ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” คัดค้าน ปปง. อายัดทรัพย์ อ้างบกพร่องโดยสุจริต – คดีหมดอายุความ

“ศุภชัย ศรีศุภอักษร” คัดค้าน ปปง. อายัดทรัพย์ อ้างบกพร่องโดยสุจริต – คดีหมดอายุความ

22 สิงหาคม 2013


นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ให้สัมภาษณ์วันที่ 16 สิงหาคม 2556 ที่ดีเอสไอขณะมารับทราบข้อกล่าวหา

จนถึงขณะนี้ สถานการณ์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยังไม่สามารถถอนเงินได้ และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ฯคลองจั่น แม้จะถูกอายัดทรัพย์สินฐานยักยอก รวมทั้งถูกฟ้องดำเนินคดีหลายคดี ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อคัดค้านการอายัดทรัพย์จำนวน 386 รายการ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ทั้งนี้การยื่นทำหนังสือคัดค้านดังกล่าวได้นับเวลาหลังรับหนังสือแจ้งการอายัดทรัพย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556

นายศุภชัยคัดค้านในประเด็น 1. กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง โดยหนังสือระบุว่ากรมสอบสวนพิเศษแจ้งข้อกล่าวหาตนฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353, 354 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 โดยกล่าวหาว่าตนและพวกกระทำผิดระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2555 ซึ่งคณะอนุกรรมการธุรกรรม ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้อายัดทรัพย์ตนและพวกหลายรายการ โดยอาศัยมูลฐานความผิดฐานยักยอก และใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 ซึ่งไม่มีผลย้อนหลังมาบังคับใช้ให้เป็นผลร้ายกับตนและพวกและประชาชน

โดยอ้างว่าพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 มีขึ้นหลังจากตนกับพวกได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาไปแล้ว จึงไม่มีผลย้อนหลังตามหลักกฎหมายทั่วไปที่บังคับใช้กันทั่วโลก ดังนั้น เมื่อกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังก็ต้องถือว่าขณะที่ตนกับพวกกระทำการดังกล่าวไม่มีมูลฐานความผิดฐานยักยอก จึงขอให้คณะกรรมการธุรกรรมสั่งเพิกถอนการอายัดทรัพย์

2. ประเด็นฐานยักยอก นายศุภชัยระบุว่า บุคคลที่กระทำผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 ผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตจึงจะมีความผิดตามข้อกล่าวหา แต่ตนกับพวกไม่มีเจตนาทุจริตใดๆ ทั้งสิ้น เพราะตนไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากการให้สมาชิกสมทบกู้เงินในครั้งนี้ และการให้สมาชิกสมทบกู้เงินเป็นเรื่องทางแพ่ง ไม่ใช่ความผิดทางอาญา

นายศุภชัยระบุว่า การปล่อยกู้ดังกล่าวเป็นการหารายได้ดอกเบี้ยให้สหกรณ์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของประธานกรรมการดำเนินการ หากมีการบกพร่องในการให้กู้ยืมก็เป็นเรื่องผิดระเบียบ ผิดข้อบังคับสหกรณ์ในทางแพ่ง ไม่มีมูลความผิดทางอาญาแต่อย่างใด

3. คดีนี้ขาดอายุความร้องทุกข์แล้ว นายศุภชัยระบุว่าพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับตนและพวกฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ โดยอ้างว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2555 คดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด

นายศุภชัยพยายามชี้ว่า การที่นายมณฑล กันล้อม อดีตประธานกรรมการดำเนินการชุดที่ 28 ได้ฟ้องร้องคดีการให้กู้แก่สมาชิกสมทบ 27 ราย เป็นเงิน 13,846.44 ล้านบาท เป็นเรื่องที่นายมณฑลซึ่งอยู่ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของสหกรณ์จะต้องรู้เห็น และทราบเรื่องมาตลอด เพราะในการประชุมใหญ่ทุกปี จะมีการแถลงบัญชีการเงิน บัญชีงบดุล นอกจากนี้ สำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น โดยหนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่าการปล่อยกู้สมาชิกสมทบ 27 ราย มีข้อบกพร่องอย่างไร เป็นการแสดงให้ผู้บริหารสหกรณ์รู้เห็นรับทราบแล้วว่ามีการทุจริต และรู้แล้วว่าตนกับพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต ดังนั้น นายมณฑลย่อมทราบถึงการกระทำที่อาจเป็นความผิดยักยอกในคดีนี้ โดยทราบเรื่องการยักยอกทรัพย์รายนี้มาตั้งแต่ปี 2550-2556 ว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับการที่สหกรณ์ให้สมาชิกสมทบ 27 รายอย่างแน่นอน

นายศุภชัยระบุว่า เมื่อนายมณฑลขึ้นมาเป็นประธานกรรมการดำเนินการในเดือนมีนาคม 2555 ในฐานะตัวแทนสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น นายมณฑลต้องทราบถึงการยักยอกดังกล่าวด้วย เพราะนายมณฑลทราบการกระทำผิดมาก่อนดำรงตำแหน่งแล้ว ครั้นนายมณฑลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการในเดือนมีนาคม 2555 ก็ถือว่าสหกรณ์เครดิตยูเนียนอยู่ในฐานะผู้เสียหาย และนายมณฑล ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ ได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด (กล่าวหานายศุภชัยและพวกกระทำความผิดฐานยักยอก)

นายศุภชัยระบุต่อว่า ดังนั้น การนับอายุความร้องทุกข์ในคดีนี้จึงต้องเริ่มตั้งแต่วันที่นายมณฑลขึ้นเป็นประธานกรรมการดำเนินการ คือเดือน มีนาคม 2555 และอายุความร้องทุกข์คดีนี้จะสิ้นสุดในเวลา 3 เดือน คือ ปลายเดือนมิถุนายน 2555 แต่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามเพื่อดำเนินคดีกับตนและพวกในวันที่ 5 เมษายน 2556 ซึ่งเกินเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คดีนี้จึงขาดอายุความร้องทุกข์แล้ว

นายศุภชัยได้ระบุว่า ในระหว่างปี 19 ตุลาคม 2550 – 1 มีนาคม 2555 ผู้บริหารสหกรณ์มีใครบ้าง ทั้งนี้มีนายศุภชัยนั่งบริหารด้วย (ดูกราฟฟิกประกอบ)

ผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนียน

4.เรื่องการทุจริต ในประเด็นนี้ นายศุภชัยระบุว่าทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้แนะนำให้สหกรณ์ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบสหกรณ์ โดยให้เรียกหนี้คืนหรือเร่งรัดการชำระหนี้ ข้อแนะนำดังกล่าวแสดงว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องหรือผิดระเบียบเท่านั้น ไม่ได้ทุจริตแต่อย่างใด

5. การที่กระทรงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ทั้งประเทศ ไม่ได้มีคำสั่งปลดตนออกจากตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นนั้น เพราะเห็นว่าตนไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมกับอ้างกรมสอบสวนพิเศษเมื่อเมษายน 2556 ว่าตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วไม่พบการกระทำผิด

นอกจากนี้ นายศุภชัยยังได้ชี้แจงแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่ถูกอายัดว่าได้มาจากการทำธุรกิจชิปปิง รับส่งสินค้าเข้าและออกระหว่างประเทศ และรายได้ที่มาจากการลงทุนในตราสารหนี้ระหว่างประเทศ มาเป็นเวลานานและมีรายได้สูงมาก นอกจากนี้ยังระบุว่าอีกว่า ยังมีรายได้จากธุรกิจอื่นๆ อีก ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำมาซื้อทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ทั้งหมด

ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ถึงเลขาธิการปปง.ว่าทรัพย์สินที่ถูกอายัดไม่ได้รับการรักษาดูแลที่ดี จึงขอมาเก็บรักษาเอง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

แหล่งข่าวจากพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวว่า ขณะนี้ได้เรียกลูกหนี้สมาชิกสมทบ 27 ราย มาให้ปากคำบางส่วนแล้ว โดยร้อยละ 70 ของลูกหนี้ให้การยืนยันว่าไม่ได้กู้เงินจากสหกรณ์ ถูกปลอมแปลงสัญญาเงินกู้และลายเซ็น แต่เนื่องจากพบว่าลูกหนี้บางรายมีความใกล้ชิดกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร พนักงานสอบสวนจึงให้ตัวแทนลูกหนี้คัดลายมือ โดยเฉพาะชื่อ-นามสกุล เพื่อนำส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ให้ตรวจสอบว่าเหมือนกับลายเซ็นที่ปรากฏในสัญญาเงินกู้หรือใบรับเงินหรือไม่

นายนพดล อุเทน ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติงานคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กล่าวว่า คำคัดค้านการอายัดทรัพย์ชั่วคราวของนายศุภชัย ซึ่งมาชี้แจงที่ ปปง. เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม โดยให้เหตุผลเรื่องคดีหมดอายุความ และไม่สามารถยึดทรัพย์ย้อนหลังโดยอาศัยกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับที่ 4(บังคับใช้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556) ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุคัดค้านการยึดทรัพย์ได้ เพราะคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่นตรงกับ “ความผิดมูลฐาน” ตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน (18) ความผิดเกี่ยวกับฉ้อโกงหรือยักยอก อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เรื่องอายุความจะนับจากผู้มีส่วนได้เสียเริ่มทราบการกระทำความผิด ดังนั้น สมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่ก็ล้วนเพิ่งทราบการกระทำความผิด จึงสามารถมาร้อง ปปง. ฐานยักยอกเงินโดยที่ไม่ขาดอายุความ นอกจากนี้ ประเด็นการยึดทรัพย์ย้อนหลังตามกฎหมาย การยึดทรัพย์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม เป็นการยึดตามคดีแพ่ง ซึ่งศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษา (ดูหมวด2ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด) ว่ายึดทรัพย์ได้โดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นการกระทำความผิดก่อนหรือหลัง พ.ร.บ. บังคับใช้ เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ใช่โทษทางอาญา จึงมีผลบังคับใช้ย้อนหลังได้

เจ้าหน้าที่ปปง.และดีเอสไอ ตรวจสอบห้องทำงาน นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อาคาร u-tower ที่มาภาพ : facebook เกลียวเชือก
เจ้าหน้าที่ปปง.และดีเอสไอ ตรวจสอบห้องทำงาน นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อาคาร u-tower เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ที่มาภาพ : facebook เกลียวเชือก

นอกจากนี้ นายนพดลกล่าวอีกว่า ถ้ามีบุคคลใดที่มีพฤติกรรมช่วยเหลือนายศุภชัยโอนถ่ายทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หรือหุ้นในบริษัท เพื่อปกปิดซ่อนเร้น อำพราง อาจถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงินพ่วงไปด้วย ส่วนการติดตามยึดทรัพย์สินขณะนี้ยังพบเพิ่มเติมแต่ไม่สามารถเปิดเผยจำนวนได้ ขณะนี้ ปปง. ก็พยายามดำเนินการให้เร็วและรัดกุมมากที่สุด