ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลสอบ ธปท. พบ “อดีตเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์” จ่ายดอกฝากใต้โต๊ะ – ประธานบอร์ดตั้งลูกหนี้เน่าเป็นกรรมการตรวจสอบ

ผลสอบ ธปท. พบ “อดีตเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์” จ่ายดอกฝากใต้โต๊ะ – ประธานบอร์ดตั้งลูกหนี้เน่าเป็นกรรมการตรวจสอบ

17 กันยายน 2013


นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

นับจากวันที่นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ “เอสเอ็มอีแบงก์” ทามกลางความเงียบสงบ แต่ภายในนั้นกลับยังคงแฝงไปด้วยความร้อนระอุ คุกรุ่น ขั้วอำนาจกลุ่มเก่า-กลุ่มใหม่ ทำให้แผนการปรับโครงสร้างองค์กรและแผนแก้ไขปัญหาหนี้เสียวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ตามที่นายมนูญรัตน์ประกาศไว้ตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง (17 กรกฎาคม 2556) ต้องมาสะดุดลง

หลังจากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ส่งรายงานการตรวจสอบผลการดำเนินงานของ ธพว. ไตรมาสแรกของปี 2556 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณา ปรากฏว่ารายงาน ธปท. ฉบับนี้ได้ตรวจสอบพบว่า อดีตกรรมการผู้จัดการ ธพว. สั่งจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้กับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มากกว่าลูกค้าทั่วไป เมื่อ ธปท. ตรวจเส้นทางเงิน พบว่าธนาคารมีการเซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยเงินฝากบางส่วนไปให้บุคคลภายนอก

นายกิตติรัตน์จึงส่งเรื่องให้นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ ธพว. ไปดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จนได้ข้อสรุปว่า “อดีตกรรมการผู้จัดการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ สั่งจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย ทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเสนอให้ธนาคารดำเนินคดี ทั้งทางแพ่งและอาญากับอดีตกรรมการผู้จัดการ ธพว. พร้อมกับเจ้าหน้าที่และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง”

นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ ธพว. ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าว่า “ตนได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายของธนาคารไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีแล้ว”

นอกจากนี้ ในรายงานการตรวจสอบของ ธปท. ยังตรวจสอบพบการอนุมัติสินเชื่อแฟคตอริ่งให้กลุ่มลูกหนี้ 6 รายที่เกี่ยวข้องกับอดีตกรรมการตรวจสอบ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ ธพว. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554

ลูกหนี้กลุ่มนี้ประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายน้ำมันดีเซล (Jobber) ก่อนที่ลูกหนี้กลุ่มนี้จะมายื่นเรื่องขอกู้กับธนาคารประมาณ 1 เดือน อดีตกรรมการตรวจสอบรายนี้ได้โอนหุ้นในส่วนที่ตนถือครองอยู่ให้กับญาติ จากนั้นจึงเข้ามายื่นเรื่องขอกู้เงินกับธนาคาร ขณะที่อยู่ในตำแหน่งกรรมการตรวจสอบธนาคาร ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับสินเชื่อตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2554 – มกราคม 2555 รายละ 5 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 30 ล้านบาท การอนุมัติให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองคุณภาพสินเชื่อของธนาคาร โดยมีผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกับผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อร่วมกันลงนามอนุมัติ หรือที่เรียกว่า “Co-sign”

จากนั้นบริษัท แม็กนั่ม คอสมิก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกหนี้ 6 ราย มายื่นเรื่องขอกู้เงินกับธนาคารอีก 45 ล้านบาท แต่ไม่ผ่านการอนุมัติ โดยคณะกรรมการสินเชื่อระดับ 1 ของธนาคาร สั่งให้ฝ่ายสินเชื่อทบทวนในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้กู้กับคู่ค้าว่ายังมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกันหรือไม่ เรื่องจึงถูกตีกลับไป ฝ่ายสินเชื่อไม่มีการเสนอเรื่องนี้มาที่คณะกรรมการสินเชื่อของธนาคารพิจารณาอีก ผลปรากฏว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่สามารถชำระหนี้ให้กับธนาคารได้ตามกำหนด ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555

และเนื่องจากการปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นสินเชื่อแฟคตอริ่ง ลูกหนี้กลุ่มนี้นำเช็คของลูกค้าที่มาซื้อสินค้า หรือ เช็คลูกหนี้การค้าจำนวน 11 ใบ มาขายลดกับธนาคาร เมื่อถึงเวลา เรียกเก็บเงินไม่ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารก็ไม่ได้ดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้กลุ่มนี้ จนคดีขาดอายุความ ทำให้อดีตกรรมการตรวจสอบรายนี้ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนาม และเป็นผู้ลงลายมือในเช็ครับภาระหนี้เพียง 4.9 ล้านบาทเท่านั้น

รายงาน ธปท. ระบุว่า จากการที่ธนาคารปล่อยให้คดีขาดอายุความ ทำให้อำนาจการต่อรอง หรือ การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ลดลง คาดว่าธนาคารจะได้รับความเสียหายเป็นวงเงิน 24.8 ล้านบาท ดังนั้น ธปท. จึงเสนอให้ธนาคารสอบหาสาเหตุ เพื่อหาทางป้องกันและให้ดำเนินคดีกับผู้สั่งจ่ายเช็คโดยเคร่งครัด

หลังจากที่กระทรวงการคลังส่งรายงานผลการตรวจสอบของ ธปท. ให้ประธานกรรมการ ธพว. ดำเนินการ ก็ได้มีการนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมบอร์ด จากนั้นก็มีพนักงานใน ธพว. นำผลการตรวจสอบของ ธปท. ร้องเรียนไปที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เข้ามาตรวจสอบ กรณีประธานกรรมการ ธพว. ลงนามแต่งตั้งลูกหนี้ของ ธพว. เข้ามาเป็นกรรมการตรวจสอบของธนาคาร ถือว่าเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ใน “ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและหน่วยตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2555 หมวด 2 ข้อ 8 (2) และ (3)” ผู้ที่ลงนามอนุมัติแต่งตั้งไม่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจสอบให้ดี อาจจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง

รายงานผลการตรวจสอบ ธปท. ฉบับนี้ระบุว่า การบริหารของ ธพว. ค่อนข้างอ่อนในเรื่องของธรรมาภิบาล ทั้งกรณีอดีตกรรมการผู้จัดการ ธพว. สั่งจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้กับผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจที่นำเงินมาฝาก และกรณีอดีตกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจหน้าที่บีบให้เจ้าหน้าที่ปล่อยกู้กับกลุ่มบริษัทของตน สุดท้ายเมื่อกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ก็ยังปล่อยให้คดีหมดอายุความ ทำให้ธนาคารเสียหาย

ตอนต่อไปติดตามคดีการฟ้องร้องของ ธพว.