ThaiPublica > คอลัมน์ > HORMONES วัยว้าวุ่น: เหล้าเก่าในขวดใหม่ ดื่มยังไงก็เมาเท่าเดิม

HORMONES วัยว้าวุ่น: เหล้าเก่าในขวดใหม่ ดื่มยังไงก็เมาเท่าเดิม

11 สิงหาคม 2013


ณัฐเมธี สัยเวช

ทันทีที่มีข่าวออกมาว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทำท่าจะทำตัวเป็น คณะกรรมการกิจกรรมไม่ให้กระจายเสียง ไม่ว่าจะทางโทรทัศน์ หรือทางโทรคมนาคมแห่งชาติ (แน่นอน ก็ยัง กสทช.) ด้วยการเรียกผู้จัดทำซีรีส์ “HORMONES วัยว้าวุ่น” ให้มาชี้แจงในวันที่ 5 สิงหาคม 2556 (เลื่อนมาจากวันที่ 24 กรกฎาคม 2556) ด้วยเรื่องเนื้อหาของซีรีส์ดังกล่าว ต้องสงสัยว่าอาจผิดต่อมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 อันระบุว่า “ห้ามไม่ให้ออกอากาศเนื้อหารายการที่มีลักษณะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจารหรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง”

เพียงเท่านั้น สังคมออนไลน์ก็ลุกเป็นไฟ ทั้งจากคนที่ชื่นชอบซีรีส์ดังกล่าวด้วยช่วยเติมเต็มหรือย้ำเตือนถึงจินตนาการวัยรุ่นอันเลือนหาย หรือจากคนที่ไม่ได้อินังขังขอบอันใดกับซีรีส์ แต่มีหัวใจเสรีประชาธิปไตยอันเร่าร้อน

โดยข้อสังเกตที่คงจะทุกคนตั้งชูชันขึ้นมาในทันทีก็คือ เรื่องนี้จักต้องเป็นประเด็นศีลธรรมโดยแน่แท้

และสิ่งพ่วงที่พลุ่งพล่านตามมาทันทีก็คือ เสียงร้องทำนองว่า “ศีลธรรมของใคร” “จะปิดหูปิดตาประชาชนอีกแล้วหรือไร” “จะปฏิเสธความจริงไปทำไม” “สังคมมันก็เป็นแบบในซีรีส์นี้มาแต่ไหนแต่ในไร” “คิดว่าคนดูไม่มีวิจารณญาณหรืออย่างไร”

คำถามที่น่าจะลองตั้งขึ้นมาบ้างก็คือ ซีรีส์แบบฮอร์โมนนั้นทำให้ศีลธรรมเสื่อมจริงหรือ

ประเด็นทางศีลธรรมในฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ที่น่าจะสะท้าน “หัวใจไทย” มากที่สุดคงไม่พ้นเรื่อง “พฤติกรรมทางเพศ” ของเหล่าเด็กๆ มัธยมปลายในเรื่อง การมีเพศสัมพันธ์ในเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่หัวใจไทยย่อมมองว่าเป็นไปก่อนวัยอันควรอย่างไม่ต้องสงสัย ธรรมชาติบอกให้เรารู้ว่าเราทึ่งทึ่งโป๊ะทึ่งทึ่งกันได้แล้วผ่านการมีประจำเดือนและความสามารถในการเค้นเคลื่อนน้ำอสุจิ แต่เศรษฐกิจสังคมและค่านิยมนานาไม่อนุมัติ

เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์อันเป็นประเด็น

ซีรีส์เปิดตัวอย่างที่เรียกว่าคงดุและดันและบีบและคั้นหัวใจอนุรักษ์อันละเอียดและอ่อน ภาพของ ไผ่ สุดหล่อเลือดร้อนที่กำลังล้างหน้าและพบว่า สไปรท์ แฟนสาวของ พี่เป๊ก รุ่นพี่ที่เคารพรักออกมาจากห้องน้ำห้องหนึ่งในห้องน้ำชายต่อจาก วิน หนุ่มฮอตขวัญใจสาวๆ ในโรงเรียนในสภาพที่ต่างฝ่ายต่างก็กำลังจัดเสื้อผ้าให้เข้าที่เข้าทาง

แน่นอนว่า ภาพแบบนั้นคงไม่ได้บอกว่าทั้งสองคนเข้าไปรีดผ้ามา เว้นแต่คนดูจะไม่ประสาเรื่องอย่างว่าสักนิดเดียว

HORMONES วัยว้าวุ่น ๅทีมาภาพ : http://www.oknation.net
HORMONES วัยว้าวุ่น ๅทีมาภาพ : http://www.oknation.net

แค่นั้นศีลธรรมก็มีอันต้องหน้าง้ำหน้างอ หนุ่มสาววัยชุดนักเรียนล่อลับลับล่อในสภาพที่ทำให้เขตแบ่งแยกและกักกันเพศอย่างห้องน้ำชายไม่มีความหมาย ค่านิยมเรื่องความรักนวลสงวนตัวประหนึ่งถล่มทลาย ทั้งไม่วายทำให้ค่านิยมผัวเดียวเมียเดียวลุกเป็นไฟ

ไม่ใช่บนพื้นหรือผนังห้องน้ำ ไม่ใช่บนที่นั่งหรือฝาชักโครก แต่วินและสไปรท์ทำมันบนเส้นความหวั่นไหวแห่งจินตนาการเชิงศีลธรรมนานา และโอ้หลั่นล้ากันจนเจ้าเส้นที่ว่านั่นขาดผึง

ทั้งวีรกรรมของสาวสไปรท์ยังไม่จบสิ้น ด้วยแม้มีแฟนเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว แต่เธอก็เปิดโอกาสให้ตัวเองเสมอ ในตอนหนึ่งเธอยินดีจะให้ชื่อแอคเคาท์แอพพลิเคชันยอดนิยมอย่างไลน์กับเด็กชายต่างโรงเรียน และอีกตอนหนึ่ง ท่ามกลางศีลธรรมโบร่ำโบราณอันแลราวไม่สมเหตุสมผล เธอเกือบจะร่วมเพศกับนักเรียนชายอีกคนในปริมณฑลแห่งการสอนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างห้องวิทยาศาสตร์ และมันเกิดขึ้นในดินแดนอันมีฉากหน้าแสนบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าโรงเรียน

โรงเรียนในฐานะหนึ่งในแขนขาที่รัฐใช้ทาสีพลเมืองอย่างอำเภอใจก็มีอันต้องล่มสลายไปในการเหล่านี้…

วัยเรียน ชุดนักเรียน โรงเรียน พฤติกรรมทางเพศทั้งหลายปวงล้วนบังเกิดในดินแดนศักดิ์สิทธิ์อันศีลธรรมคาดหวังให้บริสุทธิ์โดยไม่หลุดเข้าไปในปริมณฑลของเพศสัมพันธ์ในทางปฏิบัติ ตัวละครอย่างสไปรท์ขยี้ทำลายความคาดหวังนี้จนหมดสิ้น

แน่นอนล่ะว่า ไม่เพียงแต่สาวๆ เพราะหนุ่มๆ ในเรื่องก็ทำอะไรแบบนี้เหมือนกัน แต่กับสังคมศีลธรรมที่ทัศนคติต่อพฤติกรรมทางเพศเอียงกะเท่เร่แล้ว การกระทำของสไปรท์ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมไหวที่มากมายยิ่งกว่า

นอกจากนี้ ปีกอันแก่กล้าและขาอันเขื่องแข็งของค่านิยมเรื่องความรักนวลสงวนตัวที่ผูกพ่วงกับผัวเดียวเมียเดียวยังสยายและเหยียบย่ำไปยังตัวละครอื่นๆ เต้ย ตัวละครหญิงวัยเดียวกันที่ในเรื่องไม่ระบุกลิ่นอายของการมีเพศสัมพันธ์ แต่การมีเพื่อนผู้ชายมากหน้าหลายตาก็ทำให้เธอถูกสังคมในละครลงโทษด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งต่อหน้าและหลับหลัง ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในเร้นเรื้อจากสองตาและสองหู เต้ยไม่ต่างจากสไปรท์ที่ถูกหญิงสาวร่วมโรงเรียนใช้ความรุนแรงทางอ้อมผ่านการนินทา และการลงโทษจากสังคมที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่เกิดแก่เต้ยก็คือ ตัวอักษรสีขาวตัวเบ้อเร่อที่เขียนด้วยลิควิดเปเปอร์ลงบนโต๊ะเธอเป็นคำว่า “อีแรด” และที่หนักหนาไปกว่านั้นคือการ “ดักตบ” ของ บี สาวรุ่นพี่ร่วมโรงเรียนที่ค่านิยมผัวเดียวเมียเดียวบิดผันกลายพันธุ์หรืออาจจะเรียกว่าเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงไปสู่อาณาบริเวณของการครอบครอง และมันทำงานอย่างเต็มที่จนมากพอให้เธอใช้ความรุนแรงทางตรงกับเต้ยเมื่อเข้าใจว่า วิน หนุ่มฮอตที่ตัวเองมีเพศสัมพันธ์ด้วยเรื่อยๆ โดยฝ่ายชายไม่ยอมผูกมัดกำลังสานสัมพันธ์ครั้งใหม่กับเต้ย และทั้งหมดทั้งมวลแห่งความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นนี้ถูกกำกับและเสริมกำลังด้วยความรุนแรงเชิงโครงสร้างอย่างค่านิยมเรื่องศีลธรรมทางเพศที่คอยกำกับบทบาทหน้าที่ความเป็นผู้หญิง

และยังมี ดาว เด็กสาวจอมจิ้นผู้หากดูตามท้องเรื่องแล้วก็พอเดากลายๆ ว่าถูกเลี้ยงดูมาอย่างไข่ในหิน หรือกล่าวในแง่ร้ายหน่อยก็คือนักโทษหญิงในแดนสตรีของเรือนจำที่เรียกว่าครอบครัวโดยมีผู้คุมคือแม่แท้ๆ ของตัวเอง ถ้าถามว่าดาวถูกขังแบบนั้นด้วยข้อหาอะไร คำตอบง่ายๆ คือเกิดเป็นผู้หญิง แต่สุดท้ายแล้ว เด็กสาวจอมจิ้นก็สูญเสียเวอร์จินอย่างอุกอาจในค่ำคืนหนึ่งในบ้านตัวเองทั้งที่มีพ่อแม่หลับอยู่อีกห้อง ดาวไม่ต้องแหกคุก หากเป็นมาตรฐานในการคัดเลือกผู้ชายของแม่เธอเองนั่นแหละ ที่กลายเป็นภาพลวงตาจนพาผู้ชายมาแหกคลุกอย่างอุกอาจถึงเพียงนั้น เป็นความย้อนแย้งที่ตลกโปกฮาอย่างร้ายกาจที่ความปรารถนาจะรักษาให้ดีที่สุดของผู้เป็นแม่กลับก่อเกิดการทำลายที่ผู้เป็นแม่หวาดกลัวที่สุดขึ้นเสียเอง

ในพรหมจรรย์ที่สูญเสียไป ที่ถูกทิ้งไว้ใช่เพียงรอยเลือดบนผ้าปูที่นอน หากยังมีดาวที่ต้องทุกข์ทรมานกับความกังวลว่าตัวเองจะต้ังท้องหรือไม่ โดยที่ฝ่ายชายนั้นหายไปราวกับเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งมวลนั้นเป็นเพียงการ “จิ้น” ของตัวเธอเอง ทั้งหมดทั้งมวลนั้นทำให้เห็นว่าศีลธรรมในสังคมยังทำงานแข็งขันอย่างร้ายกาจ ดาวไม่สามารถจะ “ช่างมันฉันไม่แคร์” ต่อเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เธอแปดเปื้อนและซักไม่ออกเหมือนผ้าปูที่นอนที่เปรอะคราบเลือด ชีวิตเธอแห้งเหือดด้วยแรงแผดเผาแห่งไฟผิดบาป

นั่นเป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่ง และคิดว่ามากเพียงพอสำหรับสังคมนี้ที่จะตีตราว่า HORMONES วัยว้าวุ่น มีเนื้อหาในทางพาศีลธรรมสังคมไปสู่ความเสื่อมทราม

ทว่า หากสรุปไปในทางนั้น ก็ชัดเจนว่าสังคมนี้มีความสามารถในการเสพสื่อได้แต่เพียงรูปแบบ หาใช่แก่นแท้อันใดของมัน

แน่ล่ะว่า หากดูตามที่เล่ามา หรือต่อให้เอาตาไปจรดในยูทูบเพื่อดูเอง พฤติกรรมของตัวละครนั้นดูจะไม่เพียงก้าวข้ามแต่ยังเหยียบย่ำศีลธรรมอย่างไม่ไว้หน้า ทว่า หากกล่าวกันจริงๆ แล้ว พฤติกรรมที่ “ผิดศีลธรรม” เหล่านั้นล้วนดำเนินไปในกรอบอันเข้มแข็งของศีลธรรม กล่าวคือ แม้จะมีพฤติกรรมราวกับไม่แยแสศีลธรรมอย่างนั้น แต่การที่พฤติกรรมของตัวละครทั้งหลายสามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางศีลธรรมได้ก็เพราะศีลธรรมในสังคมยังทำงานได้ดีอยู่ และรูปแบบฤติกรรมเหล่านั้นไปขัดกับศีลธรรมนั่นเข้าอย่างจัง

ตัวละครทั้งหลายเหล่านั้น พวกเขาและเธอล้วนเป็นปัจเจกผู้มีพฤติกรรมผิดแผกแตกต่างไปจากศีลธรรมอันสังคมคาดหวังผ่านเพศสภาพและสถานะที่ตัวเองเป็นและถูกกำหนดว่าต้องเป็น แต่พฤติกรรมเหล่านั้นก็ยังถูกกักกันอยู่ในศีลธรรมแบบเดิมๆ ดังที่ใช้กันอยู่ทุกวันวี่ ความทุกข์ทรมานทั้งปวงของตัวละครเหล่านั้นก็ล้วนเกิดจากความเข้มแข็งของศีลธรรมที่ทำงานอยู่ในสังคม ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เพราะตัวละครตัวใดตัวหนึ่งรู้สึกผิด หากแต่เพราะสิ่งที่ตนคิด เป็น และทำ กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ยากยิ่งจะอยู่ได้หรือเลวร้ายที่สุดคือไม่มีที่ทางอันใดในสังคมอีกต่อไป กลายเป็นตัวตนที่แปดเปื้อนทั้งในทางเพศและวัยและสถานะทางสังคม ต่อให้พฤติกรรมและความคิดของตัวละครพวกนี้แลดูจะก้าวข้ามขอบเขตของศีลธรรมไปแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ยังหนีมันไปไม่พ้น ยังต้องทุกข์ทรมานเพราะมัน โดนมันลงโทษ และสิ่งที่ทำให้ตัวละครพวกนี้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ไม่ใช่ความเสื่อมทรามของศีลธรรม หากแต่คือการดิ้นรนหาที่ทางที่ตัวเองจะอยู่ได้อย่างสบายใจ (แม่ที่ยอมรับ คนรักที่เข้าใจ เพื่อนฝูงที่ไม่ทำให้เขาและเธอรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก) ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร หากคือหนทางที่ผู้ผิดแผกตัวเล็กๆ ทุกยุคทุกสมัยล้วนดิ้นรนกันมาด้วยตัวเอง

ที่มาภาพ : http://i1.ytimg.com/vi/wgane41_ZwQ/maxresdefault.jpg
ที่มาภาพ : http://i1.ytimg.com/vi/wgane41_ZwQ/maxresdefault.jpg

ดังนั้นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าต้องกังวลว่าละครอย่าง HORMONES วัยว้าวุ่น จะทำให้ศีลธรรมเสื่อมทรามลง เพราะแก่นแกนศีลธรรมในสังคมนอกจอยังคงทำงานอย่างขันแข็งแม้กระทั่งในรูปแบบพฤติกรรมอันแลดูเหมือนจะไม่แยแสต่อมัน ทั้งมันยังลามเลียไปกำกับเนื้อหาในซีีรีส์ และหากกล่าวกันให้ถึงที่สุด ละครอย่าง HORMONES วัยว้าวุ่น อาจไม่สามารถทำให้คนตั้งคำถามว่าศีลธรรมอันขันแข็งที่มีอยู่ในสังคมนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมแก่ยุคสมัยหรือไม่ด้วยซ้ำ ซ้ำร้ายยังเหมือนให้คำตอบภายใต้กรอบแข็งขันของศีลธรรมเดิมๆ การตั้งคำถามต่อการแต่งเครื่องแบบนักเรียนที่วินจุดขึ้นมาในตอนแรกของซีรีส์ ถูกดับโดยง่ายด้วยคำตอบของครูอ้อที่เป็นไปในทำนองว่า “ที่ที่เราอยู่มีกฎอย่างไรก็ปฏิบัติตามไปอย่างนั้น” ไผ่ขอเลิกสัมพันธ์กับสไปรท์เพราะพฤติกรรมก่อนเก่าเป็นเชื้อไฟแห่งความไม่ไว้ใจที่ตัวเขาไม่อาจดับมันได้ ไผ่เลือกจะยุติความรุนแรงและสยบยอมต่อคำทำนายของพระด้วยการหันหน้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ดาวถูกคนเขียนบททำตัวเป็นพระเจ้าด้วยการตบหัวเธอให้ทุกข์ทรมานกับความกังวลว่าจะตั้งครรภ์แล้วจากนั้นก็ลูบหลังด้วยการสั่งให้ประจำเดือนมาเหมือนกับว่าเป็นการให้โอกาสกลับตัว หากว่ากันตามกล่าวมาทั้งหมดนี้แล้ว สิ่งที่ซีรีส์อย่าง HORMONES วัยว้าวุ่น ทำได้ก็เพียงให้ผู้ถือศีลธรรมดั้งเดิมเต้นเร่าๆ ด้วยแรงเร้าจากภาพพฤติกรรมอันหวือหวาเท่านั้นเอง

กระนั้น อย่างน้อย นั่นก็อาจช่วยสะท้อนศักยภาพ “การอ่าน” ของผู้มีศีลธรรมที่ออกมาเต้นเร่าๆ ได้ค่อนข้างดี

ประเด็นถัดมา ต่อกรณีการตื่นตูมซึ่งวี่แววจะโดนแบน คำตอบโต้หนึ่งต่อ กสทช. ที่ดาดดื่นเป็นอันมากก็คือ “คนดูมีวิจารณญาณ” หรือ “คิดเองเป็น”

ปัญหาอย่างหนึ่งเมื่อพูดถึงวิจารณญาณภายใต้ประโยคที่ว่า “คนดูมีวิจารณญาณ” ก็คือ ผู้คนนั้นมีจินตนาการต่อคำว่าวิจารณญาณอย่างต่างกัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องดีในแง่ของความหลากหลาย แต่เราก็ควรจะได้ตระหนักซึ่งรายละเอียดของความหลากหลายนั้นด้วย เพราะในขณะที่กล่าวอย่างนั้น บางคนอาจคิดว่าผู้คนนั้นมีความรูดีรู้ชั่วภายใต้มาตรฐานของคนกล่าว แต่บางคนกำลังคิดว่าไม่มีดีชั่วอันใดทั้งนั้น ไม่มีวิจารณญาณอันใดที่ร่วมกัน หากแต่ทุกคนล้วนมีวิจารณญาณอันแตกต่างหลากหลายออกไปอย่างสมแก่ภูมิหลังทางความรู้ความคิดชีวิตประสบการณ์ที่ตนมี ซึ่งกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว อาจไม่มีใครมีวิจารณญาณเลยก็ได้ เพราะต่างก็มีทัศนคติต่างกันไป แต่ในขณะเดียวกัน สภาวะประหนึ่งไม่มีวิจารณญาณร่วมเลยดังกล่าวนั้น ก็เป็นสภาวะความมีวิจารณญาณที่แท้จริงที่เหมาะแล้วแก่ฐานการเคารพเสรีภาพทางความคิดของปัจเจก เพราะคือการยอมรับถึงการมีตัวตนของความแตกต่างหลากหลายอย่างที่สุดจนถึงระดับความคิด

การจะต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการที่จะได้รับชมหรือเสพสิ่งใดนั้น การที่เราจะต่อสู้บนฐานข้อหักล้างการเซนเซอร์ที่ว่า “คนดูมีวิจารณญาณ” นั้นยากเย็นจนอาจบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะแท้จริงแล้ววิจารณญาณในมุมของคนดูนั้นมีความแตกต่างกับวิจารณญาณในมุมมองของรัฐอยู่ วิจารณญาณในมุมมองของรัฐนั้นคือมาตรฐานความเหมือนกันอันเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกมิได้ เป็นวิจารณญาณที่ไม่มีพื้นที่ให้ความหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อสะดวกดายแก่การควบคุมสังคมให้อยู่ในความสงบราบคาบ หากแต่วิจารณญาณในมุมมองของคนดูหรือพลเมืองนั้นมีความหลากหลายทั้งในแนวราบและในแนวดิ่ง ในแนวราบคือสามารถมองสิ่งหนึ่งด้วยมุมมองที่หลากหลาย ใช้ชุดความคิดอันแตกต่างกันอย่างมากมายมาจับ และในแนวดิ่งคือ มีระดับความมากน้อยของปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ตัวเองรับชมนั้นลดหลั่นกันไป ดังนั้น หากอิงกับแนววิจารณญาณแห่งรัฐดังกล่าวแล้ว วิจารณญาณของพลเมืองจึงเป็นอันตรายต่อการดำรงความสงบราบคาบของรัฐโดยสิ้นเชิง

การต่อสู้โดยการบอกว่าคนดูนั้น “คิดเองได้” จึงอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม อาจถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ หรือหากจะเป็นไปได้ก็ด้วยความยากเย็นแสนเข็ญราวศึกพันปี เพราะการคิดเองได้ของคนดูนั้นนำมาซึ่งความแตกต่างหลากหลายทางความคิด และความคิดเหล่านั้นสามารถขัดแย้งกัน ซึ่งสำหรับรัฐที่ขี้ตื่นตระหนกเห็นอะไรในสังคมไม่สอดคล้องไปในทางเดียวกันก็ตันอกตึงหัวหวาดกลัวไปเสียหมด เพราะจ่อมจมอยู่ในการประนีประนอมด้วยความเงียบอย่างไม่ลืมหูไม่ลืมตามากกว่าถกเถียงด้วยเหตุผลจนค้นพบปลายทางแห่งการอยู่ร่วมกัน ในรัฐอันไร้เสรีและก็ดูจะลักลั่นด้วยไม่มีวิจารณญาณเสียเองพรรค์อย่างนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมรับซึ่งการมีวิจารณญาณของพลเมืองอันจะนำมาซึ่งความหลากหลายในความคิด

และเมื่อกล่าวอย่างนั้น เมื่อมีการเซนเซอร์ต่างๆ อาจไม่ได้หมายความว่ารัฐเห็นพลเมืองไม่มีวิจารณญาณ รัฐอาจเห็นว่าพลเมืองนั้นมีวิจารณญาณ หากแต่วิจารณญาณนั้นไม่เป็นไปในแนวทางอันพึงประสงค์แห่งรัฐ การปฏิบัติการของรัฐจึงออกมาในลักษณะของการมองว่าพลเมืองนั้นไม่มีวิจารณญาณ ซึ่งนี่คือนัยยะของการปฏิเสธความหลากหลายของพลเมือง ปฏิเสธในสิ่งอันเป็นเสรีภาพในปริมณฑลอันควรจะเสรีที่สุดของมนุษย์อย่างความคิดในหัวกระบาลของปัจเจกนับล้านที่เป็นพลเมือง และนั่นคือการกระทำอันต่ำตมที่สุดของรัฐที่อ้างตนว่าปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันแท้จริงแล้วสิทธิเสรีภาพของปัจเจกนั้นเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อน แล้วให้ปัจเจกได้มีโอกาสแสดงความแตกต่างออกมาเพื่อหาทางประนีประนอมความแตกต่างนั้นเพื่อหากฎเกณฑ์ต่ำสุดที่จะทำให้ทุกความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้มากที่สุด โดยกระทำการเหล่านั้นไปบนพื้นฐานและช่องทางอันมีอยู่ตามวิถีประชาธิปไตยอันควรเป็น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าเช่นนั้นแล้วก็พับเสื่อ กลับบ้าน เลิกต่อเลิกสู้มันเสีย ไม่ใช่ หากแต่คือการอยากให้ทบทวนว่า ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะสู้ต่ออย่างไร

รัฐกำลังหวาดกลัว รัฐอันตกติดในความคิดอันโบราณคร่ำครึกำลังหวาดกลัว การเอาความหลากหลายไปเทใส่จะยิ่งโหมไฟแห่งความหวาดกลัวของรัฐใช้ลุกโชน การตั้งคำถามกับรัฐอย่างทำนองแบบผู้ฝักใฝ่ความแตกต่างหลากหลายบนพื้นฐานเสรีภาพของปัจเจกรังแต่จะทำให้รัฐต้องหวาดกลัวมากขึ้น เพราะสิ่งที่รัฐเห็นคือความแตกต่างหลากหลายนับล้านที่ความคิดอันโบร่ำโบราณเป็นอัมพาตจนไม่อาจจัดการได้ สิ่งที่ดีกว่าอาจคือการทำให้รัฐเห็นว่าแม้สิ่งที่รัฐกลัวนั้นจะเกิดขึ้นมาจริง แต่มันไม่ใช่อะไรที่น่ากลัวอย่างที่รัฐจินตนาการไว้ มันอาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมดาที่ไม่รุนแรงพอจะเรียกว่าปัญหาเสียด้วยซ้ำ

ทางออกที่ดีคือการยอมรับสภาพสังคมในแบบที่มันเป็น แล้วหาทางจัดการกับมันในแบบที่สอดคล้องกับที่มันเป็น ยอมรับเถิดว่าศีลธรรมแบบเดิมนั้นเสื่อมอำนาจในการควบคุมไปแล้ว อาจไม่ใช่เพราะมันไม่ดี แต่เพราะมันไปกันไม่ได้กับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มันอุ้มชูคนในสังคมไม่ได้ ซ้ำร้ายมันยังคอยทำร้ายและไม่ให้โอกาสคนที่ทำตัวผิดแผกไปจากศีลธรรมเดิมนั่น และเอาเข้าจริง ที่ศีลธรรมมันเสื่อมก็เพราะเที่ยวมองทุกอย่างให้เป็นเรื่องศีลธรรม หรือพูดให้ถึงที่สุด เราไม่ได้กำลังเผชิญกับความเสื่อม แต่เรากำลังเผชิญกับการล้นทะลักของความจริงที่นับวันยิ่งถูกเปิดเผยออกมา

การปฏิเสธมันก็เหมือนยังดื้อด้านทำตัวเหมือนเมื่อยังปรกติดีทั้งที่รู้แก่ใจว่ามีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย ถ้ารัฐยังดึงดันจะมองมันราวกับเป็นแผลฉกรรจ์ ก็ควรรู้ว่าแค่เพียงหลับตาหรือเอาผ้าคลุมแผลไว้ไม่ได้หมายความว่าเราจะรอดชีวิต และการตัดไฟต้นลมแบบการเซนเซอร์นั้นไม่สามารถยับยั้งปัญหาอะไรได้อีกต่อไปแล้ว ในขณะที่รัฐยังถือกะลาใส่น้ำดับไฟ แต่ผู้คนทุกวันนี้แทบจะดีดนิ้วก็จุดไฟขึ้นมาได้ สิ่งที่รัฐควรทำอาจไม่ใช่การพยายามดับไฟด้วยการวิ่งไล่เอาน้ำในกะลาไปราด แต่คือการคิดว่าเราควรจะอยู่กับไฟเหล่านั้นอย่างไร

เพราะในขณะที่รัฐมองว่ามันเป็นไฟที่เผาผลาญทำลายทุกสิ่งให้สิ้นไป พลเมืองทั้งหลายอาจมองแค่ว่ามันเป็นไฟที่ให้ความอบอุ่นแก่ตัวเอง ความอบอุ่นที่โอบกอดอันเย็นเยียบไร้หัวใจแห่งวิจารณญาณรัฐไม่เคยมอบให้พวกเขาได้ ซ้ำยังอาจคอยทำร้ายพวกเขาด้วยซ้ำ