ThaiPublica > เกาะกระแส > เดินเท้าคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ข้อเท็จจริงที่ต้องการ “สื่อ”

เดินเท้าคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ข้อเท็จจริงที่ต้องการ “สื่อ”

24 กันยายน 2013


เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556 เป็นอีกปรากฏการณ์ที่ประชาชนร่วมขบวนคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ร่วม 2 หมื่นคน

กลุ่มคัดค้านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (อีเอชไอเอ: EHIA) นำโดยนายศศิน เฉลิมลาภ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เดินทางมาถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 16.00 น. โดยมีกลุ่มประชาชนเกือบ 2 หมื่นคนรอต้อนรับ หลังจากที่เริ่มเดินเท้าตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน จากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์

แผนที่การเดินเท้าคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์

เมื่อมาถึงนายศศินก็ขึ้นปราศรัยบนเวที และแถลงการณ์คัดค้านอีเอชไอเอที่กรมชลประทานจ้างบริษัทที่ปรึกษาครีเอทีฟเทคโนโลยี จำกัด ทำรายงาน พร้อมกันนี้ได้ฉีกรายงานฉบับดังกล่าวทิ้งให้ผู้มาร่วมคัดค้าน ท่ามกลางสายฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แถลงการณ์คัดค้านการอนุมัติอีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ยื่นให้กับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา และยื่นให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการยื่นหนังสือคัดค้านก็ทำให้การพิจารณา EHIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการเลื่อนออกไป

นายศศิน เฉลิมลาภ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า “ผิดคาดมากที่วันนี้สื่อไม่เล่นข่าวเลย เพราะเป้าหมายที่คาดหวังไว้คือ จะสื่อสารกับสื่อทั้งกระแสหลักและกระแสรองให้สื่อเจตนาและข้อมูลของเราออกไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ซึ่งมีคนมาร่วมขบวนเดินมากเป็นปรากฏการณ์”

ประชาชนลงชื่อคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ประชาชนเกือบ 20,000 คนที่มาร่วมคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556
ประชาชนเกือบ 20,000 คนที่มาร่วมคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556

13 วันที่ผ่านมาคือการประท้วงอย่างสันติวิธีของประชาชนเพื่อบอกว่ารัฐทำไม่ถูกต้อง ซึ่งตรงกับงานที่เราทำอยู่พอดี คือ การรักษาป่าแม่วงก์และรักษาป่าตะวันตก แต่เมื่อเราไม่มีทางไป เราจึงประท้วงด้วยการเดินซึ่งเป็นวิธีเก่าแก่ตั้งแต่สมัยมหาตมะ คานธี แต่ขณะเดียวกันเราก็ทำงานสื่อสารมวลชนไปด้วย เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมบางประการ ซึ่งเราก็เตรียมเครื่องมือและทีมงานไว้แล้ว แม้ว่าสื่อกระแสหลักจะไม่ทำข่าว แต่เราก็มีสื่อทางเลือกและสื่อของเราเองทำงานอยู่ นั่นคือเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สำหรับเรื่องอีเอชไอเอผมทำมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยทำงานประสานเชิงนโยบายกับฝ่ายบริหาร ซึ่งการที่ฝ่ายบริหารมารับหนังสือนั้นก็ส่งนัยยะว่ามีบางส่วนของรัฐที่รับฟังข้อมูลจากเรา เราเองก็ต้องทำงาน 2 ด้าน คือต้องประสานงานพูดจากัน เราต้องสื่อสารให้เขารู้ จะเรียกร้องอย่างเดียวไม่ได้

ส่วนที่พูดว่า “เราจะเดินด้วยกันต่อไป ด้วยขนาดหัวใจใกล้ๆ กัน” ก็คือวิธีการที่จะออกมาเรียกร้องหรือแสดงออกในสิ่งที่ไม่ถูกต้องร่วมกัน แต่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ค่อยว่ากันไปในอนาคต

“กรณีของแม่วงก์ก็ว่ากันไปตามกระบวนการที่จะประสานงานกับฝ่ายบริหารเพื่อปรับเปลี่ยนไปพัฒนาแหล่งน้ำทางด้านอื่น” นายศศินกล่าว

ประชาชนฟังนายศศิน เฉลิมลาภแถลงการณ์คัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางฝนที่ตกหนัก
ประชาชนฟังนายศศิน เฉลิมลาภ แถลงการณ์คัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางฝนที่ตกหนัก

ด้านนางสาวอรยุพา สังขะมาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ตลอดการเดินทางตั้งแต่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวาซึ่งจะเป็นสันเขื่อนแม่วงก์จนถึงกรุงเทพฯ มีอุปสรรคตลอดทาง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่นอน เพราะผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาสั่งห้ามหรือกดดันเจ้าของสถานที่มิให้กลุ่มผู้คัดค้านพักอาศัย ซึ่งคืนหนึ่งขณะกลุ่มผู้คัดค้านเดินอยู่ในพื้นที่อำเภอลาดยาวต้องเปลี่ยนที่นอนถึง 4 ครั้ง สุดท้ายต้องข้ามเขตมานอนที่อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี แต่ท้ายที่สุดในทุกๆ ครั้งก็มีคนช่วยเหลือให้สามารถพักแรมที่วัดหรือโรงเรียนได้

ด้านความปลอดภัย ทางทีมงานได้จัดคนดูแล ไม่ได้ติดต่อขอความร่วมมือจากตำรวจ แต่ 2 วันแรกของการเดินทางที่ลาดยาวก็มีตำรวจมาอยู่กับเราด้วย โดยให้เหตุผลว่ากลัวจะมีการปะทะกับชาวบ้าน หลังจากออกจากพื้นที่ลาดยาวมีตำรวจจากพื้นที่นั้นๆ ติดต่อมาที่ทีมงาน และช่วยคุ้มกันดูแลความปลอดภัยให้กับทีมเป็นอย่างดี ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละพื้นที่ก็ติดต่อประสานงานกันเพื่อดูแลทางกลุ่มมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ

การเดินทางเริ่มจาก 8 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงหลักร้อยคนตั้งแต่บริเวณศาลเจ้าไก่ต่อที่นครสวรรค์แล้ว โดยมีคนเปลี่ยนเข้า-ออกมาร่วมเดินคัดค้านด้วยตลอด จนกระทั่งถึงฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตก็มีกลุ่มประชาชนที่เห็นด้วยกับเรารอเดินร่วมขบวนด้วยกว่าพันคน และกลายเป็นหมื่นคนที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ การเดินทางของเราในช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยมีคนทราบเพราะสื่อหลักไม่ทำข่าว คนที่ทราบก็คือกลุ่มคนที่ติดตามข่าวในเฟซบุ๊กของมูลนิธิสืบฯ หรือของ อ.ศศิน

ด้านค่าอาหาร ในระยะแรกๆ ทางมูลนิธิสืบฯ ออกค่าใช้จ่ายให้กลุ่มคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ แต่เมื่อมีคนทราบว่าเรากำลังเดินอยู่ก็มาช่วยเหลือทั้งเลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำ ของใช้จำเป็น รวมถึงบริจาคเงินด้วย

บรรยากาศการเดินเท้าคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ตั้งแต่วันที่ 10 -22 กันยายน 2556
บรรยากาศการเดินเท้าคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ตั้งแต่วันที่ 10-22 กันยายน 2556

ระหว่างการเดินทาง กลุ่มคัดค้านอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ได้แจกเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ให้กับประชาชนด้วย แต่ในบางพื้นที่มีคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับเราค่อนข้างเยอะ ก็ต้องระวังตัวไว้ก่อนเพราะเราเดินโดยปราศจากอาวุธ แต่ถ้ามีคนมาคุยเราก็พร้อมให้ข้อมูล เพราะจริงๆ แล้วชาวบ้านจำนวนมากไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง

อ่านเพิ่มเติม