ThaiPublica > คอลัมน์ > ถึงเวลา “ปฏิรูป” การจัดหาอาวุธของกองทัพแล้วหรือยัง? (ตอนที่ 1)

ถึงเวลา “ปฏิรูป” การจัดหาอาวุธของกองทัพแล้วหรือยัง? (ตอนที่ 1)

24 กรกฎาคม 2013


Hesse004

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เรื่องจะปลดระวาง “เรือเหาะตรวจการณ์” ที่กองทัพบกเพิ่งซื้อมาเมื่อปี 2552 หลังจากที่เรือเหาะเจ้าปัญหาลำนี้ไม่สามารถ “บิน” ปฏิบัติหน้าที่ได้ “คุ้มค่า” กับงบประมาณ 350 ล้านบาท ที่กองทัพต้องเสียไป

อย่างไรก็ตาม วันรุ่งขึ้นโฆษกกองทัพบกต้องออกมา “แก้ข่าว” และชี้แจงว่ากองทัพไม่มีแผนจำหน่ายเรือเหาะและยังคงใช้งานเรือลำนี้ต่อไป แม้ว่าปลายปีที่แล้วเรือจะได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุขณะกำลังลงจอดบนรันเวย์ ทำให้กองทัพบกต้องเสียงบประมาณซ่อมอีก 50 ล้านบาท!

….เวรกรรมจริงๆ…

กรณีเรือเหาะตรวจการณ์รุ่น Aeros 50D S/N 21 หรือ Sky Dragon ที่ใช้ในปฏิบัติการชายแดนใต้ ไม่ใช่กรณีแรกที่กองทัพบกต้องตอบคำถามเรื่อง “ความคุ้มค่า” ของงบประมาณจำนวนมากที่ใช้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับกิจการความมั่นคงของชาติ

เพราะก่อนหน้านี้ กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 ที่เมื่อความจริงปรากฏกลับกลายเป็นเรื่อง “หลอกแดกแหกตา” กันระดับโลก เพราะไม่ใช่มีแค่กองทัพไทยเพียงแห่งเดียวที่ซื้อเจ้าเครื่องนี้จากบริษัทของนาย James McCormick แม้แต่กองกำลังของยูเอ็นก็ยังเสียท่าให้กับราชานักตุ๋นชาวอังกฤษรายนี้เหมือนกัน

หากอธิบายพฤติกรรมดังกล่าวในแง่วิชาการแล้ว ประเด็นความโปร่งใสและความคุ้มค่าในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ (Arm Procurement) ของกองทัพเป็นประเด็นที่น่าสนใจของนักวิชาการด้าน “คอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยา” และแม้ว่าการศึกษาเรื่องนี้จะเสี่ยงและอันตรายก็ตามที แต่ในแง่ความท้าทายแล้วการทำวิจัยเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเหล่านี้นับเป็นความท้าทายทางวิชาการอย่างยิ่ง เพราะนักวิจัยต้องค้นลึกลงไปใน “แดนสนธยา” ของทั้งกองทัพและธุรกิจค้าอาวุธซึ่งว่ากันว่ามีผลประโยชน์เบื้องหลังมากมายมหาศาล

ปัจจุบันการจัดการ “กองทัพสมัยใหม่” นั้น การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและเพียงพอต่อความต้องการนับเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดของ “ยุทธศาสตร์การสะสมอาวุธ” ซึ่งพัฒนาแนวคิดมาตั้งแต่สมัย “สงครามเย็น” เนื่องจากกองทัพของแต่ละประเทศไม่ต้องการสูญเสียไพร่พลทางทหารเป็นจำนวนมากดังเช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาศักยภาพอาวุธจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากจะสร้างประสิทธิภาพทางการรบแล้ว ยังประหยัดเวลาและต้นทุนของการทำสงครามอีกทางหนึ่งด้วย

หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Lord of War (2005) ของ Andrew Niccol (นำแสดงโดย Nicolas Cage) คงได้เห็นเบื้องหลังของสงครามในแต่ละสมรภูมิ ที่ตัวละครหลักประกอบด้วยพ่อค้าอาวุธและผู้นำเหล่าทัพ

Lord of War หนังที่สะท้อนธุรกิจการค้าอาวุธกับสงครามที่มาพร้อมกับความโลภ ของทั้งพ่อค้าอาวุธและขุนทหารผู้กระหายสงคราม ที่มาภาพ : http://iizitem.files.wordpress.com
Lord of War หนังที่สะท้อนธุรกิจการค้าอาวุธกับสงครามที่มาพร้อมกับความโลภของทั้งพ่อค้าอาวุธและขุนทหารผู้กระหายสงคราม
ที่มาภาพ: http://iizitem.files.wordpress.com

สำหรับ “พ่อค้าอาวุธ” แล้ว ที่ใดมีความขัดแย้ง ที่นั่นย่อมมี “สงคราม” …และที่ใดที่มีสงครามที่นั่นหมายถึงการเปิด “ตลาดการซื้อขายอาวุธ”

เช่นเดียวกับ “กองทัพ” … สงครามและความขัดแย้ง ได้สร้างภาพความเข้มแข็งให้กับกองทัพให้มีความโดดเด่นขึ้นมา

ขณะเดียวกัน สงครามได้กลายเป็น “เวทีแสวงหาประโยชน์” จากการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์โดยอาศัยเหตุผลเรื่อง “ความมั่นคง” มาเป็นเกราะกำบังความโลภและความกระหายสงครามของขุนทหาร

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพนับว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมการผลิตและค้าอาวุธ รวมไปถึงกระบวนการจัดหาอาวุธแต่ละครั้ง มักปกปิดข้อมูลโดยอ้างเรื่องความมั่นคงทางการทหาร โดยจัดให้เป็น “ความลับ” ทางราชการอย่างหนึ่ง

หากมองในแง่ยุทธศาสตร์ทางการทหารแล้ว คงไม่มีกองทัพใดที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตัวเองใช้ เพราะเปรียบเสมือน “แบไต๋” ให้กองทัพประเทศอื่นทราบศักยภาพในการทำสงคราม

อย่างไรก็ตาม กองทัพของแต่ละประเทศสามารถประเมินศักยภาพทางการทหารได้จากงบประมาณทางการทหารที่ใช้ (Military Expenditure) ซึ่งโดยทั่วไปคิดเทียบกับ GDP ของประเทศ

เพียงเท่านี้ก็รู้แล้วว่า กองทัพประเทศนั้นมีความสามารถในการรบมากน้อยแค่ไหน ขณะที่รายการจัดซื้ออาวุธตั้งแต่ปืนสั้นธรรมดาไปยันเครื่องบินรบก็สามารถ “เดา” ได้จากงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในกิจการความมั่นคงเช่นกัน

ทุกวันนี้การก่อสงครามล้วนแต่มี “ต้นทุน” ด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าผลประโยชน์ที่ได้จะตกกับธุรกิจบางกลุ่ม เช่น กลุ่มพ่อค้าอาวุธ หรือ ธุรกิจค้าน้ำมัน (เช่น ในสงครามอิรัก) แต่ผู้ก่อสงครามเองก็จำเป็นต้องนึกถึงต้นทุนอย่างอื่นประกอบด้วย อาทิ ความผันผวนของเศรษฐกิจในยุคทุนนิยม โลกาภิวัตน์ ดังนั้น คงเป็นเรื่องยากที่เราจะได้เห็นการก่อสงครามใหญ่ๆ ขึ้นมาอีก ดังเช่น มหาสงครามโลก สงครามเวียดนาม หรือแม้แต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย

ด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์การสะสมอาวุธจึงมีเอาไว้แค่ “ขู่” มากกว่าที่จะคิดทำสงครามทำลายล้างกันจริง

แต่ก็น่าสนใจว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้เหล่าขุนทหารใช้เป็นข้ออ้างและช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวผ่าน “ส่วนเกินทางเศรษฐกิจ” ในรูปแบบต่างๆ เช่น รับเงินค่า Commission เพื่อแลกกับลายเซ็นในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการจัดหาอาวุธ

ในตอนหน้า เราจะมาทำความรู้จักกับ Stockholm International Peace Research Institute หรือ SIPRI ซึ่งเป็น NGO ระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและคอยติดตามความเคลื่อนไหวของงบประมาณรายจ่ายทางการทหารของกองทัพสมัยใหม่ รวมไปถึงแนวคิดเรื่องความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในกระบวนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ