ThaiPublica > คอลัมน์ > การทุจริตข้ามชาติ

การทุจริตข้ามชาติ

4 สิงหาคม 2013


หางกระดิกหมา

เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทไอทีชั้นนำของโลก โดยเฉพาะของสหรัฐฯ มักไม่ได้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่หน่วยงานรัฐของประเทศเรามีความจำเป็นต้องจัดซื้อจัดจ้างทางไอทีนี้ปีละเป็นหมื่นๆ ล้านบาท

วันหนึ่ง เมื่อได้มีโอกาสเจอกับผู้บริหารใหญ่ของหนึ่งในบริษัทเหล่านี้ จึงได้ลองถามดูว่าทำไมถึงได้เป็นอย่างนั้น ก็ได้คำตอบว่าเป็นเพราะว่าสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของประเทศเรา ซึ่งมีสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ร่างหรือตรวจสอบนั้น “เขี้ยวเหลือเกิน”

กล่าวคือสัญญาของเรานั้นดูเหมือนจะเอาเปรียบเอกชนท่าเดียว เอะอะอะไรก็ให้เอกชนเป็นฝ่ายแบกรับความเสี่ยง ยิ่งกว่านั้นยังมีความไม่ยืดหยุ่นอย่างมาก กล่าวคือไม่ค่อยเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขสัญญาสักเท่าไหร่แม้มีเหตุสมควร ทั้งที่ในโลกของความเป็นจริงนั้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การจะให้เอกชนยอมเซ็นสัญญาและถูกผูกพันที่จะต้องส่งมอบสิ่งต่างๆภายใต้เงื่อนไขตามสัญญาไปตราบฟ้าสิ้นดินดับ ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดนั้น จึงเป็นความเสี่ยงทางกฎหมายที่เอกชนไหนๆ ก็รับไม่ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเอกชนเหล่านี้ต้องเซย์โน ไม่ทำธุรกิจกับรัฐบาลไทย

เมื่อได้ฟังอย่างนี้ ใจหนึ่งก็นึกกังขาในสำนักงานอัยการสูงสุดของเราว่าใจคอท่านจะไม่เปิดหูเปิดตาสังเกตแนวปฏิบัติของธุรกิจในโลกเขาบ้างหรืออย่างไร ว่าควรจะร่างสัญญาเพื่อจัดสรรและบริหารความเสี่ยงในลักษณะไหน ที่ทั้งจะไม่ทำให้รัฐถูกเอกชนเอาเปรียบ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพอมีช่องว่างให้เอกชนเขาทำธุรกิจได้บ้าง เหตุใดจะต้องร่างสัญญาให้มันเขี้ยวเสียจนบริษัทไอทีขนาดใหญ่ซึ่งเขาทำธุรกิจในที่อื่นๆมาแล้วทั่วโลกพากันมาขยาดประเทศไทยอยู่ประเทศเดียว

เพราะการทำอย่างนั้น ทางหนึ่งไม่เพียงเป็นการบีบให้บริษัทซึ่งมีมาตรฐานดีๆ และทำอะไรตรงไปตรงมาจำนวนมากไม่เข้ามาทำธุรกิจกับรัฐบาลไทย เพราะกลัวว่าจะได้ไม่คุ้มเสียเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม ยังแปลได้ว่า บริษัทใดก็ตามที่ยอมเข้ามาทำธุรกิจกับรัฐบาลไทย ภายใต้เงื่อนไขสัญญาโหดผิดปกติอย่างนั้น อาจเป็นบริษัทที่อยู่ในสถานะจนตรอกเต็มทีจึงไม่มีทางเลือก หรือไม่ก็เห็นทางจะ “เอาคืน” รัฐบาลไทยในทางอื่นๆ ได้อยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนย่อมหมายถึงการโกง เช่นหลอกเอาของที่ไม่มีคุณภาพมาขายให้รัฐบาล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จะปักใจเชื่อบริษัทเอกชนเหล่านี้เสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะแม้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่เหล่านี้จะไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจกับรัฐบาลไทยโดยตรง แต่สุดท้ายบริษัทเหล่านี้ ก็เข้ามาโดยอ้อมอยู่ดี กล่าวคือมักปรากฏว่าบริษัทเหล่านี้นี่แหละที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทที่เข้ามาเซ็นสัญญากับรัฐบาลอีกทีหนึ่ง

จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆแล้ว ที่บริษัทไอทีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่เข้ามาทำสัญญากับรัฐบาลไทยนั้นไม่ใช่ว่าสัญญาเขี้ยวอะไรทั้งนั้น แต่เป็นเพราะสหรัฐฯ นั้นมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ (U.S. Foreign Corrupt Practices Act) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า FCPA ซึ่งเอาผิดกับผู้ที่ไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศ

โดยในเมื่อประเทศไทยของเรานั้นก็มีชื่อเสียงขจรขจายอยู่แล้วในเรื่องความเข้มข้นของคอร์รัปชันในภาครัฐ บริษัทไอทีเหล่านี้ก็เลยกลัวกันหมด ไม่กล้าเข้ามาเซ็นสัญญากับรัฐโดยตรง เพราะเดี๋ยวเกิดต้องเลี้ยงน้ำร้อนน้ำชาเป็นค่าจรดปากกาเซ็นสัญญาของบรรดาเจ้าหน้าที่แล้ว บริษัทเหล่านี้ก็จะมีความผิดตาม FCPA และถูกกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ หรือ Department of Justice (DOJ) เล่นงานเอาได้ ซึ่งจากคดีของอดีตผู้ว่าททท. ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนจากเอกชนสหรัฐฯ อันเป็นความผิดตาม FCPA เช่นกัน ก็คงเห็นฤทธิ์กันอยู่แล้วว่า DOJ ของสหรัฐฯ นั้นเขาโหดแค่ไหน เรียกได้ว่าขณะเจ้าหน้าที่ไทยผู้ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนยังอยู่ในขั้นฟ้องร้องกันอยู่ในศาลไทย ฝ่ายผู้จ่ายสินบนคนสหรัฐฯ นั้นถูก DOJ เล่นเสียจนถูกฟ้องถูกพิพากษาและถูกจำคุกจนครบกระบวนการแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นอย่างที่ว่ามานี้จริง ลำพังการทำตัวเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทที่เซ็นสัญญากับรัฐอีกทีหนึ่งของบริษัทไอทีเหล่านี้ โดยหวังว่าถ้ามีการทุจริตติดสินบนอะไรก็เป็นเรื่องของบริษัทที่เซ็น ไม่เกี่ยวกับตัวนั้น ก็ใช่ว่าจะทำให้บริษัทไอทีเหล่านี้พ้นผิดเสียทีเดียว เพราะถ้าพลิกกฎหมาย FCPA นั้นจะเห็นได้เลยว่าเขาใช้ถ้อยคำกว้างขวางมาก กล่าวคือนอกจากกฎหมายจะเอาผิดแก่บริษัทที่มีสัญชาติสหรัฐฯที่ไปติดสินบนแล้ว คำว่าบริษัทที่มีสัญชาติสหรัฐฯนั้น นั้นยังมีการนิยามให้รวมความถึง “กรรมการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง ตัวแทน ผู้แทนจำหน่าย และผู้ถือหุ้น ผู้ซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ” ด้วย ซึ่งย่อมแปลว่า ไม่ว่าบริษัทไอทีทั้งหลายจะหาบริษัทอื่นมาเป็น “กันชน” ของตัวเองกี่ทอดก็ตาม ถ้ามีการพิสูจน์ได้ว่าบริษัทกันชนเหล่านั้นมีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐขึ้นมา สุดท้ายแล้ว DOJ ก็อาจจะไล่เบี้ย ไล่ชนไปจนถึงตัวบริษัทไอทีซึ่งนั่งทำท่าไม่รู้ไม่ชี้อยู่จนได้นั่นเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ในเมื่อกฎหมายเขามีพร้อมอยู่แล้ว ทรัพยากรในการบังคับใช้เขาก็มีพร้อมอยู่แล้ว การร้องเรียนให้ DOJ ของสหรัฐฯ เข้ามาตรวจบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจกับรัฐบาลไทยและมีพฤติกรรมน่าสงสัย ไม่ว่าทางตรง ทางอ้อมก็นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการต่อต้านคอร์รัปชันที่ประเทศเราสมควรจะทำอย่างยิ่ง เพราะได้ทั้งประสิทธิภาพ ได้ทั้งประหยัด

ดังนั้น ใครมีเบาะแสก็ขอเรียนเชิญนะครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกน.ส.พ. โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 คอลัมน์ “โกงกินสิ้นชาติ”