ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เครือ “รัฐประชา” ฟ้อง “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” ปลอมสัญญากู้เงิน และ สหกรณ์ครูปทุมฯ ฟ้อง”สหกรณ์ฯ คลองจั่น” เรียกเงินฝาก 800 ล้านคืน

เครือ “รัฐประชา” ฟ้อง “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” ปลอมสัญญากู้เงิน และ สหกรณ์ครูปทุมฯ ฟ้อง”สหกรณ์ฯ คลองจั่น” เรียกเงินฝาก 800 ล้านคืน

12 สิงหาคม 2013


สำนักข่าว ไทยพับลิก้าได้เกาะติดวิกฤติสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ซึ่งในขณะนี้สหกรณ์ฯมีปัญหาการขาดสภาพคล่อง
รวมทั้งมีการดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวก ผู้บริหารสหกรณ์ในข้อหายักยอกเงิน

ล่าสุด นายกิตติก้อง คณาจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามคดีฟอกเงินและยาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ประธานกลุ่มบริษัทรัฐประชา และประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชา ซึ่งถูกระบุว่าเป็นลูกหนี้สมาชิกสมทบของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ตามที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอก่อนหน้านี้ (เจาะ 27 ลูกหนี้สมทบ ความผิดปกติเงินกู้หมื่นล้าน (2) -แกะรอย”รัฐประชา” ใช้เครือข่ายเดียวกันกู้กว่า 1,700 ล้าน) ได้ติดต่อดีเอสไอเพื่อเข้าชี้แจงในสัปดาห์นี้ หลังจากที่เข้าชี้แจงกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แล้ว

หมู่บ้านจัดสรร รัฐประชาธานี เป็นที่ตั้งเดียวกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชา จำกัดและบริษัทรัฐประชา จำกัด
หมู่บ้านจัดสรร รัฐประชาธานี เป็นที่ตั้งเดียวกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนรัฐประชา จำกัด และบริษัท รัฐประชา จำกัด

ทั้งนี้ได้ยืนยันในเบื้องต้นว่าไม่ได้กู้เงินจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น แต่ถูกสหกรณ์ฯ คลองจั่นปลอมลายเซ็นและเอกสารกู้เงิน ซึ่งสอดคล้องกับคดีที่ยื่นฟ้องสหกรณ์ฯ คลองจั่นและนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ที่ศาลอาญา เป็นคดีดำ อ.2645/2556 ฟ้องที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 โดยโจทก์คือบริษัทรัฐประชา โดยนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ส่วนจำเลยมี 5 คน ได้แก่ 1. สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น 2. นายศุภชัย ศรีศุภอักษร 3. นายลภัส โสมคำ 4. นายธนากร นำบัณฑิต 5. นายกฤษฎา มีบุญมาก ด้วยข้อกล่าวหาปลอมเอกสาร, ใช้เอกสารปลอม ซึ่งคำฟ้องจำเลยที่ 1 ถึง 5 ปลอมหนังสือสัญญากู้เงิน โดยปลอมลายมือชื่อของนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ในช่องผู้กู้อันเป็นความเท็จ โดยจำเลยที่ 1-3 ร่วมกันลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้กู้ และจำเลยที่ 4-5 ลงชื่อในฐานะพยาน และเผยแพร่เอกสารดังกล่าวแก่สื่อมวลชน โดยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 ศาลอาญามีคำพิพากษา ให้โอนคดีดังกล่าวไปยังศาลแขวงพระนครเหนือเพื่อพิจารณาคดีต่อไป

นอกจากนี้ยังมีคดีที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานีฟ้องเรียกเงินฝากคืนจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น ซึ่งสหกรณ์ฯ ปทุมฯ นับเป็นสหกรณ์ฯ แรกที่ฟ้องร้องคดีดำเลขที่ 3127/2556 ที่ศาลแพ่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 เพื่อทรัพย์คืน จำนวน 811.14 ล้านบาท โดยมีโจทก์คือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานี จำกัด จำเลยคือสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด

นายสมมาตร ชิตญาติ ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานีกล่าวว่า สหกรณ์ฯ ปทุมฯ มีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นจำนวน 800 ล้านบาท ซึ่งสหกรณ์ฯ ปทุมฯ เคยส่งเจ้าหน้าที่และทนายความไปขอถอนเงินทั้งจำนวนกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นถึง 3 ครั้งแล้ว แต่สหกรณ์ฯ คลองจั่นอ้างว่าไม่มีเงินให้ถอนจึงต้องฟ้องร้องขอคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างจ่ายอยู่เพื่อให้มีการไกล่เกลี่ยในศาลต่อไป

DSCN9527
ผู้ก่อตั้งสหกรณ์ฯ เครดิตยูเนียนคลองจั่น (จากซ้ายไปขวา) นายวิวัฒน์ พัฒนศักดิ์สุธี นายมณฑล กันล้อม นายศุภชัย ศรีศุภอักษร

ส่วนความเคลื่อนไหวในกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น ได้มีการดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก นำโดยนายศุภกิจ แก้วทรง ได้จัดสัมมนาระดมความคิดร่างแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น และนำเสนอต่อคณะกรรมการชุดที่ 29 ซึ่งมีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการ โดยเบื้องต้นนายชาญชัย ตั้งชู รับแผนฟื้นฟูไปพิจารณาและนำเสนอ (บางส่วน) แก่สมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมประชุมในวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา (แผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นฉบับเต็ม)

นอกจากนี้ นายเผด็จ มุ่งธัญญา แกนนำเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น กล่าวว่า เนื่องจากมีสมาชิกจำนวนมากติดต่อมาขอคำปรึกษา เพราะรู้สึกกังวลใจกับภาวะไม่มีทางเลือกและไม่มีทางออก จึงจัดเสวนาหัวข้อ “จะรักษาสหกรณ์ฯ คลองจั่นไว้ได้อย่างไร?” ในวันที่ 18 สิงหาคม 2556 เวลา 9.00-12.00 น. ที่สโมสรหมู่บ้านสหกรณ์คลองกุ่ม โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์ได้แก่ นายพีระพันธ์ เหมะรัตน์ เลขานุการชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทย และนายวรเทพ ไวทยาวิโรจน์ นักสหกรณ์แห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2545 มาให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ และให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นเพื่อลงมติว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป