ThaiPublica > คอลัมน์ > เครื่องแบบนักศึกษา: สวม-ถอด-สอดใส่ จะอย่างไรดี?

เครื่องแบบนักศึกษา: สวม-ถอด-สอดใส่ จะอย่างไรดี?

26 กันยายน 2013


ณัฐเมธี สัยเวช

ที่มา: http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011899401.JPEG
ภาพโปสเตอร์รณรงค์อันเป็นที่มาของการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา ที่มา: http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000011899401.JPEG

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา หากจะมีกระแสอะไรที่ร้อนแรงเคียงแข่งกับเก้าอี้ที่โบยบินในรัฐสภาก็คงไม่พ้นเรื่องเครื่องแบบนักศึกษาที่ถูกจุดขึ้นมาจากกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำให้ทั้งคนดังและคนไม่ดังทั้งหลายออกมาแสดงความเห็นกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน โดยในการนี้ ก็ต่างยกเอาเหตุผลต่างๆ มาถล่มใส่กันอย่างยกใหญ่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่ามีประเด็นใหญ่ๆ ที่น่าสนใจดังนี้

1. ชุดนักศึกษาทำลายความแตกต่าง

“เครื่องแบบ” หรือ “uniform” ก็คือ -form- อันเป็น -uni- หรือ รูปแบบอันเหมือนกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความเดียวกันเหมือนกันนี้นี่เอง ที่ได้รับการชูขึ้นมาเป็นหนึ่งในข้อดีเพื่อสนับสนุนการใส่เครื่องแบบนักศึกษา โดยผลพวงของความเดียวกันเหมือนกันนี้คือความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่อแสดงถึงความมีวินัย และว่ากันไปถึงขั้นที่ว่าทำให้ไม่รู้สึกแตกต่างในชนชั้นทางเศรษฐกิจ ทำให้จิตใจบริสุทธิ์จากความยึดติดในวัตถุ

จะว่าไปแล้ว การบอกว่าชุดนักศึกษานั้นสร้างความเดียวกันเหมือนกันก็คงใช่อยู่เพียงในระบบปิดที่เรียกว่าสถาบันการศึกษา หากแต่เมื่อมองถึงความเป็นจริง มองว่าสถาบันการศึกษานั้นอยู่ในสังคมที่มีทั้งคนที่เป็นนักศึกษาและไม่เป็นนักศึกษา ในขณะที่ชุดนักศึกษาทำการรวมเหล่านักศึกษาเข้าไว้ภายใต้ความเดียวกันเหมือนกัน การสร้างความเดียวกันเหมือนกันอันเห็นได้โดยง่ายด้วยสายตานั้นก็กลับยิ่งขับเน้นความแตกต่างด้วยการกีดกันคนที่ไม่ใช่นักศึกษาออกไป

นั่นคือลักษณะและหน้าที่อย่างหนึ่งอันเป็นทั่วไปของสิ่งที่เรียกว่าเครื่องแบบ คือ การจำแนกให้รู้ว่าใครเป็นใคร ใช้เครื่องแบบในการรวบรวมพวกเดียวกัน และในขณะเดียวกันมันก็สร้างพวกอื่นที่ไม่ใช่พวกเดียวกันขึ้นมาด้วย ยิ่งหากคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มหาวิทยาลัยไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนนั้นไม่ใช่ดินแดนสาธารณะที่ใครๆ ก็สามารถเข้าไปตักตวงเอาวิชาความรู้ออกมาได้ (ต่อให้เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่หน่วยกิตละยี่สิบสามสิบบาท คุณก็ต้องมีเงินมากพอจะจ่ายถึงจะเข้าไปเรียนได้) นั่นยิ่งทำให้เห็นชัดว่าการบอกว่าชุดนักศึกษาช่วยลดความแตกต่างนั้นเป็นเพียงความจริงครึ่งเดียว (หรืออาจจะเสี้ยวเดียว) เพราะความจริงคือการดำรงอยู่ของตัวชุดนักศึกษาเองนั่นแหละ ที่ยืนยันถึงความแตกต่างของคนทั่วไปจากนักศึกษาและของนักศึกษาจากคนทั่วไปได้เป็นอย่างดี ชุดนักศึกษาเป็นของเฉพาะอย่างหนึ่ง เพราะ ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสได้ใส่ชุดนักศึกษา

เมื่อมองในเรื่องของความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นความจริงที่ไม่ทั้งหมดอีก จริงอยู่ที่ชุดนักศึกษาให้ “ภาพ” ของความ “เป็น” ระเบียบ “เป็น” วินัย และการ “มี” ระเบียบ “มี” วินัยของชุดนักศึกษานั้นก็มีสองด้าน ด้านหนึ่งคือเป็นระเบียบและวินัยที่สร้างขึ้นมากำกับไว้โดยตัวสถาบันการศึกษา หรือก็คือกฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ ของสถาบัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง สวมชุดนักศึกษาแล้วจะมีระเบียบมีวินัยหรือไม่ หรือมีมากน้อยแค่ไหน นั่นย่อมขึ้นอยู่กับตัวผู้สวมใส่ ว่าจะทำตัวมีระเบียบมีวินัยตามระเบียบและวินัยที่มีกำกับไว้ในด้านแรกนั่นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งนั่นหมายความว่า ลำพังแค่สวมใส่ชุดนักศึกษา ใช่ว่าจะนำมาซึ่งมนุษย์ที่มีระเบียบวินัยอันสัมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างทำนองที่มักกล่าวกัน เครื่องแบบไม่ได้มีอำนาจควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในโลกของการปฏิบัติจริง หรือหากกล่าวให้ไปไกลกว่านั้นก็คือ ระเบียบวินัยที่พูดกันว่าใส่ชุดนักศึกษาแล้วจะมีนั้นเป็นเพียงการมองแบบภาพรวมภาพใหญ่ หรือคือเป็นเพียงจินตนาการสุดโต่งที่มีต่อเครื่องแบบ และสิ่งที่ถูกทอดทิ้ง ไม่คำนึงถึง ไม่ได้รับการผนวกรวมเข้ามาคิดไปด้วยก็คือเจตจำนงของปัจเจก ที่สามารถยืดหยุ่นต่อระเบียบและวินัยอันกำกับไว้ไปได้ในอีกหลายระดับและรูปแบบ (อาจถึงขั้นละเมิดด้วย) ซึ่งแน่นอนล่ะว่า ภายใต้การควบคุมของเครื่องแบบนั้นปัจเจกต้องถูกทอดทิ้งอยู่แล้ว เพราะการเขี่ยความเป็นปัจเจกทิ้งไปนั้นก็เป็นวัตถุประสงค์หลักๆ ของการมีเครื่องแบบ ทำลายความเป็นปัจเจกเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของสถาบัน หรือพูดง่ายๆ “ธรรมชาติ” ของคนไม่ถูกนับรวมไว้ในการมองแบบนี้

ในส่วนของการทำให้ไม่เกิดความรู้สึกแตกต่าง-แปลกแยก-เหลื่อมล้ำของชนชั้นทางเศรษฐกิจ ข้อนี้อาจต้องกล่าวว่าเป็นอุดมคติที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะในความเป็นจริง ต่อให้ใส่ชุดนักศึกษาเหมือนกันหมด แต่ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถตอกย้ำให้เพื่อนร่วมสถาบันรู้ว่าตนเองแตกต่างทางชนชั้นกับคนอื่นขนาดไหน รูปแบบการใช้ชีวิต อุปกรณ์คู่กายประดามี รุ่นโทรศัพท์มือถือที่ใช้ การมีรถยนต์ส่วนตัวเป็นของตัวเอง ไปเที่ยวต่างประเทศง่ายดายราวกับไปห้างสรรพสินค้า การตัดสินใจเรียกใช้แท็กซี่ได้ง่ายราวขึ้นรถเมล์ หรืออย่างน้อยที่สุด สภาพหน้าตาและสารรูปของเครื่องแบบที่แต่ละคนสวมใส่ ขาวเอี่ยมอ่อง เหลืองมอซอ สารพัดจะว่ากันไป หรือกระทั่งในตัวชุดนักศึกษาเอง ก็มีการกำหนดกันเองตามกระแสนิยมว่าการแต่งแบบไหนเชย แบบไหนเป็นที่นิยมสมสมัย ดังนั้น การจะบอกว่าชุดนักศึกษาช่วยให้ผู้สวมใส่ลดความใส่ใจในการจะแข่งขันประชันกัน กำจัดความเป็นวัตถุนิยม (ในความหมายที่ใช้กันทั่วไปว่าคือการถือติดวัตถุ อันจัดเป็นเรื่องภายนอก) จึงคงเป็นเพียงอุดมคติอันยากจะเป็นจริง มิหนำซ้ำ ชุดนักศึกษาในตัวมันเองแล้วก็เป็นรูปแบบหนึ่งของความเป็นวัตถุนิยม (ตามความหมายดังกล่าว) ในแง่ที่ว่า เป็นการผูกตัวตนไว้กับ/แสดงตัวตนผ่านทางวัตถุที่เรียกว่าเครื่องแบบนักศึกษา และในความเป็นเครื่องแบบนั้น ก็ดูจะมีระดับการผูกติดกับวัตถุที่เข้มข้นเสียยิ่งกว่าการแต่งกายทั่วไป เพราะเครื่องแบบนั้นไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่เกี่ยวข้องถึงเกียรติภูมิประดามีอันสถาบันนั้นๆ สั่งสมมา

และแน่นอนว่า การสนับสนุนเครื่องแบบนักศึกษา โดยใช้ข้อเสนอว่า ถ้ายกเลิกเครื่องแบบไป นักศึกษาจะหมกมุ่นกับการแข่งกันแต่งตัวจนไม่เป็นอันเรียน จึงเป็นจินตนาการเกินจริงอย่างสุดโต่ง เป็นการผลักเรื่องต่างๆ ไปให้อยู่ ณ สุดขอบของความเป็นไปได้ (โอกาสเกิดน้อยมากจนอาจเรียกได้ว่าคิดไปเอง) เพราะในความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีเครื่องแบบหรือไม่ คนเราก็ล้วนพยายามแข่งขันกันสร้างตัวตนด้วยรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว หรือต่อให้มองว่า ก็ถ้าไม่มีเครื่องแบบแล้ว สิ่งที่จะใช้แข่งกันมันก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก จากประสบการณ์ของผม ที่ก็เคยเรียนในสถาบันการศึกษาที่ไม่เคร่งครัดเรื่องการใส่เครื่องแบบ เห็นว่าเรื่องนี้ก็ยิ่งไม่เป็นความจริงอย่างมาก ผมเจอคนมากมายที่เต็มที่และทำได้ดีทั้งในเรื่องการแต่งกายและการเรียน และถ้าพูดกันในประเด็นที่ว่า “หมกมุ่นจนไม่เป็นอันทำอะไร” ผมกลับมองว่าการจัดการเรื่องใบหน้าและทรงผมดูจะเป็นสิ่งที่ใช้เวลาเสียมากกว่าการแต่งตัว ซึ่งสองส่วนนี้เป็นสิ่งที่เครื่องแบบมาควบคุมอะไรไม่ได้ ต่อให้คุณกำหนดให้คนสวมเครื่องแบบแต่ไม่กำหนดให้คลุมผมคลุมหน้า หรือกระทั่งไม่กำหนดให้ปิดตา (อย่าลืมว่าแม้แต่ดวงตาก็เป็นที่ที่แข่งกันได้ด้วยขนตาปลอม คอนแทคเลนส์ มาสคารา อายไลเนอร์ หรือกระทั่งคอนซีลเลอร์ปิดบังรอยดำ) การแข่งขันก็ยังเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เรื่องการแข่งขันกันแต่งตัว จึงไม่น่าจะเอามาเป็นประเด็นในเรื่องนี้ได้ เว้นแต่เครื่องแบบจะมีหน้าตาเป็นผ้าผืนใหญ่ๆ ที่ใช้คลุมกายหัวจรดเท้า

2. เสรีภาพกับเครื่องแบบนักศึกษา

ความร้อนแรงของประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักศึกษาที่มีในตอนนี้นั้น หลายคนกล่าวว่าดูจะเป็นการเรียกร้องอยากจะมีเสรีภาพอย่างเกินขอบเขต (เป็นไปได้ว่าว่า ที่ว่าแบบนั้นบางส่วนดูจะเป็นเพราะภาพการรณรงค์ที่หวือหวามากกว่าจะเป็นเพราะตัวการเรียกร้องจริงๆ) ทว่า หากคิดกันตามข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่กฎระเบียบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่มีการบังคับว่าจะต้องสวมใส่เครื่องแบบเข้าเรียน ระบุแค่เรื่อง “แต่งกายสุภาพ”1 การเรียกร้องอันมีต้นตอมาจากการที่อาจารย์บางวิชาออกกฎบังคับว่าต้องแต่งกายด้วยชุดนักศึกษาเมื่อเข้าเรียนในวิชานั้น จึงไม่ใช่การเรียกร้องเสรีภาพที่เกินขอบเขต แต่ในทางกลับกัน มันคือการเรียกร้องเสรีภาพที่เดิมมีอยู่แต่กลับถูกลิดรอนไปกลับคืนมา นั่นย่ิงทำให้คำพูดทำนองว่า “อยู่ในสถาบันไหนก็ควรทำตามกฎของสถาบันนั้น” จึงเป็นคำพูดที่น่าจะมีฐานะไปในทางสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้คัดค้านการสวมเครื่องแบบมากกว่าจะเป็นการต่อต้าน อีกทั้งคำพูดอย่าง “ไม่อยากทำตามกฎก็ไปอยู่ที่อื่น” ก็คงต้องใช้กับนักศึกษาที่อยากจะให้ทุกคนใส่ชุดนักศึกษาเสียแทน และที่สำคัญ เป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างมาก ที่ดูจะไม่มีใครเอะใจอะไรกับการที่บุคคลากรของมหาวิทยาลัยออกคำสั่งอันขัดกับกฎระเบียบของสถาบันออกมา

เครื่องแบบนักศึกษา-เสรีภาพ-เผด็จการ สามสิ่งอันดูเผินๆ เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน หรือถึงขั้นบอกว่าเป็นการเชื่อมโยงอันเลยเถิด แต่พอมีการถกเถียงว่าจะใส่หรือจะถอดเครื่องแบบออกจากระบบ ก็กลับปรากฏว่าสามสิ่งนั้นกลับเป็นเรื่องที่วนเวียนอยู่ด้วยกัน

แง่มุมคุณค่าหนึ่งของเครื่องแบบนักศึกษาที่มักพูดกันถึง และนำมาเป็นข้อเสนอสนับสนุนการคงไว้ซึ่งการสวมใส่เครื่องแบบนักศึกษาก็คือ ชุดนักศึกษานั้นจะ “ได้ใส่กันก็เพียงในตอนที่ยังเรียนอยู่เท่านั้น” ดังนั้นก็ใส่ไปเถิด ในกลิ่นอายอันประนีประนอมของข้อเสนอนี้นั้น หากพิจารณาแล้วจะมองเห็นความอิหลักอิเหลื่อของเครื่องแบบนักศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นใจความข้อเสนอที่สะท้อนว่า ความน่าภาคภูมิใจ หรือคุณค่าด้านดีอื่นใดอันผูกติดอยู่กับชุดนักศึกษานั้นไม่ได้มีลักษณะอย่างข้ามผ่านกาลเวลาและสถานที่ หากแต่เมื่อพ้นจากบริบทของการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยไปแล้ว (และอาจถึงอายุอันคะเนโดยรูปลักษณ์ภายนอก) เครื่องแบบนักศึกษาก็จะกลายเป็นสิ่งประดักประเดิดชวนเก้อเขินหากคิดจะนำมาสวมใส่ ทั้งที่เวลาพูดถึงความภาคภูมิใจหรือคุณค่าดีงามอันใดอันเกิดแต่เครื่องแบบนักศึกษาแล้วก็พูดกันราวกับว่าเป็นคุณค่าอมตะนิรันดรกาลที่ข้ามผ่านทุกกาลเวลาและสถานที่ (ไม่เช่นนั้นแล้วบรรดาศิษย์เก่าก็คงไม่มาเป็นเดือดเป็นร้อนด้วย) และเมื่อเวลาพูดถึงการ “ใส่อีกครั้ง” ก็มักเป็นการพูดในทำนอง “ถ้าย้อนเวลาไปได้” ไม่ใช่ลักษณะว่าเดี๋ยวจะใส่ออกไปตลาดหรือเดินห้างสรรพสินค้าเล่นๆ

ดังนั้นแล้ว หากมองกันในระยะยาว เครื่องแบบนักศึกษาย่อมจะเป็น “ความทรงจำส่วนบุคคล” เสียมากกว่า และเมื่อเป็นเช่นนั้น ปัจเจกแต่ละหน่วยย่อมควรมีสิทธิ์ในการกำหนดรูปแบบความทรงจำในส่วนนี้ของตัวเอง และการที่มีความพยายามจะควบคุมความทรงจำตรงนี้ให้เป็นไปในแบบเดียวกัน ก็ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นหากจะกล่าวว่าการบังคับให้สอดใส่ตัวเองเข้าไปในเครื่องแบบนักศึกษานั้นเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือถึงขั้นเป็นวิธีคิดอย่างเผด็จการ เนื่องจากเป็นการรุกล้ำเข้าไปควบคุมและทำให้สงบราบคาบถึงระดับรูปแบบความทรงจำส่วนบุคคลนั่นเอง

3. แล้วจะอยู่กันยังไง

ทางออกที่น่าจะประนีประนอมที่สุดในเบื้องต้นก็คือ ก็ยังคงการดำรงอยู่ของชุดนักศึกษาไว้ แต่ทิ้งให้เป็นสิทธิในการเลือกของตัวนักศึกษาเอง ว่าจะสวมใส่มันหรือไม่ จะสวมใส่ในโอกาสอันใด เพราะแม้จะมีแง่มุมอันเป็นเผด็จการดังกล่าวไปแล้ว แต่ลำพังการสวมเครื่องแบบหรืออุดมการณ์หรือกระทั่งแนวคิดที่แนบติดมาด้วยนั้น ไม่น่ามากพอจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่า ถ้าสยบยอมต่อการสวมเครื่องแบบแล้ว นักศึกษาทั้งหลายจะกลายเป็นคนที่ “คิดไม่เป็น-เห็นดีเผด็จการ-คัดค้านเสรีภาพ” กันไปเสียหมด มีเงื่อนไขอีกมากมายในช่วงชีวิตที่จะมีอิทธิพลทำให้มนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและความคิดไปเรื่อยๆ ซึ่งในทางกลับกัน ลำพังการไม่สวมเครื่องแบบ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เติบโตมาเป็นคนที่รักใคร่หลงใหลในสิทธิเสรีภาพได้เสมอไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้ความว่าเช่นนั้นแล้วก็จงยุติการเรียกร้องเสีย เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ปฏิกิริยาทั้งสนับสนุนและต่อต้านอันมีต่อการเรียกร้องในเรื่องนี้นี่แหละ ที่สามารถสะท้อนและเป็นบทเรียนได้ชัดเจนว่า ที่สุดแล้วบ้านนี้เมืองนี้มีคนต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร เราจะหาทางประนีประนอมความขัดแย้งกันนั้นด้วยทางออกแบบใด และบนหลักการข้อใด

พูดไปก็ไม่มีหวัง…

หมายเหตุ: 1 ระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งกายของนักศึกษา พ.ศ. 2549 ข้อ 11 ระบุตรงกันว่า “ในโอกาสทั่วไปให้นักศึกษาแต่งกายสุภาพ” โดยเฉพาะในข้อหลังนั้น แม้จะมีการระบุต่อถึงสิทธิที่อาจารย์ผู้สอนจะไม่ให้นักศึกษาเข้าเรียน หรือหน่วยงานต่างๆ สามารถงดให้บริการ แต่ก็เป็นไปในกรณีที่นักศึกษาแต่งกายไม่สุภาพ ไม่เหมาะสมแก่กาลเทศะ ไม่ใช่ในกรณีที่ไม่แต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษาในทุกกรณีแต่อย่างใด