ThaiPublica > เกาะกระแส > การก้าวสู่ ASEAN ในมุม”มหาเธร์ โมฮัมหมัด – สุรินทร์ พิศสุวรรณ” และ”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

การก้าวสู่ ASEAN ในมุม”มหาเธร์ โมฮัมหมัด – สุรินทร์ พิศสุวรรณ” และ”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

18 กันยายน 2013


อีกไม่ถึง 2 ปี หรือหลังสิ้นปี 2015 ก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations: ASEAN ) อย่างเป็นทางการ ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศมีความพร้อม มีข้อห่วงใย และเตรียมพร้อมรับประชาคมอาเซียนอย่างไร เป็นหัวข้อสัมมนานานาชาติที่น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาคารไทยพาณิชย์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556

เวทีสัมมนานานาชาติ “Assessing ASEAN’s Readiness by Country: Opportunities, Concerns, and Preparedness towards the AEC 2015” มี ดร.มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมเสวนา และเปิดงานโดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและนักวิชาการจากกลุ่มประเทศในอาเซียน

ดร.มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด
ดร.มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด

ดร.มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า แนวทางการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนควรศึกษาบทเรียนการรวมกลุ่มของยุโรปเป็นสหภาพยุโรปเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป

“สหภาพยุโรปในปัจจุบันที่ประสบวิกฤติดูเหมือนเขาประสบผลพวงที่ไม่คาดหวังมาก่อน ยุโรปเกิดวิกฤติมา 5 ปีแล้วยังแก้ไขไม่ได้ แม้วันนี้ดีขึ้นแต่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น และยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มองมาที่อาเซียน เราต้องเป็นประชาคมคล้ายๆ ยุโรป แต่เราควรทำให้ดีกว่า เราต้องดูว่ายุโรปเคยล้มเหลวอย่างไร เราต้องหลีกเลี่ยง” ดร.มหาเธร์กล่าว

วิกฤติที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อ 5 ปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่ามีสาเหตุจากการรวมกลุ่มเป็นสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างประเทศยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นประเทศที่ระดับเศรษฐกิจก้าวหน้ามากกว่ายุโรปตะวันออกที่ระดับการพัฒนาด้อยกว่า กลายเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกัน และวิธีการที่ยุโรปผิดพลาดคือ ตกลงใช้เงินสกุลเดียวกัน และการจัดทำงบประมาณต้องตั้งงบเป็นเงินยูโร นี่คือต้นตอที่ทำให้เกิดวิกฤติในสหภาพยุโรป

การรวมกลุ่มเป็นสภาพยุโรปที่มีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่มีฐานะดีกว่ากับประเทศที่ฐานะด้อยกว่า เมื่อมีการใช้เงินสกุลเดียวกัน ราคาสินค้าเดียวกัน ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น กระทบประเทศยากจน เพราะต้องพยายามรักษาวิถีชีวิตระดับสูง จนในที่สุดต้องล้มละลาย เช่น กรีซ เพราะทำให้ต้องกู้ยืมเงินเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นตัวเอง และแทนที่จะนำเงินไปใช้ลงทุนเป็นประโยชน์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า แต่กลับกู้ยืมเอามาเสียค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค กลายเป็นหนี้จนล้มละลาย

ดร.มหาเธร์กล่าวว่า มาเลเซียไม่เสนอให้ใช้เงินสกุลเดียวกัน เพราะจะมีปัญหาเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจ แต่ละประเทศควรให้เงินสกุลท้องถิ่นของแต่ละประเทศก็ใช้กันไป แต่ที่จะเสนอต่อไปคือให้สกุลเงินที่ค้าขายระหว่างกันในอาเซียนโดยการกำหนดค่าเงินนั้นต้องอิงกับราคาทองคำแทนเงินดอลลาร์ที่ปัจจุบันใช้เป็นสกุลเงินซื้อขายระหว่างกันในอาเซียน เนื่องจากเงินดอลลาร์ไม่เสถียรภาพ

แต่จะเป็นเงินสกุลใดนั้น ดร.มหาเธร์เสนอว่า ต้องดูในแง่ของราคาสินค้าและบริการ และการเปลี่ยนแปลงนั้นคาดว่าในปี 2050 เราอาจจะพร้อมมาดูเรื่องสกุลเงินการค้าระหว่างประเทศ และถ้ามีสกุลเงินการค้าขายระหว่างอาเซียนกันเองจะสร้างเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

“การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแต่ละประเทศจะมีผลกระทบไม่เท่ากัน และในแง่ของการทำแนวนโยบายร่วมกันของอาเซียนเราต้องมองตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป ก่อนจะกำหนดโครงสร้างต่างๆ ก่อนจะไปดำเนินการต่อ” ดร. มหาเธร์กล่าว

ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมในอาเซียน ดร.มหาเธร์กล่าวว่า เราต้องพยายามพัฒนาสิ่งที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศสมาชิก เราต้องค่อยๆ ลดภาษี บางประเทศอาจมีกำแพงภาษีบางอย่างไว้ เราก็ต้องยอมผ่อนปรนในเรื่องข้อกำหนดถ้าเขายังมีอุปสรรค เพราะถ้าลดภาษีทันทีเขาจะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากประชาคมอาเซียน การวางนโยบายต้องเกิดประโยชน์กับทุกประเทศในอาเซียน

“ผมคิดว่าเราควรจะรวมกัน แต่ผ่อนปรนให้ลาว กัมพูชา พม่า เพราะเศรษฐกิจยังไม่พัฒนาเท่าประเทศอื่น โดยอาจยอมให้ภาษีศุลกากรลดลงเหลือ 10-20% โดยไม่บังคับให้ลดภาษีเหลือ 0% เพราะต้องคำนึงถึงระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ด้วย” ดร.มหาเธร์กล่าว

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงประเด็นที่ควรทำ และไม่ควรทำ เพื่อให้ประเทศอาเซียนเตรียมพร้อมหลังสิ้นปี 2015

ประเด็นที่ควรทำมี 2 เรื่อง

1. เพิ่มการค้าขายระหว่างในอาเซียน เนื่องจากปัจจุบันอาเซียนค้าขายระหว่างกันเพียง 25% ถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบการค้าขายของอาเซียนกับทั้งโลกที่มีมูลค่าถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กลุ่มการค้าเสรีเขตอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) มีการค้าขายระหว่างกันถึง 68% และค้าขายกับทั้งโลก 32% เท่านั้น ส่วนสหภาพยุโรป ค้าระหว่างกันสูงถึง 78%

“ตัวเลขการค้าขายในอาเซียนต่ำมาก และไม่ควรจะเป็นลักษณะประชาคมอาเซียนที่เราจะเข้าไปเป็นสมาชิกในปี 2015” ดร.สุรินทร์กล่าว

2. ต้องหลุดออกจากกับดักประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง เพราะการติดกับดักระดับรายได้ปานกลางเป็นภัยคุกคามต่อ 7 ประเทศที่มีปัญหาติดกับดักประเทศระดับรายได้ปานกลาง เนื่องจากยังพึ่งพิงรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ ถ้ายังเติบโตโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติอาเซียนจะแข่งสู้จีน อินเดีย และแอฟริกาไม่ได้

“การออกจากกับดับระดับรายได้ปานกลางคือ ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นในการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยยังไม่ทำเท่าไร โดยมีงบวิจัยเพียง 0.7% ของจีดีพี ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีมีงบวิจัยประมาณ 3-4% ของจีดีพี ดังนั้นทุกประเทศในอาเซียนต้องลงทุนเพิ่มขึ้น” ดร.สุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ 7 ประเทศที่ ดร.สุรินทร์ระบุคือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว ส่วนประเทศที่มีระดับรายได้สูงหรือรายได้ต่อประชากรเกิน 10,000 เหรียญสหรัฐ คือ สิงคโปร์กับบรูไน ส่วนมาเลเซียซึ่งมีรายได้ต่อประชากรประมาณ 8,000 เหรียญสหรัฐ ตั้งเป้าจะยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นประเทศที่มีระดับรายได้สูงในปี 2020 นั้น ดร.สุรินทร์เชื่อว่า มาเลเซียจะพัฒนาเป็นประเทศที่มีระดับรายได้สูงก่อนปี 2020

ส่วนประเด็นที่ไม่ควรทำมี 3 ประเด็น

1. อย่าตั้งกำแพงภาษี หรือ การกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เมื่อรวมเป็นประชาคมอาเซียนภาษีศุลกากรจะลดเหลือ 0% แต่ในอาเซียนกำลังมีการตั้งกำแพงกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะทำหรือต้องไม่ทำให้เกิดขึ้นเมื่อเป็นตลาดเดียวกัน เพราะอาเซียนต้องบูรณาการเป็นตลาดใหญ่ในโลก

“อาเซียนจะบูรณาการเป็นตลาดใหญ่ของโลกไม่สำเร็จถ้าเราไม่ลดกำแพงภาษี หรือการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี” ดร.สุรินทร์กล่าว

2. อย่าเลื่อนสิ่งที่อาเซียนตกลงกันไว้เป็นประชาคมอาเซียนที่กรุงจาการ์ต้า ข้อตกลงต่างๆ ที่มีพันธกรณีที่จะทำให้กลุ่มอาเซียนมีการให้สัตยาบรรณ และต้องมีกฎหมายช่วยสนับสนุน ทั้งกฎกระทรวง และข้อกำหนดระดับกรมบางเรื่องอาจต่ำกว่าระดับกรม

“การให้สัตยาบรรณ การทำข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าอาเซียนจะเป็นตลาดเดียวกันในภูมิภาคอาเซียนเป็นสิ่งจำเป็น” ดร.สุรินทร์กล่าว

3. ไม่ควรทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานที่ตกลงกันใน 8 สาขาอาชีพมีอุปสรรค การอนุญาตให้นักวิชาชีพ 8 สาขาอาชีพข้ามแดนไปประเทศอื่นๆ ต้องทำให้ง่ายขึ้นและต้องทำให้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จการรวมตัวของประชาคมอาเซียนเป็นตลาดเดียวอาจจะไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ 8 สาขาอาชีพที่ตกลงให้เคลื่อนย้ายข้ามแดนโดยเสรีคือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปัตยกรรม วิศวกรรม นักบัญชี นักสำรวจ และบุคคลากรด้านการท่องเที่ยว

ดร.สุรินทร์กล่าวตอนท้ายว่า ประชาคมจะประสบผลสำเร็จต้องอย่ายึดติดกับอดีตและผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง เราต้องมองไปข้างหน้า มองอนาคตของภูมิภาค ความเชื่อใจ ความไว้วางใจ จะสร้างความแข็งแกร่งให้อาเซียน

“อาเซียนเป็นพื้นที่ที่มีอนาคตสดใสที่สุดในโลก อาเซียนจะเป็นหัวรถจักรฉุดให้โลกหลุดพ้นจากวิกฤติในปี 2008 การที่จะทำสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับผู้นำ และประชาชนของอาเซียน 600 กว่าล้านคน พวกเราทุกคนต้องทำในสิ่งที่ต้องเสริมซึ่งกันและกัน” ดร.สุรินทร์กล่าว

ติดตามอ่าน…มุมมองของนักวิชาการของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ

“ยิ่งลักษณ์” มอบนโยบายเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

การตื่นตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน…กระแสยังแรงไม่ตก เพราะเพียงหนึ่งวันก่อนจะมีการสัมมนานานาชาติที่กล่าวไว้ข้างต้น มีงานใหญ่อีกงานหนึ่งคือการประชุมประจำปี 2556 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 ได้นำหัวข้อเรื่อง “เส้นทางประเทศไทย… สู่ประชาคมอาเซียน” มาเป็นเรื่องหลักในการประขุมครั้งนี้ โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ

นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวว่า พันธกรณีของอาเซียนที่ร่วมกันของ 10 ประเทศ มี 3 เสาหลัก 1.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และ3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน แต่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี จะพูดกันมากเพราะมีผลกระทบและผลประโยชน์กับประเทศมาก

“อาเซียนมีทั้งโอกาสและเป็นความเสี่ยง แต่ถ้ามาร่วมมือกัน เตรียมตัวให้พร้อม ก็จะกลายเป็นโอกาสที่สำคัญ ซึ่งการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องเตรียมความพร้อม สู่การปรับตัว และหาโอกาสใหม่ สิ่งสำคัญคือต้องหาเป้าหมายระยะยาวร่วมกันว่าโอกาสใหม่จากการรวมตัวเป็น ประชาคมอาเซียนนั้นควรจะเป็นอย่างไรบ้าง”

แต่ก่อนจะพูดถึงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก และในระดับภูมิภาค ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น เทคโนโลยีสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค และการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงยุทธศาสตร์ต่างๆที่ต้องทำเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

แต่ประเด็นการเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายที่กล่าวถึง นายกรัฐมนตรีแบ่งการเตรียมพร้อมออกเป็นของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่น่าเสียดายที่ไม่มีรายละเอียดในการปาฐกถา พูดแต่กรอบกว้างๆ และให้ดูเอกสารประกอบ

อาทิ การเตรียมตัวของภาครัฐในเอกสารระบุว่ามี 10 เรืองสำคัญที่ต้องทำ (ดูภาพประกอบข้างล่าง)

10 เรื่องที่ภาครัฐต้องทำ

ส่วนรายละเอียดหัวข้อการปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี และการเตรียมพร้อมด้านอื่นๆ ดาวโหลดเอกสารประกอบการปาฐกถาได้ทีนี่

อ่านรายละเอียดปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี ที่โฆษกประจำสำนักรัฐมนตรีสรุป