ThaiPublica > คอลัมน์ > คอร์รัปชัน เหตุแห่งความไม่ไว้ใจ

คอร์รัปชัน เหตุแห่งความไม่ไว้ใจ

1 ตุลาคม 2013


หางกระดิกหมา

เขื่อนแม่วงก์…จำนำข้าว…ม็อบสวนยาง…กู้สองล้านล้าน…ไม่ว่ารัฐบาลจะมีเสียงอยู่ในมือมากเท่าใด วันนี้รัฐบาลคงรู้แล้วว่าจะบริหารประเทศให้ราบรื่นนั้นใช้มากกว่าเสียงโหวต

เสียงโหวตนั้นดังจริง แต่เวลาอยู่นอกสภามันไม่ได้ดังกว่าเสียงอื่น และที่แน่ๆ คือไม่ได้ดังกว่าเสียงด่า ที่สำคัญกว่านั้นคือ บางทีแค่เสียงด่าเหล่านี้ ก็เพียงพอแล้วกับการทีี่จะชะลอหรือขัดขวางไม่ให้รัฐบาลทำในสิ่งที่อยากทำได้ หากใครนึกไม่ออก ลองนึกถึงโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ขนอม โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ และโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็คงพอเห็นตัวอย่างถมเถ

โครงการแต่ละโครงการที่ว่ามานี้ แท้จริงจะดีไม่ดีอย่างไร คงยากจะสรุปในที่นี้ แต่สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ แม้เราสมมติไปเลยว่าโครงการเหล่านั้นดีจริง ได้มากกว่าเสียจริง ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่ารัฐบาลจะทำโครงการเหล่านั้นได้อย่างราบรื่นอยู่ดี เพราะการที่รัฐจะทำอะไรที่มีทั้งคนได้คนเสียนั้น นอกจากจะมีเสียงโหวตแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่รัฐต้องหามาให้ได้ก็คือ “ความไว้วางใจ”

อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือจับต้องไม่ได้ไป นักเศรษฐศาสตร์นั้นศึกษาและรู้มานานแล้วว่าความไว้วางใจเป็นของสำคัญสำหรับเศรษฐกิจและการพัฒนาใดๆ ไม่น้อยหน้าแรงงาน พลังงาน หรือเงินทุน ไม่ต้องดูอื่นไกล การแลกเปลี่ยนอะไรทั้งหลายในระบบเศรษฐกิจนี้ มีได้ก็ด้วยความไว้ใจว่าถ้ายื่นหมูไปแล้วจะได้แมวกลับมาทั้งนั้น แบงก์ให้กู้ก็เพราะไว้ใจว่าบริษัทจะคืนเงิน บริษัทเอาเงินที่กู้ไปซื้อของจากพ่อค้าก็เพราะไว้ใจว่าพ่อค้าจะส่งของมาให้ สุดท้ายพ่อค้าเอาเงินไปฝากแบงก์ก็เพราะไว้ใจว่าแบงก์จะดูแลรักษาเงินไม่ให้สูญได้ ทั้งนี้ ยิ่งความไว้วางใจมีมาก ต้นทุนของธุรกรรมต่างๆ ในระบบก็จะยิ่งต่ำ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ต้องหาทางรีดเงินจากอีกฝ่ายเพิ่มเพื่อเอามาสร้างหลักประกันหรือบริหารความเสี่ยง

และนั่นคือความไว้วางใจในแง่เศรษฐกิจ แต่แม้ในแง่รัฐศาสตร์และการเมือง ความไว้วางใจก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่งอยู่ดี โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยนี้ วางอยู่บนความไว้ใจของประชาชนว่าเมื่อได้ให้อำนาจแก่รัฐบาลไปแล้ว รัฐบาลจะเป็นคนดูแลจัดสรรสิ่งต่างๆ โดยเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง หรือพวกใดพวกหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าไม่ไว้ใจเสียอย่างแล้ว ต่อให้รัฐบาลได้รับการเลือกตั้งมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่พ้นจะต้องจ่าย “ต้นทุน” ในการบริหารประเทศสูงขึ้นอีกมาก เพราะประชาชนก็จะเห็นว่ารัฐบาลลำเอียง เลือกที่รักมักที่ชังอยู่ร่ำไป ดังนั้น พอรัฐจะสร้างโครงการอะไรทีหนึ่งก็ต้องเตรียมเสียเวลา เสียงบประมาณ เพื่อชี้แจงหรือต่อรองกับประชาชนที่จะเริ่มประท้วง หรือสู้คดีกับฝ่ายค้านที่จะเริ่มฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ จนสุดท้ายรัฐจะพบว่า สิ่งที่ควรทำ ตนจะไม่ได้ทำหรือทำไม่ทันเวลาไปเสียหมด ทั้งๆ ที่ตนถือเสียงข้างมากในสภาอย่างนั้นนั่นแหละ

แล้วถามว่าอะไรทำให้รัฐไม่ได้รับความไว้วางใจ ทั้งๆ ที่ตนกุมฉันทามติของคนหมู่มากอย่างนั้น งานวิจัยหลายงานชี้ตรงกันว่า “คอร์รัปชัน” มีส่วนอย่างมาก ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แปลก เพราะในระบบประชาธิปไตยนั้น ความไว้วางใจก็คือการที่ประชาชนยอมให้อำนาจแก่รัฐไปเพื่อไปสร้างประโยชน์ส่วนรวม ในขณะที่นิยามของคอร์รัปชันหมายถึงการเอาอำนาจรัฐมาหาประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น ความไว้วางใจและคอร์รัปชันจึงเป็นของที่หักล้างกันอยู่ในตัว รัฐไหนมีคอร์รัปชันมาก ย่อมไม่อาจสร้างความไว้วางใจในหมู่ประชาชนได้ ยิ่งถ้ากระบวนการยุติธรรมหรือศาล อันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ไม่สามารถเอาผิดกับพวกคอร์รัปชันได้ ความไว้วางใจยิ่งสลดถดถอยกู่ไม่กลับ

แล้วอย่างที่เคยเขียนไปในเรื่องทฤษฎีกระจกแตก การที่ประชาชนจะเลิกไว้วางใจรัฐบาลนั้น ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจำเป็นจะต้องไปรู้เห็นการจ่ายใต้โต๊ะประมูลโครงการมหาโปรเจกต์อะไรกับตา เพราะเพียงแค่การได้เห็น “กระจกแตก” บานเดียวอย่างเช่นเห็นตำรวจรับสินบนตามด่านตรวจอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นบรรยากาศที่แย่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะสรุปว่ารัฐนั้นทราม และสูญเสียความไว้ใจแล้ว

เรื่องจะเป็นตรงกันข้ามเลย หากสังคมมีความไว้ใจ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นประชาชนจะมีแนวโน้มยอมรับการตัดสินใจของรัฐมากกว่า อย่าว่าแต่ประชาชนที่มีความไว้ใจรัฐนั้นย่อมไว้ใจกันเองมากขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อไว้ใจแล้วก็ย่อมพร้อมจะฟังเหตุผลของกันและกันมาก ไม่ใช่คอยตั้งแง่ โดยเห็นว่าคนอื่นกลุ่มอื่นหวังจะเอาเปรียบกลุ่มของตนถ่ายเดียว และเมื่อเป็นอย่างนี้ นโยบายที่มีประโยชน์และเป็นธรรมก็รับรองว่าไปได้โลดทั้งนั้น ไม่แท้งเพราะสีเสื้อหรือการเมือง

เคยมีการวิเคราะห์เลยว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเจริญมากกว่าที่อื่นนั้นก็คือความไว้วางใจนี่เอง เพราะเซอร์เวย์ของ Eurobarometer เคยทำสำรวจออกมาแล้ว ประเทศเหล่านี้มีความไว้วางใจในสังคมสูงมาก ซึ่งนอกจากจะทำให้กิจการอะไรต่างๆ มีต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องฟ้องจนกว่าจะยอมกันแล้ว ยังทำให้คนเก่ง คนดีพร้อมจะเข้าไปทำราชการ ประชาชนทั่วไปก็ไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะจ่ายภาษีหรือทำตามกฎหมาย รัฐบาลออกมาตรการอะไรมาจึงสำเร็จไปหมด ว่ากันว่าเรื่องโจ๊กสารพัดเรื่องของอเมริกันเกี่ยวกับ “ไอ้เซ่อสวีเดน (Dumb Swede)” ซึ่งเถรตรง และชอบทำอะไรตามกฎเป๊ะๆ จนน่าขันนั้น ก็ล้อมาจากนิสัยไว้วางใจและตรงไปตรงมาของคนแถบสแกนดิเนเวียนี่แหละ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนี้ ถ้าเราอยากจะเจริญแบบประเทศแถบสแกนดิเนเวียบ้าง ทั้งรัฐทั้งประชาชนก็คงต้องเอาใจเอากายช่วยกันมากๆ หน่อย เพราะสถานการณ์คอร์รัปชันในบ้านเราขณะนี้ ยังไม่เอื้อให้เกิดความไว้วางใจได้ง่ายๆ

อย่าว่าแต่พอจะหาเรื่องโจ๊กที่แสดงนิสัยของคนไทยบ้าง ที่นึกออกได้ตอนนี้ก็ดันมีแต่เรื่องของ “ศรีธนญชัย” ขุนนางเอกผู้ฉลาดแกมโกงและกะล่อนเป็นสันดานเรื่องเดียว