ThaiPublica > คอลัมน์ > ต้านคอร์รัปชัน…พูดแล้วต้องทำ

ต้านคอร์รัปชัน…พูดแล้วต้องทำ

23 ตุลาคม 2013


หางกระดิกหมา

ในขณะที่การต่อต้านคอร์รัปชันดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่คนพูดถึงกันมากขึ้นๆ ทุกวันนั้น ปรากฏว่าในงานเสวนา “จับชีพจรประเทศไทย” เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ช่วยเตือนให้เห็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ข้อหนึ่ง

กล่าวคือ ทั้งๆ ที่เรากระตือรือร้นกันมากขึ้นอย่างนี้ แต่กระบวนการใช้กฎหมายจัดการกับคอร์รัปชันของไทยจัดว่ายังติ๋มอยู่มาก โดยสถาบันฯ ใช้วิธีแสดงให้เห็นง่ายๆ โดยเปรียบเทียบว่า ตามหน้าสื่อต่างๆ นั้นมีคำว่า “คอร์รัปชัน” ปรากฏอยู่นับได้เป็นหลักหมื่น แต่ที่ผ่านมาเรากลับดำเนินคดีกับนักการเมืองที่โกงกินได้สำเร็จเพียงคนเดียวเท่านั้น ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรากระตือรือร้นกันท่าไหน

เรื่องนี้ฟังแล้วนึกถึงการบังคับใช้กฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act หรือ FCPA ของสหรัฐฯ อันเป็นกฎหมายซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ของประเทศอื่นๆ

เพราะเดิมทีที่มีการออกกฎหมายปราบคอร์รัปชันฉบับนี้มาใหม่ๆ ก็ดูเหมือนจะติ๋มๆ ไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไร ทำนองเดียวกับการปราบคอร์รัปชันในเมืองไทยช่วงนี้เหมือนกัน กล่าวคือ ถึงจะมีกฎหมายจริง แต่ก็แทบไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมาย และในช่วงยี่สิบปีหลังจากออกกฎหมายมาในปี 1977 นั้น สหรัฐฯ เรียกได้ว่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีกฎหมายลักษณะดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นานไปๆ พอถึงปี 1997 ประเทศในกลุ่ม OECD เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ฯลฯ ก็เริ่มห้ามการติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติบ้าง และพอถึงปี 2003 สหประชาชาติก็ขอให้ชาติสมาชิกทำอย่างเดียวกันทั้งหมด ฝ่ายรัฐบาลอเมริกันเอง ไม่ว่าบุชหรือโอบามา ก็เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น สุดท้าย การปฏิบัติตามกฎหมายนี้ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนในช่วงห้าปีหลังนี้ มีบรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องจ่ายค่าปรับตามกฎหมาย FCPA นี้เป็นจำนวนรวมกว่า 4 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ เรียกได้ว่า แม้ทุกวันนี้จะยังปรากฏว่ามีเรื่องนักธุรกิจอเมริกันไปติดสินบนแล้วถูกจับได้อยู่เป็นระยะๆ แต่ก็นับว่าน้อยกว่าสถิติการเกิดคอร์รัปชันในอดีตไม่รู้เท่าไหร่

แน่นอน เมื่อสหรัฐฯ ทำอย่างนี้ คนก็พากันบ่นทั้งนั้นว่าออกกฏอย่างนี้มา บริษัทต่างๆ ในประเทศจะไปค้าขายกับใครได้ เพราะคู่ค้าที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ส่วนใหญ่เขาก็คอร์รัปชันกันเป็นเรื่องปกติทั้งนั้น แต่คนที่สนับสนุนกฎหมายนี้ก็ไม่ยอมถอย โดยค้านว่าก็เพราะระบบมันถือเอาความผิดปกติกล่าวอย่างคอร์รัปชันมาเป็นเรื่องปกติอย่างที่ทุกคนบอกนั่นแหละ มันจึงยิ่งจำเป็นต้องมีกฎหมายอย่างนี้ขึ้นมาทำหน้าที่ปรับแก้ระบบเสียใหม่

โดยกฎหมาย FCPA จะทำให้การติดสินบนเจ้าหน้าที่นั้นกลายเป็นต้นทุนและความเสี่ยงมหาศาลสำหรับบริษัท ผลที่เกิดตามมาก็คือว่า ถ้าประเทศไหนมีคอร์รัปชันมาก บริษัทก็จะเริ่มไม่อยากไปลงทุน เพราะกลัวต้องไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันอันจะนำมาซึ่งความเสี่ยง ซึ่งก็จะกลายเป็นแรงกดดันให้ประเทศนั้นๆ ต้องตั้งใจปราบคอร์รัปชันในประเทศของตนต่อไปอีก เพราะไม่เช่นนั้่นก็จะหาคนเข้ามาลงทุนในประเทศไม่ได้ เคยมีงานวิจัยของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Northwestern University ยืนยันว่า หลังจากกฎหมาย FCPA นี้ออกมา การลงทุนของผู้ลงทุนจากประเทศกลุ่ม OECD ในประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูงนั้นหายไปผิดหูผิดตาเลยทีเดียว

จริงอยู่ที่ในสมัยหนึ่งเคยมีความเชื่อว่า ในเมื่อประเทศต่างๆ นั้นมันมีระเบียบขั้นตอนราชการซ้ำซ้อนยืดยาดนัก สินบนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้เร่งรัดให้การดำเนินการต่างๆ มันเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างที่ Samuel Huntington อาจารย์รัฐศาสตร์การเมืองผู้มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ทำนองว่า “ประเทศเดียวที่จะห่วยกว่าประเทศที่มีระบบข้าราชการซ้ำซ้อนและกินสินบน ก็คือประเทศที่มีระบบข้าราชการซ้ำซ้อนและไม่กินสินบนนั่นเอง” แต่ความเชื่อนี้สุดท้ายก็ไม่จริงอีก เพราะแม้การคอร์รัปชันจะมีข้อดีในระยะสั้นอย่างที่ว่ามานี้ แต่ในระยะยาวก็จะเป็นโทษมากกว่าคุณ มีนักเศรษฐศาสตร์สองคนคือ Daniel Kaufmann และ Sang Jin Wei ทำวิจัยออกมาเลยว่าการจ่ายสินบนนอกจากจะไม่ช่วยย่นเวลาแล้ว การจ่ายสินบนเองนี่แหละที่ทำให้ต้องมีการจ่ายสินบนอยู่เรื่อยๆ เพราะในเมื่อข้าราชการจับไต๋ได้เสียแล้วว่าคนจะยอมจ่ายสินบนเพื่อลัดขั้นตอน ข้าราชการก็มีแต่จะเพิ่มขั้นตอนให้มันมากเข้าไปอีกเพื่อจะได้มีเรื่องไว้ให้คนจ่ายสินบน

แต่ก็นั่นแหละ ลำพังการรู้ว่าคอร์รัปชันไม่ดีอย่างไรหรือรู้ประวัติความเป็นมาของกฎหมายคอร์รัปชันอย่างที่ว่ามานี้ คงไม่พอให้การต่อต้านคอร์รัปชันสำเร็จอยู่นั่นเอง การต่อต้านคอร์รัปชันจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกคนลงมือต่อต้านการคอร์รัปชันด้วยการปฏิบัติจริงในทุกๆ ทางที่ตัวเองเกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็คงต้องเป็นแต่สังคมที่มีแต่สื่อต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ตลอดหลายปีกลับมีนักการเมืองโกงกินที่ถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียวอย่างที่เขาว่าอย่างนี้เรื่อยไป

ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2556