ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นเงื่อนไขการถอนเงินและจ่ายค่าหุ้น – ข้อมูลการเงิน-เจ้าหนี้-ลูกหนี้ ล่าสุด

เปิดแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นเงื่อนไขการถอนเงินและจ่ายค่าหุ้น – ข้อมูลการเงิน-เจ้าหนี้-ลูกหนี้ ล่าสุด

5 ตุลาคม 2013


หลังจากที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นไม่สามารถให้สมาชิกเบิกถอนเงินได้ตามปกติ ขณะเดียวกันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฟ้องร้องและยึดทรัพย์นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นด้วยข้อหายักยอกทรัพย์ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้พิจารณาถอดถอนคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นชุดที่ 29 ทั้งชุด ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ มาตรา 22(4) ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ คลองจั่นได้ทำแผนฟื้นฟูสหกรณ์ฯ คลองจั่นต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2556 ได้ระบุว่า จากสภาพปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อขบวนการสหกรณ์ทุกระดับ รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยปัญหาของสหกรณ์ในขณะนี้ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 29 (นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการ) ได้รับเลือกตั้งวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ตามหนังสือของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ที่สั่งการให้ประชุมใหญ่สามัญโดยเร็ว ทางคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่นจึงได้จัดทำแผนงานและแนวทางในการฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสหกรณ์ให้กับสมาชิก เครือข่ายสหกรณ์พันธมิตร และประชาชนทั่วไป

แผนฟื้นฟูฯระบุว่าสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นพัฒนามานาน 30 ปี จากสมาชิก 22 คน ในปี 2526 ปัจจุบันมีมากกว่า 50,000 คน ทุนเรือนหุ้นจาก 1,260 บาท เพิ่มเป็นกว่า 4,000 ล้านบาท และทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท แต่การบริหารงานในสหกรณ์ยังไม่สอดคล้องกับการขยายตัวและการพัฒนาทางธุรกิจของสหกรณ์เท่าใดนัก ทั้งคณะกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการ จึงส่งผลให้สหกรณ์ประสบปัญหาการบริหารงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการบริหารสภาพคล่องและการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการจึงจำเป็นต้องตระหนักกับการบริหารงานเชิงระบบให้มากยิ่งขึ้น สืบเนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ในการบริหารงาน ทำให้ระบบการบริหารจัดการภายในสหกรณ์ด้อยประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ จากสมาชิกและบุคคลภายนอกที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับสหกรณ์ ส่งผลให้สมาชิกจำนวนมากมายื่นความจำนงขอถอนเงินฝาก และขอลาออกจากการเป็นสมาชิก ทำให้มีผลต่อสหกรณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และระบุอีกว่า องค์ความรู้ในเชิงการบริหารสหกรณ์เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจองค์กรหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยิ่งเศรษฐกิจเติบโตเพิ่มมากขึ้นเท่าใด สหกรณ์ก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น คณะกรรมการจะต้องเรียนรู้การบริหารเชิงธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านการเงิน ด้านสินเชื่อ เทคโนโลยี การตลาด การบริหารความเสี่ยง และต่างประเทศ ที่จำเป็นจะต้องรู้เท่าทันอยู่เสมอ

สำหรับแผนฟื้นฟูสหกรณ์ มีกรอบระยะเวลาจัดทำแผน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ภายใน 3-6 เดือน, ระยะกลาง ภายใน 6-12 เดือน และระยะยาว ภายใน 12-24 เดือน โดยมีเป้าหมายที่จะให้บริการทางการเงินแก่สมาชิกและเครือข่ายสหกรณ์พันธมิตรได้เป็นปกติภายใน 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในรายงานแผนฟื้นฟูได้รวบรวมข้อมูลสมาชิกที่ได้ยื่นความประสงค์ขอถอนเงินฝากและลาออก ดังนี้

ภาพนิ่ง 1 (6)

ภาพนิ่ง 2 (5)

การเบิกถอนเงินฝากและเงินค่าหุ้น ซึ่งระบุในแผนฟื้นฟูว่าได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการในวันที่ 8 สิงหาคม 2556 มีการกำหนดเงื่อนไขดังนี้

เงินฝากออมทรัพย์/ออมทรัพย์พิเศษ

– เงินฝากต่ำกว่า 200,000-500,000 บาท ให้ถอนได้ร้อยละ 10 ของยอดเงินฝากสุทธิในบัญชีของแต่ละราย

– เงินฝากตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ให้ถอนได้ร้อยละ 10 ของยอดเงินสุทธิในบัญชีแต่ละราย แต่ไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท

– อนุญาตให้สมาชิกรายหนึ่งๆ ถอนเงินฝากออมทรัพย์ได้ไม่เกินเดือนละ 2 ครั้งต่อหนึ่งบัญชี

เงินค่าหุ้น

– สมาชิกที่แจ้งขอถอนเงินค่าหุ้น และมีบัญชีเงินฝากกับสหกรณ์ด้วย จะพิจารณาถอนเงินฝากออมทรัพย์ก่อน ให้ปฏิบัติตามเกณฑ์การถอนจนกว่าเงินในบัญชีจะหมด

– เมื่อถอนเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์หมด สหกรณ์ “อาจจะ” พิจารณาถอนเงินค่าหุ้นเป็นลำดับต่อไป ซึ่งการพิจารณาให้ถอนเงินค่าหุ้น ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสหกรณ์ข้อที่ 41 และ 42 เป็นสำคัญ

ตัวเลข ณ 30 มิถุนายน 2556 มีทุนเรือนหุ้น 4,754.98 ล้านบาท เงินค่าหุ้นที่สมาชิกขอลาออก 1,075 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.65

ข้อ 41 จำนวนเงินค่าหุ้นที่ถอนคืนเกินกว่าร้อยละ10 คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจให้รอการจ่ายคืนของสมาชิกต่อไปได้

ข้อ 42 ความรับผิดของสมาชิกต่อสหกรณ์ หากพิจารณาแล้วไม่ผิดเงื่อนไขตามข้อบังคับที่ 41 และ 42 ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตามหลักเกณฑ์เหมือนกับเงินฝากออมทรัพย์

จากเงื่อนไขดังกล่าว เสนอให้คณะกรรมการดำเนินการเพื่อมีมติอนุมัติและกำหนดออกเป็นกรอบนโยบายสำหรับการให้บริการ การถอนเงินฝากในช่วงวิกฤติทางการเงิน และประกาศให้สมาชิกทราบด้วยการติดประกาศที่ทำการสหกรณ์ทุกสาขา ลงในเว็บไซต์สหกรณ์ และแจ้งให้สมาชิกทราบทาง SMS

นอกจากนี้ ได้รวบรวมข้อมูลลูกหนี้สหกรณ์ทั้งหมด และจัดเป็นกลุ่มประเภท ตามที่จัดประชุมคณะกรรมการดำเนินการในวันที่ 8 สิงหาคม 2556 (ดูตารางประกอบ) โดยกำหนดขั้นตอนการเร่งรัดหนี้ ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามเร่งรัดหนี้

ประเภทลูกหนี้สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น

ส่วนข้อมูลเจ้าหนี้ของสหกรณ์ทั้งหมด ตามที่จัดประชุมคณะกรรมการวันที่ 8 สิงหาคม 2556 โดยให้ดำเนินการแจ้งปัญหาข้อขัดข้องทางการเงินและขอความเห็นใจไปยังสหกรณ์ แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อไปพบปะและเจรจากับคณะกรรมการของสหกรณ์เจ้าหนี้แต่ละราย และเจรจาขอความเห็นใจกับสหกรณ์เจ้าหนี้ เพื่อให้ช่วยลดต้นทุนให้กับสหกรณ์ พร้อมแจ้งการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้ให้สมาชิกทราบ

สำหรับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ แบ่งประเภทดังนี้

ภาพนิ่ง 4 (3)

สินทรัพย์และเงินลงทุนสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น

ในรายงานแผนฟื้นฟู ได้เปิดเผยสินทรัพย์และเงินลงทุนของสหกรณ์ และเสนอให้มีการขายสินทรัพย์หรือแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในช่วงวิกฤติทางการเงิน

เงินฝากของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นกับสหกรณ์อื่นๆ

ส่วนเงินฝากกับสหกรณ์อื่นๆ จำนวน 10 สหกรณ์ เป็นเงิน 153 ล้านบาท สินทรัพย์รอการขาย 169 ล้านบาท (โครงการบ้านเอื้ออาทร) ซึ่งมีสมาชิกและผู้สนใจขอซื้อโครงการประมาณร้อยละ 25 โครงการทั้งหมด เป็นเงินจำนวน 42.25 ล้านบาท ที่ดิน อาคารสำนักงาน จำนวน 1,577 ล้านบาท โดยสหกรณ์ฯ รวบรวมหลักทรัพย์ที่เป็นที่ดิน อาคารสำนักงานของสหกรณ์ฯ ที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันเพื่อเสนอขอกู้จากธนาคารหรือสหกรณ์ โดยระบุว่าภายในเดือนสิงหาคม 2556 จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินหลักทรัพย์ให้เรียบร้อย

ส่วนขั้นตอนแผนการฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นตามรายละเอียดด้านล่าง

ขั้นตอนแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น