่ประชุมเลือกให้กลับเข้ามาเป็นประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556

นายสมชาย ชาญนรงคกุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

“เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง กรรมการชุดที่ 29 มีมติให้ถอนฟ้องทุกคดีที่กรรมการชุดที่ 28 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายศุภชัยและพวก ตรงนี้เป็นประเด็นหลักที่มาของคำสั่งปลด ประเด็นที่สอง คือช่วงที่ชุด 29 ดำรงตำแหน่ง การทำธุรกรรมใดๆ ของสหกรณ์ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐรับทราบ เพื่อเข้าไปแก้ไขได้ ตามมาตรา 22 (1) ของ พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ ผู้ตรวจการและรองนายทะเบียนที่ได้รับมอบอำนาจ ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน สั่งให้สหกรณ์แก้ไข แต่ก็ไม่มีการแก้ไข ไม่ดำเนินการใดที่จะหาผู้รับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตักเตือนและให้โอกาสมาตลอด กระทั่งครบกำหนดดำเนินการและมีความผิดอื่นประกอบ จึงต้องใช้อำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ตามมาตรา 22 (4) ของ พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ เพื่อถอดถอนให้กรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และเมื่อถอดถอนแล้วจึงต้องตั้งคณะกรรมการสหกรณ์ชุดใหม่ ตามมาตรา 24 ทำหน้าที่ไม่เกิน 180 วัน”

คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

โดยรายชื่อกรรมการดำเนินการชุดใหม่ของสหกรณ์คลองจั่น (ชั่วคราว) มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ ผู้แทนของสหกรณ์ทั้งหมด คือ ตั้งแต่ประธานสันนิบาตสหกรณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสหกรณ์ทั้งประเทศ แล้วก็มีตัวแทนจากชุมนุมสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์เดินรถ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ประมง สหกรณ์เกษตร ส่วนที่สอง ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ส่วนที่สาม คือตัวแทนจากสหกรณ์ที่เอาเงินไปฝากไว้ที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น ได้แก่ จุฬาฯ ตำรวจ และกรมบัญชีกลาง ที่เหลือก็เป็นเจ้าหน้าที่

“กรรมการชุดใหม่ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์เรื่องจะไม่เปลี่ยนแปลงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดี และทำความเข้าใจกับสมาชิกสหกรณ์ว่า หน้าที่ของกรรมการชุดใหม่เพื่อฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์และจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่เพื่อให้สหกรณ์เดินหน้าต่อไป สหกรณ์ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องดีที่บุคคลร่วมกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ภาพลักษณ์ของสหกรณ์เสียหาย ต้องได้รับผิดชอบต่อการกระทำของตน อีกอย่างคือ อำนาจตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ​เป็นกฎหมายส่งเสริม มีอำนาจสูงสุดคือปลดกรรมการเท่านั้น ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นหน้าที่ของกรรมการสหกรณ์ ต้องไปอ้างอิงกับหน่วยงานที่สอบสวน เช่น ดีเอสไอ กับ ปปง. เพื่อนำไปเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น”

พร้อมให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า “ที่ต้องใช้ขบวนการสหกรณ์ทั้งหมด เพราะเชื่อว่าเงินที่หมุนเวียนในขบวนการสหกรณ์ทั้งระบบมีเพียงพอจะแก้ปัญหาได้ ต้องดูแลและเยียวยาสมาชิกรายย่อย ขบวนการสหกรณ์ไม่อยากให้เสียชื่อเสียงถึงหลักการไปมากกว่านี้ ไม่อยากให้สังคมมองว่าสหกรณ์มีแต่เรื่องทุจริต มีแต่เรื่องเสื่อมเสีย จริงๆ แล้วสหกรณ์ทั่วประเทศมีมากกว่า 8,000 สหกรณ์ มีที่นี่ที่เดียวที่เกิดปัญหา ส่วนสหกรณ์อื่นนั้นไม่ปรากฏปัญหาลักษณะนี้ คดีนี้เป็นคดีแรกที่ใหญ่ที่สุด เทียบกับแชร์ล็อตเตอรี่ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย”

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดที่ 29 มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติภายใน 30 วัน แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังทำงานต่อไปได้

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การปลดนายศุภชัยจะทำให้การทำงานของพนักงานสอบสวนสะดวกขึ้น ในทางคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาไว้ ขั้นต่อไปจะเรียกเจ้าหน้าที่สหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทุกรายมาสอบปากคำ หลังจากที่ผ่านมามีอุปสรรคพอสมควร

ส่วนมาตรการป้องกันการหลบหนีนั้น ทางดีเอสไอได้แจ้งรายชื่อให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อ watch list ถ้าจะออกนอกประเทศต้องได้รับการอนุญาตจากดีเอสไอก่อน แต่ถ้ามีพฤติกรรมพยายามหลบหนี สุดท้ายอาจต้องนำตัวไปฝากขัง

ด้านนายวิฑูรย์ แนวพาณิชย์ ประธานสันนิบาตสหกรณ์ กล่าวในฐานะประธานชั่วคราว สหกรณ์ฯ คลองจั่น ว่า ตนเพิ่งทราบการแต่งตั้งพร้อมๆ กับสื่อคือเมื่อเช้านี้ ต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดต่างๆ ก่อน แต่เท่าที่ดูในเบื้องต้นพบว่าปัญหามีมาก แต่ก็ไม่เกินกำลังที่แก้ไขได้ เพราะทุกภาคส่วนไม่มีใครยอมให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นล้มอย่างแน่นอน เพราะจะส่งผลกระทบไปสู่สหกรณ์ทั่วประเทศ เรื่องเงินเรื่องสภาพคล่อง ต้องทำใจว่าหนี้ส่วนหนึ่งคงจะสูญแน่นอน เพราะอย่างที่ทราบว่าบางรายกู้ไปไม่มีตัวตนจริง ดังนั้นจึงต้องเข้มงวดกับลูกหนี้ที่เหลือ หรือหากบางรายจำเป็นก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สหกรณ์พอเดินไปได้

“เบื้องต้น ที่ประชุมคาดการณ์ว่าจะนำเงินมาจากสองส่วน 1. ภาครัฐ กรมส่งเสริมสหกรณ์หรือกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) 2. เงินจากชุมนุมสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท เพราะประธานแต่ละชุมนุมเป็นกรรมการที่คลองจั่น ก็จะทราบดีว่าพอจะมีเงินเหลือในระบบของตน นำมาปล่อยเป็นสินเชื่อระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นเสริมสภาพคล่องไปก่อน และหลังจากนี้คณะกรรมการจะเปิดเผยตัวเลขทางการเงินทั้งหมดแก่สมาชิก เพื่อให้การดำเนินการโปร่งใสที่สุด อาจยกเว้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนของดีเอสไอเพราะอาจกระทบรูปคดี คณะกรรมการตกลงกันไว้ว่าจะประชุมให้บ่อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นัดครั้งต่อไปประมาณวันที่ 15 ตุลาคม 2556 และทุกวันจะมีกรรมการหมุนเวียนเข้ามาประจำที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น”

อ่านเพิ่มเติม ซีรีส์เกาะติดสถานการณ์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น