ThaiPublica > คอลัมน์ > “ปฏิรูป” การจัดหาอาวุธของกองทัพกับการฉ้อฉลที่แนบเนียน (ตอนจบ)

“ปฏิรูป” การจัดหาอาวุธของกองทัพกับการฉ้อฉลที่แนบเนียน (ตอนจบ)

13 สิงหาคม 2013


Hesse004

เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนกล่าวถึงบทวิเคราะห์ของ SIPRI Year Book 2011 เรื่อง Corruption and arms trade: sins of commission ซึ่งมีผู้เขียน 3 คน คือ Andrew Feinstein Paul Holden และ Barnaby Pace ทั้งหมดเป็นนักวิจัยของ SIPRI ที่อธิบายเบื้องหลังธุรกิจการจัดหาและค้าอาวุธของกองทัพต่างๆ ทั่วโลก

นักวิจัยทั้ง 3 ได้สาธยายถึงกระบวนการจัดหาอาวุธของกองทัพต่างๆ ทั่วโลกว่ามีพฤติกรรมฉ้อฉลที่คล้ายคลึงกัน 4 รูปแบบ คือ (1) ติดสินบน (Bribery) (2) การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของเหล่านายพล (Conflict of Interest) (3) การจ้างอดีตผู้นำเหล่าทัพให้เป็นที่ปรึกษาบริษัทค้าอาวุธหลังเกษียณอายุราชการแล้ว (Post-Employment) และ (4) การเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ ในการทำธุรกิจให้กับผู้นำกองทัพ (The offer of preferential business access)

กรณีติดสินบน เป็นพฤติกรรมคอร์รัปชันดั้งเดิมและยังพบเห็นอยู่เสมอ เพราะ “สินบน” ที่ว่านี้ไม่ใช่แค่เงินเพียงอย่างเดียว หากแต่รวมไปถึงทรัพย์สินมีค่าหรือสัญญาต่างๆ ที่คาดว่าจะให้ ซึ่งเหล่าพ่อค้าอาวุธจำเป็นต้อง “จ่าย” เพื่อแลกกับลายเซ็นในการใช้ “ดุลยพินิจ” ของผู้ที่อยู่ในกระบวนการจัดหา

อย่างไรก็ดี รูปแบบของการฉ้อฉลได้พัฒนาและมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากกรณี Conflict of Interest ที่หลายกองทัพอาจจัดซื้ออาวุธผ่านบริษัทที่เป็นนอมินี (nominee) ของบรรดาเครือญาติผู้นำเหล่าทัพ

นอมินีเหล่านี้ มักจะจดทะเบียนในรูป joint venture กับบริษัทต่างชาติและนำเข้าระบบอาวุธเพื่อมาเสนอขายต่อให้กองทัพอีกที

เมื่อขายอาวุธให้กองทัพสำเร็จ บริษัทที่เป็นนอมินีจะ “ทอนตังค์” กลับคืนให้ผู้มีอำนาจอนุมัติในผลประโยชน์รูปแบบต่างๆ

การฉ้อฉลรูปแบบถัดมา คือ การจ้างอดีตผู้นำเหล่าทัพให้เป็นที่ปรึกษาบริษัทค้าอาวุธหลังเกษียณอายุราชการแล้ว หรือ Post- Employment พฤติกรรมดังกล่าวเรียกอีกอย่างว่า Revolving Door หรือ “ประตูหมุน”

ถ้าใครนึกภาพประตูหมุนไม่ออก ลองนึกภาพประตูหมุนทางเข้าอาคารโดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ

Revolving Door ประตูหมุนที่นำมาซึ่งโชคลาภอันมหาศาลเบื้องหลังการจัดหาอาวุธของกองทัพทั่วโลก

Revolving Door ที่มาภาพ : http://www.freedomsphoenix.com
Revolving Door ที่มาภาพ: http://www.freedomsphoenix.com

“Revolving Door” ในความหมายของการจัดหาอาวุธ คือ รูปแบบของการเอื้อประโยชน์ระหว่าง “วัวเคยขา ม้าเคยขี่” เช่น จากเดิมที่เหล่าแม่ทัพนายกองเคยอำนวยประโยชน์ให้กับบริษัทค้าอาวุธ แต่หลังจากเกษียณอายุราชการไปแล้ว คนกลุ่มนี้ต่างกลายมาเป็น “ลูกจ้าง” กินเงินเดือนบริษัทเหล่านั้น หรือถ้าพูดให้ไพเราะหน่อย คือ รับเป็น “ที่ปรึกษา” ให้กับบริษัทค้าอาวุธที่ตัวเองเคยลงนามในสัญญาจัดหาอาวุธ

งานวิจัยดังกล่าวได้อ้างข้อมูลในบทความเรื่อง From the Pentagon to the private sector 1 ที่ระบุว่า ช่วงระหว่างปี 2004-2008 กว่า 80% ของนายพลเกษียณอายุราชการในกองทัพสหรัฐ เข้ารับงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทค้าอาวุธ

นอกจากนี้ นายพลเกษียณอายุบางคนได้ผันตัวเองไปเป็น lobbyist คอยทำหน้าที่หาข่าวและประสานประโยชน์ให้กับเหล่าแม่ทัพนายกองรุ่นน้องและบริษัทค้าอาวุธ

สำหรับรูปแบบฉ้อฉลประเภทสุดท้าย คือ การเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ ในการทำธุรกิจให้กับผู้นำกองทัพ (The offer of preferential business access) รูปแบบนี้เป็นการเสนอสิทธิพิเศษให้กับผู้นำเหล่าทัพและครอบครัวสามารถลงทุนทำธุรกิจได้ในราคาถูก หรือบางทีก็ไม่ต้องจ่ายเงินเลยด้วยซ้ำไป เช่น แจกหุ้นลม หรือขายหุ้นให้ในราคาพาร์ หรือเสนอสิทธิพิเศษให้ไปนั่งเป็นประธานกรรมการบริษัทในเครือ เป็นต้น

การฉ้อฉลที่แนบเนียนเหล่านี้ทำให้ภาพการจัดหาอาวุธของกองทัพและธุรกิจการค้าอาวุธยังคงเป็น No Go Area ต่อไป และยากยิ่งนักที่ใครจะเข้าไปตรวจสอบหรือเอาผิดได้

…สุดท้าย หากมีการเรียกร้องให้กองทัพต้องมีความโปร่งใสและถูกตรวจสอบได้ในการจัดหาอาวุธ ดูเหมือนว่าเหตุผล “ไม้ตาย” ที่กองทัพทั่วโลกนิยมใช้ คือ เหตุผลเรื่องความมั่นคงหรือความลับทางราชการ ซึ่งจะกลายเป็นเหตุผลที่

“ปิดปาก” ผู้เพรียกหาความโปร่งใสในที่สุด

หมายเหตุ: 1 โปรดดู Bender, B., ‘From the Pentagon to the private sector’, Boston Globe, 26 Dec. 2010.