ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > เบื้องหลัง กนง. เสียงแตก 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ย 2.5% มาจาก 2 แนวคิดต่าง “ซื้อประกัน-เก็บกระสุน”

เบื้องหลัง กนง. เสียงแตก 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ย 2.5% มาจาก 2 แนวคิดต่าง “ซื้อประกัน-เก็บกระสุน”

21 สิงหาคม 2013


สภาฯวุ่น ที่มาภาพ : http://images.voicecdn.net
สภาฯวุ่น ที่มาภาพ : http://images.voicecdn.net

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 21 ส.ค. 2556 มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ที่อาจผิดคาดไปบ้างคือ ผลการตัดสินคะแนนไม่เป็นมติเอกฉันท์ มีกรรมการฯ หนึ่งเสียงเห็นควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.5% เป็น 2.25% หรือลดลง 0.25% เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า

“กรรมการท่านหนึ่งที่เสนอให้ลดดอกเบี้ยนั้น ท่านพูดชัดว่าในปีนี้คงจะพอไปได้ในช่วงที่เราประเมินไว้ แต่ท่านมองไปถึงช่วงปีหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าความต่อเนื่องของการขยายตัวยังมีต่อไป” นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าว

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปี 2556 ที่ กนง. คาดการณ์ล่าสุด ณ 19 ก.ค. 2556 อยู่ที่ 4.2% ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุด 19 ส.ค. 2556 คาดการณ์อยู่ที่ 4%

นายไพบูลย์กล่าวว่า จริงๆ แล้วคณะกรรมการทั้งหมดเห็นว่า การชะลอลงของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด และทุกคนได้แสดงความเห็นไว้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร นโยบายการเงินจะมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในภาวะอย่างนี้ และจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ดี

นอกจากนั้น การประชุม กนง. ครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะให้น้ำหนักความห่วงใยไปทางด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว และความเป็นห่วงเรื่องของปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ คิดว่าตลาดมีการปรับตัวทุเลาลงในระดับหนึ่ง ส่วนหนี้ครัวเรือนแม้อยู่ในระดับสูง แต่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นก็คงช่วยให้ภาวะสินเชื่อมีการปรับตัวในทิศทางที่เหมาะสมในระยะต่อไป

ทั้งนี้ การที่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มาจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์ของรัฐบาล แต่เชื่อว่าเมื่อมาตรการนี้ทยอยหมดไป การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงบ้าง และครัวเรือนที่มีภาระหนี้ผ่อนส่งประมาณ 34% ของรายได้คงไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปได้เรื่อยๆ คงต้องชะลอความเร็วลงบ้าง และทิศทางค่อยๆ ทยอยปรับตัวสู่ระดับปกติมากขึ้น

“การที่เป็นห่วงด้านการเจริญเติบโต ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ทำอะไร การที่เราก็ยังดำรงความผ่อนคลายของนโยบายการเงินต่อเนื่องเป็นการประเมินของ กนง. ว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันมีความจำเป็นและเหมาะสมกับแนวโน้มระยะข้างหน้า แต่อนาคตเป็นเรื่องพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินใหม่ๆ ที่จะออกมา และ กนง. ก็จะพิจารณาเป็นครั้งๆ ไป”

ทั้งนี้ กนง. เคยเสียงแตกมีมติไม่เอกฉันท์โดยมีหนึ่งเสียงเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2556 ด้วยเหตุผลเรื่องเป็นห่วงการส่งออกจะชะลอจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และต้องการลดแรงกดดันเงินทุนไหลเข้าในขณะนั้นที่ไหลเข้ามาจำนวนมาก เพื่อจะลดแรงกดดันเงินบาทแข็ง ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ต่อมา ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2556 กนง. มีมติเสียงเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.5% ต่อปี ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1/2556 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก คือ ขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน

ส่วนการประชุมครั้งนี้ (21 ส.ค.) เหตุผลการเสนอปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ของกรรมการหนึ่งเสียง และการให้คงอัตราดอกเบี้ยของกรรมการเสียงข้างมาก ต่างมีน้ำหนักที่น่าสนใจ

โดยแหล่งข่าวจาก กนง. กล่าวว่า กรรมการที่เสนอลดอัตราดอกเบี้ยมีมุมมองว่า ควร “ซื้อประกัน” ความเสี่ยงการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้า

เนื่องจากกว่าผลของนโยบายการเงินจะส่งต่อถึงภาคเศรษฐกิจจริงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง หากทำช้าอาจไม่ทันการณ์ และถ้าอัตราดอกเบี้ยลงตอนนี้จะช่วยลดภาระการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนได้ เพราะถ้าดอกเบี้ยลดลงภาระดอกเบี้ยจ่ายก็จะลดลงตาม ทำให้ประชาชนมีเงินเหลือเพิ่มขึ้นจากภาระดอกเบี้ยที่จ่ายลดลง และสามารถนำเงินไปใช้จ่ายบริโภคได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง และภาระดอกเบี้ยจ่ายไม่ลดลง ก็จะเป็นข้อจำกัดทำให้การบริโภคชะลอลง

“ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เชื่อว่าครั้งนี้จะกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้นจะปรับลดลงอีกจากครั้งก่อน 0.25% และครั้งนี้อีก 0.25% รวมเป็น 0.5% เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้นต่ำลงมาก จะส่งต่อหรือกดดันให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ลดลงด้วย เหตุผลส่วนหนึ่งคือทำให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นแล้วได้ผลตอบแทนต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

สำหรับประเด็นความห่วงใยเรื่องหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นหากมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แหล่งข่าว กนง. กล่าวว่า กรรมการที่เห็นควรลดดอกเบี้ย และกรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย มีความกังวลน้อยลง เนื่องจากหนี้ครัวเรือนมีอยู่ระดับสูงแล้ว และที่ผ่านมามีการเร่งใช้จ่ายค่อนข้างมาก ดังนั้น แม้ดอกเบี้ยจะลดลงก็คงไม่กระตุ้นการใช้จ่ายได้มากนัก และที่สำคัญ ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะฉะนั้น ถ้าลดดอกเบี้ยน่าจะช่วยลดภาระการชำระคืนหนี้ กระตุ้นการบริโภคไม่ให้ต่ำลงมาก

แต่กรรมการเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมีความกังวลกับสถานการณ์การเมืองที่ไม่นิ่ง ทำให้มีความไม่แน่นอน อาจกระทบเศรษฐกิจในระยะต่อไป และยังเป็นห่วงเงินทุนไหลออก ดังนั้นควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนเพื่อ “เก็บกระสุน” ไว้ใช้ยามจำเป็น

“เหตุผลทั้งสองฝั่งถือว่ามีน้ำหนักพอๆ กัน แต่ต้องยึดตามมติของกรรมการเสียงส่วนใหญ่” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์กล่าวว่า แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป มีหลายปัจจัยที่สำคัญ คือ หนึ่ง เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งจะช่วยภาวะการส่งออกให้กระเตื้องขึ้นบ้าง แม้จะมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างบ้างอย่าง สอง ภาวะการเงินผ่อนคลาย สินเชื่อยังขยายตัวได้ดี น่าจะมีส่วนสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน และ สาม โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ มีแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในปีหน้า ถ้ามีความชัดเจนมากขึ้นในอนาคตก็คงมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนต่อเนื่องเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์วิเคราะห์การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% เนื่องจากเป็นช่วงการปรับตัวของเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้