ThaiPublica > คอลัมน์ > มองทิเบตสะท้อนประเทศไทย

มองทิเบตสะท้อนประเทศไทย

11 กันยายน 2013


ดร.วิรไท สันติประภพ

พระราชวังโปตาลา
พระราชวังโปตาลา

ผมฝันอยากไปทิเบตมาเป็นเวลานาน แต่เพิ่งมีโอกาสเข้าไปในทิเบตเมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมจัดทิเบตให้เป็นดินแดนในฝัน เพราะชื่นชมศรัทธาของชาวทิเบตต่อพระพุทธศาสนา เคยเห็นความน่ารักของคนทิเบตและอัตลักษณ์วัฒนธรรมของทิเบตอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มชาวทิเบตพลัดถิ่น ประวัติศาสตร์ของทิเบตโบราณก็ยิ่งใหญ่และน่าสนใจมาก เมื่อผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าองค์ทะไล ลามะ ในงานที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จัดขึ้นปลายปีที่แล้ว ได้รับฟังคำสอนที่ลึกซึ้งทั้งทางธรรมและทางโลกและเห็นปฏิปทาของพระองค์ท่านและของพระเถระผู้ใหญ่ชาวทิเบตแล้ว ทำให้คิดว่าต้องหาทางไปเยือนทิเบตโดยเร็ว

ผมเริ่มต้นการเดินทางจากลาซาซึ่งเป็นเมืองหลวงของทิเบต นั่งรถไปทางตะวันตก ผ่านวัดและเมืองโบราณที่สำคัญหลายแห่ง ผ่านยอดเขาเอเวอเรสต์และเทือกเขาหิมาลัย ผ่านต้นน้ำของแม่น้ำสายสำคัญของเอเชียหลายสาย ก่อนที่จะข้ามชายแดนออกไปเนปาล ตลอดเวลาเกือบสิบวันของการเดินทาง ผมรู้สึกว่ามาทิเบตช้าไปสิบปี ทิเบตที่ผมเห็นกลับไม่ใช่ทิเบตในความฝัน

ทิเบต

สาเหตุที่ผมผิดหวังกับสิ่งที่ผมเห็น คือผมไม่พบศรัทธาของชาวทิเบตเหมือนกับที่ผมเคยสัมผัสในชุมชนทิเบตพลัดถิ่น จิตวิญญาณของคนทิเบตหลบซ่อนอยู่ภายใน และเลือนหายไปแล้วในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หลายเมืองโบราณของทิเบตมีสภาพทางกายภาพไม่ต่างไปจากเมืองสร้างใหม่ตามชนบทของจีน การแต่งกายของคนทิเบตเป็นสากลมากขึ้น และจำนวนคนจีนที่เข้าไปตั้งรกรากอยู่ในทิเบตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนน่ากังวลว่าคนทิเบตจะกลายเป็นคนส่วนน้อย และวัฒนธรรมทิเบตดั้งเดิมจะล้าสมัยถูกทอดทิ้งให้หายไป ทิเบตในวันนี้เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจีน วัดได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนสนใจเพียงแค่มาถ่ายรูป พระทิเบตทำหน้าที่หลักคอยเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการถ่ายรูป เสียงโหวกเหวกของนักท่องเที่ยวจีนดังกว่าเสียงสวดมนต์ ภาพชาวทิเบตกราบพระแบบอัษฎางคประดิษฐ์กลายเป็นของหายาก ชาวบ้านที่มากราบพระต้องกราบอยู่นอกวัด เพราะวัดได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยวไปแล้ว ทุกวัดสำคัญของทิเบตมีธงจีนติดอยู่บนยอดสูงสุด

การเปลี่ยนแปลงในทิเบตเกิดขึ้นจากปัจจัยทางการเมืองเป็นหลัก ทิเบตในวันนี้เป็นมณฑลหนึ่งของจีน รัฐบาลจีนมีแนวทางปฏิบัติกับคนทิเบตอย่างเข้มงวด และให้ความสำคัญกับการรวมทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนมากกว่าที่จะให้ทิเบตคงอัตลักษณ์ไว้เช่นเดิม แต่ถ้ามองลึกๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงในทิเบตหลายมิติสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะถูกปกครองด้วยคนไทยด้วยกันเอง

ชาวทิเบตกราบพระแบบอัษฎางคประดิษฐ์
ชาวทิเบตกราบพระแบบอัษฎางคประดิษฐ์

มิติแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับอำนาจรัฐ ถ้าถอยหลังกลับไป 60 ปีที่แล้วก่อนที่องค์ทะไล ลามะ จะเสด็จลี้ภัยออกจากทิเบต พระองค์ท่านเป็นทั้งผู้นำทางศาสนาและผู้ปกครองสูงสุดของรัฐ ถึงแม้จะมีกรณีแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นผู้นำทิเบตหลายครั้ง แต่สังคมทิเบตในสมัยนั้นเป็นสังคมที่ประชาชนมีความสุขเพราะยึดมั่นในคุณธรรมและมีศรัทธาสูง เป็นสังคมที่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นใหญ่ ตำแหน่งทะไล ลามะ ได้สืบทอดความเป็นผู้นำทางพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน ก่อนที่จะได้รับการถวายอำนาจทางการปกครอง หลักธรรมของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรญาณที่เน้นเมตตาความปรารถนาดีต่อกัน และต้องการให้คนส่วนใหญ่พ้นทุกข์ไปด้วยกัน จึงอยู่เหนือหลักของการปกครอง ผู้ปกครองจะต้องยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมและเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการนี้ยังสัมผัสได้ในชุมชนทิเบตพลัดถิ่นที่ลี้ภัยตามองค์ทะไล ลามะ ออกมา แม้ว่าองค์ทะไล ลามะ จะสละตำแหน่งผู้นำทางการปกครองมากว่าสิบปีแล้ว แต่ชุมชนทิเบตพลัดถิ่นยังมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและยึดมั่นในคุณธรรมสูง

ส่วนพระพุทธศาสนาในทิเบตได้ถูกทำลายในช่วงที่จีนปฏิวัติวัฒนธรรม และผู้ปกครองทิเบตได้เอาวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นใหญ่เหนือหลักธรรมของพุทธศาสนา ศรัทธาของประชาชนต่อพุทธศาสนากลายเป็นดาบสองคม ในด้านหนึ่งถ้าชาวทิเบตมีศรัทธามั่นคงในพุทธศาสนา ผู้ที่เข้ามาใหม่จะปกครองได้ยากขึ้น และการรวมประเทศก็จะทำได้ยากขึ้นเช่นกัน อีกด้านหนึ่งถ้าสามารถเชื่อมพุทธศาสนาเข้ากับอำนาจรัฐได้ก็อาจจะทำให้การปกครองประชาชนง่ายขึ้น และสร้างความมั่นคงของรัฐได้สะดวกขึ้น เมื่อองค์ทะไล ลามะ เสด็จลี้ภัยออกจากทิเบตแล้ว รัฐบาลจีนได้แต่งตั้งองค์ปันเชน ลามะ (ซึ่งเป็นตำแหน่งพระสำคัญอันดับสองรองจากองค์ทะไล ลามะ) เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในวัดหลายแห่งมีรูปของท่านอดีตปันเชน ลามะ แต่งกายด้วยชุดสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน (แทนจีวรพระ) ติดอยู่ทั่วไปให้คนกราบไหว้บูชา นอกจากนี้ เมื่อท่านอดีตปันเชน ลามะ สิ้นลง ปันเชน ลามะ องค์ใหม่ถูกตั้งขึ้นโดย​”ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลจีน” รัฐบาลจีนกำลังดูแลถวายความรู้ปันเชน ลามะ องค์ปัจจุบันที่กรุงปักกิ่ง แทนที่ท่านจะได้รับการศึกษาในระบบการศึกษาของวัดทิเบต ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่เข้มข้นมากทั้งหลักพุทธศาสตร์ การปฏิบัติภาวนา และศาสตร์พื้นฐานสำคัญๆ

ทิเบต

เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ปกครองเห็นว่าศาสนาเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการใช้อำนาจรัฐ และต้องการใช้ศาสนาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการสร้างสังคมที่มีคุณธรรม และช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่พ้นทุกข์แล้ว หนีไม่พ้นที่ทั้งผู้ปกครอง รูปแบบการปกครอง คุณภาพของสังคม และหลักการของศาสนาจะเสื่อมลงพร้อมๆ กัน ผมกังวลว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยกำลังถูกผู้มีอำนาจรัฐใช้เป็นเครื่องมือมากขึ้นเรื่อยๆ มีกระบวนการเอื้อประโยชน์ระหว่างผู้มีอำนาจรัฐกับสำนักที่สนับสนุนพรรคพวกของตน การบริหารคณะสงฆ์เป็นกระบวนการที่อิงระบบราชการมากขึ้น ตำแหน่งปกครองในคณะสงฆ์เกี่ยวโยงกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลมากขึ้น พระสงฆ์จำนวนหนึ่งออกมามีบทบาทเรียกร้องทางการเมือง

เรื่องเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่เกิดความหย่อนยานในหมู่พระสงฆ์มากขึ้นเรื่อยๆ ศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระสงฆ์และพุทธศาสนาลดลงเร็วมาก สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเสื่อมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐที่ขาดหิริ โอตัปปะ เห็นแก่ประโยชน์ของตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม คนทิเบตต้องเผชิญกับนโยบายรวมประเทศของผู้ปกครองใหม่ แต่คนไทยต้องเผชิญกับพฤติกรรมยึดประเทศของผู้ปกครอง ถ้าผู้มีอำนาจรัฐและนักการเมืองสามารถใช้ศรัทธาที่คนมีต่อพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ให้แก่พวกตนเองได้แล้ว จะเลวร้ายมากเพราะหลักจริยธรรมและคุณธรรมพื้นฐานของสังคมจะถูกเบี่ยงเบน

มิติที่สองที่ผมสัมผัสได้จากคนทิเบตและสะท้อนมาถึงคนไทย คือยากที่จะหาความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านจิตวิญญาณกับการพัฒนาทางวัตถุนิยม คนทิเบตมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นมากจากการที่รัฐบาลจีนเข้าไปดูแล พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ โดยเฉพาะชาวทิเบตที่อยู่ในเขตเมือง แต่มิติด้านจิตวิญญาณได้เลือนหายไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ การไปวัดเป็นแค่เรื่องของผู้สูงอายุกับเด็กเล็กเท่านั้น และที่สำคัญพระสงฆ์และวัดไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณและการศึกษาเหมือนแต่เดิม หลายวัดที่เคยเป็นสำนักเรียนโบราณของทิเบต สร้างปราชญ์ชาวทิเบตไว้มากมาย ขาดพระที่จะสอนหนังสือและได้กลายเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว

คนทิเบตและคนไทยส่วนใหญ่คงหมือนกันตรงที่สนใจการพัฒนาทางวัตถุมากกว่าด้านจิตวิญญาณ เพราะการพัฒนาทางวัตถุเห็นประโยชน์ได้ชัดเจนในช่วงสั้นๆ แต่เรื่องจิตวิญญาณเป็นเรื่องระยะยาว ต้องใช้เวลาในการปฏิบัติ ศึกษาทำความเข้าใจ จนกว่าที่จะสร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ และมาตรฐานด้านคุณธรรมและจริยธรรมของตนได้ แต่ถ้ามิติด้านจิตวิญญาณไม่ได้รับความสนใจ สังคมก็จะค่อยๆ เสื่อมลง ไม่เกิดผลเสียทันทีทันใด และบ่อยครั้งคนจะชินกับสภาวะของสังคมที่เสื่อมลงด้วย (เช่น ค่านิยมผู้นำโกงก็ไม่เป็นอะไร ถ้ามีผลงาน หรือปัญหาเด็กท้องในวัยเรียนที่รุนแรงมากในประเทศไทยจนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก) คงจะต้องปล่อยให้สภาพสังคมเสื่อมลงจนถึงจุดหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่าสังคมจะล่มสลาย จึงจะหันกลับมาให้ความสำคัญกับมิติด้านจิตวิญญาณเพิ่มขึ้น แต่กว่าจะถึงเวลานั้น คนจำนวนมากจะต้องเดือดร้อน และไม่มีหลักประกันว่าสังคมจะต้านกับกระแสความเสื่อมที่ไหลลงเร็วได้อย่างไร ถ้าเราสามารถทำให้การพัฒนาทางวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตวิญญาณเดินไปด้วยกันได้ สังคมจะมีความสุข เป็นสังคมที่เป็นธรรม ไม่เบียดเบียนกัน ไม่เบียดบังประโยชน์ของคนในอนาคตมาใช้ คนในสังคมจะมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเป็นสังคมที่มีภูมิคุ้มกันสูง สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนมากขึ้นในโลกได้อย่างมั่นคง

ทิเบต

มิติที่สาม เจ้าหน้าที่ของรัฐในทิเบตค่อนข้างแปลกแยกจากชาวทิเบตท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ปกครองเป็นคนจีนที่ถูกส่งไปอยู่ทิเบต การเดินเข้าวัดจะต้องผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ตรวจอาวุธ การเดินทางระหว่างเมืองภายในทิเบตยังถูกควบคุมอยู่มาก ต้องผ่านจุดตรวจหลายแห่งซึ่งเข้มข้นต่างกันไป บางจุดตรวจทุกคนต้องลงจากรถเพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกรายละเอียดของการเดินทาง แม้กระทั่งตอนออกจากทิเบตเข้าสู่เนปาล เจ้าหน้าที่จีนตรวจค้นกระเป๋าอย่างละเอียด โดยเฉพาะหนังสือและเอกสารเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีชิ้นใดที่มีรูปภาพหรือคำสอนขององค์ทะไล ลามะ บางจุดตรวจทำให้ผมรู้สึกว่าคนทิเบตมีสถานะเหมือนพลเมืองชั้นสอง ไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนจีน หรือชาวต่างชาติ คนทิเบตก็คงไม่มีทางเลือก นอกจากต้องยอมรับสถานะของตัวเอง ความแปลกแยกเหล่านี้มักจะสะสมเป็นความคับแค้นใจ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็อาจจะกลายเป็นปัญหาความรุนแรง ทิเบตในช่วงสองสามปีที่ผ่านมามีการประท้วงรุนแรงหลายครั้ง มีกรณีพระเผาตัวเองประท้วงจนเสียชีวิตไปหลายรูป นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าทิเบตได้ใหม่เมื่อไม่นานมานี้ และต้องขอใบอนุญาตพิเศษ ทุกเมืองที่ค้างคืนจะต้องนำใบอนุญาตและหนังสือเดินทางไปลงทะเบียนกับตำรวจ สังคมทิเบตยังเปราะบาง แม้ว่าทางการจีนวางระบบควบคุมที่รัดกุมขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

ปัญหาความแปลกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้านไทยก็ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระเบิดขึ้น เพราะผู้มีอำนาจรัฐจากส่วนกลางขาดความเข้าใจและขาดความเคารพในวัฒนธรรม ความเชื่อ และศักดิ์ศรีของชาวบ้าน ในวันนี้ปัญหาความแปลกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับคนไทยกระจายไปหลายพื้นที่ ชาวบ้านขาดศรัทธาในผู้มีอำนาจรัฐ ผู้ปกครองไม่ได้เอาผลประโยชน์ของชาวบ้านเป็นที่ตั้ง กลไกของระบบราชการไม่สามารถเชื่อมต่อชาวบ้านกับผู้มีอำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเห็นการชุมนุมของชาวบ้านบานปลายเพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาด เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความรุนแรงตอบโต้การแสดงความเห็นต่างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องขอความช่วยเหลือไปจนถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายตรงข้ามที่ถูกตำรวจอุ้มออกไปจากสภา กระบวนการปรองดองกลับสร้างความแปลกแยกเพิ่มขึ้น

คนไทยโชคดีกว่าคนทิเบตมาก เพราะเรายังมีประเทศของเราเอง ไม่ได้ถูกผู้ปกครองเชื้อชาติอื่นมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์​ แต่ถ้าเราไม่สามารถจัดการกับสามมิติข้างต้นให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ สังคมไทยเสี่ยงที่จะกลายเป็นสังคมขาดคุณธรรม ขาดภูมิคุ้มกัน จนถึงกับล่มสลายได้ ถ้าในอนาคตเกิดมีชุมชนคนไทยพลัดถิ่นตั้งอยู่นอกประเทศ คงโทษคนอื่นไม่ได้ นอกจากคนไทยด้วยกันเอง (โดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ไทยเฉยทั้งหลาย)

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2556