ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คำถามที่ พีทีที โกลบอล เคมิคอล ต้องตอบต่อสาธารณะ กรณีน้ำมันดิบรั่ว ทะเลระยอง

คำถามที่ พีทีที โกลบอล เคมิคอล ต้องตอบต่อสาธารณะ กรณีน้ำมันดิบรั่ว ทะเลระยอง

5 สิงหาคม 2013


ภาพถ่ายดาวเทียมน้ำมันรั่ว

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 องค์กรภาคประชาสังคมได้ส่งเอกสารข่าว กรณีน้ำมันดิบจากท่อส่งน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 และในวันนี้ (5 สิงหาคม 2556) ทางคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะมีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อซักถามฝ่ายจัดการของพีทีทีซีจีถึงกรณีดังกล่าว

องค์กรภาคประชาสังคมที่ลงนามท้ายแถลงการณ์นี้มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความไม่ชัดเจนของข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ จึงขอเรียกร้องให้ พีทีทีจีซี ตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้ด้วยข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานต่อสาธารณะ โดยด่วนที่สุด

ประเด็นปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล

1. ปริมาณที่แท้จริงน้ำมันดิบที่รั่วไหลเท่ากับเท่าไหร่ (แสดงหลักฐาน)
2. ปริมาณที่แท้จริงน้ำมันดิบที่คงเหลือในเรือ (แสดงหลักฐาน)
3. เหตุใดน้ำมันดิบจึงเข้าสู่อ่าวพร้าว (อธิบายโดยละเอียด)
4. น้ำมันดิบทั้งหมดที่รั่วไหล ได้ถูกกำจัดและแพร่กระจายไปยังที่ใดบ้าง เป็นปริมาณเท่าใด อาทิ ปริมาณที่ถูกกำจัดโดยการโปรยสารเคมี ปริมาณที่เก็บกู้ได้ ปริมาณที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น (แสดงหลักฐานและอธิบายโดยละเอียด)

ประเด็นสาเหตุและการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน

5. ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลทั้งหมดกี่ครั้ง มีการจัดการอย่างไร
6. การรั่วไหลในครั้งนี้มีสาเหตุจากอะไร เช่น เป็นอุบัติเหตุ หรือเกิดจากอุปกรณ์เสื่อมคุณภาพ
7. ระบบการควบคุมการปิดวาว์ลแบบอัตโนมัติเป็นอย่างไร วาล์วถูกปิดหลังจากการรั่วไหลเป็นเวลานานเท่าใด
8. นับแต่เกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ตลอดปฏิบัติการ ทั้งในทะเลและบนฝั่ง ได้มีการดำเนินการแต่ละขั้นตอนอย่างไรบ้าง เมื่อใด ใครเป็นผู้ควบคุม/สั่งการ
9. ที่ผ่านมาบริษัทมีแผนการจัดการอุบัติภัยหรือไม่ และเคยมีการซักซ้อมหรือไม่ อย่างไร เหตุใดอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการอุบัติภัยของบริษัทจึงมีน้อยมาก
10. เหตุใดจึงต้องใช้บุคลากรจากหน่วยงานนอกเครือ ปตท. (เช่น กองทัพเรือ จิตอาสา) เข้าไปปฏิบัติการแทน เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอง ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงในการรับมือต่อเหตุ
11. บุคลากรจากภายนอกมทั้งหมดได้รับการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการรับมือต่อเหตุ และการจัดการสารอันตรายหรือไม่ อย่างไร และได้รับการควบคุมดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติงานมากน้อยเพียงใด
12. ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปฏิบัติการนี้ (รวมถึงการยืมตัวบุคลากรจากหน่วยงานราชการต่างๆ)
13. บริษัทต้องเปิดเผยและชี้แจงว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการลดและขจัดมลพิษจากการรั่วไหลของน้ำมันที่ระบุไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ หรือไม่

004_resize

ปตท.น้ำมันรั่วทะเลระยอง
ที่มาภาพ : บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)

ประเด็นขั้นตอนการระงับเหตุก่อนนำไปสู่การตัดสินใจใช้สารเคมี

14. เหตุใดจึงใช้ทุ่นขนาดสั้น (120 เมตร) เพื่อบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันก่อนใช้สารเคมีโปรยเท่านั้น – เหตุใดจึงไม่มีการใช้ทุ่น “ขนาดยาว” ล้อมคราบน้ำมันที่รั่วไหลเพื่อ “ดูดกลับ” (ดังตัวอย่างการซ้อมรับมือเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลอลาสก้า ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีมาทำลายสิ่งแวดล้อม)
15. การกำจัดคราบน้ำมันโดยการใช้สารเคมี เป็นวิธีที่ควรใช้เป็นขั้นตอนสุดท้ายเมื่อไม่มีแนวทางอื่นที่เหมาะสมกว่าเท่านั้น – บริษัทควรชี้แจงเหตุผลและที่มาของการตัดสินใจลัดขั้นตอนโดยใช้สารเคมีตั้งแต่เริ่มต้น และใช้ในปริมาณที่มากถึง 32,000 ลิตร

ประเด็นสารเคมีที่ใช้ในการสลายคราบน้ำมัน

16. การขออนุญาตใช้สารเคมีจำนวน 25,000 ลิตร จากกรมควบคุมมลพิษ มีการคำนวณหรือประมาณการณ์อย่างไร
17. ปริมาณสารเคมีที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้คือ 5,000 ลิตร แต่ระบุว่าใช้ไปทั้งหมด 32,000 ลิตร – เหตุใดจึงมีการใช้โดยไม่มีการขออนุญาต
18. สารเคมีทั้งหมดที่ใช้มีกี่ชนิด มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละชนิดมีปริมาณเท่าใด ได้มาจากแหล่งใดบ้าง – (แสดงหลักฐานการได้มา ทั้งใบเสร็จและใบยืม)
19. ขั้นตอนการใช้สารเคมีทั้งหมด อาทิ วันและช่วงเวลาที่โปรย สถานที่โปรย ลักษณะวิธีการโปรยเป็นอย่างไร
20. ต้องแสดงข้อมูลความเป็นพิษและความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ และผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
21. น้ำมันที่เก็บกวาดไปจากอ่าวพร้าว ซึ่งแจ้งว่าถูกนำไปจัดการที่มาบตาพุด ต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่าจะนำไปกำจัดที่ไหนและอย่างไรบ้าง

การเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงในรายละเอียดดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม และมีความสำคัญยิ่งต่อการหาสาเหตุการปนเปื้อนที่แท้จริง การประเมินผลกระทบและความเสียหาย การฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในระยะยาว การเยียวยาความเสียหายที่ถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึงมาตรการป้องกันการเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

องค์กรภาคประชาสังคมที่ลงนามท้ายแถลงการณ์ได้แก่
1. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
2. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
3. กรีนพีซเอเชีตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia)
4. คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม
5. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
6. สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
7. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
8. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
9. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
10. เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
11. เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
12. เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
13. มูลนิธิพัฒนาอีสาน
14. เครือข่ายผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี
15. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
16. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้
17. ศูนย์สร้างจิตสำนีกนิเวศวิทยา (สจน.)
18. สหพันธุองค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก
19. สมาคมรักษ์ทะเลไทย
20. ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
21. มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)
22. คณะกรรมการบริหารสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
23. มูลนิธิอันดามัน
24. เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม (Civil Society Planning Network)
25. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน