ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แถลงการณ์ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน” กรณีไอ้โม่งทำลายกำแพงชุมชนป้องกันภูทับฟ้าโดนไซยาไนด์

แถลงการณ์ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน” กรณีไอ้โม่งทำลายกำแพงชุมชนป้องกันภูทับฟ้าโดนไซยาไนด์

22 กันยายน 2013


22 กันยายน 2556 แถลงการณ์ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน” ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กรณีการทำลายกำแพงที่สร้างขึ้นจากมติชุมชน

แถลงการณ์กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน
แถลงการณ์กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน

จากเหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556 ณ เวลาประมาณ 23.00 น. ถึง 24.00 น. ของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556 มีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวนไม่ต่ำว่า 20 คน พร้อมอาวุธสวมหมวกผ้าไหมพรมคลุมปิดหน้า ทำลายกำแพงที่ปิดกั้นขวางเส้นทางที่ถูกสร้างโดยราษฎรและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านเพื่อปกป้องแผ่นดินแม่ พังทลายลงเพื่อเปิดเส้นทางให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ผ่านขึ้นหรือลงพื้นที่ทำการเหมืองตามปกติ โดยไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลแต่อย่างใด

ในเบื้องต้น “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน” ขอประณามการทำลายกำแพงที่ปิดกั้นถนนเพื่อดูแลและป้องกันเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ราษฎรบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำ เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ไร้จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ โลภอยากได้เป็นของตน เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหากลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวมาทำการลงโทษ อีกทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบกรณีพิพาทระหว่างบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กับ ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจาก 6 หมู่บ้าน ทำการสอบสวนเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จะทำการปกป้องแผ่นดินแม่ และต่อสู้กับความอยุติธรรมทุกรูปแบบตามกรอบของกฎหมาย อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านได้แถลงการณ์ร่วมกันว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เริ่มกิจการเหมืองแร่ทองคำเมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ด้วยการอนุมัติจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยความคาดหวังริเริ่มว่าจะทำให้ราษฎรทั้ง 6 หมู่บ้าน และบริเวณใกล้เคียงของตำเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มีงานทำเพิ่มรายได้ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ทั้งในระดับครอบครัว จังหวัด และประเทศชาติ

ก่อนดำเนินการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และได้รับการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จนได้รับใบอนุญาตประทานบัตรให้ดำเนินการกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งคาดว่าการอนุมัติให้ผ่านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะเป็นหลักประกันและควบคุมดูแลความปลอดภัยในด้านสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่รอบๆ เหมืองแร่ทองคำ แต่ในปี พ.ศ. 2550 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้แจ้งความผิดปกติของน้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ จนมีการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐและนำไปสู่การลงโทษบริษัท ทุ่งคำ จำกัดในความผิดบกพร่อง ด้วยการปรับเป็นเงิน 2,000 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับจังหวัดนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมนักข่าวทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งและเห็นร่องรอยของผนังเขื่อนกักเก็บกากสารไซยาไนด์ มีรอยปริรั่วซึมด้านทิศใต้ แต่ไม่มีความคืบหน้าประการใด

ปัญหาและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำบาดาล น้ำผิวดิน สัตว์น้ำ พืชผักน้ำ ตลอดจนการปนเปื้อนสารไซยาไนด์ ตะกั่ว และปรอท ในเลือดของราษฎร 6 หมู่บ้าน รวมทั้งการแตกแยกความสามัคคีของราษฎร 6 หมู่บ้าน มีการฟ้องร้องกล่าวหากันจนเป็นความในชั้นศาลเกิดขึ้นตลอดเป็นเนืองๆ ในปี พ.ศ. 2555 เขื่อนกักเก็บกากสารไซยาไนด์ พังทลายลง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดและบกพร่องอย่างใหญ่หลวง จนทำให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถูกคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว แต่ก็ยังได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการต่อไปได้อีก

ความพยายามในการที่จะดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยังคงดำเนินการต่อไป การดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำได้สร้างความเดือดร้อนและความไม่สงบในพื้นที่มาตลอด โดยมีการขยายพื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ใหม่เรื่อยๆ เช่น ที่แปลง 104/2538 และ แปลง 76/2539 ทั้งที่มีมติและเป็นคำสั่งของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ให้ชะลอการขยายพื้นที่การทำเหมือง หาสาเหตุของการปนเปื้อน และศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

เช้าวันที่ 8 กันยายน 2556 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 800 คน ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เดินทางไปยังวัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวที Public Scoping  ภาพโดยจิรวิทย์ ฉิมานุกูล
เช้าวันที่ 8 กันยายน 2556 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 800 คน ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เดินทางไปยังวัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวที Public Scoping ภาพโดยจิรวิทย์ ฉิมานุกูล

นอกจากนี้ทางบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ทำการปิดกั้นไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมการประชุมการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556 ขณะเดียวกัน บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้องราษฎรผู้เรียกร้องความเป็นธรรมในคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายเป็นเงินมากกว่า 50 ล้านบาท

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ได้รับความใส่ใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทำได้เพียงการเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์รายงานและเงียบหายไป เราในนามของ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน” เห็นว่าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเจ้าหน้าที่ของรัฐบางหน่วยงาน ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดมา เห็นได้ประจักษ์แล้วว่า ความผิดที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้กระทำผิดนั้น มีการลงโทษเพียงตักเตือน ปรับ หรือหยุดกิจการชั่วคราวเท่านั้น”

พร้อมคำถาม “กำแพงชุมชนก่อขึ้นแล้ว กำแพงแห่งความกลัวในใจคุณ พังทลายลงหรือยัง”