ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงการพิมพ์ตำราเรียนยังวุ่น องค์การค้าฯ สกสค. แบกสต็อกบาน-ดึงเงินฝากครู 266 ล้านค้ำเงินกู้แบงก์กรุงศรีฯ 800 ล้านบาท

โครงการพิมพ์ตำราเรียนยังวุ่น องค์การค้าฯ สกสค. แบกสต็อกบาน-ดึงเงินฝากครู 266 ล้านค้ำเงินกู้แบงก์กรุงศรีฯ 800 ล้านบาท

7 สิงหาคม 2013


ผลกระทบจากปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง-เช่าแท่นพิมพ์ตำราเรียนที่ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ปลายตุลาคม 2555 มีบริษัทที่เข้าร่วมประกวดราคาทำเรื่องร้องเรียนนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า “การประกวดราคาครั้งนี้ อาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าร่วมประกวดราคาบางราย “ นายพงษ์เทพจึงออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้

กว่าองค์การค้าของ สกสค. จะตัดสินใจเลือกบริษัทศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) มาเป็นผู้ให้เช่าเครื่องพิมพ์ตำราเรียน ใช้เวลานานกว่า 4 เดือน ตามกำหนดการของแผนการพิมพ์ตำราเรียน องค์การค้าฯ ต้องผลิตหนังสือ 35 ล้านเล่ม ให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556 องค์การค้าฯ เริ่มเดินเครื่องพิมพ์ ผลิตตำราเรียนขายในปีการศึกษา 2556 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 โดยใช้แท่นพิมพ์ขององค์การค้าฯ ผลิตตำราเรียนเอง 17.32 ล้านเล่ม และใช้แท่นพิมพ์ของบริษัทศิริวัฒนา 18.46 ล้านเล่ม และมีการลงนามในสัญญาเช่าเครื่องพิมพ์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 ทั้งนี้ มอบหนังสือให้บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายนำไปส่งให้กับโรงเรียนทั่วประเทศก่อนเปิดเทอม

ยอดจำหน่าย

หลังจากที่เปิดภาคเรียนมาแล้ว 1-2 เดือน ปรากฏว่า องค์การค้าฯ ผลิตหนังสือไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงเกิดผลกระทบทำให้เด็กนักเรียนขาดแคลนตำราเรียนบางวิชา เพราะตัวแทนจำหน่ายไม่มีหนังสือส่งให้โรงเรียน โรงเรียนได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการไปสั่งซื้อหนังสือเรียนจากโรงพิมพ์เอกชนแทน ถ้าพิจารณาจากยอดการจัดจำหน่าย ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2556 มีหนังสือเหลือและอยู่ในระหว่างการผลิตรวมกัน 4.6 ล้านเล่มส่งผลกระทบต่อบริษัทขายส่งรายใหญ่ที่ทำสัญญาเหมาสั่งซื้อหนังสือ 8 กลุ่มสาระวิชา วงเงิน 3,000 ล้านบาท ไปขายให้กับโรงเรียนในปีการศึกษา 2556 และตามสัญญาต้องจ่ายค่าหนังสือเรียนให้กับองค์การค้าฯ กว่า 200 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่โรงเรียนแก้ปัญหาซื้อหนังสือจากโรงพิมพ์เอกชน เมื่อองค์การค้าฯ ทยอยส่งมอบหนังสือส่วนที่เหลือให้บริษัทตัวแทนจำหน่าย บริษัทต้องเก็บหนังสือเข้าสต็อก รอขายในปีการศึกษาถัดไป ทำให้มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการซื้อหนังสือเก็บเข้าสต็อกเพิ่มขึ้น และยังมีความเสี่ยงหากกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเนื้อหาตำราเรียนใหม่

และจากการที่องค์การค้าฯ มีปัญหาขาดทุนสะสม 3,000-4,000 ล้านบาท อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบกับแผนการผลิตและยอดขายไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องขององค์การค้าฯ ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ทางองค์การค้าฯ ได้ทำแผนการกู้เงิน 800 ล้านบาท กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่มีนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เพื่อขออนุมัติในเร็วๆ นี้

ที่ผ่านมา องค์การค้าฯ เคยเสนอแผนการกู้เงิน 800 ล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. (บอร์ด สกสค.) มาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการอนุมัติ เริ่มตั้งแต่สมัยนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เคยทำเรื่องขออนุมัติเงินกู้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. ครั้งที่ 1/2554 วันที่ 20 มกราคม 2554 วงเงิน 1,500 ล้านบาท

ต่อมา ที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. ครั้งที่ 3/2554 วันที่ 17 มีนาคม 2554 มีมติตามข้อ 2 ให้ยกเลิกแผนการกู้เงิน 1,500 ล้านบาท แต่อนุมัติให้องค์การค้าฯ กู้เงินได้แค่ 700 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 800 ล้านบาท ให้ดำเนินการตามข้อ 3 คือ นำเงินกู้ดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤติทางการเงิน

โดยปลายปี 2555 องค์การค้าฯ ทำเรื่องขอกู้เงิน 800 ล้านบาท ส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การค้าฯ ครั้งที่ 8/2555 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555 พิจารณาอีกครั้ง เพื่อส่งต่อที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. ครั้งที่ 14/2555 วันที่ 27 ธันวาคม 2555 ซึ่งจัดประชุมในวันเดียวกัน แต่ยังไม่ทันจะอนุมัติ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ ทราบเรื่องเข้า จึงสั่งระงับและขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน

ตามแผนการกู้เงิน 800 ล้านบาท ระบุว่า ที่ผ่านมา องค์การค้าฯ ติดต่อขอกู้เงินกับธนาคาร 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารยูโอบี ปรากฏว่ามีธนาคารกรุงศรีอยุธยาเพียงแห่งเดียวที่ตอบรับแผนการกู้เงินขององค์การค้าฯ แต่มีเงื่อนไขว่าองค์การค้าฯ ต้องให้ สกสค. ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดนำเงินฝากหรือหลักทรัพย์ พันธบัตรมาวางค้ำประกันเงินกู้ 1 ใน 3 หรือ คิดเป็นวงเงินค้ำประกัน 266 ล้านบาท โดยการกู้เงินครั้งนี้ธนาคารกรุงศรีคิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR-2% หรือประมาณ 5.375% ต่อปี (ณ วันที่ 10 กรกฏาคม 2556 MLR=7.375%)

แผนการกู้เงินเสริมสภาพคล่อง

สำหรับรูปแบบของการกู้เงินครั้งนี้ ผู้กู้คือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยองค์การค้าฯ ต้องขอให้ สกสค. นำเงินฝากของ สกสค. จำนวน 266 ล้านบาท มาค้ำประกันเงินกู้ 800 ล้านบาท ก่อน

หลังจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาอนุมัติเงินกู้ให้กับ สกสค. 800 ล้านบาท และ สกสค. จะโอนเงินกู้จำนวนดังกล่าวมาให้องค์การค้าฯ ทางองค์การค้าฯ นำเงิน 266 ล้านบาท ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี ทั้งนี้เพื่อนำพันธบัตรรัฐบาลไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแทนเงินฝากของ สกสค. ที่วางค้ำประกันไว้ก่อนหน้านี้

ส่วนแผนการชำระเงินนั้น องค์การค้าฯ จะผ่อนชำระเงินกู้เดือนละ 6.5 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีเงินฝากของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งใช้ชื่อบัญชีว่า “สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เลขที่บัญชี 180-1-46006” ส่งคืนเงินกู้ให้กับธนาคารกรุงศรีอุยธยาเป็นเวลา 15 ปี

แผนการใช้จ่ายเงิน

รายละเอียดของแผนการใช้จ่ายเงิน 800 ล้านบาท มีดังนี้

1. นำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 266 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นหลักประกันเงินกู้แทนเงินฝากของ สกสค. ที่วางไว้เป็นหลักประกันช่วงที่มีการดำเนินการกู้เงิน ทั้งนี้ เพื่อให้ สกสค. สามารถเบิกเงินฝากที่นำมาวางค้ำประกันไปใช้ในกิจการของ สกสค. ได้

2. ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อกระดาษ และวัตถุดิบทางการพิมพ์ 250 ล้านบาท ปี 2555 องค์การค้าฯ กู้เงินจากสถาบันการเงิน 5 แห่ง มาจ่ายค่ากระดาษ 300 ล้านบาท จ่ายค่าดอกเบี้ย 8.17% คิดเป็นเงิน 20.42 ล้านบาทต่อปี

หากองค์การค้าฯ นำเงินกู้ที่ได้รับจาก สกสค. 250 ล้านบาท ไปจ่ายค่ากระดาษแทน จะช่วยประหยัดดอกเบี้ย 6.99 ล้านบาท และเนื่องจากในปี 2556 องค์การค้าฯ เช่าเครื่องมาพิมพ์หนังสือเองทั้งหมด โดยไม่ได้จ้างโรงพิมพ์เอกชนภายนอกมาช่วยพิมพ์งาน ทำให้องค์การค้าฯ มีรายจ่ายต้องสั่งซื้อกระดาษเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องใช้วงเงินกู้ดังกล่าวมาเสริมสภาพคล่อง

3. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเช่าเครื่องจักรทางการพิมพ์ พร้อมกับระบบจัดการพิมพ์ 110 ล้านบาท ในปี 2555 องค์การค้าฯ มีกำลังการผลิตส่วนเกิน 200 ล้านอิมเพรสชัน และงานทำเล่มใส่สันทากาว 16 ล้านเล่ม ต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องพิมพ์ให้บริษัท ศิริวัฒนาฯ อิมเพรสชันละ 0.40 บาท คิดเป็นเงิน 80 ล้านบาท และค่าเช่าเครื่องทำเล่มใสสันทากาวเล่มละ 1 บาท คิดเป็นเงิน 16 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ต้องจ่ายค่าเช่าทั้งสิ้น 96 ล้านบาท

องค์การค้าฯ หาเงินมาจ่ายค่าเช่าให้บริษัทศิริวัฒนาฯ โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีภาระค่าดอกเบี้ย 8.17% ต่อปี หากองค์การค้าฯ ได้รับเงินกู้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ยปีละ 2 ล้านบาท

นอกจากนี้องค์การค้าฯ ต้องการอีก 14 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาลงทุนเช่าเครื่องพิมพ์ข้อสอบพร้อมกระดาษคำตอบที่มีความเร็วสูง รองรับการขยายตัวของงานและสร้างรายได้เพิ่ม

4. ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 174 ล้านบาท ปัจจุบันองค์การค้าฯ ยังมีปัญหาขาดสภาพคล่องในการหาเงินมาจ่ายค่าสินค้าให้กับคู่ค้า จำเป็นต้องมีทุนหมุนเวียนในการสั่งซื้อสินค้ามาจำหน่ายให้กับลูกค้าได้อย่างครบวงจรและทันเวลา

ในรอบปีที่ผ่านมา องค์การค้าฯ มียอดขายสดหน้าร้าน 834 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีสินค้าขายไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า แต่ถ้าองค์การค้าฯ ได้รับเงินกู้จำนวน 174 ล้านบาท จะทำให้องค์การค้าฯ มีสินค้าจำหน่ายเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า และสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 250 ล้านบาท