ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิด 3 บริษัทจัดจำหน่ายข้าวถุง จดทะเบียนธุรกิจรับเหมา-ค้าสลากกินแบ่ง อึ้ง! ทำสัญญาขายข้าวสารคืนให้โรงสี

เปิด 3 บริษัทจัดจำหน่ายข้าวถุง จดทะเบียนธุรกิจรับเหมา-ค้าสลากกินแบ่ง อึ้ง! ทำสัญญาขายข้าวสารคืนให้โรงสี

5 สิงหาคม 2013


การจำหน่ายข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมและพี่น้องมุสลิมภาคใต้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ถูก “สวมรอย” ให้กลายเป็นหนึ่งในช่องทางในการทุจริตเกิดขึ้น เมื่อมีการขายข้าวสารในโครงการรับจำนำ ด้วยราคาส่วนลดถึง 50% และไม่ต้องเปิดประมูล โดยอุปโลกน์ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้จัดทำข้าวถุงใน “โครงการผลิตข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อประชาชน”

โดยนับตั้งแต่โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2555 จนถึงเดือน มิ.ย. 2556 กระทรวงพาณิชย์มีการอนุมัติขายข้าวสารในโกดังให้ อคส. ไปแล้วทั้งสิ้น 2.5 ล้านตัน แต่ อคส. ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนเป็นขั้นตอน โดยบริษัทที่ทำการปรับปรุงคุณภาพข้าวพร้อมบรรจุถุงมีประมาณ 6-7 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 5 เสือค้าข้าว อาทิ บริษัทเจียเม้ง, พงษ์ลาภ, นครหลวงค้าข้าว รวมถึงบริษัทสิงห์โตทอง และ โชควรลักษณ์ โดย อคส. ได้มีการส่งมอบข้าวไปปรับปรุงสภาพแล้ว 9 แสนถึง 1 ล้านตัน

ข้าวสารที่นำไปทำข้าวถุง
ข้าวสารที่นำไปทำข้าวถุง

ขณะที่ข้อเท็จจริงที่ คณะอนุกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ตรวจสอบ พบว่าข้าวส่วนใหญ่ที่อ้างว่านำไปช่วยเหลือประชาชนในราคา (ขนาด 5 กิโลกรัม) ไม่เกิน 70 บาทต่อถุง ประกอบด้วย ยี่ห้อ “ข้าวถุง อคส.” และ “ข้าวถุงถูกใจ” กระจายไปสู่มือประชาชนจริงๆ ประมาณ 10% หรือไม่ถึง 1 แสนตัน เท่านั้น ที่เหลือคาดว่าจะถูกนำไปขายให้พ่อค้าส่งออกและบรรจุเป็นข้าวถุงยี่ห้ออื่น

มีการพบข้อพิรุธในขั้นตอนการทำสัญญากับผู้รับมอบข้าวถุง อคส. ที่ได้ปรับปรุงคุณภาพแล้ว นำไปจัดจำหน่าย ส่งมอบ และทำการตลาด ทั้งแบบค้าปลีกและค้าส่ง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามรักษ์ จำกัด, บริษัทคอน-ไซน์ เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ร่มทอง จำกัด ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏว่าทั้ง 3 บริษัทนี้ เคยมีประวัติการทำธุรกิจค้าข้าวสารแต่ประการใด

จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัท สยามรักษ์ จำกัด เป็นบริษัทที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 การดำเนินกิจการในปัจจุบันที่ระบุตามเอกสารนำส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่าทำธุรกิจ “จำหน่ายและส่งออกดอกไม้หอมอบแห้งและเครื่องหอมต่างๆ” มีนายทวีศักดิ์ หิรัญรักษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โดยมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 20 ล้านบาท เป็น 25 ล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2554

ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทำหมายเหตุงบการเงินบริษัทสยามรักษ์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 และ ปี 2553 ว่า บริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน จำนวน 57.01 ล้านบาท และ 19.23 ล้านบาท ตามลำดับ และมีผลประกอบการขาดทุนสะสมเกินจำนวน 39.55 ล้านบาท และ 7.15 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนั้น บริษัทยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจมีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินการงานต่อเนื่องของบริษัท

ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ได้รายงานหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัทสยามรักษ์อีกครั้งว่า บริษัทมีผลขาดทุนสะสมเป็นจำนวน 57.53 ล้านบาท มีขาดทุนสะสมเกินทุนเรือนหุ้น จำนวน 32.53 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัท

บริษัทสยามรักษ์ เคยส่งแผนการตลาดข้าวถุงให้ อคส. อนุมัติ ระบุว่า มีร้านค้าส่งขนาดใหญ่เป็นเครือข่ายกระจายสินค้าขนาดใหญ่และขนาดปานกลางในต่างจังหวัด 280 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอีก 1,140 แห่ง รวมเป็น 1,420 แห่ง เป็นต้น แต่สุดท้าย อคส. ก็ไม่เคยไปตรวจสอบว่าร้านค้าย่อยๆ เหล่านี้เคยได้รับข้าวราคาถูกไปขายหรือไม่

นายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบการผลิตข้าวถุงของบริษัทเจียเม้ง จำกัด
นายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบการผลิตข้าวถุงของบริษัทเจียเม้ง จำกัด

อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการฯ พบว่า ร้านค้าที่บริษัทสยามรักษ์หยิบยกขึ้นมาในแผนการตลาด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เคยได้รับข้าวถุงธงฟ้ามาจำหน่าย และบางส่วนเคยได้รับข้าวแต่ก็ไม่ได้ขายในราคา 70 บาทต่อถุง โดยร้านค้าในแผนการตลาดที่บริษัทสยามรักษ์อ้างถึง ส่วนหนึ่งเป็นร้านค้าข้าวถุงที่เคยทำธุรกิจร่วมกับบริษัทเจียเม้ง

บริษัท คอน-ไซน์ เทรดดิ้ง จำกัด ระบุในบัญชีงบการเงินที่ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ว่าเป็น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเคยมีการขอเพิ่มประเภทธุรกิจที่ให้บริการ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2552 ว่า ประกอบกิจกิจการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย โดยมีนางอันนา เตชะอัครเกษม เป็นกรรมการของบริษัท

ส่วน บริษัท ร่มทอง จำกัด ตั้งอยู่ ที่เลขที่ 134/236 หมู่ที่ 1 ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกัน มีนางกรวรรณ วังสถาพร เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยในงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 มีผลขาดทุนสุทธิ 364,063 บาท และในปี 2555 มีผลขาดทุนสุทธิ 471,035 บาท โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2552 เคยยื่นขอเพิ่มการประกอบกิจการ ด้านซื้อขายและเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากทุกชนิดของรัฐบาล เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล สลากการกุศล สลากออนไลน์ รวมถึงการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสลากทุกชนิด และประกอบกิจการบ้านจัดสรร

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า หากข้าวถุงในโครงการข้าวถุงธงฟ้าและข้าวถุงร้านถูกใจ ที่ กขช. อนุมัติให้ อคส. นำข้าวในสต็อกรัฐบาลออกไปจำหน่ายได้ โดยไม่ต้องประมูลในราคาลด 50% นั่นคือ ต้นทุนซื้ออยู่ที่ราคาเพียง 7,600 บาทต่อตัน หรือเทียบกับว่าข้าวถุง 5 กิโลกรัม มีต้นทุนที่ 38.125 บาทต่อถุง เท่านั้น หากมีการลักลอบไปขายในท้องตลาดทั่วไปหรือขายให้แก่พ่อค้า เพื่อนำไปแปรสภาพเป็นข้าวตราอื่นๆ ซึ่งราคาในท้องตลาดขายอยู่ที่ถุงละ 100-150 บาท จะสร้างผลกำไรมหาศาลให้แก่ผู้อยู่เบื้องหลังนับหมื่นล้านบาท

ข้าวถุงธงฟ้า-ข้าวถุง อคส.

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา กล่าวว่า บริษัทผู้จัดจำหน่ายข้าวถุงทั้ง 3 แห่ง อาจจะเป็นแค่นอมินีที่รับดำเนินการแทนเท่านั้น เพราะไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจค้าขายข้าว เพราะจริงๆแล้วคาดว่าผู้บงการใหญ่เป็นนักการเมืองและบริษัทที่ปรับปรุงคุณภาพข้าว ที่ร่วมมือกันดำเนินการอย่างแยบยล ซึ่งถือเป็นช่องทางที่ตรวจสอบได้ยากมาก แต่เท่าที่มีการรายงานข้อมูล พบว่าข้าวคุณภาพดีจะถูกบรรจุถุงในตราที่เป็นพรีเมียมของบริษัท และขายในราคาแพง ส่วนข้าวเกรดรองลงไปจึงจะมีการบรรจุถุงตรา อคส. และร้านถูกใจขายให้ประชาชน

พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา กล่าวว่า ได้มีการเชิญเจ้าของบริษัทผู้จัดจำหน่ายข้าวถุงอคส.ทั้ง 3 แห่งมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดยทางบริษัทสยามรักษ์ได้มีการทำสัญญาขายคืนข้าวสารให้กับบริษัทเจียเม้ง โรงสี และบริษัทผู้ปรับปรุงข้าวให้กับ อคส. รายอื่นๆ ด้วย

ส่วนอีก 2 บริษัท แจ้งว่าได้มีการขายคืนบ้างเป็นบางส่วนแต่ไม่ได้มีการทำสัญญา และข้าวอีกส่วนหนึ่งมีการจำหน่ายให้ในท้องตลาดตามปกติจริง ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าสัญญาที่ อคส. ทำกับผู้จัดจำหน่ายทั้งหมดได้เปิดช่องเอาไว้ว่าบริษัทผู้จัดจำหน่ายจะนำไปขายใครก็ได้ ซึ่งการตีความตรงนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นกับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะพิจารณา ภายหลังจากที่ทางกรรมาธิการฯ จะได้มีการรวบรวมหลักฐาน ฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกันต่อไป

“จากการตรวจสอบของเราพบว่า ทั้ง 3 บริษัท ไม่เคยมีการทำธุรกิจด้านการค้าข้าวมาก่อน บางบริษัททำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทำบ้านจัดสรร แต่ก็มีความพยายามทำการตลาดข้าวถุงบ้างแต่ไม่มากนัก ซึ่งเราคงจะต้องมีการเรียกข้อมูลหลักฐานมาเพิ่มเติมว่าสัญญาของ อคส. ที่ทำกับผู้จัดจำหน่ายแต่ละรายนั้น เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร ก่อนรวบรวมเสนอต่อ ป.ป.ช. ต่อไป” พล.ต.ท.ยุทธนากล่าว

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา ได้เดินหน้าตรวจสอบการทุจริตในเรื่องนี้แล้ว ทำให้ทาง อคส. และกระทรวงพาณิชย์ ตกลงที่จะยุติโครงการข้าวถุงธงฟ้าแล้ว โดยมีข้าวที่ส่งมอบให้บริษัทผู้ปรับปรุงไปประมาณ 9 แสนตันเศษ จึงถือว่าคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร วุฒิสภา สามารถช่วยสกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการนี้ได้กว่า 1.5 ล้านตัน ซึ่งการจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่นั้น กระทรวงพาณิชย์ควรจะต้องมีการปรับปรุงให้โครงการมีประโยชน์และช่วยให้ข้าวถุงไปถึงมือประชาชนจริงๆ”

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน กล่าวว่า โครงการข้าวถุงธงฟ้าเพื่อประชาชนนี้ ทำให้ตัวเลขผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวลดลง เนื่องจากทางกระทรวงพาณิชย์มักจะอ้างว่า เป็นโครงการที่รัฐบาลจำเป็นต้องขาดทุน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้กินข้าวในราคาถูกลง ขณะที่ความจริงแล้วข้าวที่ระบายออกไปไม่ได้ถึงมือร้านค้าทั่วไปหรือร้านถูกใจ แต่ถูกลักลอบไปขายให้แก่พ่อค้าและตลาดมืด รวมทั้งยังมีปัญหาการทุจริตอื่นๆ ในโครงการจำนวนมาก ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวงวดวันที่ 31 พ.ค. 2556 ได้

ปัจจุบัน รัฐบาลมีการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวไปแล้วมากกว่า 6.3 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.3 แสนล้านบาท และเงินกู้ของกระทรวงการคลังอีก 4 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้วงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ขณะที่ผลการขาดทุนอย่างต่ำที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ประเมินไว้ในขณะนี้มีประมาณ 2.3 แสนล้านบาท