ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ต่อยอดความรู้ ดูแลผลผลิต เกาะติดการตลาด” หัวใจพัฒนาเกษตรกรไทยสู่เวทีโลก

“ต่อยอดความรู้ ดูแลผลผลิต เกาะติดการตลาด” หัวใจพัฒนาเกษตรกรไทยสู่เวทีโลก

27 กันยายน 2013


นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี “โครงการเกษตรก้าวหน้า” นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ประสบการณ์ 15 ปี โครงการเกษตรก้าวหน้ากับศักยภาพการเกษตรไทย” และมีการเสวนากลุ่มภายใต้หัวข้อ “ศักยภาพสินค้าเกษตรไทยในตลาดเอเชีย” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ

นายโฆสิต กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า ธนาคารกรุงเทพมีความสนใจที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ เท่าที่ธนาคารพาณิชย์พอจะทำได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาช้านาน และมีปัจจัยสภาพแวดล้อมในการปลูกสินค้าเกษตรได้ดีมีคุณภาพระดับโลก จึงริเริ่มที่จะทำโครงการเกษตรก้าวหน้าที่มุ่งมั่นจะพัฒนาศักยภาพการเกษตรของไทยขึ้น โดยผ่านผู้เล่นหลักทั้ง 3 ส่วนในกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ เกษตรกร ผู้รวบรวมผลผลิต และผู้ส่งออก

เกษตรกรต้องมีความรู้ คือการอบรมถ่ายทอดให้ความรู้และประสบการณ์กับเกษตรกร โดยผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรผู้มีประสบการณ์โดยตรง ซึ่งตัวโครงการจะเน้นประสบการณ์ของวิทยากรมากเป็นพิเศษ มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเสี่ยงในการผลิตและเพิ่มคุณภาพของผลผลิตเป็นสำคัญ และกระบวนการสร้างความรู้จะต้องเกิดการต่อยอดและต่อเนื่อง สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง

ผู้รวบรวมผลผลิตต้องมีการบริหารจัดการที่ดี คือการบริหารจัดการที่ดีจากผู้รวบรวมผลผลิต ซึ่งต้องมีความรู้ในการรักษาคุณภาพสินค้าและการจัดการคลังสินค้าที่ดี ซึ่งทางโครงการได้จัดให้มีการอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกลุ่มเครือข่ายที่ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิต โดยมีจุดมุ่งหมายคือบริหารปริมาณสินค้าเกษตรที่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในทุกฤดูกาล และการคัดเลือกสินค้าตามคุณภาพโดยแบ่งเป็นเกรดตามความต้องการของตลาดที่ต่างกัน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นของเกรดพรีเมียมเสมอไป

ผู้ส่งออกต้องขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง คือ การขยายตลาดหมายถึงคนที่ไม่เคยกินก็ทำให้เขากิน คนที่กินแล้วไม่ชอบก็ทำให้เขาชอบ ยกตัวอย่างเช่น การทำและขยายตลาดของมะม่วงพันธุ์มหาชนกไปในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และมีการเติบโตของตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยายตลาดของผู้ส่งออกที่เป็นกระบวนการปลายน้ำของ value chain จะมีผลไปถึงต้นน้ำให้เกิดการพัฒนาของกระบวนการผลิตและการรวบรวมผลผลิตไปด้วยในตัว

“โครงการเกษตรก้าวหน้า ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 15 ปีแล้ว และมีสินค้าเกษตรหลายประเภท เช่น กุ้งไทย กล้วยไม้ไทย มะม่วงไทย ที่ประสบความสำเร็จในตลาดโลก ซึ่งก็เนื่องมาจากการพัฒนา value chain ตามหลัก “ต่อยอดความรู้ ดูแลผลผลิต เกาะติดการตลาด” แต่สินค้าอีกหลายๆ ประเภทยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งมีเหตุมาจากการ “ขาดตัวละคร” ที่จะมาแสดงบทบาทไม่ว่าจะเป็นด้านการต่อยอดความรู้ ด้านการบริหารจัดการ และการขยายตลาด และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างกันในระดับประเทศ”

การเสวนาเรื่อง "ศักยภาพสินค้าเกษตรไทยในตลาดเอเชีย" ผู้ร่วมเสวนาคือ   นายทศพร เทศสมบูรณ์  นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต   นางพิมพ์ใจ มัสซูโมโต้ นายอัครพงษ์ ศิวัฒน์นิธิกุล และ นายเปรม ณ สงขลา ผู้ดำเนินรายเสวนา (ขาวไปซ้าย)
การเสวนาเรื่อง “ศักยภาพสินค้าเกษตรไทยในตลาดเอเชีย” ผู้ร่วมเสวนาคือ นายทศพร เทศสมบูรณ์ นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นางพิมใจ มัสซูโมโต้ นายอัครพงษ์ ศิวัฒน์นิธิกุล และ นายเปรม ณ สงขลา ผู้ดำเนินการเสวนา (ขาวไปซ้าย)

ขณะที่การเสวนากลุ่มภายใต้หัวข้อ “ศักยภาพสินค้าเกษตรไทยในตลาดเอเชีย” มีผู้ส่งออกสินค้าเกษตรใหญ่ 4 รายร่วมเสวนา ได้แก่ นายทศพร เทศสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Aim Thai Intertrade ผู้ส่งออกผลไม้ไทยรายใหญ่ในตลาดจีน นางพิมใจ มัสซูโมโต้ กรรมการผู้จัดการบริษัท P.K. Siam ผู้ส่งออกผลไม้ไทยรายใหญ่ในตลาดญี่ปุ่นและเกาหลี นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต กรรมการผู้จัดการบริษัท OP Fruits ผู้ส่งออกผลไม้ไทยรายใหญ่ในตลาดฮ่องกง และ นายอัครพงษ์ ศิวัฒน์นิธิกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท The Northerner ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ในตลาดอินโดนีเซีย และผู้ดำเนินการเสวนา นายเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการ วารสารเคหการเกษตร

ผลไม้ไทยเติบโตดีในเอเซีย

ผู้ส่งออกทั้ง 4 รายการันตีว่า คุณภาพและรสชาติของผลไม้ไทยโดยเฉพาะมะม่วง มังคุด และลำไย ถือว่าเป็นหนึ่งในโลกไม่มีใครเลียนแบบได้

นายทศพร ผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ กล่าวว่า มีความต้องการผลไม้ไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5-10% ทุกปี แม้เมื่อก่อนตลาดในแผ่นดินใหญ่จะอยู่แถบชายฝั่งทะเลอย่างเซี่ยงไฮ้ แต่เดี๋ยวนี้ตลาดขยายเข้ามาในแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นและเกาหลี นางพิมใจ ผู้ส่งออกรายใหญ่กล่าวว่า ผลไม้ไทยมีการเติบโตมากขึ้นทุกๆ ปีเช่นกัน โดยเฉพาะเกาหลีที่โต 40-50% ทุกปี ผลไม้ที่ทั้งสองประเทศนิยมที่สุดคือมะม่วงทั้งแบบสดและแบบแช่แข็ง โดยทั้งสองประเทศจะเลือกบริโภคเฉพาะเกรดพรีเมียมเท่านั้น โดยผู้ส่งออกไม่จำเป็นต้องเน้นปริมาณสำหรับสองประเทศนี้แต่ให้เน้นคุณภาพและความต่อเนื่องของสินค้าที่วางขายในตลาดเป็นสำคัญ

สำหรับสินค้าประเภทหอมแดง กระเทียม และขิง ที่นายอัครพงษ์เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดประเทศอินโดนีเซียก็มีการเจริญเติบโตที่ดี ถึงแม้ทางรัฐบาลอินโดนีซียจะมีนโยบายในการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อการเป็นครัวของโลก แต่ก็ยังไม่สำเร็จเนื่องจากอินโดนีเซียมีปริมาณประชากรกว่า 250 ล้านคน ความต้องการในประเทศจึงมีสูง ตลาดยังสามารถไปต่อได้แม้จะมีเรื่องการกำหนดโควตาสินค้าเข้ามาก็ตาม

นายไพบูลย์กล่าวว่า ความต้องการ หรือ demand สินค้าเกษตรทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ในขณะที่ supply หรือปริมาณสินค้าเกษตรของไทยที่ผลิตได้กลับตามไม่ทัน ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศโดยเฉพาะมะม่วง

“แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ผู้ส่งออกและเกษตรกรมีฐานะดีขึ้นตามกลไกตลาด เนื่องจากขาดการสื่อสารระหว่างตลาดและเกษตรกร ทำให้ทุกๆ ฤดูกาลจะมีสินค้าเกษตรที่ล้นตลาดมากองไว้ที่พื้นและถูกทำลายทิ้งเป็นจำนวนมาก นี่เป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้” นายไพบูลย์กล่าว

การกีดกันทางการค้า อุปสรรคส่งออกสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจัยทางการตลาดจะเอื้ออำนวยกับผู้ส่งออกไทย แต่ผู้ส่งออกทั้ง 4 ราย เห็นตรงกันว่า ทุกวันนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ และการขาดการรวมกลุ่มที่มีประสิทธิภาพของเกษตรกรและผู้ส่งออก

นายไพบูลย์กล่าวถึงการกีดกันทางการค้าในประเทศจีนว่า ทางการจีนกำหนดให้ต้องมีสารกำมะถันปนเปื้อนในลำไยไม่เกิน 50 ppm ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากหากลดสารกำมะถันลงให้เหลือ 50 ppm ผลผลิตจะเสียหาย 20-30% และในบางกรณีอาจถึง 50% เลยทีเดียว คาดว่าหากการเจรจาของรัฐในการผ่อนปรนเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น การส่งออกลำไยไปประเทศจีนก็คงจะลดลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน

นอกจากนี้ ชมพู่จากเมืองไทยก็ไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนมาสักพัก เนื่องจากเหตุผลจากการกีดกันการค้าของจีน

“ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ เช่น ฮ่องกง ก็กำหนดค่าปนเปื้อนสารกำมะถันไว้ที่ไม่เกิน 300 ppm หรือ 150 ppm ในอีกหลายๆ ประเทศ จึงยืนยันว่านี่เป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่งของจีน” นายไพบูลย์กล่าว

นางพิมใจกล่าวว่า การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีสินค้าวางอย่างสม่ำเสมอ และเป็นเกรดพรีเมียมเท่านั้น ส่งผลให้ภาคการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่ขาดการรวมกลุ่มการวางแผนและสื่อสารที่ดีทำให้สินค้าออกมาล้นตลาดอยู่บ่อยๆ และขาดตลาดอยู่บ่อยๆ เป็นเรื่องที่ไม่ดี

ภาครัฐไร้ประสิทธิภาพ ตามเอกชนไม่ทัน

ผู้ส่งออกทั้ง 4 รายยังเห็นพ้องกันว่า ความไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ และด้านข้อมูลข่าวสาร บทบาทภาครัฐที่เอกชนต้องการเห็นคือ การทำหน้าที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เช่น การเจรจาการค้าต่างประเทศระหว่างภาครัฐกับรัฐ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการค้าและการส่งออก ส่วนการหาทางขยายตลาดการค้าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชน

“ไม่มีใครรู้เรื่องตลาดดีเท่าพ่อค้า” นายทศพรกล่าว

สำหรับทางออก ผู้ส่งออกทั้ง 4 รายมีความเห็นว่า ต้องมีการรวมกลุ่มกันตั้งแต่ต้นน้ำ คือ เกษตรกร ไปถึงผู้รวบรวมผลผลิตและผู้ส่งออกตามลำดับ และจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในระดับเครือข่ายเป็นสำคัญ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้ และสุดท้ายก็คือ การทำงานของภาครัฐ ที่ต้องรีบตามภาคเอกชนให้ทันให้เร็วที่สุด