ThaiPublica > เกาะกระแส > ตามร่องรอย “เชฟรอน” ประกาศยุติสร้างท่าเรือน้ำลึกท่าศาลา แต่เดินหน้า EHIA ตามปกติ สู่กระบวนการออกใบอนุญาตแล้ว

ตามร่องรอย “เชฟรอน” ประกาศยุติสร้างท่าเรือน้ำลึกท่าศาลา แต่เดินหน้า EHIA ตามปกติ สู่กระบวนการออกใบอนุญาตแล้ว

11 สิงหาคม 2013


ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว “ชาวประมงท่าศาลา จี้ เชฟรอนฯ ถอน EHIA หวั่นลักไก่สร้างท่าเรือถ้าได้ใบอนุญาต” บัดนี้ ข่าวดังกล่าวเริ่มเป็นจริงตามที่ชาวท่าศาลากังวล

อ่าวทองคำ ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
อ่าวทองคำ ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

กล่าวคือ แม้ว่าบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จะได้ประกาศยุติการสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 หลังจากที่ชาวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชและเครือข่าย ได้ลุกขึ้น“ต่อสู้” เพื่อปกป้อง “อ่าวทองคำ” ที่เป็นเสมือน “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ที่อุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเลของชาวประมงที่ทำกินอยู่ในอ่าวไทย ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ปกป้องพื้นที่นี้ไว้สำหรับการผลิตอาหาร

แต่การถอยของบริษัทยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ ยังมี “ร่องรอย” ที่น่าสงสัย

ด้วยเพราะหลังจากการ “ยกธงขาว” เพียง 5 วัน บริษัทเชฟรอนฯ ได้ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอแจ้งยุติโครงการสร้างท่าเทียบเรืออย่างเป็นทางการ แต่ทว่า ยังคงขอส่ง “รายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์”มายัง สผ. เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาต่อ

คำถามจึงเกิดขึ้นกับชาวท่าศาลาว่า เหตุใดบริษัทเชฟรอนฯ ยังคงดำเนินการส่งรายงานการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) ซึ่งเป็นรายงานที่จะขอรับใบอนุญาตสร้างท่าเรือต่อไปอีก ทั้งที่ได้ประกาศยุติโครงการไปแล้ว

และล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2556 สผ. ได้ส่งรายงาน EHIA ไปให้ทาง คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) แล้ว นั่นหมายความว่า กระบวนการพิจารณารายงาน EHIA ยังดำเนินการไปตามปกติ แม้ว่าเชฟรอนจะประกาศยุติโครงการ ดังนั้น เมื่อ กอสส. พิจารณาเสร็จก็ส่งไปยังกรมเจ้าท่า เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตต่อไปนั่นเอง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของ “มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ติดตามเรื่องนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามเอกสารช่วงปลายปี 2555 ตั้งแต่ที่บริษัท เชฟรอนฯ ได้ประกาศยุติโครงการ และในเอกสารที่ส่งถึง สผ. นั้น ในรายละเอียดค่อนข้างไปในทางเดียวกันแล้วว่า “การยุติ” นั้นหมายถึงการยกเลิกการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ทั้งหนังสือจากบริษัทเชฟรอนฯ ที่ทำถึง สผ. ทั้งหนังสือทางจังหวัด และการประกาศของบริษัทเชฟรอนฯ ​เอง แต่มาต้นปี 2556 ทาง สผ. ได้ทำหนังสือไปสอบถามทาง บริษัทเชฟรอนฯ อีกครั้ง เพื่อ สผ. ได้ดำเนินการต่อ จึงมีคำถามและข้อสงสัยจากทางชุมชนว่า

1. ทำไม สผ. จึงเสมือนพยายามในการเดินหน้าต่อในการพิจารณารายงาน EHIA ทั้งๆ ที่น่าจะพิจารณายกเลิกการพิจารณาได้แล้วตั้งแต่ที่บริษัทเชฟรอนฯ ทำหนังสือชี้แจงเรื่องการยุติโครงการถึงเหตุผล 3 ข้อ ที่จะไม่สร้างท่าเทียบเรือ เมื่อไม่มีการสร้าง จึงไม่ควรต้องใช้งบประมาณของรัฐมาดำเนินการพิจารณารายงานฉบับนี้ต่อไป และยังติดตามให้บริษัทฯ ส่งข้อมูลชี้แจง จนนำมาสู่การยืนยันมติ คชก. และส่งไปยัง กอสส. ในที่สุด จึงกลับมาสู่เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นกระบวนการพิจารณารายงาน EHIA ตามปกติ เมื่อ กอสส. พิจารณาเสร็จก็ส่งไปยังกรมเจ้าท่า เพื่อพิจารณาออกไปอนุญาตต่อไป โดยความเห็น ของ กอสส. เป็นเพียงความเห็นประกอบการพิจารณา

เหตุผล 3 ข้อ ของเชฟรอน

หนังสือบริษัทเชฟรอนชี้แจงถึงเหตุผล 3 ข้อ ว่าได้มีการหารือภายในระหว่างผู้ร่วมทุน และมีแนวทางการดำเนินงานของโครงการฯ ในอนาคต โดยผู้ร่วมทุนในโครงการฯ จะไม่ดำเนินโครงการฯ นี้ต่อไปอีก โดยมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ

1) ต้นทุนในการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของโครงการฯ เพิ่มสูงขึ้นมากจนไม่อาจหาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาในการใช้งาน

2) ระยะเวลาเริ่มต้นในการใช้งานจริงของท่าเทียบเรือฯ ไม่อาจทันต่อการใช้งานในช่วงที่มีความต้องการใช้งานสูงสุดเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ

3) ปัจจัยข้อจำกัดด้านต่างๆ ที่ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องย้ายท่าเทียบเรือฯ ออกจากจังหวัดสงขลาได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้ออำนวยให้บริษัทฯ สามารถดำเนินงานในจังหวัดสงขลาต่อไปได้

และลงท้ายว่า

บริษัทฯ จึงขอแจ้งให้สำนักงานฯ ทราบถึงผลการตัดสินใจที่จะยุติการดำเนินงานโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฎิบัติงานสำรวจและผลิต รวมถึงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาเหตุในการหยุดการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงใคร่ขอนำส่งรายงานฉบับสมบูรณ์พร้อมแผ่นบันทึกข้อมูล (CD-ROM) รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ตามที่สำนักงานฯ ร้องขอ

เจ้าหน้าที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นว่า “หนังสือฉบับนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าบริษัทเชฟรอนฯ จะยกเลิกการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ตามเหตุผลต่างๆ ที่ชี้แจงมาในหนังสือ แต่ส่ง EHIA มาให้ สผ. ตามที่ สผ. ร้องขอ แล้วทำไม สผ. ยังคงต้องพิจารณา EHIA และส่งต่อไปที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในเมื่อเชฟรอนประกาศยุติแล้ว”

2. เมื่อบริษัท เชฟรอนฯ ประกาศยุติโครงการฯ ทั้งส่งหนังสือถึงผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ต่างๆ ประกาศต่อสาธารณะ ทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ในช่วงเวลาที่ชุมชนลุกขึ้นมาคัดค้านด้วยข้อมูลทางวิชาการ ทั้งเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม การศึกษารายงาน EHIA ไม่ถูกต้อง และมีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นต่อรายงาน EHIA ที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน แต่ต่อมากลับปรากฏว่าไม่มีการถอนเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ จากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่ยุติในการเดินหน้าต่อเรื่องกระบวนการทำรายงาน EHIA และไม่มีการปรับปรุงตามที่ชุมชนคัดค้าน

อ่านเพิ่มเติม

เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาและภาคี บุก สผ. เพื่อขอให้ยกเลิกกระบวนการพิจารณาEHIAในการสร้างท่าเรือบ.เชฟรอนฯ ที่อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาและภาคี บุก สผ. เพื่อขอให้ยกเลิกกระบวนการพิจารณา EHIA ในการสร้างท่าเรือ บ.เชฟรอนฯ ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ข้อเท็จจริง…ถามถึงธรรมาภิบาล ของบริษัทเชฟรอนฯ

วันที่ 11 กันยายน 2555

คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับหนังสือสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งทำหนังสือคัดค้านมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในการให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA ของโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอนฯ ด้วยเหตุผลที่ว่ากระบวนการพิจารณาและการให้ความเห็นชอบโครงการมีความบกพร่องทางวิชาการ ไม่เป็นไปตามหลักการและแนวทางในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ในประเด็นต่างๆ ได้แก่

1. การกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แท้จริง

2. การดำเนินโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่ที่เป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของชุมชนประมงอันจะนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมง

3. การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

4. การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีข้อบกพร่องในหลักการความสมบูรณ์ครอบคลุมของการระบุผลกระทบของโครงการ

5. การพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการขาดข้อมูลการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ และขัดต่อเจตนารมณ์ตามร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามมิให้มีอุตสาหกรรม กิจกรรม การเก็บ ลำเลียงวัตถุอันตราย

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำหนังสือที่ ทส ๑๐๐๙.๔/๑๒๔๐๕ เรื่อง คัดค้านมติความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการต่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ไปถึง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อให้ทางบริษัท เชฟรอนฯ ชี้แจงในประเด็นการคัดค้านมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ตามที่สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ได้ทำหนังสือคัดค้านมา เพื่อนำไปเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาต่อไป(เอกสารแนบ 1)

วันที่ 12 ธันวาคม 2555

บริษัทเชฟรอนฯ ได้ทำหนังสือ เรื่อง ขอแจ้งยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ของบริษัทเชฟรอนฯ และขอนำส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ฉบับสมบูรณ์ พร้อมแผ่นบันทึกข้อมูล (CD-ROM) มาถึง เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยในหนังสือมีการชี้แจงด้วยว่า ได้มีการหารือภายในระหว่างผู้ร่วมทุน และมีแนวทางการดำเนินงานของโครงการฯ ในอนาคต โดยผู้ร่วมทุนในโครงการฯ จะไม่ดำเนินโครงการฯ นี้ต่อไปอีก โดยมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ

1) ต้นทุนในการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของโครงการฯ เพิ่มสูงขึ้นมากจนไม่อาจหาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาในการใช้งาน

2) ระยะเวลาเริ่มต้นในการใช้งานจริงของท่าเทียบเรือฯ ไม่อาจทันต่อการใช้งานในช่วงที่มีความต้องการใช้งานสูงสุดเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ

3) ปัจจัยข้อจำกัดด้านต่างๆ ที่ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องย้ายท่าเทียบเรือฯ ออกจากจังหวัดสงขลาได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้ออำนวยให้บริษัทฯ สามารถดำเนินงานในจังหวัดสงขลาต่อไปได้

และลงท้ายว่าบริษัทฯ จึงขอแจ้งให้สำนักงานฯ ทราบถึงผลการตัดสินใจที่จะยุติการดำเนินงานโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฎิบัติงานสำรวจและผลิต รวมถึงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาเหตุในการหยุดการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงใคร่ขอนำส่งรายงานฉบับสมบูรณ์พร้อมแผ่นบันทึกข้อมูล (CD-ROM) รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ตามที่สำนักงานฯ ร้องขอ(เอกสารแนบ 2)

วันที่ 17 ธันวาคม 2555

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหนังสือ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์จัดทำเอกสารชี้แจง ถึง ประธานบริษัทเชฟรอนฯ เพื่อติดตามการชี้แจงประเด็นการคัดค้านของชุมชน และตามรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ ให้ทางบริษัทฯ รีบดำเนินการส่งมา (เอกสารแนบ 3)

วันที่ 20 ธันวาคม 2555

หนังสือจากปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง แจ้งผลการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจาเพิ่มเติม กรณีราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชร้องเรียน บริษัทเชฟรอนฯ ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ ขอเรียนว่า บริษัท เชฟรอนฯ ได้ยกเลิกโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ แล้ว (เอกสารแนบ 4)

วันที่ 28 ธันวาคม 2555

สผ. ทำหนังสือ เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ ถึง เลขาธิการคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แจ้งเรื่องว่า ทาง สผ. ได้รับหนังสือแจ้งจากบริษัทฯ ขอแจ้งยุติการดำเนินโครงการ โดยสรุปว่าบริษัทจะไม่ดำเนินโครงการนี้ต่อไปอีก จึงขอแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ กอสส. เพื่อทราบความประสงค์ของบริษัท เชฟรอนฯ (เอกสารแนบ 5)

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555

สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำหนังสือ เรื่อง ขอให้ชี้แจง กรณีการประกาศยุติโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ถึง ประธานกรรมการบริษัทเชฟรอนฯ

เนื่องจาก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนฯ ประกาศยุติโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ ได้ภายหลัง จากนั้นได้มีการส่งรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ไปยัง สผ. เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป การกระทำดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเห็นว่าเป็นการขัดต่อการแสดงเจตนาในการยุติโครงการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 จึงมีความประสงค์ให้บริษัทเชฟรอนฯ ชี้แจงถึงความประสงค์ในการยื่น EHIA และให้บริษัทฯ ดำเนินการใดๆ เพื่อยกเลิกรายงาน EHIA เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ และซื่อตรง ตามค่านิยมของบริษัท ซึ่งเผยแพร่ใน website ที่ว่า “เราซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น เราดำเนินธุรกิจทุกประเภทบนพื้นฐานของจรรยาบรรณมาตรฐานสูงสุด เรารักษาคำพูดของเราเสมอ เรามีความรับผิดชอบต่อการกระทำและงานที่ได้รับมอบหมาย” (เอกสารแนบ 6)

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556

สผ. ทำหนังสือตอบสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ว่าให้ไปคัดถ่าย รายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ได้ และมีส่วนสำคัญ ในข้อ ๓ ว่า การขอยุติโครงการของบริษัทเชฟรอนฯ ไม่มีผลต่อมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ที่ได้ให้ความเห็นชอบรายงานฯ แต่เนื่องจากปัจจุบันมีผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการร้องขอทบทวนมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการชี้แจงประเด็นการร้องคัดค้าน เพื่อสำนักงานฯ จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาทบทวนมติหรือยืนยันมติต่อไป (เอกสารแนบ 7)

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556

สผ. ทำหนังสือถึง ประธานกรรมการบริษัทเชฟรอนฯ เรื่อง การยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ โดยทำหนังสือเพื่อขอให้บริษัทฯ ชี้แจงความหมายของการขอยุติโครงการว่าบริษัทฯ หมายรวมถึงการขอถอนรายงาน EHIA ด้วยหรือไม่ (เอกสารแนบ 8)

ต้นเดือนสิงหาคม 2556

สผ. ได้ส่งรายงาน EHIA ไปให้ทางคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) แล้ว