ThaiPublica > คอลัมน์ > รถหนีภาษี

รถหนีภาษี

6 กรกฎาคม 2013


หางกระดิกหมา

รถหรูไฟไหม้ ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com
รถหรูไฟไหม้ ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com

แวบแรกที่เห็นภาพรถซูเปอร์คาร์หลายๆ ชนิดทั้งลัมโบกินี ปอร์เช เล็กซัส เฟอร์รารี ฯลฯ จอดเรียงรายกันเต็มพื้นสนามรอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในข่าวการยึดรถนั้น ชวนให้นึกว่าประเทศไทยนี้ช่างมีเศรษฐีอยู่มากมายเหลือเกิน เพราะเงินเท่าที่จำเป็นต้องมีเพื่อซื้อรถทั้งหมดในสนามนั้น อย่างน้อยก็ต้องเป็นร้อยล้านอยู่แล้ว ยิ่งตามข่าวบอกว่ารถที่หนีภาษีในลักษณะนี้ มีมาเป็นห้าปีสิบปี ก็ยิ่งทำให้เห็นความรวยอันมหึมาของเศรษฐีไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ฟังข่าวต่อไปเรื่อยๆ และทราบว่ารถเหล่านี้ล้วนแต่เป็นรถที่บริษัทผู้นำเข้าแกล้งสำแดงเป็นเท็จต่อศุลกากรเพื่อหนีภาษีอัตราที่สูง และทำให้รัฐสูญเสียรายได้นับหมื่นล้านบาทตลอดระยะยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ความเอะใจในความรวยของเศรษฐีก็กลายมาเป็นความเอะใจในความโกงแทนว่าเหตุใดการโกงจำนวนเป็นพันล้านหมื่นล้านอย่างนี้ ถึงได้ปิดเงียบมาได้นานปี จนดูเหมือนกับว่าถ้าไม่เผอิญเกิดไฟไหม้รถที่ขนรถซึ่งทำผิดกฎหมายจนนำมาสู่การตรวจสอบขยายผล เรื่องนี้ก็คงจะเงียบไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน

ตามอย่างที่ได้เคยนำเสนอไปแล้ว ผมเคยตั้งตั้งทฤษฎีเล่นๆ ว่าการคอร์รัปชันใดๆ ที่มีผลเป็นการ “ได้กระจุก เสียกระจาย” กล่าวคือมีผลประโยชน์ที่ได้จากการคอร์รัปชันตกอยู่กับคนเพียงกลุ่มเดียว ในขณะที่ผู้ที่เสียประโยชน์กระจายไปทั่วประเทศ อย่างเช่นการที่นักการเมืองโกงกินเงินภาษีจากทั้งประเทศมารวยกันอยู่ไม่กี่คนนั้น จะเป็นคอร์รัปชันที่โกงได้มากแต่กลับปิดได้เงียบที่สุด เพราะคนที่เสียประโยชน์มีอยู่มาก แต่ละคนจึงต่างเฉลี่ยความเสียหายอันมีมากไปจนเหลือแค่คนละน้อย ไม่พอให้รู้สึก ต่างกับกรณีคอร์รัปชันที่ “เสียกระจุก” ซึ่งเป็นกรณีที่มีคนเสียประโยชน์อยู่กลุ่มเดียว การเฉลี่ยความเสียหายจึงเป็นไปได้น้อย และทำให้คนที่เสียประโยชน์นั้นมักจะทนไม่ไหว และออกมาโวยจนเรื่องคอร์รัปชันแดงขึ้นมาในระยะเวลาไม่นาน

อย่างเรื่องรถหนีภาษีนี้ก็อาจจะเข้ากรณี “ได้กระจุก เสียกระจาย” เหมือนกัน กล่าวคือมีคนได้ประโยชน์อยู่เพียงกระจุกเดียว ได้แก่ หนึ่ง บรรดาผู้ซื้อรถหนีภาษีเหล่านี้ ซึ่งสามารถซื้อรถในราคาเพียงสามสิบหรือสี่สิบเปอร์เซ็นต์ของรถที่มีการเสียภาษีถูกต้อง สอง บรรดาข้าราชการหรือผู้มีอำนาจในกรมศุลกากร ซึ่งอาจได้รับค่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพื่อเอื้ออำนวยให้การหลบเลี่ยงภาษีเหล่านี้เป็นไปได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดเสียก่อน และ สาม บรรดาพ่อค้าซึ่งสามารถได้รถเหล่านี้มาขายในต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งทำให้ได้กำไรมากขึ้น

ส่วนคนที่เสียกระจายในกรณีนี้ก็กลุ่มเดิม กล่าวคือคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งแทนที่จะได้เงินภาษีศุลกากรอีกเป็นหมื่นล้านเพื่อไปพัฒนาประเทศ หรือใช้หนี้เงินกู้ต่างๆ ก็กลายเป็นว่าเสียไป และก็เสียอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวเสียด้วย ไม่เช่นนั้นเรื่องรถหนีศุลกากรนี้คงไม่ปิดเงียบมาได้นานหลายปี โดยไม่มีใครกระโตกกระตากอย่างที่เห็น

อย่างไรก็ตาม จุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือ แม้พล็อตการคอร์รัปชันนี้จะเป็นไปตามทฤษฎี “ได้กระจุก เสียกระจาย” อย่างที่ว่า แต่ยังน่าสงสัยว่าความจริงแล้ว เรื่องนี้ก็มีคน “เสียกระจุก” เหมือนกัน กล่าวคือ บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ทำถูกกฎหมายทั้งหลาย เพราะต้นทุนในการนำเข้ารถของบริษัทเหล่านี้ ก็จะต้องสูงกว่าคนที่ทำผิด และในเมื่อต้นทุนสูงก็จะต้องขายสู้ราคากับผู้ที่ทำผิดไม่ได้ด้วย คำถามคือ เหตุใดกลุ่มผู้ขายรถยนต์ที่ “เสียกระจุก” นี้จึงไม่โวยตามทฤษฎี

แต่คิดไปคิดมาผมก็รู้สึกว่าจะได้คำตอบ

สาเหตุข้อแรกก็คือ บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ทำถูกกฎหมายนั้นโวยวายเหมือนกัน แต่เสียงโวยวายนั้นไม่ได้รับความสนใจจากสื่อ หรือไม่ได้ไปถึงสังคมวงกว้าง

สอง บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ “ทำถูกกฎหมาย” เหล่านี้ เอาเข้าจริงแล้วก็ทำไม่ถูกกฎหมายเหมือนกัน ไม่ว่าจะทำในนามของบริษัทตัวเอง หรือผ่านบริษัทในเครือของตนใน “เกรย์มาร์เก็ต” โดยถ้าไม่ใช่เรื่องภาษี เรื่องการสำแดงเท็จนี้ ก็อาจเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ซึ่งท้ายที่สุดล้วนทำให้บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องเอาใจเจ้าหน้าที่ไว้มากๆ เพราะขืนไปแข็งเมือง โวยวายขึ้นมา เจ้าหน้าที่ก็จะย้อนเกล็ดกลับมาเอาเรื่องได้ง่ายๆ

ส่วนสาเหตุสุดท้ายก็คือ ต่อให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ทำถูกกฎหมายเหล่านี้ทำถูกกฎหมายทุกเรื่องทุกกรณีก็ตาม แต่ในเมื่อการจะประกอบธุรกิจในเมืองไทยนั้น จะอย่างไรก็หนีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไปไม่ได้ ดังนั้น แม้การคอร์รัปชันของข้าราชการจะทำให้ธุรกิจของตัวเองต้องเสียเปรียบบ้าง แต่สุดท้ายก็ยังดีกว่าการบั่นทอนธุรกิจของตนด้วยการทะเลาะกับศุลกากร

ดังนั้น สรุปได้ว่าคอร์รัปชันที่ “เสียกระจุก” นั้นก็อาจปิดเงียบได้เหมือนกัน หากว่ากระจุกที่เสียตั้งใจจะให้มันเป็นอย่างนั้น ซึ่งน่าโล่งใจว่านี่ก็ยังไม่ถึงกับขัดกับทฤษฎี “ได้กระจุก เสียกระจาย” ของผมเสียทีเดียว

จะไม่โล่งใจอย่างเดียวก็คือ ถ้านักคอร์รัปชันยังทำตามทฤษฎีอย่างนี้ไปได้เรื่อยๆ อีกไม่นานก็เห็นทีเราจะต้องกินแกลบกันโดยไม่ทันได้รู้ตัว

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “โกงกินสิ้นชาติ” โดย หางกระดิกหมา น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน 2556