ThaiPublica > เกาะกระแส > ชาวท่าศาลาเรียกร้องให้เชฟรอนถอน “EHIA” ยันรายงานและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นบิดเบี้ยวข้อเท็จจริง

ชาวท่าศาลาเรียกร้องให้เชฟรอนถอน “EHIA” ยันรายงานและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นบิดเบี้ยวข้อเท็จจริง

25 สิงหาคม 2013


ท่าศาลาประกาศเชฟรอนต้องถอน EHIA

หลังจากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวตามร่องรอย “เชฟรอน” ประกาศยุติสร้างท่าเรือน้ำลึกท่าศาลา แต่เดินหน้า EHIA ตามปกติ สู่กระบวนการออกใบอนุญาตแล้ว หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 สำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.)ได้เชิญบริษัทเชฟรอนมาหารือต่อกรณีที่บริษัทประกาศยุติโครงการและเพื่อลดความขัดแย้งกับชุมชน จึงได้แจ้งให้บริษัทเชฟรอนถอนรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ซึ่งขั้นการดำเนินการคือให้บริษัทเชฟรอนหารือกับทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)เพื่อให้สผ.เป็นผู้ทำหนังสือขอถอน EHIA ต่อกอสส. เพื่อจะได้ยุติการพิจารณาEHIA ตามที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องคัดค้านและตามที่บริษัทเชฟรอนประกาศยุติโครงการ แต่ปรากฏว่าทางบริษัทเชฟรอนไม่ได้ดำเนินการใดๆ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา และเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา จึงรวมตัวกันแถลงการณ์ว่า หลังจากที่บริษัทเชฟรอนประกาศยุติโครงการซึ่งสื่อว่าจะไม่ดำเนินการใดในพื้นที่ท่าศาลาอีกแล้ว แต่กลับส่งรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการดำเนินการต่อไป จนตอนนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของกอสส. และไม่ยอมถอนรายงาน EHIA ในขณะที่สผ.และ กอสส. ยังคงพิจารณาต่อไปทั้งๆ ที่เชฟรอนประกาศยุติโครงการ

เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความลักลั่น และเชื่อได้ว่าบริษัทเชฟรอนมีเจตนาแอบแฝง หลอกหลวง ไม่เคารพสิทธิชุมชน ซึ่งชุมชนไม่อาจยอมรับพฤติกรรมนี้ได้ และจะเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องท้องทะเลและชายฝั่งท่าศาลาทุกวิถีทาง ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ขอให้บริษัทเชฟรอนถอนรายงาน EHIA ออกไป ซึ่งไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่บริษัท และจะตรงตามเจตนารมณ์ของบริษัทที่ประกาศไว้กับสาธารณะว่าจะยุติโครงการ

คำประกาศของชุมชนท่าศาลาคือการปกป้องทะเลและชายฝั่งไม่ว่าจะใช่วิธีใดก็ตาม เพื่อรักษาแหล่งผลิตอาหารไว้ให้คนทั้งประเทศ

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักวิจัยท้องถิ่นเครือข่ายปกป้องพื้นที่การผลิตอาหารนครศรีธรรมราชกล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่ท่าศาลาเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของระบบการสัมปทานปิโตรเลียมทั้งหมดในภาคใต้ตลอดแนวฝั่งอ่าวไทย ปัญหาที่เผชิญอยู่เกิดจากรัฐที่ไม่ยืนอยู่ข้างประชาชนและพื้นฐานการรักษาทรัพยากร รวมกับกระบวนการฉ้อฉลของบริษัทน้ำมันทั้งไทยและต่างชาติที่เข้ามาสัมปทานในอ่าวไทย 3 ปีมาแล้วที่ท่าศาลามีโครงการสร้างฐานปฎิบัติการขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเชฟรอน หลังจากประกาศยุติโครงการแล้วขณะนี้ก็ไม่ถอน EHIA เพราะอยากให้เป็นรายงานกรณีศึกษา แต่ที่เราต่อต้านเพราะเราพิสูจน์ได้ว่าบริษัทฉ้อฉลและเราต้องการการพัฒนาในรูปแบบของการเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนทั้งประเทศ

“ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยใช้ความรุนแรง จัดเวทีเสวนาถกเถียงด้วยเหตุผล หลายครั้งทั้งทำเอง และร่วมกับนักวิชาการ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนในกระบวนการรักษาทรัพยากรท้องถิ่น” นายประสิทธิ์ชัยกล่าว

ทั้งนี้การประกาศยุติโครงการของเชฟรอนเมื่อธันวาคม 2555 ให้สาธารณชนรับรู้ว่าจะไม่มีโครงการแล้วที่ท่าศาลา แต่เชฟรอนยังดำเนินการให้ EHIA ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) อีกรอบ หลังจากที่รอบแรกอนุมัติแล้วแต่ทางท่าศาลามีหนังสือท้วงติงว่ารายงาน EHIA ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ คชก. ก็ให้ผ่าน EHIA รอบสองมาแล้ว ซึ่งตอนนี้รายงานอยู่ที่ กอสส. นั้น ชาวบ้านเกิดคำถามและข้อสงสัยว่า 1. ความยอกย้อนของกฎหมาย 2. ความหลอกล่อ ไม่จริงใจ และไม่มีธรรมาภิบาลของเชฟรอน

การขออนุญาตดำเนินโครงการของเชฟรอน

ด้านนายสุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา กล่าวว่า ชาวท่าศาลาทำประมงจำนวนมาก มีเรือกว่า 2,000 ลำ จับสัตว์น้ำในอ่าวท่าศาลาได้มากที่สุดในกลุ่มประมงขนาดเล็กของจังหวัด ในขณะที่รายงาน EHIA ระบุว่าในพื้นที่โครงการมีเรือประมงเพียง 20 ลำ และในความเป็นจริงการทำประมงไม่มีขอบเขต ชาวประมงสามารถออกทะเลได้ในทุกตำบลในพื้นที่ที่มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ นอกจากนี้ยังศึกษาพบว่า อ่าวท่าศาลามีสัตว์น้ำกว่า 160 ชนิด ซึ่งกว่า 10 ชนิด เป็นสัตว์ที่บริษัทและหน่วยงานรัฐบอกว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว อีกทั้งปริมาณสัตว์น้ำในอ่าวท่าศาลามากพอเป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงคนทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชและมีบางส่วนในกรุงเทพฯ

“เรายืนยันและยืนหยัดจะปกป้องอ่าวท่าศาลาให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของคนนครฯ และคนกรุงเทพฯ เราจะเสียสละ เพื่อรักษาอ่าวท่าศาลาไว้ให้ลูกหลานต่อไป” นายสุพรกล่าว

ด้านนายวิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวว่า เราถูกเชฟรอนหลอกมาตลอด เขาบอกยุติโครงการแต่ไม่ยอมหยุดดำเนินการ EHIA ภาครัฐเองก็ไม่หยุดพิจารณา ในฐานะชาวบ้านก็งงว่าบ้านเมืองนี้จะใช้กฎหมายใดกันแน่ เพราะ EHIA คือส่วนหนึ่งของโครงการ มีประกาศยุติโครงการแต่ไม่ยอมถอน EHIA เหมือนกับว่าใช้ทั้งเล่ห์และกล เหตุผลที่ประกาศยุติเพราะไม่คุ้มทุนนั้นชาวบ้านถามว่าคืออะไรก็ไม่บอก ชาวบ้านก็คิดว่า ต้องได้สัมปทานที่เกาะสมุยก่อนใช่ไหมค่อยมาสร้างท่าเรือต่อ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การที่ภาครัฐพิจารณา EHIA ต่อนั้นตีความการประกาศยุติของเชฟรอนอย่างไร ด้านความคุ้มค่าของโครงการตกที่บริษัทเดียวเท่านั้น แต่สัตว์น้ำเดือดร้อนเพราะที่อยู่อาศัยถูกรบกวน ชาวบ้านเดือดร้อนในฐานะผู้บริโภค เพราะแหล่งโปรตีนถูกทำลาย “เรากินท่าเรือ กินน้ำมันไม่ได้ แต่เรามีรายได้การจากประมงและเกษตรกรรม ซึ่งมูลค่ามากกว่าค่าแรงรายวันขั้นต่ำเสียอีก แต่ข้อมูลของเราสู้บริษัทไม่ได้ ด้านนักวิชาการก็ยอมจำนน”

ส่วนนายมานะ ช่วยชู สมาคมดับบ้านดับเมือง กล่าวว่า เชฟรอนไม่ถอน EHIA โดยให้เหตุผลว่า ต้องการพิสูจน์ว่าได้ทำตามกฎหมายของไทยในการทำโครงการขนาดใหญ่ และ EHIA นี้มีความชอบธรรม เนื่องจากพิจารณา 6 ครั้ง 2 รอบ และเปลี่ยน คชก. หลายชุด หลักการของการทำ EHIA คือเจ้าของโครงการจะเป็นผู้ว่าจ้างผู้ทำรายงาน ซึ่งชาวบ้านและกลุ่มเครือข่ายไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้และคิดว่าต่อไปผู้ทำรายงาน EHIA ต้องเป็นอิสระจากเจ้าของโครงการ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ความไม่ชอบธรรมในการขอ EHIA นี้เช่น 1. ศึกษาพื้นที่ผลกระทบไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะศึกษาในเขตพื้นที่แค่ 5 กิโลเมตร เท่านั้น 2. รายงานระบุว่าท่าศาลาเป็นทะเลร้าง ทั้งๆ ที่มีงานวิจัยพิสูจน์ชัดว่าอุดมสมบูรณ์สูงมาก เหมือนเป็นอ่าวทองคำ จนมีการประมงและอาชีพเกี่ยวเนื่องมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท 3. ด้านสุขภาพ นพ.กิตติ รัตนสมบัติ กล่าวเมื่อ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า EHIA ของเชฟรอนไม่ได้ขอข้อมูลจากโรงพยาบาลเลย 4. ระหว่างกระบวนการ EHIA เชฟรอนทุ่มงบฯ จำนวนมากเพื่อซื้อของแจกจ่ายนักเรียนอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องการเบี่ยงเบนประเด็น ปิดปากชาวบ้านไมให้พูดเรื่องผลกระทบ 5. เกณฑ์คนเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์คนละ 500 บาท และกีดกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ และ 6. เชฟรอนไม่จริงใจเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน เช่น ไม่มีตัวแทนมาให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อพฤศจิกายน 2555

แผนผังการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เกาะสมุย
แผนผังการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เกาะสมุย

อนึ่งก่อนหน้านี้ที่เกาะสมุยก็ประสบปัญหาเรื่องการขุดเจาะน้ำมันเช่นเดียวกัน โดยนายสถิรพงศ์ สุรินทร์วรางกูร ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุยกล่าวว่า หลังจากทราบข่าวว่าจะมีการขุดเจาะน้ำมันรอบเกาะในปี 2552 เกาะสมุยต่อสู้เรื่องการขุดเจาะน้ำมันตลอด ดังนั้น ในปี 2553 จึงมีการจับมือรอบเกาะกว่า 15,000 คน เพื่อประกาศว่าไม่ต้องการให้รัฐมาลิดรอนสิทธิชุมชนของเรา ซึ่งรอบเกาะสมุยมีพื้นที่ขุดเจาะทั้งหมด 5 แปลงหลักๆ คือ ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี (saramander energy) 2 แปลง ซึ่งทับซ้อนกันอยู่, CEC (NuCoastal เดิม) 1 แปลง, pearl Oil (Amata) 1 แปลง และ ปตท.สผ. 1 แปลง ซึ่งเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วเหมือนที่เกาะเสม็ด เพราะแสดงให้เห็นถึงการจัดการที่ด้อยประสิทธิภาพและความผิดพลาดพร้อมจะเกิดขึ้นเสมอ และการลิดรอนสิทธิชุมชนขนาดนี้จะทำให้การท่องเที่ยว การประมง วิถีชีวิตต่างๆ ของเกาะสมุยกระทบทั้งหมด

“ชาวสมุยและพะงันจึงเรียกร้องให้รัฐทบทวนขั้นตอนการดำเนินการที่เกาะสมุย เพราะผลประโยชน์เกิดแก่บริษัทเดียวแต่ผลกระทบเกิดกับประชาชนหลายแสนคน หลากหลายอาชีพ มูลค่าทางเศรษฐกิจปีละกว่า 2 หมื่นล้าน ในขณะที่
ประโยชน์ทางปิโตรเลียมยังไม่แน่ชัด แต่เดินหน้าโครงการตลอดเวลาโดยไม่ฟังเสียงประชาชน” นายสถิรพงศ์กล่าว

นอกจากผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้วยังกระทบสิทธิชุมชนและความเป็นธรรมทางสังคมด้วย และจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงแบบอียิปต์หรือซีเรียได้ ดังนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันนำความเป็นธรรมมาสู่สังคมให้ได้

ด้านนายอานนท์ วาทยานนท์ กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวแถลงการณ์เครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิตสมุย พะงัน เต่า และหมู่เกาะอ่างทอง ว่า การดำเนินการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนถือว่าเห็นแก่ตัว ไม่เคารพสิทธิของประชาชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญและทำลายประชาธิปไตยของประเทศ โดยจะกล่าวอ้างว่าเพื่อการพัฒนาประเทศไม่ได้ ดังนั้นจึงขอให้ดำเนินการยกเลิกแปลงสัมปทานทั้ง 5 แปลง เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรง และร่วมกันพัฒนาประเทศจากฐานทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ และให้สัญญาว่าจะรักษาเกาะแห่งชีวิตนี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง

ด้านนางสาวสุภาพร มาลัยลอย นักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า EHIA ฉบับนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เริ่มจาก 11 กันยายน 2555 คชก. มีมติให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA โดยที่วิจัยชุมชนทั้งหมดไม่ได้อยู่ในรายงานเลย อีกทั้งวงวิชาการเอชไอเอระบุว่า EHIA ท่าเรือน้ำลึกเชฟรอนบกพร่องเกินกว่ารับได้ จึงให้ยกเลิกและศึกษาใหม่ ต่อมา 22 พฤศจิกายน 2555 เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ได้ยี่นหนังสือคัดค้านมติ คชก. ที่ให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA แต่ต่อมา 7 ธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนทำจดหมายส่งนักข่าวว่ายุติโครงการแล้ว และได้ส่งหนังสือถึง สผ. แจ้งว่าจะยุติโครงการแต่ขอให้พิจารณา EHIA ต่อไป จนกระทั่งต้นเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา สผ. ส่ง EHIA มายัง กอสส. เพื่อให้ กอสส. ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาซึ่งต้องแล้วเสร็จใน 27 กันยายน นี้ แล้วส่งต่อให้กรมเจ้าท่าเพื่อออกใบอนุญาต

จดหมายยุติโครงการที่เชฟรอนส่งสผ.
จดหมายยุติโครงการที่เชฟรอนส่ง สผ.

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า คำว่ายุติ หมายถึง ตกลง, จบ, เลิก เช่น เรื่องนี้ยุติแล้ว ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป แต่ กอสส. ยังคงพิจารณาต่อไปจนกว่าเชฟรอนจะไปถอนรายงาน EHIA จาก สผ. และ สผ. มีหนังสือแจ้งถอนของเชฟรอนฯ มาที่ กอสส. ซึ่งขณะนี้ทางเชฟรอนก็ยังคงนิ่งเฉยอยู่ สาเหตุที่เชฟรอนไม่ถอนรายงาน EHIA เพราะ “ต้องการให้สาธารณชนได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่สมบูรณ์ของรายงาน” ในขณะที่รายงาน EHIA เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ไม่มีใครนำไปใช้ประโยชน์ได้นอกจากเจ้าของโครงการเท่านั้น

ทั้งนี้ในทางกฎหมายแล้ว การพิจารณา EHIA ของ คชก. และ กอสส. ถือเป็นการพิจารณาอันนำไปสู่คำสั่งทางปกครองที่ต้องมีคำขอ มิใช่ว่าฝ่ายปกครองจะหยิบยกมาพิจารณาเองได้ การชี้แจงต่างๆ ของ บริษัทเชฟรอนฯ มีลักษณะเป็นการยกเลิกเพิกถอนคำขอของตนโดยสภาพความเป็นจริง รัฐไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำขอนี้ เนื่องจากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพิจารณาเพื่อนำไปสู่คำสั่งทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ และหน่วยงานรัฐไม่ได้มีหน้าที่ในการที่จะมาตรวจสอบรายงาน EHIA ให้เชฟรอนเพียงเพื่อให้สาธารณชนได้รับประโยชน์จากข้อมูลและความโปร่งใสของรายงาน และไม่ใช่เหตุผลในการปฏิบัติหน้าที่ทางกฎหมายของ สผ. และ กอสส. เพราะสิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นภาษีของประชาชนในการใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ดังนั้นการที่ คชก. และ กอสส. ดำเนินการพิจารณานั้น อาจถือได้ว่าเป็นการพิจารณาเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทั้งนี้จึงเสนอให้

1. บริษัทเชฟรอน ต้องไปถอนรายงาน EHIA จาก สผ. และ กอสส. และไปดำเนินการถอนเรื่องคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกรมเจ้าท่า
2. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการควรยกเลิกการพิจารณารายงาน EHIA ของบริษัทเชฟรอนฯ ในโครงการนี้และส่งคืนรายงานกลับไป
3. กอสส. ควรยุติการดำเนินกระบวนการพิจารณารายงาน EHIA ของบริษัทเชฟรอนฯ ในโครงการนี้ และส่งคืนรายงานกลับไปยัง สผ. และ บริษัทเชฟรอนฯ

ทั้งนี้ ชาวท่าศาลาจะยื่นหนังสือถึง สผ., กอสส. และกรมเจ้าท่า เพื่อขอความชัดเจนกรณีรายงาน EHIA ของบริษัทเชฟรอนฯ ด้วย