ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เรื่องจริงของประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป (2)

“เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เรื่องจริงของประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป (2)

16 กันยายน 2013


ประวัติศาสตร์ที่เราได้เรียน ได้อ่านกันมาเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างยกย่องเชิดชูขบวนการเสรีไทยที่มีคุณาปการกับประเทศไทยเป็นอันมาก เพราะปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องทำเอกสารยอมจำนน ไม่ถูกปลดอาวุธ ไม่ถูกยึดครอง ไม่เสียค่าปฏิกรรมสงคราม และที่สำคัญไม่เสียเอกราช

แต่เบื้องหลังปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย มีคนไทยคนหนึ่งชื่อ “จำกัด พลางกูร” ได้ปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่เพื่อชาติ เพื่อ humanity แต่กลับไม่เป็นที่รับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ หรือรู้จักในวงจำกัดมากเมื่อเทียบกับเสรีไทยอีกหลายๆ คน

ดังนั้น เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวาระที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ผู้ริเริ่มแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง มีอายุครบ 72 ปี ในปี 2556 ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง และชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการแสดงละครเวทีของบรรดาศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่อง “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเชิดชูเกียรติและแสดงมุทิตาจิตแก่อาจารย์ทั้งสอง

ละครเวที “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” เป็นละครที่ ดร. ฉัตรทิพย์ อำนวยการสร้างและเขียนบทละครเองจากบันทึกเกือบ 1,000 หน้า ของนายจำกัด พลางกูร เสรีไทยที่จดบันทึกทุกเหตุการณ์ในระหว่างปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่อย่างละเอียด

ฉากที่ 2 “จำกัดลานายปรีดี”

ต่อจากฉากที่ 1 หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นและทางผ่านไปสู่ดินแดนอื่นๆ ที่เป็นอาณานิคมอังกฤษยึดครองอยู่คือพม่าและมลายู ต่อมาเพียง 3 วัน

วันที่ 11 ธันวาคม 2484 จอมพล ป. ลงนามในสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น … อีกไม่นาน

วันที่ 25 มกราคม 2485 ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา …จากนั้น

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2485 อังกฤษประกาศสงครามตอบโต้ไทย ถือไทยเป็นชาติศัตรู แต่สหรัฐอเมริกาถือว่าไทยเป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง ถูกญี่ปุ่นบังคับ จึงไม่ประกาศสงครามกับไทย

นายปรีดี หัวหน้าคณะเสรีไทยซึ่งไม่เห็นกับจอมพล ป. ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในหลวง แล้วให้นายดิเรก ชัยนาม ไปเป็นทูตญี่ปุ่น

การเลือกข้างคู่สงครามที่ต่างกันระหว่าง ฝ่ายจอมพล ป. กับ ฝ่ายนายปรีดี ตอกลิ่มการเห็นไม่ตรงกันของสองผู้นำในคณะราษฎร จากที่ประคับประคองกันกลายเป็นขัดแย้งกัน การเข้ามาของญี่ปุ่นจึงมีผลหักเหประวัติศาสตร์ไทยมาก และมีผลยุติบทบาทของคณะราษฎร์ จากที่เพิ่งสถาปนาอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองมาได้ 9 ปี

นายปรีดีเชื่อมาตั้งแต่แรกว่า ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝรั่งเหนือกว่าญี่ปุ่นอย่างมาก และถ้าญี่ปุ่นแพ้สงครามไทยจะต้องถูกปรับเป็นประเทศผู้แพ้สงครามไปด้วย แต่การต่อสู้กับญี่ปุ่นทางอาวุธด้านเดียว โดยไม่ทำความเข้าใจกับสัมพันธมิตร สัมพันธมิตรก็ยังถือว่าไทยเป็นชาติศัตรู และปรับให้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

ที่สำคัญ ตั้งแต่ไทยตกลงใจต่อสู้กับญี่ปุ่นมาปีกว่า ก็ยังติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้เลย ได้ยินแต่ข่าวเสรีไทยสายอังกฤษ สายอเมริกา แต่พวกเขาไม่รู้เลยว่า มีเสรีไทยในประเทศด้วย และเราก็มีการฝึกชาวบ้านเป็นพลพรรคไว้ทั่วประเทศแล้ว

จากสถานการณ์กล่าว นายปรีดีและคณะเสรีไทยได้มอบภารกิจสำคัญให้นายจำกัดเดินทางไปจุงกิง ประเทศจีน จากนั้นหาทางต่อไปลอนดอนให้ได้ เพื่อเจรจากับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

เพื่อให้รับรองว่า การประกาศสงครามที่จอมพล ป. ทำกับอังกฤษและอเมริกา เป็นโมฆะ เพราะนายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการคนหนึ่งไม่ได้ร่วมลงนามด้วย และให้สัมพันธมิตรหาทางช่วยนายปรีดีและคณะออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศ สู้กับญี่ปุ่น และรัฐบาลจอมพล ป.

เส้นทางที่นายจำกัดจะไปเสี่ยงอันตรายมาก เพราะทหารญี่ปุ่นเพ่นพ่านเต็มไปหมด ในอินโดจีนอาจถูกจับฐานเป็นจารชน หรืออาจถูกโจรผู้ร้ายปล้นชิงระหว่างทาง และแม้ว่าจะไปถึงจุงกิงแล้ว ทางฝ่ายจีนจะเชื่อถือและช่วยหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ เขาอาจถือเราเป็นชาติศัตรูก็ได้

นายจำกัดรับภารกิจเสี่ยงอันตรายด้วยความเต็มใจและภูมิใจ โดยการเดินทางมีล่ามภาษาจีนไปด้วยคือ นายไพศาล ตระกูลลี้

บันทึกจำกัด

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2486 ณ ทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ นายจำกัดไปลานายปรีดี

นายปรีดีได้มอบเงินจีนจุงกิง 13,000 หยวน และทองคำให้นายจำกัดสำหรับไปขายกลางทางเมื่อขัดสน

เมื่อนายจำกัดกราบลา นายปรีดีกล่าวว่า

“เพื่อชาติ เพื่อ humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุด อีก 45 วัน ก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนักอย่างช้าอีกสองปี ก็ได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่า สละชีวิตเพื่อชาติไป”

คำกล่าวลาสุดท้ายของนายปรีดี คือที่มาของ “ชื่อละคร” เรื่องนี้

ดร.ฉัตรทิพย์ ตีความ “เพื่อชาติ เพื่อ humanity” ว่า

เพื่อชาติ หมายความว่า เพื่อความเป็นเอกราชของชาติ ปลอดจากการยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น

เพื่อ humanity หมายความว่า ชัยชนะของเรา จะเป็นการหยุดยั้งสงครามที่ทำลายล้างมนุษยชาติด้วยกัน เป็นการนำสันติภาพกลับคืนมาสู่มนุษยชาติ

โปรดติดตาม ฉากที่ 3 “หมู่บ้านสกลนคร”