ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ – “ประชาชนไม่ยอม!! ออกกฎควบคุมการใช้ไลน์” และ “ใครคือประมุขของประเทศ?”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ – “ประชาชนไม่ยอม!! ออกกฎควบคุมการใช้ไลน์” และ “ใครคือประมุขของประเทศ?”

17 สิงหาคม 2013


ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากสุดในโซเชียลมีเดียในรอบสัปดาห์ 11-17 สิงหาคม 2556

นาฬิกาเรือนแสนแพง ในรัฐสภา

ออกกฎควบคุมการใช้ ไลน์

ประชาชนปลื้ม ชัชชาติ ลองนั่งรถไฟไทย

ธาริต กับคำพูด ประมุขของประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี!

ส.ส. ประชุมสภานอนหลับ เล่น Candy Crush

เรื่องแรก ประเด็นให้ชวนวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มโครงการ กับการที่รัฐบาลไทยใช้งบประมาณกว่า 15 ล้านบาท ในการจัดซื้อนาฬิกาดิจิตอลรุ่นใหม่ เพื่อนำมาติดตั้งไว้ที่อาคารรัฐสภา จำนวนกว่า 240 เรือน โดยเฉลี่ยราคาเรือนละ 75,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศอีก 2 เครื่อง ในห้องเก็บขยะของทางรัฐสภา ทั้งยังมีการจ้างบริษัทเอกชนให้มารับขยะของทางรัฐสภาไปทิ้งในราคา 2.8 ล้านบาทต่อ 8 เดือน จากที่เคยว่าจ้างทางกรุงเทพมหานครให้มาขนขยะในราคา 10,000 บาทต่อปี

เรื่องนี้ทางโฆษกสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายนุกูล สัญฐิติเสรี ได้มีการออกมาชี้แจงผ่านสื่อว่า เหตุที่งบประมาณการติดตั้งนาฬิกาใหม่สูงถึง 15 ล้านบาทนั้น ไม่ใช่แค่งบจัดซื้อนาฬิกา แต่ยังรวมถึงค่าการติดตั้งและอุปกรณ์เสริมต่างๆ ด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าจัดซื้อนาฬิกา จำนวน 240 เรือน ราคา 8,000,000 บาท เฉลี่ยแล้วตกเรือนละ 33,333 บาท ส่วนอีก 7,000,000 บาท เป็นค่าระบบสนับสนุนอุปกรณ์ และสาเหตุที่นาฬิกามีราคาสูง เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษมากมาย อาทิ มีการเชื่อมต่อกับดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตกับนาฬิกาในเครือข่าย เพื่อความแม่นยำของเวลา หากเกิดขัดข้องหรือไฟฟ้าดับก็จะมีระบบสำรองทำงานอัตโนมัติได้อีก 8 ชั่วโมง เป็นต้น

ที่มาภาพ : http://empire-aum.blogspot.com20130875000.html
ที่มาภาพ: http://empire-aum.blogspot.com20130875000.html

โดยประเด็นของนาฬิกาที่รัฐสภานี้ ยังคงมีการพูดถึงในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการออกมาชี้แจงแล้วก็ตาม จนล่าสุดมีผู้โพสต์ภาพและข้อความแชร์ต่อกันในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นภาพที่เห็นว่านาฬิกาใหม่ราคาสูงของรัฐบาลเกิดขัดข้อง จอดิจิทัลดับ ไม่ปรากฏตัวเลขให้เห็น จึงทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ทางด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ปธ.วิปฝ่ายค้าน) ก็ได้โพสต์รูปนาฬิกาที่ติดตั้งอยู่ภายในอาคารรัฐสภา พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ Aoodda” โดยมีข้อความระบุว่า

“ว่ากันว่านาฬิกาสภายุคนี้ 200 เรือน เรือน ๆ ละ 75,000 บาท รวม 15 ล้านบาท มีคนบอกแพงที่สุดในโลก อีกเรื่อง ขณะที่เพดานรูโหว่กลับไม่จัดงบประมานซ่อม”

และชาวโลกออนไลน์ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอย่างมากมายเช่นกัน

“กระผมอยากถามว่า จำเป็นต้องซื้อนาฬิกาที่มันโก้หรู ทันสมัย ขนาดนี้หรือเปล่าครับกระผม ถ้าซื้อมาแล้ว มันสามารถทำให้ท่าน ส.ส. ทั้งหลายมาประชุมกันครบ มาตรงเวลา และทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนได้สมบูรณ์ ต่อให้เรือนละแสนกระผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกครับ”

“ถ้ามันเป็นเรื่องจริง คนที่ซื้อก็ต้องถูกลงโทษครับ ไม่เกี่ยวกับสีเสื้อหรอกครับ เพราะข้าราชการประจําเป็นฝ่ายจัดซื้อ และจะต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้”

“พวกที่ชอบเข้าข้างรัฐบาลไม่ว่าจะรัฐบาลไหนที่บริหารงานไม่เป็น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุร่ยสุ่ร่าย โกงเงินจากโครงการต่างๆ เวลาเข้าร้านสะดวกซื้อหรือร้านต่างๆ ที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ซื้อยาสีฟัน แป้ง ยาสระผม ฯลฯ ให้คิดด้วยว่าเงินที่เสียไปส่วนหนึ่งนั่นแหละที่เอาไปให้นักการเมืองผลาญ และโกงไป”

“ส.ส. มองนาฬิกาเรือนละ 3 หมื่นกว่าบาท ชาวนาเงยหน้ามองดูดวงอาทิตย์ เมืองไทยสุดยอดเลย”

“พวงเราทั้งหลาย ลองคิดดู นาฬิกาบ้านตัวเราเอง ยังต้องดูราคาและความเหมาะสมกับการใช้งานเลย ไม่มีใครที่จะซื้อนาฬิกาที่แพงกว่าปกติตั้ง 10 เท่า”

“นาฬิกาในอาคารต้องเชื่อมดาวเทียม??? เพื่อ??? ถ้าจะวางระบบขนาดนี้มีเชื่อมเนต ส่งสัญญาน นาฬิการุ่นนี้มันเชื่อมได้? แล้วเอานาฬิกาแพงมาเพื่อ?? จอแอลซีดี รุ่นราคาไม่กี่พันก็ทำได้ ถ้าระบบหรูขนาดนั้น ก็แค่ขึ้นบอกเวลา!!”

เรื่องที่สอง บ่นกันให้แซดตั้งแต่ต้นสัปดาห์ สำหรับแถลงการณ์จากสภาทนายความกรณีการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยจะมีการออกกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้แอพพลิเคชัน “ไลน์” (Line) ที่มีผู้นิยมใช้กันอยู่ทั่วโลก โดยที่ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ให้เหตุผลว่าเพื่อการป้องกันปัญหาการกระทบกับความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน และยังจะมีการประกาศจับตาเฝ้าระวังควบคุมสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อป้องกันการปล่อยข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและรัฐบาล อาทิ ข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติ-รัฐประหารที่จะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ถึงเรื่องสิทธิส่วนบุคคล

ที่มาภาพ : http://board.roigoo.com
ที่มาภาพ: http://board.roigoo.com

โดยทางศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่อง “สื่อออนไลน์กับความมั่นคงของชาติและรัฐบาล” ไว้ด้วย ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13–15 สิงหาคม 2556 จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,232 หน่วยตัวอย่าง ที่ใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ ดังนี้

สำหรับเรื่องการควบคุมการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชันไลน์ โดยอ้างว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.54 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการรับรู้ข่าวสาร ขณะที่ร้อยละ 20.29 เห็นด้วย เพราะถ้าเป็นข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงจริง ก็ควรจะมีการตรวจสอบ และร้อยละ 0.08 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

และเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการห้ามไม่ให้กดไลค์ (Like)/แชร์ (Share) ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลในสื่อออนไลน์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.18 ระบุว่า ไม่สมควร เพราะ รัฐบาลไม่ควรปิดกั้นประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากเกินไป ประชาชนควรที่จะมีสิทธิในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ร้อยละ 23.78 ระบุว่า สมควร เพราะ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐบาลรั่วไหลออกไป อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงลบ และสังคมออนไลน์การเผยแพร่ข้อมูลเป็นอย่างรวดเร็ว และยากต่อการตรวจสอบ และร้อยละ 0.16 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

และสุดท้าย ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.40 เห็นด้วยกับข้อความ “กดไลค์ (Like) ไม่ใช่อาชญากรรม” รองลงมา ร้อยละ 39.20 ไม่เห็นด้วยทั้ง 2 ข้อความ ร้อยละ 7.31 เห็นด้วยกับข้อความ “แค่กดไลค์ (Like) ก็ติดคุกได้” และร้อยละ 9.09 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

และเรื่องนี้ก็สร้างความไม่พอใจให้ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะหลายฝ่ายต่างมีความเห็นว่า ไลน์ คือพื้นที่ส่วนตัว และเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่ทุกคนต่างก็มีสิทธิในการตัดสินใจใช้งานได้เช่นกัน

“เพื่ออะไรประเทศไทยตำรวจไทย คิดได้แค่เนี่ย สงสัยคงไม่อยากมีความเป็นส่วนตัวกันเลยหรือไง แล้วกลัวไปพูดถึงใคร ถึงได้มาตรวจสอบ แค่คุยกันในไลน์ ขนาดเสรีภาพทางความคิดยังไม่ให้มีเลย”

“ธรรมชาติของคนไม่มีใครอยากถูกควบคุมตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาหรอกคับ แต่ก็เป็นธรรมชาติของคนอีกเช่นกันที่ชอบโทษคนอื่น เวลาตัวเองเดือดร้อนหรือมีปัญหาก็ว่าตำรวจทำงานล่าช้าไม่มีข้อมูล แต่พอเค้าจะตรวจสอบข้อมูลก็ทำตัวเป็นอิสระชน ไม่พอใจ ถ้าการตรวจสอบแค่นี้จะสามารถจับคนร้าย ป้องกันอาชญากรรมใด้ มันจะไม่ดีเหรอ อยากถามว่ากลัวอะไรกัน ถ้าคุณไม่ใช่คนร้ายที่คิดจะทำความผิด แล้วจะกลัวอะไรกับแค่การตรวจสอบ หัดทำความเข้าใจกับแนวความคิดของคนอื่นบ้างก่อนที่จะค้านไปซะทุกเรื่อง”

“ตอนสมัยเด็กๆ ผมคิดว่า “ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย” ตอนนี้ย่างก้าวเข้าสู่เยาวชนวัยรุ่น แล้วเจอข่าวแบบนี้ผมว่า “ต้องคิดใหม่””

“มันคือมุกใหม่ หรือครับ ที่ messi โฆษณา wechat ออกทีวี ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะครับ ที่มากับ บาร์ซ่าด้วย ทักษิณซื้อหมดแล้วครับ หรือจะใช่”

“เสียงส่วนใหญ่เลือกมาแล้ว จะแก้กฏหมาย จะปล้นชาติ จะโกงกิน จะละเมิดสิทธิใคร ก็ไม่ผิด เพราะคำว่า “เสียงส่วนใหญ่เลือกมา” นำมาใช้บังหน้าได้เสมอค่ะ”

“คิดได้ไง ถ้ากลัวกันขนาดนี้ ก็ดักฟังโทรศัพท์กันไปเลย ยกเลิกระบบสื่อสารทั้งหมด ปิดสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ ปิดให้หมดไปเลย ชาวบ้านเค้าประท้วงเพราะทำกันแบบนี้แหละ”

เรื่องที่สาม “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” เป็นข้อความที่ล้อเลียนการเดินทางของรถไฟไทยมาอย่างยาวนาน และยังไม่มีการปรับปรุงระบบใดของระบบรถไฟไทย จนล่าสุด มีการรายงานข่าวว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกเดินทางเพื่อทดลองขึ้นรถไฟชั้น 3 จากสถานีบางซื่อ มุ่งหน้าไปยังจังหวัดสุรินทร์ และผลปรากฏว่า ระหว่างที่นายชัชชาติ รอรถไฟ รถไฟก็มาช้ากว่ากำหนดประมาณครึ่งชั่วโมง โดยที่มีทีมงานของ รมว.คมนาคม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ของ รมว.คมนาคม ที่ใช้ชื่อว่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่า

“กำลังรอรถไฟชั้น 3 จากสถานีบางซื่อ เพื่อไปเข้าพื้นที่ตรวจงานที่จังหวัดสุรินทร์ ท่านฝากขอโทษที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่ได้เจอประสบการณ์จริง รถไฟตอนนี้ช้ากว่ากำหนดไปแล้วครึ่งชั่วโมงครับ”

ที่มาภาพ : http://news.mthai.comheadline-news262893.html
ที่มาภาพ: http://news.mthai.comheadline-news262893.html

ทั้งยังได้มีการโพสต์ข้อความต่อไปอีกว่า “วันนี้ ขึ้นรถไฟ ก็เลยได้มานั่งคุยกับพนักงานขับรถไฟและตำรวจรถไฟ เรื่องกระบวนการเดินรถ การสื่อสารภายในรถหากเกิดปัญหาขึ้น และการพัฒนาตัวรถไฟ สอบถามความเห็นของเจ้าหน้าที่เพื่อใช้ในการวางนโยบายต่อไปครับ”

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีการพูดถึงกันเนื่องจากว่า ปัญหาดังกล่าวนี้มีมาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขใด จนล่าสุดที่ รมว.คมนาคม ทดลองใช้บริการและสัมผัสด้วยตนเอง ประชาชนจึงตั้งตารอด้วยความหวังว่า จะมีแนวทางแก้ปัญหาที่ดีเกิดขึ้นในไม่ช้า

“อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำงานแบบนี้ ผมไม่สนหรอกว่าคุณจะสร้างภาพหรือไม่ แต่อย่างน้อยคุณก็ได้ใกล้ชิดประชาชน ได้สัมผัสปัญหาจริงๆ ไม่ใช่นั่งเทียนออกนโยบายโดยมองแต่ตัวเลขบนกระดาษที่คนชอบเลียเอามาเสนอ คนๆนี้ผมว่าโอเคอยู่ อย่างน้อยก็ไม่มีใครเคยทำได้ยาวนานขนาดนี้”

“บ้านเมืองจะปรองดอง มาจาก รัฐบาลที่ทำงานอย่างเต็มที่และไร้ซึ่งคอรัปชั่น แม้ผมจะไม่ชอบเสี้อแดง แต่ถ้ารัฐบาลภายใต้การเลือกตั้งของคนเสี้อแดงทำงานดี ผมก็สนับสนุนอยู่แล้วถ้าทำงานเก่ง + นิสัยดี ใครๆ ก็จะมาหาเรื่อง หรือระรานไม่ได้ แต่รัฐบาลตอนนี้คิดได้แค่ว่า นิรโทษกรรมคือปรองดอง”

“ท่านต้องลองนั่งสายเหนือครับ นอกจากมาสายแล้วยังถึงที่หมายช้ากว่าเวลาที่มาสายอีกเยอะ”

“สุดยอดครับ รมต ทรค คนนี้ อยากให้ กระทรวง อื่น มีคนเก่ง ๆ มีความสามารถตรงด้านแบบนี้บ้าง ไม่ใช่ไม่มีความรู้เลยเอามานั่ง รมต รมช เหมืออะไรนะ ict กับ พาณิชย์ ปวดหัวเลย”

“เป็น รมต คนเดียวในรัฐบาลนี้มั่งเนี่ยที่ทำงานจริงจัง ขอชื่นชม”

เรื่องที่สี่ จากการที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวการรับดำเนินคดี นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่โพสต์ภาพ นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางไปอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่บริเวณจุดชมวิว และยืนคู่กับป้ายอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่มีการตัดต่อเปลี่ยนคำว่า “ช้างป่า กระทิง” เป็นคำว่า “เสือ สิงห์ กระทิง”

โดยที่ช่วงหนึ่งของการแถลงข่าว (ตามคลิปเวลาประมาณนาทีที่ 11.02 ) นายธาริตได้พูดว่า “ดีเอสไอไม่ได้รับใช้การเมือง แต่ว่าประมุขของประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีถูกกระทำอย่างนี้ แล้วมันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และเป็นคดีในความรับผิดชอบของดีเอสไอก็ต้องดำเนินการ”

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่มาภาพ : http://www.youtube.comwatchv=-rh9MQgwxCc
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่มาภาพ: http://www.youtube.comwatchv=-rh9MQgwxCc

ข้อความของนายธาริต ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงกันอย่างมากมาย โดยที่ทางด้านนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มีการโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “Chuchart Srisaeng” โดยมีข้อความว่า

“รัฐธรรมนูญ มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่วันนี้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เปลี่ยนประมุขของประเทศเสียแล้วครับ นี่คือคำพูดของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ “ดีเอสไอ ไม่ได้รับใช้การเมือง แต่ว่าประมุขของประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีถูกกระทำอย่างนี้??? แล้วมันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และเป็นคดีในความรับผิดชอบของดีเอสไอก็ต้องดำเนินการ…”

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ เรียนจบนิติศาสตร์และเนติบัณฑิตไทย ต้องอ่านรัฐธรรมนูญออก จึงต้องรู้ว่าประมุขของประเทศไทยคือพระมหากษัตริย์

ทางด้านประชาชนชาวไทย ทั้งในและนอกโลกออนไลน์ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ พูดถึง และทวงถามความถูกต้องเกี่ยวกับถ้อยคำพูดดังกล่าว จนมีการประกาศนัดรวมพลชาวโซเชียลมีเดีย ผ่านหน้าเฟซบุ๊ก เพื่อไปทวงถามหาคำตอบที่หน้าดีเอสไออีกด้วย(ชมคลิป)

“ยกนายกเป็นประมุขแบบนี้ เข้าข่ายคดีพิเศษไหมล่ะครับเนี่ย หรือผิดธรรมนูญเลยดี ?”

“หมดกันความรู้สมัยเรียนมัธยมกู ผมจะกลับไปถามคุณครูว่าที่สอนผมว่าประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นี่มันถูกหรือผิด นี่สรุปว่าประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีนายกฯ เป็นประมุขหรอ”

“ผมอยากถามนะครับ ประมุขของประเทศไทย มีแบ่งฐานะด้วยหลอครับ ประมุขของประเทศไทย ก็คือ พระมหากษัตริย์ ในหลวงของเราชาวไทยองค์เดียวเท่านั้น !!! เพราะประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ประเทศไทยไม่มีประมุขของประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี”

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มิใช่เป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุข นายธาริตกรุณาทำความเข้าใจเสียใหม่โดยด่วน”

“ใช้คำว่าผู้นำการเมืองดีกว่าไหม? คำใดเหมาะที่จะใช้อย่างไร ไม่ใช่ใช้อย่างผิดๆถูกๆ ถึงนายกจะมีตำแหน่งใหญ่โต แต่คำว่าประมุขก็ยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อืม!! ถ้าหากคุณลืม ดูรัฐธรรมนูญหมวด1 มาตรา 2 นะ”

“กรรมบังคับให้เผลอปากพูดในสิ่งที่ใจคิด พลาดโดนกรรมเล่นงาน คราวนี้ธาริตไม่กล้าเดินบนถนนแน่ ไปไหนต้องปิดหน้า”

เรื่องที่ห้า เป็นอีกเรื่องที่หลุดจากสภา ในรอบสัปดาห์นี้ โดยชาวโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้มีการแชร์ภาพและข้อความจากเฟซบุ๊ก “ชูวิทย์ I’m No.5” กันเป็นจำนวนมาก โดยที่นาย ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้มีการบรรยาย ข้อความจากรูปดังกล่าว ไว้ว่า

“ผมละเบื่อ………..

ดูสิครับว่า ส.ส. แต่ละคนทำอะไรในช่วงประชุมสภาพิจารณาร่างงบประมาณประจำปี 2557 วันแรกเลิกเอาตี 2 วันที่สองเลิกตอนเที่ยงคืนกว่า เข้าใจว่างบประมาณฯเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพิจารณาตั้งแต่มาตรา 1 ถึง มาตรา 32 ส.ส. แต่ละคนเลย “อ่อนเพลีย” และ “เบื่อหน่าย” เพราะคนพูดก็พูดซ้ำๆ ผลลัพธ์รู้อยู่ว่า “เหมือนเดิม” แค่รอตอนกดบัตรลงคะแนน

ส.ส. ท่านหนึ่งหลับคาโต๊ะ อีกท่านหนึ่งควักเอา Ipad ที่สภาฯเพิ่งแจก ออกมาเล่นเกมส์ “Candy Crush” อย่างเมามันส์ คงต้องยอมรับล่ะครับ ว่ามันน่าเบื่อจริงๆหากประชุมนานกว่านี้ สงสัยได้มีคนเปิดหนัง X ดูแน่ๆ

ขอบคุณภาพเล่นเกมส์จาก Manager Online”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.comChuvitOnline
ที่มาภาพ :https://www.facebook.comChuvitOnline

โดยเรื่องนี้ ชาวสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย บ้างก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ที่นำไปเชื่อมโยงกับกรณีท่ีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จะมีการควบคุมการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกันบ้าง หรือความน่าเบื่อของรัฐสภาไทยกันไปต่างๆ นานา

” จะมี ผู้แทนราษฎร ไปทำไม เอาภาษีประชาชนคืนมา ให้ประชาชน โหวตเองก็ได้ โหวตทาง SMS ก็ได้ ไม่ต้องมาคิดแทนเบื่อจริงๆ ทำงานแบบนี้”

“ไอแพดที่พล่ามนักหนาว่าจะมีประโยชน์ เอาไปเล่นเกมส์ในการประชุมสภา ดีแท้ ภาษีประชาชนทั้งนั้น”

“เมื่อไหร่จะมีคนหน้าใหม่ๆ กลุ่มใหม่ๆ ที่ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ บ้าง”

“สส.ช่วยทำงานให้คุ้มเงินเดือนหน่อย เดือนนึงได้เป็นแสน นึกถึงทหารเสี่ยงตายอยู่ชายแดนใต้มั่งเงินเดือนนิดเดียว กินอยู่ลำบาก”

“สภาไทยนี้ดีนักหนา มีนาฬิกาเรือนเกือบแสน ห้องขยะก็ติดแอร์ บางทีประชุมกันเหนื่อย ก็ชวนกันออกกำลังกายด้วยการชกมวย เล่นเก้าอี้ดนตรี นายกแว๊ปมาบ้าง ไม่มาบ้าง เหนื่อยหนัก ประชุมนานก็พักผ่อน ไอแพดเขาแจกมา ก็เล่นเกมส์ ดูหนังโป๊ให้คุ้ม สบายใจจริงๆ กู้เงินมาตั้ง 2.2 ล้านล้าน ทำอะไรก็ได้เอาให้คุ้ม!!”

“บอกแล้ว Candy Crush นี่แหละมันบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ จับเลยค้าบคุณตำหนวด มันไม่มีความมั่นคงทาง Application เลย”