ThaiPublica > คนในข่าว > “มนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข” เอ็มดีใหม่เอสเอ็มอีแบงก์ กับบทเรียนวิบากกรรมผู้บริหารแต่ละยุค

“มนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข” เอ็มดีใหม่เอสเอ็มอีแบงก์ กับบทเรียนวิบากกรรมผู้บริหารแต่ละยุค

1 สิงหาคม 2013


เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมือง โครงสร้างอำนาจภาครัฐมักจะเปลี่ยนตาม ด้วยการโยกย้ายข้าราชการ การเปลี่ยนกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ ส่งผลถึงความต่อเนื่องของนโยบายการทำงานในด้านต่างๆ(อ่าน”เพื่ออนาคตเรา: KPI ของไทยควรเป็นอะไร?”)

เหมือนอย่างกรณีของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ“เอสเอ็มอีแบงก์” นับจากวันที่กระทรวงการคลังยกระดับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมขึ้นเป็นธนาคารวันที่ 20 ธันวาคม 2545 มาจนถึงปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์มีกรรมการผู้จัดการ หรือ “เอ็มดี” ทั้งหมด 5 คน หากไม่นับนายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข ที่เพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของธนาคาร มีเพียงดร.สำราญ ภูอนันตานนท์ คนเดียวที่ทำงานจนครบเกษียณ และเดินออกจากธนาคารอย่างสวยงาม ที่เหลือถูกกระทรวงการคลังสั่งตั้งคณะกรรมการสอบทุจริตกันถ้วนหน้า

เอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์แต่ละคนเผชิญกับวิบากกรรมกันไปต่างๆ นานา การตั้งประเด็นข้อกล่าวหาส่วนใหญ่มักวนเวียนอยู่กับเรื่องทุจริตในการปล่อยสินเชื่อทำให้เป็นหนี้เสีย (NPLs) และทำให้ธนาคารเสียหายตามมา

ผู้บริหารเอสเอ็มอี

หลังเกิดเหตุการณ์ปฎิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขั้วอำนาจการเมืองเปลี่ยน กระทรวงการคลังนำรายงานผลการตรวจสอบฐานะการเงินของเอสเอ็มอีแบงก์ ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาตรวจสอบ พบว่าในช่วงปี 2547-2549 เป็นยุคของนายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ เป็นเอ็มดี มีการปล่อยเงินกู้ลูกหนี้กลุ่มหนึ่ง โดยใช้ที่ดินว่างเปล่ามาจดจำนอง และยังประเมินราคาที่ดินสูงกว่าราคาประเมินของทางการ 10 เท่าตัว ต่อมาลูกหนี้กลุ่มนี้กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ทำให้ธนาคารเสียหาย 2,500 ล้านบาท

ในช่วงสมัยที่นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ดำรงตำแหน่งเอ็มดี เอสเอ็มอีแบงก์แทนนายโชติศักดิ์ซึ่งลาออกไปนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด กระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง กรณีทุจริตในการอนุมัติสินเชื่อช่วงที่นายโชติศักดิ์เป็นเอ็มดี และทำการขยายผลการสอบสวน พบว่า ตั้งแต่เอสเอ็มอีแบงก์ถูกยกระดับขึ้นเป็นธนาคารจนถึงสมัยนายโชติศักดิ์ มีการทุจริตปล่อยสินเชื่อ 27 โครงการ ลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอล ทำให้ธนาคารเสียหาย 16,000 ล้านบาท สรุปผลการสอบสวนครั้งนั้นมีพนักงานสินเชื่อถูกลงโทษให้ออกจากงาน

แหล่งข่าวระดับสูงจากเอสเอ็มอีแบงก์กล่าวว่า ก่อนที่จะยกระดับขึ้นเป็นธนาคาร เอสเอ็มอีแบงก์ขึ้นตรงกับกระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากยกระดับเป็นธนาคารแล้ว เอสเอ็มอีแบงก์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจึงเป็นตำแหน่งทางการเมืองไปโดยปริยาย การบริหารจัดการอยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายการเมือง หรือเข้ามาหาประโยชน์จากธนาคารเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานจัดซื้อจัดจ้าง การอนุมัติสินเชื่อ แต่พอการเมืองเปลี่ยนขั้ว ธุรกรรมต่างๆเหล่านี้คือกลายมาเป็นประเด็นข้อกล่าวหา

นอกจากประเด็นการเมืองแล้ว ภายในองค์กรเองก็มีศึกสายเลือดภายใน หลังจากที่ยกระดับขึ้นเป็นธนาคาร ดร.สำราญ ภูอนันตานนท์ เป็นเอ็มดีคนแรก ขั้วอำนาจหลักจะอยู่ในกำกับดูแลของรองเอ็มดี 3 คน ได้แก่ นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ, นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ และนายจงเจตน์ บุญเกิด ทุกคนล้วนมีผู้สนับสนุนที่มีอำนาจ

หลังจาก ดร.สำราญปลดเกษียณ ธนาคารเปิดรับสมัครเอ็มดีคนใหม่ นายโชติศักดิ์ ลงสมัครขอรับการสรรหาแข่งกับนายพงษ์ศักดิ์ ปรากฏว่านายโชติศักดิ์ได้รับการคัดเลือกเป็นเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์ นายพงษ์ศักดิ์จึงลาออกไปเป็นรองกรรมการผู้จัดการคุมสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารอาคารสงเคราะห์

นายโชติศักดิ์เข้ารับตำแหน่งเอ็มดีเดือนธันวาคม 2546 รับนโยบายจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เร่งขยายสินเชื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อจากสมัย ดร.สำราญ ทำให้สินเชื่อขยายมากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนเอ็นพีแอล เมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างลดลงจาก 30% มาอยู่ที่ระดับ 18% ขณะเดียวกันธนาคารก็มีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ระดับของเงินกองทุนลดต่ำลง

ขณะที่ธนาคารยังถูกรัฐบาลกดดันให้เร่งปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดังนั้น เพื่อเพิ่มฐานของเงินกองทุนให้มีเพียงพอที่จะใช้ในการขยายสินเชื่อได้ต่อไป นายโชติศักดิ์เชิญ “มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” มาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งระดับความน่าเชื่อถือเทียบเท่ากับเครดิตของประเทศ

จากนั้นเอสเอ็มอีแบงก์ก็เริ่มระดมทุน โดยว่าจ้างธนาคารบาร์เคลย์เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และจัดจำหน่ายบัตรเงินฝากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ครั้งแรก (Floating rate certificate of deposit: FRCD) วงเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี เมื่อปิดการขาย ธนาคารรับเงินจากธนาคารบาร์เคลย์ทั้งสิ้น 190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท การออกบัตรเงินฝากลอตนี้ ธนาคารทำ SWAP ปิดความเสี่ยง ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 4%

จัดงบเพิ่มทุน

ต่อมา สมัย ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังเปิดกองทุนรวมวายุภักษ์ แต่ขายไม่หมด จึงชักชวนรัฐวิสาหกิจเข้ามาช่วยซื้อ เอสเอ็มอีแบงก์แบ่งเงินที่ระดมที่ได้จากการออก FRCD จำนวนหนึ่งลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์รับผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 6% ธนาคารได้ส่วนต่างกำไร 2% และหน่วยลงทุนยังถูกนับเข้าไปรวมอยู่ในกองทุนขั้นที่ 2 (Tier 2) รวมกับเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาเพิ่มทุนให้ธนาคารในปี 2547 จำนวน 2,000 ล้านบาท ปี 2548 อีก 2,500 ล้านบาท สามารถขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นอีก 14,000-15,000 ล้านบาท

วันที่ 3 เม.ย. 2549 นายโชติศักดิ์ลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ครั้งนี้มีนายจงเจตน์ บุญเกิด ลงสมัครขอรับการสรรหาแข่งกับนายพงษ์ศักดิ์ ปรากฏว่ามีใบสั่งจากนักการเมืองให้นายจงเจตน์ถอนตัว พร้อมกดดันมาที่บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ให้เลือกนายพงษ์ศักดิ์

ในที่สุดนายพงศษ์ศักดิ์ก็ได้เป็นเอ็มดี ก่อนที่นายพงษ์ศักดิ์เข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2549 ช่วงเดือนกรกฎาคม 2549 เอสเอ็มอีแบงก์ทำสัญญาว่าจ้างธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นที่ปรึกษาการเงินและตัวแทนจำหน่ายบัตรเงินฝาก FRCD ครั้งที่ 2 วงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท FRCD ลอตนี้ ธนาคารทำ SWAP ปิดความเสี่ยงเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนอัตราดอกเบี้ยธนาคารไปลงทุนในตลาดอนุพันธ์ที่เรียกว่า “Interest rate swap” FRCD ลอตนี้อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย LIBOR ในช่วง 3.5-7.5% หากอัตราดอกเบี้ย LIBOR เคลื่อนไหวหลุดออกนอกกรอบที่กำหนดไว้ เอสเอ็มอีแบงก์ต้องจ่ายค่าปรับให้สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 8%

หลังจากที่นายพงษ์ศักดิ์เข้ารับตำแหน่งเอ็มดี เดือนธันวาคม 2549 เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ นายจงเจตน์เป็นรองกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายบริหารเงิน ทำเรื่องเสนอนายพงษ์ศักดิ์ให้ปิด Position นายพงษ์ศักดิ์ใช้เวลาตัดสินใจ 2 เดือน ส่งเรื่องนำเสนอที่ประชุมบอร์ดพิจารณา จนกระทั่งบอร์ดมีมติให้ธนาคารปิด Position แต่นายพงษ์ศักดิ์ก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ช่วงกลางปี 2550 อัตราดอกเบี้ย LIBOR ลดต่ำลงอยู่ที่ 1-2% เอสเอ็มอีแบงก์ต้องจ่ายค่าปรับให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเพิ่มอีก 8% คิดเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท

กระทรวงการคลังสั่งให้บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ พบว่าช่วงที่เอสเอ็มอีแบงก์เปิดคัดเลือกที่ปรึกษาการเงินมาดำเนินการออกบัตรเงินฝาก FRCD ซึ่งอาจจะมีการให้คะแนนที่เอื้อประโยชน์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และกรณีเอสเอ็มอีแบงก์ทำสัญญาอนุพันธุ์ ป้องกันความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามที่บอร์ดมีมติ

ผลการสอบข้อเท็จจริงขณะนั้น สรปว่ามีผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่ดูแลสายงานบริหารเงินมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง 4 ราย ได้แก่ นายจงเจตน์ บุญเกิด, นางจิรพร สุเมธีประสิทธิ์, นายอวิลาส ชุณหกสิการ และนายอาทิตย์ ดั่นธนสาร บอร์ดจึงสั่งให้ฝ่ายกฎหมายส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนและดำเนินคดีอาญาต่อ

หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า การทำสัญญาว่าจ้างธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีการทุจริตเกิดขึ้นจริง หรือผู้บริหารระดับสูงของเอสเอ็มอีแบงก์กลุ่มนี้ไปทำสัญญาอนุพันธ์กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนอกเหนือจากที่บอร์ดเคยมีมติ สัญญาฯ จะถือเป็นโมฆะ เอสเอ็มอีแบงก์ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อบังคับให้เอสเอ็มอีแบงก์จ่ายค่าปรับตามสัญญา 3,000 ล้านบาท

เดือนพฤศจิกายน 2551 นายพงษ์ศักดิ์ยื่นใบลาออก นายโสฬส สาครวิศว ผ่านการสรรหาได้รับคัดเลือกเป็นเอ็มดี เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ธนาคารอยู่ในสภาพที่มีเอ็นพีแอลกว่า 40% ของสินเชื่อคงค้าง และธนาคารต้องตั้งสำรองค่าปรับ FRCD

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งผู้บริหารระดับสูงและพนักสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์ ถูกตั้งกรรมการสอบมาอย่างต่อเนื่องจนพนักงานเสียขวัญ ไม่กล้า ลงนามอนุมัติเงินกู้ เกรงว่าเมื่อปล่อยกู้ไปแล้วกลายเป็นเอ็นพีแอล จะถูกตั้งกรรมการสอบ ณ สิ้นปี 2552 เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเป็น 37% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 45,936 ล้านบาท

พนักงานเอสเอ็มอีแบงก์

ปลายปี 2552 นายโสฬสทยอยออกผลิตภัณฑ์สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสินเชื่อ SME Power, โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน เป็นต้น แต่กว่าจะเรียกขวัญให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติ นายโสฬสใช้เวลาเกือบ 1 ปี สิ้นปี 2553 เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 58,826 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลลดลงเหลือ 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ธนาคารมีกำไรสุทธิ 128 ล้านบาท

พอขั้วการเมืองเปลี่ยนจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคเพื่อไทย กระทรวงการคลังได้รับรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันที่ 31 มีนาคม 2554 ตรวจสอบพบเอสเอ็มอีแบงก์มีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่มากผิดปกติ จึงทำการตรวจสอบอย่างละเอียด พบความผิดปกติหลายประเด็น อาทิ เอสเอ็มอีแบงก์ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไม่ครบ หรือ “ตั้งสำรองขาด” 1,741 ล้านบาท หากตั้งสำรองหนี้ให้ครบจะทำให้ผลประกอบการปี 2553 เปลี่ยนจากกำไรสุทธิ 128 ล้านบาท เป็นขาดทุนสุทธิ 1,613 ล้านบาท ขณะที่ผลกำไรดังกล่าวธนาคารได้นำไปจัดสรรเป็นโบนัสพนักงานแล้ว

จากนั้น ธปท. ยังตรวจพบธนาคารปรับโครงการหนี้ให้กับลูกหนี้บางราย 11 ครั้ง โดยไม่มีลายเซ็นของลูกหนี้ (ลูกหนี้ไม่ทราบ) และยังอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่มีเครือข่ายกลุ่มเดียวกัน คิดเป็นเงินรวมเกิน 500 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด

กระทรวงการคลังสั่งให้บอร์ดฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงนายโสฬส และนอกจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว นายโสฬสยังถูกสอบอีกหลายเรื่อง อาทิ กรณีการปล่อยสินเชื่อโครงการชะลอการเลิกจ้างเกินวงเงินของโครงการ ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย, กรณีว่าจ้างบริษัทเข้ามาตกแต่งอาคารสำนักงานใหญ่ และสาขาของธนาคาร, โครงการจัดซื้อจัดจ้างระบบปฏิบัติการหลักของธนาคาร (CBS) สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่า นายโสฬสมีความผิดจริง ทำให้ในวันที่ 14 สิงหาคม 2556 บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์มีมติเลิกจ้างนายโสฬส

หลังจากที่นายโสฬสพ้นจากตำแหน่ง เอสเอ็มอีแบงก์เปิดสรรหาตัวเอ็มดีใหม่เกือบ 1 ปี รอบแรกไม่มีผู้บริหารจากหน่วยงานใดกล้ามาสมัคร ธนาคารต้องขยายเวลาการเปิดรับสมัครออกไป จนในที่สุดธนาคารก็ได้นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข อดีตผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์คนปัจจุบัน ซึ่งเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2556ที่ผ่านมา

รู้จัก”มนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข”

นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข
นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข

“มนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข” เอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์คนใหม่ ประกาศเดินหน้า พลิกฟื้นกิจการ คดีสอบทุจริตปล่อยเป็นหน้าที่บอร์ดฯ

นับจากวันที่บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์มีมติเลิกจ้างนายโสฬส สาครวิศว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 ช่วงต้นปี 2556 มีผู้สนใจยื่นใบสมัครขอรับการสรรหา 9 ราย แต่พอถึงโค้งสุดท้าย เหลือผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบ 3 คน คือนายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข อดีตผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.), นายเชาวรัตน์ เชาวน์ชวานิล อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และนายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ อดีตกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ปรากฏว่า อดีตผู้อำนวยการ อ.ต.ก. เป็นม้ามืดวิ่งเข้าเส้นชัยได้เป็นเอ็มดีคนใหม่ของเอสเอ็มอีแบงก์ ชนะคู่แข่งซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารสถาบันการเงินไปได้อย่างขาดลอย

การพบปะสื่อมวลชนก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง อดีตผู้อำนวยการ อ.ต.ก. สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าว่า“หลายคนไม่ค่อยทราบประวัติการทำงานของผม คิดว่าผมเติบโตมาจากสายเกษตรกรรม ถึงได้เป็นผู้อำนวยการ อ.ต.ก. แต่จริงๆ แล้ว ผมทำงานในแวดวงการเงินธนาคารมากว่า 20 ปี”

หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาการเงินและการธนาคารจาก San Diego State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มงานครั้งแรกเป็นโบรกเกอร์ ของกองทุนเฟิร์ส ยูไนเต็ด จากนั้นมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ M.L.STREN รับผิดชอบงานขายตราสารการเงิน และมาเป็นประธานบริษัท Continental money market

“กลับมาเมืองไทย ผมมาทำงานงานกับคุณณรงค์ ปัทมะเสวี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) นิธิภัทรในสมัยนั้น ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายหลักทรัพย์ ช่วงนั้นผมเป็นหนึ่งในคณะทำงานศึกษาจัดตั้งศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย”

ทำงานที่ บงล.นิธิภัทรได้สักพักหนึ่ง ก็ย้ายมาทำงานกับนายจุลกร สิงหโกวินท์ ซึ่งเป็นเอ็มดีของธนาคารเอเชีย ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ และเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บงล.มหาธนกิจของนายเจริญ ศิริวัฒนภักดี

จากนั้นย้ายมาทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ กรรมการบริหาร และเป็น 1 ใน 8 ของกรรมการ ING Regional Investment Management Committee ทำงานที่นี่จนครบวาระ ก็ลาออกมาลงสมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ต.ก.

“ช่วงที่ผมผ่านการคัดเลือกได้เป็นผู้อำนวยการ อ.ต.ก. พนักงานที่นั่นก็บอกว่าผมเป็นนายธนาคาร นักการเงินจะมาทำธุรกิจเกษตรได้หรือ แต่มันก็ผ่านมาได้ โดยที่ผมไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย และผมกล้าท้าให้ไปตรวจสอบประวัติการทำงานผมที่ อ.ต.ก. ได้เลย”

หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์แล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องปรับโครงสร้างองค์กร จัดทัพกันใหม่ โยกย้ายคนให้เหมาะสมกับงาน “Put the right man on the right job” เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้

ถัดมาก็ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาประนอมหนี้ และทำเรื่องขออนุมัติกระทรวงการคลัง จำหน่ายหนี้สูญ สำหรับหนี้ที่หมดอายุความไปแล้ว และของบประมาณจากรัฐบาลมาเพิ่มทุน 2,500 ล้านบาท แต่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพิ่มสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้สูงกว่า 8.5% ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.90% พร้อมที่จะอำนวยสินเชื่อช่วย เหลือเอสเอ็มอีต่อไป

“ส่วนเรื่องคดีต่างๆในอดีต เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และบอร์ดฯ เป็นผู้พิจารณา ในส่วนของผม วันนี้ผมขอลุยงานพลิกฟื้นให้แบงก์กลับมาแข็งแกร่งโดยเร็วที่สุด”

“ข้อมูลประวัติการทำงานนายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข”