ThaiPublica > คอลัมน์ > คดี “ป๋อ ซี ไหล” กับภารกิจ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

คดี “ป๋อ ซี ไหล” กับภารกิจ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

20 กันยายน 2013


Hesse004

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ศาลในเมืองจี้หนาน ประเทศจีน ได้เริ่มต้นพิจารณาคดีรับสินบนของ “ป๋อ ซี ไหล” (Bo Xi Lai) อดีตนักการเมือง “จรัสแสง” ของจีน ผู้ซึ่งเคยถูกคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น “แคนดิเดต” ผู้นำแดนมังกรรุ่นที่ 5 ต่อจาก “หู จิ่น เทา”

ป๋อ ซี ไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครรัฐฉงชิ่ง (Chongqing) เคยเป็นอดีตกรรมการกรมการเมือง หรือ “โปลิตบิวโร” และเป็นคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์

ป๋อ คือ ดาวรุ่งที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับ “สี จิ้น ผิง” และดูเหมือนว่าทั้งคู่ถูกจับให้เป็น “คู่ท้าชิง” ผู้นำจีนคนต่อไปหลังหมดยุคของหูแล้ว

ช่วงระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สาขานครฉงชิ่ง ป๋อ ซี ไหล ได้สร้างชื่อให้กับตัวเอง ด้วยการพัฒนาให้เมืองฉงชิ่งกลายเป็นอีกต้นแบบหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า Chongqing Model

ตลอดระยะเวลา 5 ปี (2008-2012) ที่ป๋อได้รังสรรค์มหานครฉงชิ่งให้เจริญเติบโตนั้น นักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองจีนวิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า แนวทางดำเนินนโยบายของป๋อ ซี ไหล นั้นแตกต่างจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในมณฑลอื่นๆ ที่มักจะเน้นคอนเซปต์ “รัฐเข้าราษฎร์ถอย”

“ป๋อ ซี ไหล” อีกหนึ่งนักการเมืองดาวรุ่งของจีน จากดาวที่ร่วงลงสู่ดิน ด้วยข้อหารับสินบน ที่มาภาพ : http://www.newyorker.com/online/blogs/newsdesk/bo-xilai-trial-580.jpeg
“ป๋อ ซี ไหล” อีกหนึ่งนักการเมืองดาวรุ่งของจีน จากดาวร่วงลงสู่ดิน ด้วยข้อหารับสินบน ที่มาภาพ: http://www.newyorker.com/online/blogs/newsdesk/bo-xilai-trial-580.jpeg

หากแต่ป๋อกลับเลือกดำเนินนโยบายประชานิยม โดยยอมให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนที่ไม่ต้องชำระคืนภายหลัง พูดง่าย ๆ คือ ให้เปล่าเลย เช่น อุดหนุนเงิน 5 หมื่นหยวนจากกองทุนพัฒนาแก่กิจการส่วนบุคคลขนาดเล็กที่จ้างงานต่ำกว่า 20 คน โดยหวังว่าเมื่อธุรกิจขนาดเล็กเติบโตแล้วจะได้เพิ่มจำนวนการจ้างงานให้เกิดขึ้น 1

นอกจากนี้ ป๋อ ซี ไหล ยังสร้างชื่อในฐานะมือปราบผู้มีอิทธิพลในมหานครฉงชิ่ง จนทำให้เหล่ามาเฟียในฉงชิ่ง ถูก “นโยบายกำจัดผู้มีอิทธิพล” ของป๋อ ซี ไหล เล่นงานเสียจนเข็ดขยาด และนโยบายดังกล่าวทำให้ฉงชิ่งได้รับความชื่นชมเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง

…แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อ ป๋อ สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์และชัดเจนขนาดนี้แล้ว แต่เพราะเหตุใดผู้นำจีนอย่างนายหู จิ่น เทา จึงไม่เคยเดินทางไปเยือนมหานครฉงชิ่งเลย

จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2012 เคราะห์กรรมของป๋อ ซี ไหล เริ่มต้นขึ้น เมื่อ “หวังลี่จุน” อดีตผู้บัญชาการตำรวจลูกน้องคนสนิทของป๋อ ได้หลบหนีการจับกุมเข้าไปลี้ภัยในสถานทูตสหรัฐที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน

หวังลี่จุน คายความลับหลายอย่างของป๋อออกมา เช่น สมัยที่ป๋อเคยเป็นนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง ป๋อใช้ให้ลูกน้องแอบดักฟังโทรศัพท์ของประธานาธิบดีหูจิ่นเทาและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกหลายคน

แต่เรื่องที่กลายเป็น “จุดสลบ” ของป๋อ ซี ไหล คือเหตุการณ์ฆาตกรรมนายเนลล์ เฮย์วู้ด นักธุรกิจชาวอังกฤษ โดยหวังลี่จุนกล่าวหาว่าภรรยาของนายป๋อ คือ นางกู่ ไค ไหล เป็นผู้ลอบวางยาพิษนายเฮย์วู้ด โดยมูลเหตุจูงใจฆาตกรรมครั้งนี้มาจากผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่ลงตัว และที่สำคัญคือ นายป๋อเองก็รับทราบเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด

หลังจากเรื่องนี้ถูก “เปิดแผล” ออกมา ป๋อ ซี ไหล ไม่คิดว่าตัวเองจะพังเพราะ “เมีย” และชะตากรรมของเขาก็เริ่มตกต่ำลงทันที

เขาเริ่มถูกขุดคุ้ยเรื่องการรับสินบนจากนักธุรกิจใหญ่ของเมืองต้าเหลียน และปกปิดความผิดของเมียที่วางยาพิษฆ่านักธุรกิจชาวอังกฤษ

ภายในสองเดือน ป๋อ ซี ไหล ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และถูกขับออกจากพรรค พร้อมโดนตั้งข้อหารับสินบน คอร์รัปชัน ยักยอกเงินหลวง และลุแก่อำนาจ

…เขาถูกคุมขังเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาลเมืองจี้หนาน

คดีป๋อ ซีไหล กลายเป็นอีก “ตำนาน” หนึ่งของการเมืองจีน ที่คนระดับผู้นำพรรคถูกนำมา “เสียบประจาน” ถึงความ “ริยำตำบอน” สมัยตอนที่ตัวเองเคยมีอำนาจอยู่

นอกจากนี้ คดีป๋อ ซี ไหล ยังเป็นอีกคดีที่ชาวจีนให้ความสนใจกับการลงโทษอดีตผู้นำที่กระทำผิด ลุแก่อำนาจ หลังจากที่เคยมีการตัดสินคดี “แกงก์สี่คน” ช่วงสิ้นสุดยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1976

ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง กับภารกิจ “เข็นครกขึ้นเขาเหลียงซาน”  ในการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ที่มาภาพ : http://blogs.cfr.org/asia/files/2012/12/xi-gesturing.jpg
ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง กับภารกิจ “เข็นครกขึ้นเขาเหลียงซาน” ในการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ที่มาภาพ: http://blogs.cfr.org/asia/files/2012/12/xi-gesturing.jpg

คดีป๋อ ซี ไหล ยังเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ภายใต้นโยบายต่อต้านและปราบปรามการคอร์รัปชันของนายสี จิ้น ผิง ผู้นำคนปัจจุบัน ที่ประกาศไว้ชัดเจนว่าเขาจะเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ให้ถึงที่สุด

เพราะการต่อต้านคอร์รัปชันมิใช่เพียงแค่ “จัดอีเวนท์รณรงค์” หรือทำกันแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” เหมือนอย่างที่เคยทำๆ กันมา

หมายเหตุ: 1ผู้สนใจแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Chongqing Model ของ ป๋อ ซี ไหล โปรดดูบทความเรื่อง “กรณี ป๋อ ซีไหล” กับ แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองจีน โดย ไสว วิศวานันท์ และ วรรณรัตน์ ท่าห้อง