ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐกิจถดถอยจริงหรือ?

เศรษฐกิจถดถอยจริงหรือ?

26 สิงหาคม 2013


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องเศรษฐกิจกลับมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องตัวเลข GDP ของประเทศไทยที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด หลายคนบอกว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (อย่างน้อยก็ทางเทคนิค) จริงหรือไม่ ขอชวนคุยหน่อยครับ

ภาวะเศรษฐกิจไทยกลายเป็นเรื่อง เมื่อตัวเลข GDP ไตรมาสสองของไทย ออกมาต่ำกว่าที่หลายๆ คนคาดเอาไว้ เมื่อเทียบกับไตรมาสสองปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยโตเพียงร้อยละ 2.8 (ในอัตราที่แท้จริง คือไม่รวมผลด้านราคา) ในขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะโตสักร้อยละ 3 กว่าๆ

แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสหนึ่ง เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 0.3 และกลายเป็นประเด็นใหญ่ เพราะนี่คือการหดตัวติดกันเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน (ไตรมาสหนึ่งเราหดตัวไปแล้วร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสสี่ปีที่แล้ว) ซึ่งหลายๆ คนถือกันว่า นี่คือ “ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (แบบเทคนิค)” แล้ว หรือที่ฝรั่งเรียกว่า technical recession คือไม่สนใจว่าแนวโน้มเศรษฐกิจข้างหน้าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเศรษฐกิจหดติดกันสองไตรมาสก็นับว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยเลย

ข้อมูลของประเทศไทยในไตรมาสสองมันเข้าเงื่อนไขนี้พอดี และงานเข้าหนักขึ้น เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศตีข่าวว่าไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วงที่ตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนา (โดยเฉพาะอินเดียและอินโดนีเซีย) โดนเทขายแบบกระหน่ำ เพราะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพอดี เราเลยโดนร่างแหไปกับเขาด้วย

ประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) จริงๆ หรือไม่ อันนี้ยังพอเถียงกันได้ครับ

แต่ถ้าจะบอกว่าไตรมาสสองมีวันหยุดเยอะกว่าไตรมาสหนึ่งเศรษฐกิจเลยชะลอตัวนี่ไม่ค่อยถูกต้องนะครับ เพราะตัวเลขที่เราพูดถึงกันได้ปรับปัจจัยด้านฤดูกาลออกแล้ว ปกติ GDP ของไทยจะค่อนข้างสูงในไตรมาสที่สี่และไตรมาสที่หนึ่ง ที่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวและฤดูกาลท่องเที่ยว และจะค่อนข้างต่ำในไตรมาสที่สองและสาม ที่เป็นฤดูฝนและมีวันหยุดติดต่อกันค่อนข้างเยอะ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองมักจะต่ำกว่าไตรมาสหนึ่งประมาณร้อยละ 4-5 เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว การเปรียบเทียบ GDP รายไตรมาสจึงควรปรับปัจจัยด้านฤดูกาลเหล่านี้ออกก่อน

สำหรับในไตรมาสสอง ตัวที่ฉุดเศรษฐกิจให้ชะลอตัวที่สำคัญ ได้แก่การบริโภคที่โตช้าลง เพราะฐานค่อนข้างสูง และงบดุลของภาคครัวเรือนเริ่มตึงตัวเพราะหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (การบริโภคเคยโตปีละร้อยละสี่ ตอนนี้เหลือร้อยละสองกว่าๆ) การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากฐานที่ค่อนข้างสูง จากการซื้อเครื่องจักรเพื่อทดแทนความเสียหายช่วงน้ำท่วม และความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และที่สำคัญคือการส่งออก ที่หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ถ้าดูรูปด้านล่างจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองหดตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสหนึ่งที่หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสสี่ปีที่แล้ว แต่อาจจะต้องยอมยกผลประโยชน์ให้จำเลยในไตรมาสที่หนึ่ง เพราะฐานในไตรมาสสี่ปีที่แล้วสูงมากจริงๆ เนื่องจากการเร่งการผลิตรถยนต์ก่อนหมดเขตโปรโมชันเมื่อปลายปี ประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม ที่เร่งทำให้ฐานของ GDP สูงขึ้น

คำถามคือ ถ้าไม่มีนโยบายรถยนต์คันแรก หรือนโยบายจำนำข้าวที่หยิบยืมเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน โดยมีการใช้เงินของรัฐเป็นตัวอุดหนุนในปีที่แล้ว GDP ไตรมาสสี่จะสูงปรี๊ดขนาดนั้นหรือไม่ และ GDP ไตรมาสหนึ่งจะติดลบหรือไม่ ซึ่งอาจจะตอบยากนิดนึง แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ฐานการบริโภคที่โตช้าลงในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการ “จ่ายคืน” เงินที่เรายืมไปใช้ก่อนเมื่อปีที่แล้ว

ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ รายไตรมาส (ปรับปัจจัยด้านฤดูกาลแล้ว)  ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ รายไตรมาส (ปรับปัจจัยด้านฤดูกาลแล้ว)
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แล้วภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) มันต่างจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเฉยๆ อย่างไร?

อย่างที่บอกนะครับ technical recession คือสถานการณ์ที่ตัวเลข GDP หดตัวต่อเนื่องกันสองไตรมาส โดยไม่ต้องสนใจแนวโน้มข้างหน้าหรือสาเหตุที่เกิดขึ้น

แต่ถ้ามีเหตุให้เชื่อได้ว่า มีการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่าแค่ช่วงสั้นๆ และมีแนวโน้มรุนแรง แม้เศรษฐกิจจะหดตัวลงแค่ไม่กี่เดือนเราก็อาจนับได้เป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession) ได้เลย โดยเราอาจวัดภาวะนี้ได้จากตัววัดหลายๆ ตัว เช่น ตัวเลข GDP การจ้างงาน หรือยอดขายสินค้า

แต่เราก็ยังถกเถียงกันได้ว่า เราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงหรือไม่ และตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียวอาจถูกตัวเลขหลอกเอาได้ง่าย

จากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่า การดูว่า GDP หดตัวอย่างเดียวอาจไม่ใช่ตัววัดที่ดีนักของภาวะเศรษฐกิจถดถอยตอนปี 2008-2009 ที่เราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา จริงๆ แล้วเราออกอาการตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2008 แล้ว แต่ GDP ไตรมาสสามดันกลับไปเป็นบวกนิดๆ ทำให้เราไม่นับว่าเรามีภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนกระทั่งการส่งออกลดฮวบในไตรมาสสี่ และเราได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง

หรือตอนน้ำท่วมในไตรมาสสี่ปี 2011 เห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหาระยะสั้น GDP หดตัวลงไปค่อนข้างแรง แต่เราก็สามารถฟื้นตัวได้ในไม่นานนัก

ดังนั้น การดูว่าเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ อาจต้องพิจารณาถึงปัจจัยรอบด้าน ทั้งสาเหตุ ขนาดของการชะลอตัว และแนวโน้มในอนาคต

ในสหรัฐอเมริกา National Bureau of Economic Research หรือ NBER ได้ทำการศึกษาเรื่องวงจรเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดวงจรเศรษฐกิจ (Business Cycle Dating Committee) กันเลยทีเดียว โดยดูตัววัดทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัว การกำหนดว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเริ่มและสิ้นสุดลงเมื่อใดของ NBER ได้รับการยอมรับในวงกว้างจากนักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบาย เขาเลยไม่ต้องเถียงกันว่านี่ใช่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถ้าไตรมาสสาม เศรษฐกิจไทยยังหดตัวต่อเนื่องอีก ผมว่าเราคงปฏิเสธกันยากขึ้นแล้วละครับ ว่านี่คือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจริงๆ หรือไม่ แต่ผมยังเชื่อโดยส่วนตัวว่าเศรษฐกิจไตรมาสสามน่าจะกลับมาโตได้ และนี่น่าจะเป็นภาวะชะลอตัว มากกว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

ประเด็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองคือการส่งออกครับ ที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ มองไปข้างหน้าการบริโภคน่าจะค่อนข้างตึงตัวจากปัญหาภาคครัวเรือน รายได้ภาคเกษตรก็ฟื้นค่อนข้างยาก ถ้าราคาสินค้าเกษตรไม่ปรับตัวสูงขึ้น การลงทุนลงยากจะฟื้นในระยะสั้น การใช้จ่ายภาครัฐไม่น่าจะมีแรงส่งในระยะสั้นได้มากนัก เหลือแต่การส่งออกที่อาจจะช่วยดึงเศรษฐกิจกลับขึ้นมาได้ในระยะสั้น

แต่ถ้าการส่งออกไม่ฟื้นนี่ผมว่าเราแย่แน่ครับ GDP ปีนี้มีหวังต่ำกว่าที่ทุกสำนักคาดการณ์เป็นแน่ และปีหน้าก็คงได้รับผล กระทบต่อเนื่อง

ผมว่ามี 3 ปัจจัยใหญ่ที่ทำให้การส่งออกเราลดลงในช่วงนี้

ปัจจัยที่หนึ่ง คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และการที่ค่าเงินแข็งขึ้นในไตรมาสสอง ที่ทำให้การส่งออกโดยรวมชะลอตัวลง แต่เรื่องนี้เราพอจะสบายใจได้นิดหนึ่งว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว (แต่ภาวะเศรษฐกิจจีนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ และครึ่งปีที่ผ่านมา การส่งออกจากไทยไปจีนลดลงมากที่สุด) และค่าเงินเราก็อ่อนลงไปแล้ว (แต่เพื่อนบ้านและคู่แข่งเราก็อ่อนลงไปด้วย)

ปัจจัยที่สอง คือ การชะลอตัวลงของการส่งออกสินค้าเกษตร ที่เกิดขึ้นจากทั้งนโยบายภายในประเทศ เช่น ข้าว อันนี้ขอไม่พูดถึงครับ คิดว่าทุกคนคงรู้แล้ว หรือปัญหาเฉพาะของอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น โรคกุ้ง

และปัจจัยที่สาม คือ การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมส่งออกของไทย สินค้าอิเลกทรอนิกส์เคยเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย สินค้าบางชนิดกำลังเจอปัญหาด้านโครงสร้าง เช่น ฮาร์ดดิสก์ ที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก (จำตอนเราน้ำท่วมและฮาร์ดดิสก์์ขาดแคลนทั่วโลกได้ไหมครับ) ตอนนี้ยอดขายคอมพิวเตอร์ตก และคนหันมาใช้ solid state memory มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยอดขายฮาร์ดดิสก์ตกลงไปด้วย

หรือแผงวงจรไฟฟ้า เคยอยู่อันดับต้นๆ ของการส่งออกไทย ตอนนี้หล่นไปอยู่อันดับสิบแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับความสามารถในการแข่งขันของไทยในสินค้าเหล่านี้หรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาที่เราไม่มีการวิจัยและพัฒนาเป็นของตัวเอง ทำให้เราผลิตได้เฉพาะสินค้าที่เราถูกเลือกให้ผลิตหรือไม่

ค่าแรงที่สูงขึ้นเป็นปัญหาในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยหรือไม่ คงต้องรอดูกันไปครับ

แต่โชคดีที่ตอนนี้การส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์แซงหน้าขึ้นมาเป็นสินค้าออกอันดับหนึ่งของไทยไปเรียบร้อยตั้งแต่ปีที่แล้ว

จับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจช่วงนี้ดีๆ ครับ เรากำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแค่ทางเทคนิคหรือไม่ อีกไม่นานคงรู้ครับ