ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เมื่อคุณภาพการศึกษาใช้ “คะแนนชี้วัด” ผู้ปกครองทุ่มปีละกว่าหมื่นล้านให้เด็กกวดวิชาเพื่อ “ติ๊กถูก”

เมื่อคุณภาพการศึกษาใช้ “คะแนนชี้วัด” ผู้ปกครองทุ่มปีละกว่าหมื่นล้านให้เด็กกวดวิชาเพื่อ “ติ๊กถูก”

9 กันยายน 2013


แม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปีสำหรับโรงเรียนของรัฐ โดยจ่ายค่าเล่าเรียนให้ 4 ส่วน คือ แบบเรียน เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แต่ผู้ปกครองยังต้องมีรายจ่ายอื่นๆ เพราะโรงเรียนเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาเพิ่มเติม โดยเริ่มต้นที่ภาคการศึกษาละ 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและการบริหารงานของโรงเรียนนั้นๆ รวมถึงค่าเรียนพิเศษอื่นๆ ที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่ม ด้วยความไม่มั่นใจคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน เป้าหมายการสอบเข้า หรือปัจจัยอื่นๆ

ประเทศไทยมีโรงเรียนในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการกว่า 3,200 แห่ง มีนักเรียนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 กว่า 8.7 ล้านคน

ด้วยมาตรฐานการศึกษาที่ใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัดในทุกระดับ ดังนั้นหากมีกำลังจ่ายมากพอก็จะนิยมให้ลูกหลานเรียนพิเศษเพิ่มเติมทั้งในโรงเรียน สถาบันกวดวิชา หรือจ้างมาสอนพิเศษที่บ้าน ทั้งนี้เป็นเพราะกังวลว่าลูกหลานจะสอบได้คะแนนน้อย สอบเลื่อนชั้น สอบเข้าโรงเรียนหรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เหตุผลหนึ่งคือการสอบวัดผลในโรงเรียนมักจะยากกว่าเนื้อหาที่เรียนเสมอ

ค่าเรียนพิเศษครบทุกวิชา

โรงเรียนเกือบทุกแห่งมีเรียนพิเศษเพิ่มเติมประมาณ 1 ชั่วโมงหลังเลิกเรียนในเวลาราชการ ซึ่งสอนโดยคุณครูประจำชั้น แม้จะเรียกว่า “เรียนพิเศษ” แต่โรงเรียนหลายแห่งมักจะสอนหรือเฉลยการบ้านให้นักเรียนมากกว่าการสอนเนื้อหาเพิ่มเติมจากชั่วโมงเรียนปกติ ทั้งนี้แม้ว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่จะทราบว่าคือการสอนการบ้าน แต่ก็ยินดีให้เรียน เนื่องจากตนเองไม่มีเวลาสอนการบ้านลูกเพราะทำงานเลิกช้า รวมถึงปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ที่ทำให้ไปรับลูกทันทีที่โรงเรียนเลิกไม่ได้

สำหรับค่าเรียนพิเศษในช่วงเย็นของโรงเรียนนั้น ส่วนใหญ่เป็นชั้นระดับประถมศึกษา โดยมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ภาคการศึกษาละประมาณ 500 บาท และผู้ปกครองบางคนก็จะจ้างครูมาสอนพิเศษที่บ้านในบางรายวิชาที่เห็นว่าลูกหลานทำคะแนนได้ไม่ดีนัก โดยต้องจ่ายค่าจ้างสอนเริ่มต้นที่ชั่วโมงละ 200-250 บาท หรือให้ไปเรียนที่สถาบันกวดวิชา

สถาบันกวดวิชาสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลนั้น นิยมเรียนเพื่อพัฒนาทักษะทางสมองและเสริมสร้างสติปัญญา หรือถ้าเรียนเป็นวิชาการก็จะเป็นวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ก็มีเรียนติวเพื่อสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ด้านค่าใช้จ่ายในการเรียนขึ้นอยู่กับว่าเรียนที่ไหน แต่โดยทั่วไปเริ่มต้นที่คอร์สละ 2,000 บาทต่อวิชา

หากคิดเฉพาะค่าเรียนพิเศษของนักเรียนชั้นอนุบาลอยู่ที่ประมาณภาคการศึกษาละ 2,000 บาทต่อ 1 วิชา ใน 1 ปีมี 3 เทอม (รวมภาคฤดูร้อน) ก็จะประมาณ 6,000 บาท ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้เรียน 2-3 วิชา ดังนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายภาคการศึกษาละประมาณ 4,000-6,000 บาท ถ้ารวม 3 เทอม ต้องจ่ายประมาณ 12,000 – 18,000 บาท

ค่าเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาเพื่อสอบเข้า

การเรียนกวดวิชาในระดับประถมศึกษาจะเน้นเรียนวิชาการที่ 5 วิชาหลัก คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ซึ่งตามสถาบันกวดวิชาจะแบ่งตารางเรียนเป็นหลายกลุ่ม เช่น เรียน 2 วิชา เฉพาะวิทย์-คณิต, เรียน 3 วิชา วิทย์-คณิต-อังกฤษ, หรือเรียนทั้ง 5 วิชา โดยมีเวลาเรียนให้เลือกสมัครทั้งช่วงเปิดและปิดภาคการศึกษา สำหรับค่าใช้จ่ายกรณีเรียนครบ 5 วิชา ราคาประมาณคอร์สละ 3,200 บาท แต่หากเป็นคอร์สติวสอบเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 1 ราคาประมาณคอร์สละ 3,600 บาท

ดังนั้น หากนักเรียนชั้นประถมเรียนพิเศษแบบรวม 5 วิชาในสถาบันเดียวก็จะมีค่าเรียนพิเศษอย่างน้อยภาคการศึกษาละ 3,700 บาท (เรียนหลังเลิกเรียน 500 บาท + เรียน 5 วิชา 3,200 บาท) ในกรณีที่เรียนในสถาบันกวดวิชา แต่ถ้าจ้างครูมาสอนที่บ้านวันละ 2 ชั่วโมงจะมีรายจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 4,000 บาท

ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าเรียนพิเศษอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิชาการอีก เช่น ดนตรีเดือนละ 1,000-2,000 บาท หรือกีฬาเช่น ว่ายน้ำ บัลเล่ต์ คอร์สละ 3,000-4,000 บาท หรือเรียนศิลปะคอร์สละ 2,000-3,000 บาท รวมถึงค่าเครื่องดนตรี ค่าชุด ค่ารองเท้า และอุปกรณ์ต่างๆ ในการเรียน ที่ผู้ปกครองหวังว่าจะทำให้ลูกมีทักษะด้านอื่นนอกจากวิชาการด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เด็กหญิง A เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนชื่อดังเขตดุสิตหลักสูตรปกติ ค่าเทอม 9,000 บาท เรียนพิเศษ 3 วิชา คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยจ้างครูมาสอนที่บ้านวันละ 2 ชั่วโมงทุกวันจันทร์ อังคาร พุธ รวมเป็นเงิน 600 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 2,400 บาทต่อเดือน วันพฤหัสเรียนว่ายน้ำเดือนละ 2,000 บาท วันเสาร์เรียนกีตาร์เดือนละ 2,500 บาท รวมแล้วมีค่าเรียนพิเศษ 6,900 บาทต่อเดือน

ค่าเรียนพิเศษ

สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจะเน้นเรียนพิเศษด้านวิชาการมากขึ้นเพื่อเพิ่มเกรดที่โรงเรียน ซึ่งการเรียนในสถาบันกวดวิชาของนักเรียนส่วนหนึ่งมาจากผู้ปกครองให้เรียน ส่วนหนึ่งขอผู้ปกครองเรียนเอง และอีกส่วนหนึ่งคือเรียนตามเพื่อน

สถาบันกวดวิชาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาส่วนใหญ่จะแยกสอนสถาบันละวิชาเดียวเท่านั้น เช่น เอ็นคอนเซปต์ สอนเฉพาะภาษาอังกฤษ, เคมีอุ๊ สอนเฉพาะวิชาเคมี, แอพพลายฟิสิกส์ สอนเฉพาะฟิสิกส์ ฯลฯ มีเพียงบางสถาบันเท่านั้นที่สอนหลายวิชา เช่น เดอะติวเตอร,์ เดอะเบรน ฯลฯ

ในที่นี้จะคำนวณราคาเรียนพิเศษจากสถาบันกวดวิชารวม พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในกรณีที่เรียนรวม 5 วิชาหลักในสถาบันเดียว มีค่าเรียนคอร์สละ 3,700 บาท แต่ถ้าหากเรียนแยกรายวิชา ตามสถาบันที่สนใจค่าเรียนคอร์สละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งมีให้เลือกเรียนทั้งช่วงเปิดและปิดภาคการเรียน

ด้านนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้นมีหลักสูตรการเรียนที่แตกต่างกัน เช่น สายวิทย์-คณิต สายศิลป์-ภาษา สายภาษา ฯลฯ ดังนั้นความต้องการเรียนเพิ่มเติมของเด็กแต่ละคนจึงแตกต่างกัน

สำหรับเด็กที่เรียนสายวิทย์ จะต้องเรียน 5 วิชาหลักเช่นเดิม เพียงแต่เพิ่มวิชาในหมวดวิทยาศาสตร์แยกเป็น 3 วิชา คือ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ส่วนเด็กภาษาก็อาจจะไปเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่ 3 อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

จากการคำนวณค่าเรียนพิเศษสำหรับเด็กสายวิทย์-คณิต พบว่า ค่าเรียนพิเศษเพื่อเพิ่มเกรดประมาณคอร์สละ 2,000-2,500 บาท ซึ่งแต่ละคอร์สจะเป็นเรื่องๆ ตามบทเรียน แต่ค่าเรียนพิเศษจะสูงเป็นเท่าตัวในคอร์สเตรียมสอบโอเน็ต และ GAT, PAT โดยวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาคอร์สละประมาณ 4,400 บาท ภาษาอังกฤษ 4,000 บาท คณิตศาสตร์ 6,300 บาท ฟิสิกส์ 5,000 บาท เคมี 6,500 บาท และชีววิทยา 5,000 บาท

ค่าเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาของนักเรียน ม.6

โดยสรุปนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีค่าเรียนพิเศษประมาณภาคการเรียนละ 15,000 บาทเป็นอย่างต่ำหากเรียนครบทุกวิชา และสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อติวสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกประมาณ 3,500 บาทในกรณีเรียนครบทุกวิชา

สำหรับนักเรียนที่จ้างครูมาสอนที่บ้านไม่ว่าเพื่อเพิ่มเกรดหรือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ชั่วโมงละ 250-300 บาท ซึ่งระยะเวลาเรียนขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เรียน ไม่ได้กำหนดชั่วโมงเรียนแน่นอนเหมือนในสถาบันกวดวิชา

ทั้งนี้สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนในสายวิทย์-คณิต ก็มีค่าเรียนพิเศษไม่ต่างกันนัก เนื่องจากค่าเรียนภาษาต่างประเทศราคาสูงพอๆ กับวิชาวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 วิชารวมกัน หรืออาจจะแพงมากกว่าด้วยซ้ำเมื่อคิดรวมทั้งหลักสูตรของการเรียน

จำนวนนักเรียนในโรงเรียนของ สพฐ.

จำนวนนักเรียนในโรงเรียนเอกชน

ค่าเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาของนักเรียน ม.6

ค่ากวดวิชาแต่ละปี

จากภาพรวมแล้วจะมีเงินสะพัดเพื่อการเรียนพิเศษในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเทอมละ 16,000 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ทั้งนี้ยังไม่รวมนักเรียนโรงเรียนเอกชนระดับประถมศึกษากว่า 6 แสนคน ระดับมัธยมต้นกว่า 2 แสนคน และมัธยมปลายกว่า 1 แสนคน

ตลาดกวดวิชารวมเป็นคลัสเตอร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รายงานเกี่ยวกับตลาดกวดวิชาว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาได้มีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ ขยายสาขาไปต่างจังหวัด ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบ Admissions รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในปี 2556 ไว้ที่ 7,160 ล้านบาท และจะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาทในปี 2558 หรือเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนมาจากค่าเรียนต่อหลักสูตรที่สูงขึ้นและจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจกวดวิชา ได้แก่ ทางเลือกของนักเรียนในการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่มากขึ้น ทั้งการเปิดหลักสูตรภาคพิเศษและหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยรัฐบาล การยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยเอกชน รวมถึงการจัดกิจกรรมการตลาดของผู้ผลิตสินค้าในรูปแบบการเปิดติววิชาต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ธุรกิจกวดวิชาครอบคลุมถึงการเรียนกวดวิชาทั้งในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัวหรือสอนเป็นกลุ่ม โดยค่านิยมการเรียนเสริมความรู้ในบางรายวิชาของนักเรียนไทยทั้งในกลุ่มที่เรียนอ่อนและเรียนเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจกวดวิชาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการขยายสาขาของโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาเน้นรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ ขยายสาขา ปรับหลักสูตร และใช้เทคโนโลยี

นักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเรียนกวดวิชา ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งมีความต้องการเรียนกวดวิชาเสริมสร้างความรู้เพื่อใช้ในการสอบวัดผลการเรียนในโรงเรียนและสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยฐานนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ระบุว่า ปี 2555 มีจำนวนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในกลุ่มโรงเรียนประเภทสามัญศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชนรวม 1,412,570 คน แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 163,743 คน และในภูมิภาค 1,248,827 คน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2550 ที่มีจำนวนรวม 1,166,942 คน

เมื่อพิจารณาข้อมูลการสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย พบว่า ในปี 2555 มีผู้สมัครเข้าศึกษาในระบบ Admissions ถึง 122,169 คน ในขณะที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันของรัฐในสังกัดหรือกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สามารถรองรับนักศึกษาใหม่ได้เพียง 64,000 คน หรือรองรับได้เพียงร้อยละ 53 ของผู้สมัคร Admissions ทั้งหมด

จากที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันของรัฐมีขีดจำกัดในการรองรับนักศึกษา จึงนิยมเรียนกวดวิชาเพื่อสร้างความได้เปรียบในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย เพราะมีการสรุปเนื้อหาอย่างตรงประเด็น สอนเทคนิคการทำข้อสอบ ใช้เวลาเรียนไม่มาก รวมถึงยังมีเทคนิคการสอนที่เพลิดเพลิน ส่งผลให้ธุรกิจกวดวิชาเติบโตและมีมูลค่าตลาดสูง มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ในปี 2555 มีโรงเรียนกวดวิชารวม 2,005 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 460 แห่ง และภูมิภาค 1,545 แห่ง และมีจำนวนนักเรียน 453,881 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนกวดวิชาต่างก็มีกลยุทธ์ในการลงทุนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรียน ชื่อเสียง และทำเลที่ตั้ง โดยโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงมักใช้กลยุทธ์ ดังนี้

การรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ โดยมีความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังในวิชาต่างๆ ที่หลากหลายร่วมกันจัดการเรียนส่วนตัวแบบออนไลน์ รวมถึงมีการใช้สถานที่หรืออาคารร่วมกันเพื่อเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ One-Stop Service ในการเดินทางมาเรียนกวดวิชาสำหรับนักเรียน โดยสถานที่โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังส่วนใหญ่มักมีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีการคมนาคมที่สะดวก

การขยายสาขาไปต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ แต่เดิมกลยุทธ์ของโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังมักเลือกขยายสาขาไปในกรุงเทพฯ และจังหวัดหลักในภาคต่างๆ นักเรียนจังหวัดรอบข้างจึงต้องเดินทางมาเรียน ในขณะที่นักเรียนบางคนก็มีข้อจำกัดด้านการเดินทางจึงไม่สามารถเข้าถึงการเรียนกวดวิชาได้ โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังได้ขยายสาขาไปจังหวัดรองมากขึ้น เช่น เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ราชบุรี ตรัง

การปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบ Admissions โดยโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังหันมาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบบดังกล่าวมากขึ้น ครอบคลุมทั้งวิชาสามัญทั่วไป การสอบความถนัดทั่วไป (GAT: General Aptitude Test) การสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT: Professional and Academic Aptitude Test) รวมถึงวิชาเฉพาะ เช่น วิชาเฉพาะแพทย์

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ Application เกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านทางสมาร์ทโฟน การเรียนส่วนตัวแบบออนไลน์ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงโดยนักเรียนสามารถบริหารจัดการการเรียนด้วยตนเองผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน รวมถึงการใช้แท็บเล็ตประกอบการเรียนการสอน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดธุรกิจกวดวิชา ได้ส่งผลให้มีผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาบางรายเริ่มกระจายความเสี่ยงโดยการขยายไปในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการแนะแนวการศึกษา แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษา การผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ รวมถึงการขายสื่อการเรียนรู้แบบมัลติมีเดียให้โรงเรียนต่างๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชา ทั้งในส่วนของการเรียนกวดวิชาในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัวหรือสอนเป็นกลุ่มในปี 2556 ไว้ที่ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท และจะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาทในปี 2558 หรือเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี โดยคาดว่าจะมีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียนต่อหลักสูตรและจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น

หลากปัจจัยท้าทายตลาดกวดวิชา

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ได้ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจกวดวิชาเปลี่ยนแปลงไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมวลความท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจกวดวิชาในอนาคต ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การเพิ่มขึ้นของจำนวนหลักสูตรภาคพิเศษ และหลักสูตรการเรียนการสอนแบบนานาชาติของมหาวิทยาลัยรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรการเรียนการสอนแบบนานาชาติที่เปิดใหม่เพื่อผลิตบุคลากรรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อาจส่งผลให้การแข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลมีความรุนแรงลดลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โอกาสของโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษที่จะสามารถขยายฐานนักเรียนที่ต้องการเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการสอบแข่งขันศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติ

นอกจากนี้ การที่ผู้คนในสังคมยอมรับคุณภาพของมหาวิทยาลัยเอกชนมากขึ้น รวมถึงในอนาคต หากมีการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการจัดตั้งมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีชื่อเสียงสามารถเข้ามาเปิดวิทยาเขตภายในประเทศไทยเพื่อเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับนักเรียนได้ ส่งผลให้การแข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลอาจไม่รุนแรงเช่นในอดีต ซึ่งนักเรียนอาจให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชาเพื่อสอบแข่งขันศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยรัฐบาลลดลง

การทำการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาของผู้ผลิตสินค้า

ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงสมอง ต่างก็หันมามุ่งเจาะตลาดนักเรียนและนักศึกษา โดยมุ่งสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าในการเป็นตัวช่วยทางด้านการเรียน ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างความผูกพันธ์กับแบรนด์สินค้าตั้งแต่วัยเด็กเพื่อเป็นข้อได้เปรียบในการทำการตลาดระยะยาว ที่จะส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มนักเรียนและนักศึกษามีความผูกพันธ์กับแบรนด์สินค้าและกลายเป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อในอนาคต ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบการเปิดติววิชาต่างๆ เพื่อสอบแข่งขันศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจส่งผลให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมากขึ้น ทดแทนการเรียนกวดวิชาซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

นอกจากนี้การเติบโตของสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดการเรียนการสอนออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ช่องต่างๆ สื่อประเภทวีซีดีและดีวีดี และช่องทางอินเทอร์เน็ต ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ในรูปแบบการเรียนผ่านเว็บไซต์ e–Learning คลิปวีดิโอ ที่ยังมีการออกแบบให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ยกตัวอย่างเช่น www.khanacademy.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ไม่แสวงหาผลกำไรชื่อดัง ที่มีแบบทดสอบเรื่องต่างๆ ให้ผู้เรียนได้ทดสอบความรู้เช่นเดียวกับการเรียนที่โรงเรียน อีกทั้งการที่ผู้ปกครองหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพในด้านอื่นๆ ของบุตรหลานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะภาษาต่างชาติ การฝึกสมอง งานศิลปะ ดนตรี รวมถึงกีฬา เป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชาน้อยลง