ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมส่งเสริมฯไม่ปลด “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อ้างดีเอสไอเคยรับรองว่าไม่พบความผิด – เปิดงบการเงินสหกรณ์คลองจั่นล่าสุด

กรมส่งเสริมฯไม่ปลด “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อ้างดีเอสไอเคยรับรองว่าไม่พบความผิด – เปิดงบการเงินสหกรณ์คลองจั่นล่าสุด

6 กันยายน 2013


สถานการณ์วิกฤติสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จนถึงขณะนี้ผู้บริหารสหกรณ์ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ยังบริหารสหกรณ์อยู่ ส่วนสมาชิกสหกรณ์ก็ยังไม่สามารถถอนเงินได้ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นมา

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ว่าได้รับหนังสือตอบกลับจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามโดยปลัดกระทรวง เรื่องมีคำสั่งให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียน พิจารณาถอดถอนคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นชุดที่ 29 ทั้งชุด ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ มาตรา 22(4) รวมทั้งให้ระงับการจำหน่ายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ การขายสินทรัพย์รอจำหน่าย (บ้านเอื้ออาทรและที่ดิน) และการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น หากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังเพิกเฉย และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของปลัดกระทรวง อาจเข้าข่ายกระทำผิดวินัยและอาญา

หนังสือที่ลงนามโดยปลัดกระทรวงเกษตรดังกล่าวมีที่มาจากมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น (ตั้งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556) ซึ่งมีนายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน โดยคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนกระทรวงการคลัง สำนักอัยการสูงสุด และเลขาฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นกรรมการ

DSCN9974
(กลางซ้าย) นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น (กลางขวา) นายกิตติก้อง คณาจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ

นายกิตติก้อง คณาจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด ดีเอสไอ กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวต้องการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์บังคับใช้กฎหมายเพื่อถอดถอนคณะกรรมการทั้งชุด ทุกวันนี้มีสมาชิกโทรศัพท์เข้ามาสอบถามร้องเรียนกับทางดีเอสไอวันละหลายสิบรายเพราะถอนเงินไม่ได้ ความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อสหกรณ์ก็ลดลงทุกวัน อย่างนี้ถือว่าสหกรณ์เสียหายจากการกระทำของคณะกรรมการหรือไม่

“ตอนนี้แผนฟื้นฟูกิจการยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน กรมส่งเสริมยอมรับได้หรือ แล้ววันนี้กรมได้ตรวจสอบไหมว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ได้เงินจากลูกหนี้มาถึง 10 เปอร์เซ็นต์หรือยัง แล้วจัดสรรให้สมาชิกทุกรายหรือเป็นการจัดสรรให้บางรายเป็นพิเศษหรือไม่ ถ้านายศุภชัยยังดำรงตำแหน่งอยู่ นอกจากทำให้สมาชิกเดือดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วยังเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ทำให้ระยะเวลาการทำคดีก็ล่าช้าตามไปด้วย ส่วนเรื่องที่กรมส่งเสริมกังวลว่าถ้าถอดถอนกรรมการสหกรณ์แล้วจะถูกร้องศาลปกครองเรื่องใช้อำนาจรัฐละเมิด เรื่องนี้เป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐ คือต้องทำตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ถ้าทำแล้วสาธารณชนได้ประโยชน์ก็ต้องรีบบังคับใช้ ไม่ใช่ไปคิดแทนนายศุภชัยว่ากลัวเขาจะฟ้องกลับ เรื่องอุทธรณ์หรือไม่ มันเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา” นายกิตติก้องกล่าว

สำหรับปฏิกิริยาของกรมส่งเสริมสหกรณ์ต่อหนังสือของปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายสุรพล พงศ์เมธีอภิชัย เลขานุการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับหนังสือของปลัดกระทรวงเมื่อวันที่ 3 กันยายน ขณะนี้ผู้ตรวจการของกรมที่ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมส่งเสริมกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะถอดถอนตามคำสั่งหรือไม่ เพราะทางกรมส่งเสริมต้องศึกษาแง่มุมกฎหมายและเหตุผลที่จะนำถอดถอนด้วย หากไม่มีน้ำหนักเพียงพอกรมอาจถูกสหกรณ์ฯ คลองจั่นฟ้องศาลปกครองได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นเรื่องการปลดหรือไม่ปลดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก จากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ใช้เวลามากกว่า 1 เดือนนับจากวันที่ดีเอสไอมีหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ให้พิจารณาถอนถอนคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นชุดที่ 29 ทั้งคณะ ซึ่งมีนายศุภชัย และนายลภัส โสมคำ กรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่นที่ถูกดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์สหกรณ์ โดยหนังสือดังกล่าวนำไปสู่คำให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ของนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าได้มอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์พิจารณาถอดถอนตามที่ดีเอสไอร้องขอ

แหล่งข่าวจากดีเอสไอกล่าวว่า ในเรื่องนี้ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์กลับตอบหนังสือมาที่ดีเอสไอว่าไม่สามารถปลดนายศุภชัยตามมาตรา 22(4) ได้ เนื่องจากคดีที่ดีเอสไอทำเป็นแค่การแจ้งข้อกล่าวหา ยังไม่ตัดสิน อีกทั้งยังเป็นข้อกล่าวหาในการบริหารช่วงปี 2552-2555 ดังนั้นไม่สามารถไปปลดย้อนหลังได้ และกรมยังนำหนังสือที่ดีเอสไอเคยตอบกลับสหกรณ์ฯ คลองจั่น เลขที่ ยร(อสพ) 0800/060 วันที่ 19 เมษายน ใจความว่า “กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว ไม่พบการกระทำความผิดตามข้อที่ได้ร้องเรียนแต่อย่างใด” นำกลับมายืนยันว่านายศุภชัยเคยการรับรองจากดีเอสไอแล้ว

แหลงข่าวกล่าวต่อว่า เวลาผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์ แต่ไม่มีความคืบหน้าจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทางดีเอสไอจึงทำหนังสือแจ้งไปยังนายยุคล ลิ้มแหลมทอง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เพื่อขอความร่วมมือออกคำสั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ถอดถอนคณะกรรมการทั้งชุดอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ดีเอสไอเข้าตรวจค้นขอเอกสารทางการเงินของนายศุภชัยที่ฝากในรูปกองทุนนอมินี และเจ้าหน้าที่สหกรณ์บางรายที่ต้องสงสัยมีส่วนร่วมในการยักยอกทรัพย์จากสหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยพนักงานสอบสวนดีเอสไอกล่าวว่าสาเหตุที่ต้องบุกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าเนื่องจากเคยติดต่อขอเอกสารที่ต้องการกับสหกรณ์ แต่ทางสหกรณ์ไม่ให้ความร่วมมือในกระบวนการสอบสวนเท่าที่ควร ส่งเอกสารมาเพียงบางส่วนซึ่งถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของดีเอสไอและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับประเด็นหนังสือที่ดีเอสไอตรวจสอบว่าไม่พบการกระทำความผิด ว่าหนังสือดังกล่าวมาจากหนังสือที่สหกรณ์ (โดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร) ส่งมาถามดีเอสไอว่าพบข้อร้องเรียนหรือไม่ ในช่วงนั้นยังไม่มีผู้ร้องเรียนการกระทำความผิดมาที่ดีเอสไอ จึงจำเป็นต้องตอบกลับว่าไม่พบการกระทำความผิดตามข้อร้องเรียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 เข้าพบนายศุภชัยที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องและเร่งรัดให้ดำเนินแผนฟื้นฟูของสหกรณ์ฯ คลองจั่น

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า แม้จะมีคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และหนังสือขอความร่วมมือจากดีเอสไอ ให้ถอดถอนคณะกรรมการ หากย้อนไปดูบทบาทของกรมส่งเสริมตั้งแต่เกิดปัญหาสุญญากาศการบริหารสหกรณ์ พบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เพิกเฉยต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยก่อนหน้านี้นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าได้มีคำสั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำรายงานเรื่องการปล่อยกู้สมาชิกสมทบของสหกรณ์ฯ คลองจั่นกว่า 12,000 ล้านบาท โดยเป็นการสั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติหรือ คพช. (7 พฤษภาคม 2556) แต่อธิบดีกรมส่งเสริมก็ไม่มีการรายงานเรื่องดังกล่าวต่อรัฐมนตรี แต่อย่างใด จนนายยุทธพงศ์ต้องทำหนังสือไปทวงถาม แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ จนกระทั่งนายยุทธพงศ์พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี

DSCN0225
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา

นอกจากนี้ จากการที่สมาชิกสหกรณ์ยื่นหนังสือร้องเรียนทางกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา จึงได้มีการประชุมพิจารณาปัญหาข้อร้องเรียนของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น โดยได้เชิญตัวแทนกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้าชี้แจง คือนายสุรพล พงศ์เมธีอภิชัย เลขานุการกรมส่งเสริมฯ ส่วนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์คือนางนฤมล พนาวงศ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้เปิดเผยว่าที่ประชุมมีข้อเสนอแนะแก่กรมส่งเสริมสหกรณ์และตรวจบัญชีสหกรณ์สรุปดังนี้

1. อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ควรใช้มาตรา 22(3) ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ ออกคำสั่งให้คณะกรรมการสหกรณ์หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว เพื่อระงับธุรกรรมต่างๆ ที่อาจเพิ่มปัญหาให้กับสหกรณ์ และให้นายทะเบียนเข้าไปแก้ไข

2. อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ควรใช้มาตรา 22(4) ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ ออกคำสั่งให้คณะกรรมการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเพื่อดำเนินการแทน ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นอิสระโดยปราศจากแรงกดดันของสมาชิกที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากขณะนี้สหกรณ์มีปัญหาตามองค์ประกอบมาตรา 22 ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วน เพราะกรรมการชุดปัจจุบันบางรายเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น

3. ในกรณีที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ทำให้สหกรณ์เสียหาย ถ้าสหกรณ์ไม่ร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีแทนสหกรณ์ ให้นายทะเบียนหรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ดำเนินการฟ้องร้องแทนตามมาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ

ด้านนางนฤมลกล่าวในฐานะตัวแทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ถึงสถานการณ์และสภาพปัญหาของสหกรณ์ฯ ในปัจจุบันว่า

1. สหกรณ์ขยายพื้นที่ดำเนินการโดยไม่ได้รับการจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับสหกรณ์ ซึ่งปกติข้อบังคับสหกรณ์กำหนดให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นดำเนินการได้เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่พบว่าสหกรณ์ฯ ได้ขยายพื้นที่การดำเนินการไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ

2. ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์เรื่องการรับสมาชิกสมทบ

3. สหกรณ์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ กล่าวคือ ให้เงินกู้สมาชิกสมทบ (นิติบุคคล 27 ราย) ซึ่งไม่ได้ถือหุ้นในสหกรณ์ นอกจากนี้ ยังปล่อยเงินกู้ให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชาอีกด้วย ซึ่งรวมเงินกู้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นจำนวนเงิน 12,957 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85 ของลูกหนี้ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเกิดความเสี่ยงว่า สหกรณ์อาจไม่ได้รับชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาเงินกู้ทั้งหมด

ในปี 2555 สหกรณ์ฯ ได้ปรับรายการตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชา เป็นจำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท และจากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกี่ยวกับสถานะของลูกหนี้สมาชิกสมทบ พบว่ากรรมการของสหกรณ์ฯ เป็นผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล และลูกหนี้บางรายก็เลิกกิจการไปแล้ว

4. มีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้สหกรณ์อื่นและออกหนังสือค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 1,360 ล้านบาท

5. มีเงินยืมทดรองให้กับประธานกรรมการสหกรณ์ฯ (นายศุภชัย ศรีศุภอักษร) โดยไม่มีหลักประกัน และลงนามในฐานะผู้ยืมและผู้ให้ยืมเป็นเงิน 3,298 ล้านบาท

6. มีการซื้อหุ้นสหประกันชีวิตเป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท และประธานกรรมการสหกรณ์ฯไปเป็นกรรมการบริหารในบริษัทดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ นางนฤมลยังกล่าวถึงทุนดำเนินการสหกรณ์ว่า (ข้อมูลเมื่อ 30 มิถุนายน 2556 ) สหกรณ์ฯ มีทุนดำเนินการประมาณ 22,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. เงินสดคงเหลือ 34 ล้านบาท

2. เงินฝากธนาคาร 50 ล้านบาท

3. เงินฝากสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ 156 ล้าน

4. ลูกหนี้เงินกู้ประมาณ 15,000 ล้านบาท

5. ลูกหนี้เงินยืมทดรองประมาณ 3,300 ล้านบาท

6. เจ้าหนี้เงินกู้ประมาณ 2,500 ล้านบาท

7. เงินรับฝากประมาณ 14,000 ล้านบาท แยกออกเป็น สมาชิกสหกรณ์ฯ 5,800 ล้านบาท สหกรณ์อื่น 6,100 ล้านบาท เงินค่าหุ้นสมาชิก 4,700 ล้านบาท

โดยสรุป สถานภาพของสหกรณ์ฯ มีสภาพคล่องในอัตรา 0.06 เท่า ซึ่งมีสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นเงิน 4,900 ล้านบาท และหนี้สินเป็นเงิน 15,000 ล้านบาท (หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ระยะสั้นซึ่งผิดนัดชำระหนี้ และเป็นลูกหนี้เงินยืมทดรองซึ่งอาจจะส่งผลให้สหกรณ์ฯ ขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการและการชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ หากกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้

DSCN0229
(ซ้าย)นายสุรพล พงศ์เมธีอภิชัย เลขานุการกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กลาง) นายสันธาน สีสา (ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพพื้นที่ 2)

ทางด้านนายสุรพลกล่าวในฐานะตัวแทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่า หากให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ คลองจั่นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามความในมาตรา 22 และให้ตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนตามมาตรา 24 มีข้อควรพิจารณาคือ

1. สหกรณ์ที่เป็นนิติบุคคลจะขาดผู้แทนในการบริหารจัดการองค์กรไม่ได้

2. กรณีสั่งให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนั้น หากพิจารณาการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดที่ 29 ต้องดูด้วยว่าได้ดำเนินการในลักษณะเข้าข่ายการกระทำความผิดหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายระบุว่า หากมีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายจาก “การปฏิบัติหน้าที่ของตน” ให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งคุณสมบัติของนายศุภชัยที่ถูกดีเอสไอตั้งข้อกล่าวหาและถูก ปปง. อายัดทรัพย์สิน เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับสหกรณ์ข้อ 68 กับ 72 ถือว่านายศุภชัยยังไม่ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสหกรณ์ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดไว้ชัดเจนว่า บุคคลหากไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด

ส่วนการดำเนินการตามมาตรา 24 ยังไม่มีผู้ดำเนินการรับผิดชอบที่ชัดเจน ประกอบกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่มีบุคลากรด้านการเงินที่จะรองรับการดำเนินงานในด้านดังกล่าว

นายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหาสหกรณ์ฯ คลองจั่นของกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า มติของที่ประชุมยืนยันตามที่ดีเอสไอแถลงข่าว เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า ตามหลักธรรมาภิบาล ผู้ที่ถูกกล่าวหาจากหน่วยงานรัฐอย่างเป็นทางการควรลงจากตำแหน่งที่ทำให้เกิดส่วนได้ส่วนเสีย หากสอบสวนแล้วไม่มีความผิดค่อยคืนตำแหน่งก็ยังได้ และไม่เชื่อว่าจะมีเพียงนายศุภชัยเพียงคนเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะถ้าแก้ได้คงทำไปนานแล้ว ไม่เกิดปัญหาเรื้อรังใหญ่โตแบบทุกวันนี้

นายโอฬารกล่าวอีกว่า “กระแสข่าวเรื่องขบวนการล้มสหกรณ์ ไม่อยากให้สหกรณ์โต ต้องการขัดขวางแหล่งสินเชื่อของคนจน ตนเองไม่เชื่อว่ามีจริง หลักสหกรณ์เป็นหลักการที่ดี ทั่วโลกยอมรับ แต่ปัญหาเรื่องสหกรณ์คลองจั่นไม่ได้เป็นที่หลักสหกรณ์แต่เกิดเพราะการปฏิบัติ พอมีปัญหาเกิดขึ้นจะไปบอกว่ามีคนคิดล้มสหกรณ์ได้อย่างไร ถ้าทำตามระเบียบปฏิบัติทั้งหมดแล้วบอกว่ามีคนจะมาล้มค่อยน่าฟังหน่อย ฟันธงว่าไม่มีขบวนการล้มสหกรณ์ จะล้มไปทำไม เรื่องทั้งหมดมาจากปัญหาภายในของเขาแล้วระเบิดออกมาข้างนอก คนเราจะพูดอะไรก็ได้ต้องดูสภาพแวดล้อมประกอบไปด้วย นี่ไม่มีใครโจมตีตัวหลักการสหกรณ์เลย นักการเมืองก็เชียร์ รัฐบาลก็เชียร์ ฝ่ายค้านก็เชียร์หมด มีปัญหาแค่สหกรณ์เดียวแต่ไปอ้างเรื่องที่ใหญ่โตมากลบได้ยังไง”

ทางด้านความเคลื่อนไหวของสมาชิกสหกรณ์ นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นกล่าวว่า เนื่องจากมีสมาชิกจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนหนักขึ้นทุกๆ วัน เพราะไม่สามารถถอนเงินของตนเองจากสหกรณ์ จนบางคนแทบไม่มีเงินใช้ดำรงชีวิต จึงขอเชิญสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่นเข้าประชุมลงมติหาแนวทางแก้ปัญหาในหัวข้อ “ผ่าทางตัน เอาเงินของเราคืนมา” วันที่ 22 กันยายน เวลา 9.00–12.00 น. ที่โรงเรียนบางกะปิ (ตรงข้ามนิด้า) โดยเชิญวิทยากรจากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทย, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และดีเอสไอ

นายเผด็จกล่าวอีกว่า ทางสหกรณ์ส่งจดหมายเตือนให้ตนและพวกหยุดการเคลื่อนไหว เนื่องจากสหกรณ์เห็นว่าเป็นการให้ร้าย สร้างความเสียหายต่อสหกรณ์เพื่อไม่ให้สหกรณ์ดำเนินงานได้ตามปกติ ซึ่งหากตนยังไม่หยุดเคลื่อนไหวอาจถูกถอดออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ หรือดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป (จดหมาย)