ThaiPublica > เกาะกระแส > “นิพนธ์-อัมมาร” 2 นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ เขียนบทความกระทุ้งรัฐ “ใครต้องโชว์ใบเสร็จทุจริตจำนำข้าว”

“นิพนธ์-อัมมาร” 2 นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ เขียนบทความกระทุ้งรัฐ “ใครต้องโชว์ใบเสร็จทุจริตจำนำข้าว”

8 กรกฎาคม 2013


นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ : http://www.mof.go.th
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ: http://www.mof.go.th

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และ ดร.อัมมาร สยามวาลา 2 นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ร่วมกันเขียนบทความ “ใครต้องโชว์ใบเสร็จทุจริตจำนำข้าว” ว่า โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทวีตข้อความแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีบอกว่า ถ้า น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง มีข้อมูลการทุจริตข้าวทุกระดับให้ส่งหลักฐานเข้ามาพร้อมดำเนินคดีจนถึงที่สุด แต่วันต่อมากลับมีข่าวว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลังสั่งให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ไปให้ข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ วุฒิสภา ว่าโครงการรับจำนำข้าว มี “ความเสี่ยงและโอกาส” ที่จะเกิดการทุจริตทุกขั้นตอน

อันที่จริง หากนายกรัฐมนตรีมีความจริงใจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว นายกรัฐมนตรีสมควรจะแสดงความชื่นชมต่อการทำงานของข้าราชการที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่แบบตรงไปตรงมา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินตามที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานตามกฎหมาย และสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว แทนการสอบสวนกรณีที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจวุฒิสภา

นายกรัฐมนตรีน่าจะรู้ดีว่าคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง เพราะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เอง หน้าที่ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ คือ การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล และตั้งงบประมาณคืนให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้หนี้ที่กู้จาก ธ.ก.ส. และเพื่อนำเงินค่าระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554/55 มาเป็นเงินหมุนเวียนในการรับจำนำข้าวจากชาวนา หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้ปิดบัญชีโครงการ คือ เมื่อพบข้อบกพร่องในการทำบัญชีและภาวะขาดทุนของโครงการฯ ผู้ปิดบัญชีจะต้องระบุสาเหตุของการขาดทุนและข้อบกพร่องของการจัดทำบัญชีเพื่อให้ผู้บริหารนำไปแก้ไข คณะอนุกรรมการเปิดบัญชีฯ มิได้มีหน้าที่และอำนาจในการเสาะแสวงหาหลักฐานการทุจริต

จากการแถลงข่าวของ รมว.วราเทพ รัตนากร ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นอกจากการขาดทุนเนื่องจากการตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าราคาตลาด (รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับจำนำ เช่น ค่าจ้างสีข้าว ค่าเช่าโกดัง ฯลฯ) แล้ว การขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวยังเกิดจากสาเหตุสำคัญอีก 2 ประการ คือ

(1) ในโครงการรับจำนำข้าวนาปี พ.ศ. 2555/56 ปริมาณข้าวสารที่ส่งมอบเข้าโกดังกลางของรัฐตามบัญชีขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) มีจำนวนต่ำผิดปรกติมาก หรือพูดง่ายๆ คือ มีข้าวสารจำนวน 2.9 ล้านต้น ที่ยังไม่ได้ส่งมอบ และอาจสูญหายจากโกดังกลาง ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 1

และ (2) การขาดทุนเนื่องจากการระบายข้าวของรัฐในราคาต่ำกว่าราคาตลาด (ราคาขายส่งข้าวสารในตลาดกรุงเทพฯ ที่รายงานโดยกรมการค้าภายใน)

ปัญหาข้าวสารจำนวน 2.9 ล้านตัน ที่ยังไม่ได้ลงบัญชี ทำให้รัฐบาลสั่งการให้มีการตรวจสต๊อกข้าวทั่วประเทศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 แต่ดูเหมือนว่าการตรวจสต๊อกข้าวดังกล่าว เป็นเพียงปฏิบัติการผักชีโรยหน้าเพื่อให้ประชาชนเชื่อว่าไม่มีข้าวจำนวนมากหายไปจากโกดังกลางของรัฐ ถ้าจะมีการทุจริตก็เป็นเพียงปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในทางปฏิบัติ โรงสีและพ่อค้าข้าวรู้ว่าการตรวจสต๊อกข้าวอย่างจริงจังไม่สามารถทำได้ภายใน 1 วัน มิหนำซ้ำยังไม่มีการตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างบัญชีข้าวสารที่โรงสีแต่ละแห่งสีแปรและส่งมอบเข้าโกดังว่าสอดคล้องกับบัญชีข้าวสารที่แต่ละโกดังรับมอบหรือไม่ และตรวจสอบว่าบัญชีดังกล่าวตรงกับปริมาณข้าวสารและข้าวเปลือกที่มีอยู่จริงตามโกดังต่างๆ หรือไม่ การตรวจสอบการทุจริตแบบนี้จะต้องนำข้อมูลบัญชีของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการรับจำนำข้าวตลอดห่วงโซ่มาตรวจสอบพร้อมๆ กัน ได้แก่ องค์การคลังสินค้า องค์กรตลาดกลางเกษตรกร ธ.ก.ส. กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ คำสั่งและการอนุมัติของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ

นอกจากข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ แล้ว ยังมีข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่บ่งชี้ว่าอาจมีการลักลอบนำข้าวในโครงการจำนำไปหมุนขายในตลาดก่อน (แล้วค่อยหาซื้อข้าวสารราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านนำมาคืนโกดังกลางของรัฐในภายหลัง) นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฏรเมื่อ 20 มีนาคม 2556 ว่า รัฐบาลระบายข้าวสู่ตลาด 7 ล้านตัน ตัวเลขนี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ข้าวสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออก เราทราบว่าในช่วงตุลาคม 2554-กุมภาพันธ์ 2556 ความต้องการใช้ข้าวดังกล่าวเท่ากับ 28.137 ล้านตัน แต่ในตลาดมีข้าวสารเหลือเพียง 17.827 ล้านตัน (เพราะจากผลผลิตข้าวจำนวน 39.682 ล้านตันข้าวสาร รัฐบาลรับซื้อเข้าโครงการจำนำถึง 21.855 ล้านตัน)

ฉะนั้น ถ้าจะให้มีข้าวสารในตลาดเพียงพอต่อการบริโภคและส่งออก รัฐบาลต้องระบายข้าวอย่างน้อย 10.31 ล้านตัน (28.137-17.827 ล้านตัน) แต่นายณัฐวุฒิบอกว่ามีการระบายข้าวเพียง 7.072 ล้านตัน แปลว่าตลาดยังขาดข้าวอีก 3.238 ล้านตัน ดังนั้น จะต้องมีผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลจัดการให้มีการนำข้าวจำนวนมากออกจากโกดังกลางรัฐบาลมาหมุนขายในราคาถูก ทำให้ราคาข้าวสารขายปลีกในตลาดมีราคาถูกและไม่ต่างจากสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งๆ ที่ต้นทุนข้าวสารในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แพงกว่ามาก ซึ่งในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ราคาข้าวสารปี 2555 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 22.17 บาท แต่สมัยนายอภิสิทธิ์ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 22.19 บาท

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ หรือขอความร่วมมือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ช่วยดำเนินการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาข้าวในสต๊อกและผู้มีอำนาจหน้าที่ในการระบายข้าว แล้วส่งรายงานให้รัฐบาลและรัฐสภาโดยเร่งด่วน

ต้นตอของการขาดทุนอีกส่วนหนึ่งของโครงการรับจำนำข้าว เกิดจากการที่รัฐระบายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาขายส่งในตลาดค่อนข้างมาก ทำให้รัฐขายข้าวได้เงินน้อยกว่าที่ควร จากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่เสนอต่อ รมว.วราเทพ รัตนากร ปรากฏว่าราคาข้าวที่หน่วยงานของรัฐขายให้แก่เอกชนอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาขายส่งข้าวสารในตลาดกรุงเทพฯ มาก กล่าวคือ การระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดู 2554/55 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 14.43 บาท ขณะที่ราคาข้าวสารในตลาดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 18 บาท แสดงว่ารัฐขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดถึงกิโลกรัมละ 3.57 บาท ส่วนการระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 ราคาขายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 12.89 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดกิโลกรัมละ 7.08 บาท

หากรัฐบาลประมูลขายข้าวแบบโปร่งใสก็จะขายได้ในราคาใกล้เคียงราคาตลาด แต่เป็นที่ทราบกันดีในวงการค้าข้าวว่ารัฐบาลระบายข้าวผ่านช่องทางแคบๆ ที่มีพ่อค้าเพียง 3-4 รายเท่านั้น รัฐบาลพยายามปกปิดข้อมูลการระบายข้าวดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า ทั้งๆ ที่การระบายข้าวส่วนใหญ่เป็นการขายในประเทศ ไม่ต้องขายแข่งกับประเทศใด การที่รัฐบาลยังคงปกปิดราคาและปริมาณการขายข้าวชวนให้นึกว่าเป็นเหตุผลทางการค้าจริง หรือต้องการปกป้องใครบางคน

การขาดทุนจากการขายข้าวจำนวนมาก (7-10 ล้านตัน) ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นเรื่องที่จะต้องมีการสอบสวนโดยเร่งด่วน จริงอยู่ที่รัฐบาลแก้ตัวว่าการขาดทุนส่วนหนึ่งเกิดจากการขายข้าวราคาถูกให้ผู้บริโภคและหน่วยราชการ รวมทั้งการบริจาคให้ต่างประเทศ แต่การศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ของวุฒิสภา พบว่าปริมาณข้าวถุงราคาถูกที่ส่งให้ร้านถูกใจ อาจมีปริมาณเพียง 5-10% ของปริมาณข้าวถุงราคาถูกที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ (1.8 ล้านตัน) แปลว่านอกจากข้าวถุงราคาถูกในร้านถูกใจแล้ว หน่วยงานรัฐขายข้าวทั้งหมด (7-10 ล้านตัน) ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดมาก ดังนั้นจึงต้องมีการสืบสวนโดยเร่งด่วนว่า ทำไมหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์จึงขายข้าวในราคาต่ำกว่าตลาดมาก ขายให้พ่อค้าคนใด ราคาเท่าใด และจำนวนเท่าใด และได้รับเงินค่าขายข้าวหรือยัง กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถอ้างความลับทางการค้าเพื่อปฏิเสธการให้ข้อมูลเหล่านี้ เพราะข้าวจำนวนนี้ขายไปหมดแล้ว และข้าวส่วนใหญ่ก็ขายในประเทศ บัดนี้เวลาก็ล่วงเลยมาเกือบสองปีแล้ว ข้ออ้างเรื่องความลับทางการค้าฟังไม่ขึ้นอีกแล้ว ประชาชนเจ้าของเงินที่ใช้จำนำข้าวมีสิทธิ์ 100% ที่จะต้องได้ข้อมูลดังกล่าว

รัฐบาลต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้ เพราะ “หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ออกใบเสร็จ” มีแต่คนนอกที่ไม่รู้ข้อมูล รัฐบาลเป็นเจ้าของใบเสร็จทุกใบ ป่วยการที่จะสั่งให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวนำใบเสร็จมาโชว์

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องเร่งสั่งการให้หน่วยงานรัฐส่งต้นขั้วใบเสร็จการระบายข้าวให้แก่ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนว่ามีการทุจริตกันอย่างไร แล้วนำเสนอรายงานต่อรัฐสภาโดยเร่งด่วน

หมายเหตุ: 1 ปรกติข้าวเปลือก 1,000 กิโลกรัม จะสีได้ข้าวสารประมาณ 610 กิโลกรัม แต่ข้าวเปลือกนาปีที่รับจำนำในปี 2555/56 กลับสีได้ข้าวสารเพียง 24% ตามรายงานของประธานอนุกรรมการปิดบัญชีที่รายงานต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ วุฒิสภา