ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ผู้ว่า ธปท. เปรียบเศรษฐกิจไทยเป็น “เครื่องบิน” ระยะสั้นไม่มีปัญหา แต่ระยะยาวเสี่ยงสมรรถนะถดถอย

ผู้ว่า ธปท. เปรียบเศรษฐกิจไทยเป็น “เครื่องบิน” ระยะสั้นไม่มีปัญหา แต่ระยะยาวเสี่ยงสมรรถนะถดถอย

24 กรกฎาคม 2013


“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อุปมาอุปมัยเศรษฐกิจไทยเป็น “เครื่องบิน” ระยะสั้นต้องระวังความผันผวนตลาดการเงินโลก แต่ระยะยาวเสี่ยงสมรรถนะลดลง ฉุดเศรษฐกิจโตไม่ถึง 5% แนะเร่งแก้ปัจจัยการผลิตด้านแรงงานทั้งเรื่องปริมาณ การจัดสรร ประสิทธิภาพ และคุณภาพ

วันที่ 23 กรกฎาคม 2556 ในงาน “Meet the press” ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะจัดเป็นประจำทุกเดือนเพื่อให้ผู้บริหาร ธปท. มาบรรยายและพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่น่าสนใจ โดยในครั้งนี้ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้มาบรรยายเองในหัวข้อเศรษฐกิจครึ่งหลังของปีนี้ และแนวโน้มในระยะยาว

ดร.ประสารได้เปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยเป็นเหมือน “เครื่องบิน” ซึ่งในระยะสั้นๆ หรือช่วงครึ่งปีหลังอาจจะต้องระวังและยังต้องเผชิญอากาศแปรปรวนจากความผันผวนจากตลาดการเงินโลก เพราะปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความผันผวนยังอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหน

“เศรษฐกิจใหญ่อย่างอเมริกา ยุโรป ที่ประสบวิกฤติ เวลานี้ก็ไม่มีมาตรการหรือทางออก ทำให้ฟื้นขึ้นมายังไม่เบ็ดเสร็จ ภาพที่เห็นยังไม่แจ่มชัด ส่งผลให้ตลาดการเงินจะคอยฟังแต่ข่าวสารที่เข้ามา ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของตลาดการเงินได้ง่าย”

ดร.ประสารกล่าวว่า “ตลาดการเงินตอนนี้เมาง่าย” เพราะไม่เห็นแสงสว่างที่ชัดเจน เหมือนคนเวลานั่งรถ ทางขรุขระวนเวียนขึ้นเขา ถ้ามีเป้าหมายที่เห็นชัดมองไปไกลๆ คนที่นั่งรถก็จะไม่เมา แต่ถ้าไม่เห็นเป้าหมายระยะยาว ถ้ารถโคลงเคลงสักพักก็เมารถ ดังนั้น เมื่อมีข่าวสารเข้ามาตลาดการเงินก็เมาได้ง่าย จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวังว่าตลาดการเงินโลกยังผันผวน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.

“ปัจจุบันไม่มีอะไรที่น่าห่วงจนเกินไป แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป แต่ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเศรษฐกิจโลกเท่าที่เราประเมินดูมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอยู่พอสมควร แต่เราคิดว่าเราน่าจะรักษาสถานะและผ่านพ้นความผันผวนต่างๆ ไปได้”

ดร.ประสารกล่าวว่า บางคนเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจการเงินโลกที่จะเกิดขึ้นและกระทบกับเศรษฐกิจว่าเป็น “headwind” กับ “tailwind”

headwind ก็คือ ลมปะทะด้านหน้า ถ้าใครเคยมีประสบการณ์นั่งเครื่องบิน เช่น จากประเทศไทยไปยุโรป กัปตันอาจจะบอกว่า วันนี้อาจกินเวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมง เพราะด้านหน้ามี “ลมปะทะ” กว่าเครื่องบินจะบินไปได้ก็จะใช้เวลามากกว่าปกติที่บอกไว้เพิ่มขึ้น เช่น แทนที่จะใช้เวลา 11 ชั่วโมง ก็เพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมง เป็น 12 ชั่วโมง

tailwind ก็ในทางกลับกัน บางทีกัปตันอาจบอกว่า มีลมมาช่วยตรงหาง ทำให้บินเร็วขึ้น แทนที่จะเป็น 11 ชั่วโมง ก็เป็น 10 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น tailwind ทำให้เศรษฐกิจสามารถไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น

ตัวอย่างเช่น การที่ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจประเทศจีน ถ้าเศรษฐกิจจีนเติบโตสูงขึ้น ก็จะเป็นแรงผลักเศรษฐกิจไทย หรือ tailwind แต่ในทางกลับกัน ถ้ามีความผันผวน เช่น สหรัฐฯ มีปัญหาก็จะเป็น headwind ทำให้เศรษฐกิจเราได้รับผลกระทบ

“ดูรูปการณ์แล้ว ความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกอาจมีผล บางเรื่องจะเป็น headwind บางเรื่องจะเป็น tailwind”

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีจุด hot spot สองจุดใหญ่ คือ สหรัฐฯ กับจีน

สหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของเศรษฐกิจโลก เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอะไรในอเมริกาย่อมกระทบชาวโลก และจีน แม้มีขนาดเศรษฐกิจเพียง 11% ของเศรษฐกิจโลก แต่เติบโตค่อนข้างเร็ว และระยะหลังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนไม่น้อย

ประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน ว่าจะเริ่มถอยจากมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายแบบสุดๆ เมื่อไร และอย่างไร ส่วนประเด็นเศรษฐกิจจีน ระยะหลังมีการชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งสองจุดมีนัยคือ กรณีสหรัฐฯ ตอนที่ดำเนินนโยบายผ่อนคลายดอกเบี้ยแบบผ่อนคลายมากๆ ก็มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่อยู่ในระดับต่ำ แต่พอมีข่าวว่าสหรัฐฯ จะถอยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยระยะยาวกระตุกขึ้น ซึ่งกรณีของประเทศไทยก็ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่นในเชิงเปรียบเทียบ สะท้อนถึงภาวะตลาดการเงินมีเสถียรภาพพอสมควร

กรณีจีน ก่อนวิกฤติ 40 จีนมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงอยู่ระดับ 10% แต่ระยะหลังอัตราการเติบโตค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 7-8% และระยะหลังเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียหลายประเทศมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง โดยถ้าวัดเฉพาะสัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีไปประเทศจีน กรณีสิงคโปร์และฮ่องกง สูงถึง 32% ไต้หวัน 25% และไทยเกือบ 11% ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจะอยู่ในความสนใจของประเทศอื่นๆ

ดร.ประสารกล่าวว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว โดยผ่านช่องทางตลาดการเงินและเศรษฐกิจจริงได้ ดังนั้น โดยทั่วไปการดำเนินนโยบายในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือภาคเอกชน ถ้าระยะสั้นมักคำนึกถึงเรื่อง “Margin of Safety” คือมี “กันชน” เผื่อเหลือไว้ เพราะถ้าความผันผวนไม่เป็นไปอย่างที่คาด จะได้มีกันชนรองรับไว้ได้ แต่ถ้าความผันผวนนั้นมีลักษณะเป็นระยะยาว โดยทั่วไปก็ต้องพยายามรักษาสมดุลเอาไว้ ไม่ให้เอียงสุดขั้วไปทางใดทางหนึ่ง

ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2556 ซึ่ง ธปท. ปรับประมาณการลดลงจาก 5.1% เป็น 4.2% ดร.ประสารมีความเห็นว่า ไม่ถือว่าต่ำจนเกินเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคหรือในโลก และยอมรับว่าก่อนหน้านี้อาจมีอัตราการคาดการค่อนข้างสูง แต่ระยะหลังก็ต้องดูความเป็นจริง คือ เศรษฐกิจประเทศที่เป็นคู่ค้าก็ชะลอลง และในภูมิภาคก็มีการปรับตัวชะลอลง หรือหากจะดูเลยจากตัวเลขไปก็ต้องดูการจ้างงาน ความเป็นอยู่ของประชาชน และรายได้ของประชาชนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจัยที่ว่านี้ถือว่าไม่ได้อยู่ในสภาพที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเปรียบเทียบระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศ

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า จากการอุปมาอุปมัยเศรษฐกิจเป็นเหมือน “เครื่องบิน” แทนที่จะพูดเรื่อง headwind กับ tailwind ก็ต้องพูดถึง “ตัวเครื่องบิน” ซึ่งสำคัญมาก เพราะหมายถึงจุดแข็งหรือข้อจำกัดของเศรษฐกิจประเทศไทย ว่าจะสามารถรักษาสมดุล และพาผู้โดยสารไปได้ด้วยความปลอดภัยหรือไม่ เพราะฉะนั้น ต้องมาสำรวจดูว่าสมรรถนะของเครื่องบินเป็นอย่างไรด้วย ซึ่งเป็นเรื่องความเข้มแข็งและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

กราฟจีดีพี

ปัจจุบัน ถ้าดูจีดีพีของประเทศในรูปมูลค่าเป็นล้านล้านบาท โดยดูสะสมในแต่ละปีตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่ปี 1988 จีดีพีไทยอยู่ที่ประมาณไม่ถึง 2 ล้านล้านบาท และสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางเวลาก็ลดลงคือตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997-1998 จากนั้นก็ช่วยกันแก้และสะสมจีดีพีไต่ขึ้นไปอีก แล้วมาลดลงอีกในปี 2008-2009 ที่เกิดวิกฤติเลห์แมนบราเธอร์ และอีกครั้งช่วงน้ำท่วมปี 2011

ถ้าดูอัตราการเปลี่ยนปีต่อปี (กราฟซ้ายมือข้างบน) ก็จะเห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่น่าสังเกตคือ ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1996-1997 อัตราเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 8-9% และช่วงปี 2000-2012 จะเป็นอัตราที่ต่ำกว่า โตไม่ถึง 5% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณกว่า 4%

นอกจากนี้ ถ้าถอยหลังไป 60 ปี เศรษฐกิจไทยถ้าเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะพบว่า รายได้ประชาชาติต่อหัวไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย ไทย จีน อยู่ประมาณ 10% ของรายได้ต่อหัวของคนอเมริกา หรืออเมริกามีรายได้ต่อหัวประมาณ 10 เท่าของคนในภูมิภาคเอเชีย

“แต่ 60 ปีให้หลัง ประเทศไทยมาอยู่แถวๆ 15% เรียกว่าดีกว่าอเมริกาในเชิงเปรียบเทียบ คือ จาก 10% มาเป็น 15% แต่จะสังเกตเห็นว่า มาเลเซียปัจจุบันอยู่ที่ 20% ไต้หวันกับเกาหลีขึ้นไป 60-70% จีนปัจจุบันเท่ากับไทย แต่มีแนวโน้มจะแซงไทยแม้ว่าจะมีประชากรมากกว่ามาก”

จะเห็นว่า สมรรถนะของเศรษฐกิจไทยเริ่มลดลง

ดร.ประสารกล่าวว่า ตัวที่จะผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า พอสำรวจลึกๆ แล้วจะไม่ได้มาในมุมของนโยบายการเงิน นโยบายการเงินเหมือนกับเป็นตัวรักษาสมดุลให้เครื่องบินบินฝ่าพวกลมที่เข้ามาปะทะไปได้ แต่สมรรถนะของเครื่องบินจะดีไม่ดีส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยที่เรียกว่าอุปทานหรือซัพพลายไซด์ คืออะไรที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิต ที่สำคัญคือ ปริมาณปัจจัยการผลิต การจัดสรรปัจจัยการผลิต คุณภาพปัจจัยการผลิต

เรื่องของปริมาณ เฉพาะแรงงาน โดยใช้ตัววัดอัตราเจริญพันธ์ุง่ายๆ คือจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อหญิง 1 คน หากแบ่งเป็นช่วงปี 1975-1970 หรือกว่า 40-50 ปีที่ผ่านมา ส่วนช่วงกลางคือ 1985-1990 ช่วงปลายคือ 2005-2010 และปัจจุบัน

ช่วงแรกๆ อัตราเฉลี่ยการมีบุตรต่อหญิง 1 คนของประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว จะอยู่ประมาณหญิง 1 คนมีบุตรเฉลี่ย 6 คน ต่อมาช่วงกลางๆ นั้นไทยมีอัตราเจริญพันธุ์ลดลงอยู่ที่หญิง 1 คนมีบุตรเฉลี่ย 2 คน ส่วนประเทศอื่นๆ ยังสูงกว่าไทย และยิ่งช่วงใกล้ๆ ปัจจุบัน อัตราเจริญพันธุ์ของไทยลดลงเหลือแค่หญิง 1 คน มีบุตรเฉลี่ย 1.6 คน แต่เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า เมเลเซีย กัมพูชา ฟิลลิปปินส์ และลาว อยู่ระดับสูงกว่าไทย

โครงสร้างประชากร

ขณะที่่จากข้อมูลการแจงแจกประชากรวัยต่างๆ กัน แล้วเปรียบเทียบช่วง 12 ปี คือ ปี 2000 กับปี 2012 (ดูภาพข้างบนประกอบ) จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ ช่วงปี 2000 โครงสร้างประชากรมีฐานข้างล่างค่อนข้างกว้าง คือ มีวัยเด็กมาก แต่เวลาผ่านไป 12 ปี ค่อยๆ เห็นฐานแคบลง แต่ปรากฏว่าวัยชราเพิ่มขึ้น

ดร.ประสารกล่าวว่า อีกประเด็นคือ ความไม่สอดคล้องในเรื่องความเชี่ยวชาญของแรงงาน เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจไทย จากการสำรวจของภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งที่เจ้าของเป็นไทยและต่างชาติ จะพบว่า เราขาดแคลนช่างฝีมือที่จบ ปวช. ปวส. ในขณะเดียวกันมีการว่างงานเยอะของคนที่จบปริญญาตรี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมเรียนสายสามัญเพิ่มขึ้น และมีความรู้สึกว่าจบปริญญาตรีได้ค่าตอบแทนสูงกว่า

“นั่นเป็นลักษณะของประชากรของประเทศ เฉพาะมิติแรกเรื่องของปริมาณปัจจัยการผลิต ซึ่งเรากำลังเข้าสู่วัยประชากรที่ผู้สูงอายุมากขึ้น ประชากรที่จะเป็นวัยแรงงานจะมีสัดส่วนน้อยลง”

มิติที่สอง คือ ปัจจัยทุน ซ่อนอยู่ในเศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าเราไม่ให้ความสนใจมากพอจะทำให้สมรรถนะของเศรษฐกิจไทยล้าหลังได้

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง การขยายตัวของทุนต่อแรงงานไทยอยู่ระดับ 8.5% หลังจากนั้นช่วง 1997-1999 และช่วง 2000-2007 ช่วง 2008-2011 จะพบว่าอัตราการขยายตัวของทุนต่อแรงงานลดลงเรื่อยเป็น 3.9% 0.6% และ 1.4% ตามลำดับ (ดูภาพประกอบด้านล่าง)

การสะสมทุน

ตัวนี้เป็นตัวชี้ว่า ถ้าไม่ปรับปรุงการผลิต ไม่ใช้เทคโนโลยี ประสิทธิภาพของการใช้แรงงานจะคงที่ หรือเสื่อมถอยลง ขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้าค่อนข้างมาก

“ในเรื่องการสะสมทุน เรื่องอัตราการขยายตัวของทุนต่อแรงงานของเราเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ”

ต่อมา มิติการเคลื่อนปัจจัยการผลิตด้านเงินทุน โดย ธปท. พยายามดูเรื่องผลิตภาพ หรือ productivity ของการเปลี่ยนแปลงในภาคเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและอื่นๆ พบว่า ในปี 1990-1996 จะเห็นการปรับปรุงในเรื่อง productivity ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม บริการและอื่นๆ แต่ที่น่าสนใจคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวที่ช่วยทำให้ผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจไทยมีการปรับปรุงในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

ในช่วงปี 1997-2007 จะมีภาคบริการที่เสื่อมถอยลง จากการวิเคราะห์เป็นเพราะภาคการเงิน ภาคเงินทุน ได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ภาคเกษตรก็ดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นค่อนข้างมาก การเคลื่อนย้ายแรงงานยังมีอยู่ แต่ที่น่าสนใจมากคือ ในระยะปัจจุบัน 2008-2012 ผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน “กลับทิศ” คือทำให้ผลิตภาพลดลง

โดยจำนวนประชากรในภาคเกษตรในปี 1990 มีประมาณ 20 ล้านคน ค่อยๆ ลดเคลื่อนย้ายไปภาคอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพที่ดีกว่า แต่ระยะหลังกลับมีคนไปอยู่ในเกษตรเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง 2 ปีนี้สุทธิแล้วมีแรงงานเคลื่อนย้ายเข้าภาคเกษตร 700,000 คน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายต่างๆ ที่ช่วยค้ำจุนราคาสินค้าเกษตร แต่ลักษณะค้ำจุนไม่ได้เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพโดยตรง กลายเป็นว่า เรากำลังเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำกว่า

มิติที่สาม คือ เรื่องคุณภาพ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะระยะหลังจะแข่งกันโดยการใช้ประสิทธิภาพการผลิตอย่างเดียว โอกาสที่จะไปต่อสู้กับเศรษฐกิจอื่นๆ ก็จะยาก ประเด็นนี้ดูที่เรื่องการลงทุนวิจัยและพัฒนา ประเทศที่โดดเด่นมากคือ เกาหลีใต้ โดยตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2010 มีการลงทุนในภาควิจัยและการพัฒนาเมื่อเทียบกับจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 2.3% มาเป็น 3.6% ของจีดีพี เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นเศรษฐกิจเกาหลีออกไปทางนวัตกรรมค่อนข้างมาก

ขณะที่จีนค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 0.5% เป็นเกือบ 2% ต่อจีดีพี ขณะที่ของไทยเป็นตัวเลขค่อนข้างชัดว่าต่ำกว่า 0.5% เรียกว่าลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างน้อย

“ปัจจัยที่เป็นตัวเสริมสมรรถนะหรือผลักดันเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ ทางด้านอุปสงค์ค่อนข้างเป็นเรื่องระยะสั้น แต่ด้านซัพพลาย ไม่ว่าจะดูปัจจัยการผลิต การจัดสรรปัจจัยการผลิต คุณภาพปัจจัยการผลิต ก็จะเห็นข้อจำกัดอยู่พอสมควร อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ ธปท. มีเป็นความห่วง”

ดร.ประสารย้ำว่า เราต้องให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวเศรษฐกิจโลก ตลาดการเงินโลก เพราะเกี่ยวข้องกับไทย และมีผลกระทบต่อไทย เพราะไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดซึ่งขนาดไม่ใหญ่นัก เกิดอะไรขึ้นในโลกก็กระทบเรา เราก็พยายามดำเนินโยบายลักษณะที่มี Margin of safety ดูแลสมดุลด้านต่างๆ

หากเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจไทย พวก headwind กับ tailwind เราอาจใช้นโยบายการเงิน การคลัง ช่วยดูแลเสถียรภาพให้รอดพ้นความผันผวนระยะสั้นไปได้ แต่ในระยะยาว ดูที่เกาหลี ไต้หวัน ก่อนหน้านี้พอๆ กันไทย ตอนนี้เขายกระดับเป็นประเทศมีรายได้สูงไปแล้ว ส่วนมาลายูสมัยก่อนก็ไม่ต่างกับไทยเท่าไร ตอนนี้เขามีแผนจะไปสู่ประเทศที่มีระดับรายได้สูง

ขณะที่ไทยยังอยู่ในประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง ถ้าเราไม่ดูเรื่องแรงงาน เรื่องสะสมทุน การจัดสรรแรงงาน คุณภาพคน คุณภาพแรงงาน การศึกษา นวัตกรรม กฎหมายต่างๆ ถ้าเราไม่ดูเรื่องพวกนี้ เราก็จะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรจะยกข้อจำกัดเหล่านี้ออกไป เราก็ต้องให้ความสำคัญกับด้านซัพพลายไซด์ด้วย

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง กับการแก้ปัญหาซัพพลายไซด์มีความสัมพันธ์กัน ถ้าด้านซัพพลายไซด์เข้มแข็งไปด้วยดีก็จะแบ่งเบาภาระ ขณะที่นโยบายการเงินก็จะมีข้อจำกัดในตัวของมัน แม้ว่าเราจะขึ้นดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย โดยเศรษฐกิจซบเซาลดดอกเบี้ย เศรษฐกิจร้อนแรงก็ขึ้นดอกเบี้ย

“ถามจริงๆ ถ้าโรงงานขาดแรงงาน รับผลิตของไม่ได้ก็ไม่มีแรงงานเข้ามาเสริม เราถึงต้องแก้ที่ตัวสาเหตุจริงๆ หรือที่เราเจอบ่อยที่บอกว่าส่งออกแข่งไม่ไหวแล้ว ช่วยทำให้บาทอ่อนหน่อย จะได้ส่งออกขายของได้ นั่นอยู่บนสมมติฐานไม่มีใครขายของราคาถูก แล้วเราไปตัดราคา แต่ตัดราคาอย่างไรถ้าสมมติพม่า เวียดนาม ผลิตได้เหมือนกับไทย

เพราะฉะนั้น ไปทำให้ค่าเงินบาทอ่อนก็ช่วยอะไรไม่ได้ ต้องมองข้ามช็อตว่า จะทำอย่างไรให้เหมือนใต้หวัน ให้เหมือนเกาหลีใต้ หรือทำอย่างไรให้เหมือนสวิตเซอร์แลนด์ ถ้าไม่ทำเรื่องพวกนั้นก็จะเถียงเรื่องเดิม คือต้องทำให้บาทอ่อน ต้องทำให้ดอกเบี้ยต่ำอย่างเดียว เสร็จแล้วกำลังซื้อของคนไทยก็ตกเมื่อเปรียบเทียบกับชาวโลก

ดร.ประสารกล่าวว่า แม้ว่าหลายอย่างที่พูดไปเราจะไม่มีเครื่องมือโดยตรงในการบริหารจัดการ แต่ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจหนึ่งของประเทศ นอกจากการให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพระยะสั้น ก็ต้องคิดถึงเรื่องศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย ถ้ามีอะไรที่เราพอทำได้ที่จะช่วยผลักดัน หรือเกิดวิสัยทัศน์รวมในทิศที่จะเป็นประโยชน์ เราก็ถือว่าเป็นหน้าที่หนึ่ง

โดยแนวทางหนึ่งที่ ธปท. ทำได้คือ การสัมมนาประจำปี2556 ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ตั้งหัวข้อเรื่องใหญ่ว่า “การวางรากฐานสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” ใช้ชื่อภาษอังกฤษว่า Lifting Barriers to Sustainable Growth หมายถึงการยกข้อจำกัดต่างๆ เพื่อไปสู่ความเจริญเติมโต ความมั่งมีที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระยะสั้นก็ดูแลได้ ระยะยาวก็ไปด้วยดี

“อันนี้คือความตั้งใจ และพยายามหนึ่งของ ธปท. ที่จะยื่นมือไปหานักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ให้มาร่วมกันถกเถียงในเรื่องเหล่านี้”