ThaiPublica > เกาะกระแส > จับอาการ “ผิดปกติ” แถลงข่าวโกง VAT อธิบดีสรรพากรชิงแจงสื่อตัดหน้าปลัดคลัง – ระบบหรือคน โกง!

จับอาการ “ผิดปกติ” แถลงข่าวโกง VAT อธิบดีสรรพากรชิงแจงสื่อตัดหน้าปลัดคลัง – ระบบหรือคน โกง!

25 สิงหาคม 2013


กรมสรรพากรชิงแถลงข่าวโกงภาษีVAT
กรมสรรพากรชิงแถลงข่าวโกงภาษีVAT

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังมีข่าวร้อน เมื่อคนสรรพากรเข้าไปพัวพันกับขบวนการโกงภาษีมูลเพิ่ม(VAT) มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท จนมีคำเปรียบเปรยว่า โกงข้าว โกงรถหรู กินน้ำ กินอิฐ หิน ดิน ทราย ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับโกง VAT ปลอมเอกสารไม่กี่ใบส่งให้เจ้าหน้าที่ลงนามประทับตรา เงินจากท้องพระคลังหลวงก็จะไหลเข้าบัญชีผู้กระทำความผิดได้อย่างง่ายดาย

ทันทีที่กระทรวงการคลังได้เบาะแสจากคนในกรมสรรพากร นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งให้ ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อหาตัวข้าราชการที่ไปร่วมกับขบวนการโกงภาษี ปล้นคลังหลวง มาลงโทษให้ได้ภายใน 60 วัน ข่าวนี้ทำเอาผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพากรหลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นแรมเดือน เนื่องจากผลสอบข้อเท็จจริงมาสรุปในช่วงฤดูโยกย้ายซี 10 กระทรวงการคลัง พอดี และความผิดครั้งนี้ดูจะชัดเจนว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง

เก้าอี้อธิบดีกรมสรรพากรจึงอยู่ในช่วงสั่นคลอน เมื่อมีการประกาศแถลงข่าวผลการสอบสวนเรื่องการโกง VAT ในเวลา 15.00 น.ของวันที่ 22 สิงหาคม 2556 โดยปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้แถลงข่าวสรุปผลการสอบสวนคดีโกง VAT ด้วยตนเอง

เมื่อ”ข่าว”การแถลงข่าวปรากฏขึ้น ก็มีความเคลื่อนไหวจากกรมสรรพากรทันที โดยนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ชิงแถลงข่าวเรื่องเดียวกันตัดหน้าปลัดกระทรวงการคลัง เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่การแถลงข่าวเรื่องเดียวกัน กระทรวงเดียวกัน แต่ต่างคนต่างแถลงข่าว

ความผิดปกติเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนเที่ยง เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์กรมสรรพากร เริ่มโทรศัพท์เชิญสื่อมวลชนทุกสื่อมาฟังแถลงข่าวที่ห้องประชุมชั้น 2 กรมสรรพากร สำนักงานใหญ่ เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวทราบแต่ว่าเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องโกง VAT ขณะที่ปลัดกระทรวงการคลังเมื่อทราบเรื่องก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายกฎหมายกระทรวงการคลังสังเกตการณ์ในงานแถลงข่าวกรมสรรพากร

เนื่องจากการโกงภาษีเป็นเรื่องยากแก่การทำความเข้าใจ กรมสรรพากรจึงเตรียมอุปกรณ์เครื่องฉายพร้อมจอแสดง Power point และ Story board เอาไว้ประกอบคำบรรยาย รวมทั้งจัดเตรียมน้ำชา กาแฟ อาหารว่าง ต้อนรับสื่อมวลชน ก่อนอธิบดีกรมสรรพากรเปิดแถลงข่าว ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมสรรพากรให้สื่อมวลชนลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรม Press tour ชมหิ่งห้อย รวม 3 วัน 2 คืน บริเวณตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามในระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน 2556

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร

งานแถลงข่าวเริ่มด้วยนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาโกง VAT ว่าเกิดจากระบบมีปัญหา กระบวนการตรวจสอบยันแบบธรรมดาๆ ไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตขอคืนภาษีได้ ปัจจุบันขบวนการโกง VAT มีพัฒนาการไปไกล กระบวนการโกงที่ตรวจพบมีการทำกันถึง 5 ชั้น ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถออกใบกำกับภาษี

โดยยกตัวอย่าง กลุ่มธุรกิจเศษเหล็กไปรับซื้อเศษเหล็กมาจากซาเล้ง แล้วส่งเศษเหล็กไปขายบริษัทกลุ่มที่ 2 และ 3 ขั้นตอนนี้เริ่มมีการออกใบกำกับภาษี และชำระภาษีให้กรมสรรพากรทุกเดือน จากนั้นก็ส่งก็ขายให้กับกลุ่มบริษัทที่ 4 และ 5 ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทส่งออก เสีย VAT ในอัตรา 0% กลุ่มนี้นำภาษีซื้อมาขอคืนกับกรมสรรพากรได้

กรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ตรวจกลุ่มส่งออกแทบจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ขอดูเอกสารคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ก็มีให้ตรวจสอบอย่างถูกต้อง ขอดูใบขนสินค้าจากกรมศุลกากร เพื่อยืนยันว่ามีการส่งออก ก็มีหลักฐาน รวมทั้งมีใบยืนยันสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ (L/C) หลักฐานการชำระเงินค่าสินค้าจากธนาคาร หากมีเอกสารครบถ้วน กรมสรรพากรต้องคืนภาษีให้

“ปัญหาคือ ระเบียบกรมสรรพากรที่มีอยู่ไม่สามารถตรวจสอบยันลงลึกไปจนถึงกลุ่มที่ 1 สรรพากรพื้นที่ไม่มีทางทราบ บริษัทกลุ่มที่ 1 ซื้อขายเศษเหล็กมามูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งมีการทำในลักษณะนี้เยอะมาก ทำกันเป็นกลุ่มบริษัทกระจายอยู่ในหลายจังหวัด กรมสรรพากรใช้วิธีตรวจสอบในทางลับเท่านั้น หากรายชื่อหลุด ผู้กระทำผิดรู้ตัว ก็หนี เหลือแต่ออฟฟิศว่างเปล่า จับใครไม่ได้เลย” นายสาธิตกล่าว

กล่าวโดยสรุป ผู้ที่จะโกง VAT ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1. ระบบบัญชีต้องดี บริษัทกลุ่มขนาดใหญ่มีเครือข่ายหลายบริษัท จะนำรายได้-รายจ่ายลงบัญชีที่บริษัทไหน ระบบบัญชีต้องดี และต้องทราบระเบียบกรมสรรพากรด้วย 2. ต้องรู้จุดอ่อนหรือจุดบอดของระเบียบการคืนภาษีของกรมสรรพากร และ 3. ต้องเชี่ยวชาญระเบียบศุลกากรด้วย

นายสาธิตกล่าวต่อไปอีกว่า “สำนักงานสรรพากรพื้นที่จะตรวจเฉพาะผู้เสียภาษีที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ไม่ได้ตรวจสอบลงลึกไปถึง 3-4 ชั้น หรือตรวจสอบข้ามเขตที่ตนเองรับผิดชอบได้ นี่คือข้อบกพร่อง และเป็นปัญหาที่แท้จริงของการคืน VAT เมื่อมีช่องโหว่เกิดขึ้น อาจจะมีเจ้าหน้าที่ตามน้ำเข้าร่วมขบวนการโกง VAT เมื่อเร็วๆ นี้ตนลงโทษทางวินัย ไล่ออกซี 8 ไป 3 คน และกำลังจะตั้งสอบวินัยเพิ่มเติมอีก 10 คน ปัญหาคือทุกพื้นที่มีบริษัทขอคืน VAT เป็นจำนวนมาก หากตรวจสอบยันลึกลงไปถึง 4-5 ชั้น ปริมาณงานจะเยอะมาก เช่น ตรวจสอบ 2 บริษัท พบผู้เกี่ยวข้อง 116 ราย ตรวจลึกลงไปอีกพบ 300 ราย กระจายอยู่หลายพื้นที่ หากทำเช่นนี้หมดทุกราย แต่ละปีกรมสรรพากรอาจจะคืนภาษีให้ผู้ประกอบการได้ไม่กี่ราย”

“ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มนำระบบ VAT มาใช้ในสมัย ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็นอธิบดีกรมสรรพากร ก็เจอกับปัญหานี้ และจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังมีปัญหาดังกล่าวอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือต้องปรับระบบใหม่ ป้องกันไม่ให้ทำแบบนี้ได้อีก ปัญหาใหญ่อยู่ที่ระบบ ก็ต้องแก้ที่ระบบ”

นายถนอมศักดิ์ แก้วลออ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีกลาง
นายถนอมศักดิ์ แก้วลออ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีกลาง

จากนั้นนายสาธิตมอบหมายให้นายถนอมศักดิ์ แก้วลออ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีกลาง (สต.)ซึ่งเป็นผู้ที่ทราบเรื่องคดีเป็นอย่างดี ได้กล่าวว่าหลังตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่สรรพากรคืนเงิน 2,600 ล้านบาท ให้กลุ่มบริษัทส่งออกเศษเหล็กกว่า 30 บริษัท และได้ทำหนังสือรายงานกรมสรรพากร ปรากฏว่า อธิบดีกรมสรรพากรทำหนังสือสั่งโอนเรื่องกลับไปให้สรรพากรภาค 5 ดำเนินการต่อ โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ต้องการให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน สุดท้ายผู้ส่งออกกลุ่มนี้ปิดกิจการหนี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก เป็นประเด็นที่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลังกำลังขยายผลการสอบสวนและหาข้อสรุป

นายถนอมศักดิ์ชี้แจงว่า “เดิมทีสรรพากรภาค 5 ตรวจสอบพบกลุ่มบริษัทส่งออกเศษเหล็กหลายรายขอคืน VAT มากผิดปกติ จึงทำรายงานถึงกรมสรรพากร อธิบดีกรมสรรพากรสั่งการเป็นหนังสือให้สำนักตรวจสอบภาษีกลางเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ตอนนั้นผมไม่ทราบว่าสรรพากรภาค 5 เข้าไปดำเนินการตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำอะไรไปบ้าง ผมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการปิดกิจการหมดแล้ว ผมจึงทำรายงานถึงกรมสรรพากร และอธิบดีกรมสรรพากร สั่งการว่าเนื่องจากสรรพากรภาค 5 ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนให้โอนเรื่องให้ภาค 5 ดำเนินการ”

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพากรได้สั่งการเพิ่มเติมให้สรรพากรภาค 5 ปฏิบัติตามแนวทางของของสำนักตรวจสอบภาษีกลางดังนี้ คือ 1. ให้ตรวจสอบกลุ่มบริษัทส่งออกเศษเหล็ก ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553-2555 2. ให้ตรวจสอบยันกลับไปทุกชั้นและทุกราย 3. ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินกับธนาคาร 4. ทำหนังสือขอข้อมูลการส่งออกไปต่างประเทศ และร่วมกับพื้นที่ตรวจสอบ และ 5. ให้ชะลอการคืนภาษี เป็นการกำหนดแนวทางให้ภาค 5 ไปดำเนินการ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง(กลาง) นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการ(ซ้าย) และนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง (ขวา) แถลงข่าวสรุปผลสอบเบื้องต้น คดีโกงVAT
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง (กลาง), นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการ (ซ้าย) และนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง (ขวา) แถลงข่าวสรุปผลสอบเบื้องต้น คดีโกง VAT

หลังจากที่กรมสรรพากรปิดการแถลงข่าว นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมกับนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง และนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีโกง VAT เปิดแถลงข่าวในเวลา 16.00 น. โดยกรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และฝ่ายกฎหมายเข้าร่วมสังเกตการณ์แถลงข่าวที่กระทรวงการคลังด้วยเช่นกัน

นายอารีพงศ์เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังได้รับหนังสือร้องเรียนกรณีมีบุคคลและนิติบุคคลขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ ตนได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 748/2556 ลงวันที่ 21 มิ.ย. 2556 เพื่อตรวจสอบมูลความผิดที่มีการร้องเรียนกล่าวหา ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว และพิจารณาความผิดและโทษทางวินัยแก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ สรุปผลสอบในเบื้องต้น พบว่ามีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิชอบจำนวน 18 ราย ประกอบด้วย ข้าราชการประเภทอำนวยการระดับสูง และประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญจำนวน 4 ราย และข้าราชการระดับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งมีทั้งระดับชำนาญการพิเศษ ระดับชำนาญการ และระดับปฏิบัติการจำนวน 14 ราย และมีการกระทำอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับขั้นตอนการดำเนิน หลังจากได้รับรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริง กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกับข้าราชการที่อยู่ในระดับอำนวยการสูงและระดับเชี่ยวชาญ (ซี 9) ซึ่งอยู่ในอำนาจของปลัดกระทรวงการคลัง จำนวน 4 ราย และแจ้งรายชื่อข้าราชการระดับผู้ปฏิบัติงาน ตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษลงมา (ต่ำกว่าซี 8) ซึ่งอยู่ในอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีข้าราชการอื่นเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำความผิด นอกเหนือจาก 18 รายที่คณะกรรมสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ชี้มูล กระทรวงการคลังจะดำเนินการทางวินัยอย่างเฉียบขาดต่อไป

นายประสิทธิ์ สืบชนะ
นายประสิทธิ์ สืบชนะ

จากนั้น ปลัดกระทรวงการคลังมอบหมายให้นายประสิทธิ์ สืบชนะ ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ชี้แจงเพิ่มเติม นายประสิทธิ์กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ให้ได้ข้อยุติภายใน 60 วัน ตนได้ทำหนังสือขอข้อมูลกรมสรรพากร 5 ครั้ง มีบริษัทที่พัวพันกับขบวนการโกงภาษี 65 แห่ง กรมสรรพากรส่งข้อมูลมาให้คณะกรรมการฯ เพียง 1 ครั้ง ได้รายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องมาแค่ 20 บริษัท ตนจึงได้ประสานงานไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อขอข้อมูลมาประกอบการพิจารณา

นายประสิทธิ์ยืนยันว่า “ระเบียบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรวางเอาไว้ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาการทุจริตมันเกิดจากคน หากเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ ผู้เสียภาษีไม่มีทางโกงภาษีได้ ก่อนที่จะคืน VAT เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรสามารถตรวจความว่าผู้เสียภาษีประกอบการกิจการจริงหรือไม่ คืนช้าคืนเร็วเป็นอีกประเด็น”

ขั้นตอนโกง VAT

ส่วนรายละเอียด นายประสิทธิ์กล่าวย้ำว่าให้ดูในเอกสารประกอบการแถลงข่าว ซึ่งในเอกสารระบุว่ามีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่เข้าไปเกี่ยวข้องขบวนการโกงภาษีที่จะต้องถูกสอบวินัย 19 ราย เหตุใดปลัดกระทรวงการคลังแถลงข่าวว่ามีผู้กระทำผิดแค่ 18 ราย ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามปลัดกระทรวงการคลัง นายประสิทธิ์ตอบสั้นๆ ว่า “เจ้าหน้าที่พิมพ์ผิด” ขณะที่ข่าววงในระบุว่ามีการถอนชื่อผู้บริหารระดับสูงออกไปหนึ่งคน

สำหรับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่ถูกสอบวินัยทั้ง 18 ราย มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตดังนี้ 1. มีการเร่งรัดคืนภาษีเร็วผิดปกติ 2. การสอบยันใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง และมีการนำผลการสอบยันที่ไม่ถูกต้องไปใช้ประกอบการพิจารณาคืนภาษี และผู้ที่มาขอคืนภาษีได้รับเงินคืนภาษี โดยไม่ต้องรอผลการตรวจสอบ 3. เจ้าหน้าที่ประเมินความน่าเชื่อถือไม่สอดคล้องกับสำนวนพิจารณาอนุมัติการคืนเงินภาษีอย่างรวดเร็ว

สื่อมวลชน- แถลงข่าวโกงภาษี VAT  เมื่อ 22 สค. 2556
สื่อมวลชน- แถลงข่าวโกงภาษี VAT เมื่อ 22 สค. 2556
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการแถลงข่าวสรุปผลสอบคดีโกง VAT วันที่ 22 สิงหาคม 2556 เป็นปรากฏการณ์ที่มีความผิดปกติ เพราะหลังจากที่ปลัดกระทรวงการคลังปิดการแถลงข่าว เวลา 17.30-18.00 น. ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวกำลังพิมพ์ข่าวอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมสรรพากร โทรศัพท์ถึงผู้สื่อข่าวเป็นรายบุคคล โดยแจ้งว่าอธิบดีกรมสรรพากรจะให้สัมภาษณ์พิเศษในวันที่ 23 สิงหาคม 2556 (วันรุ่งขึ้น) หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ที่ทำงานอยู่ในห้องนักข่าวกระทรวงการคลังต่างปรึกษาหารือและตกลงกันว่าจะรวมกลุ่มกันไปสัมภาษณ์ 2 ช่วง คือ ช่วงเช้ากับช่วงบ่าย จึงนับเป็นการชี้แจงซ้ำ อธิบายซ้ำต่างจากที่เคยแถลงข่าวตามปกติ