ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้นำโกง-ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (2)

ผู้นำโกง-ตามล่าขุมทรัพย์เจ้าทะเลทรายกัดดาฟี (2)

2 กรกฎาคม 2013


รายงานโดย-อิสรนันท์

Muammar Gaddafi ที่มาภาพ : http://nationalpostnews.files.wordpress.com
Muammar Gaddafi ที่มาภาพ: http://nationalpostnews.files.wordpress.com

หนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทมส์ สื่อยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการตามล่าหาขุมสมบัติของพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี รายงานว่า จากการประเมินล่าสุด เชื่อว่ากัดดาฟีและครอบครัวมีอภิมหาสมบัติรวมกันกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าที่รัฐบาลตะวันตกเคยประเมินก่อนหน้านี้ถึง 2 เท่า จากเดิมที่คาดว่ามีราว 100,000 ล้านดอลลาร์

กรุมหาสมบัติ นี้ถ้านำไปแบ่งให้กับชาวลิเบียทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 6.5 ล้านคนแล้ว แต่ละคนจะได้เงินโบนัสก้อนพิเศษถึงคนละ 30,000 ดอลลาร์ ถ้าหากมีหลักฐานยืนยันว่าตัวเลข 200,000 ล้านดอลลาร์ นี้มีมูลความจริง เท่ากับว่ากัดดาฟีเป็นผู้นำที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในโลก มีทรัพย์สินมากกว่าทรัพย์สินของบรมเอกอัครมหาเศรษฐีโลกผู้มั่งคั่งรวยที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ คาร์ลอส สลิม ชาวเม็กซิโก, บิล เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกรวมกันเสียอีก

ลอสแอนเจลิสไทมส์รายงานด้วยว่า กัดดาฟีได้แอบซุกซ่อนมหาสมบัตินี้ตามที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกเพื่อเตรียมไว้ใช้ในยามที่ก้าวลงจากหลังเสือ โดยการซุกซ่อนนี้ทำในรูปของบัญชีลับของธนาคารยักษ์ใหญ่ หรือในรูปการลงทุนในประเทศใหญ่ๆ เกือบทุกประเทศ หรือในรูปของการถือครองอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ถือเป็นทำเลทองของประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก รวมไปถึงตะวันออกกลาง เอเชียอาคเนย์ และแอฟริกาใต้ ที่อดีตผู้นำลิเบียและครอบครัวได้แอบซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในธนาคารและบริษัทรักษาความปลอดภัย 4 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 30,400 ล้านบาท) ทั้งในรูปของเงินสด ทองคำ และเพชรพลอย

แหล่งข่าวระดับสูงของลิเบียหลายคนยอมรับว่าถึงกับอึ้งไปพักใหญ่ เมื่อเพิ่งรู้ว่ากัดดาฟีอาจจะมีทรัพย์สินมากถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ เชื่อว่าส่วนใหญ่มาจากการทุจริตเงินจากกองทุนสำรองน้ำมันแล้วนำไปซุกซ่อนในประเทศต่างๆ ในนามของสถาบันต่างๆ ของรัฐ อาทิ ธนาคารกลางลิเบีย การส่งเสริมการลงทุนแห่งลิเบีย ธนาคารต่างชาติในลิเบีย บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย และการลงทุนลิเบีย-แอฟริกา ภายใต้เงื่อนไขว่ากัดดาฟีและสมาชิกในครอบครัวสามารถเคลื่อนย้ายเงินเหล่านั้นในเวลาใดก็ได้และก้อนใหญ่ขนาดไหนก็ได้ตามที่ต้องการ ทั้งๆ ที่ลิเบียในช่วงนั้นต้องการเงินทุนก้อนใหญ่เพื่อใช้ในโครงการเร่งรัดการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมไปถึงการสร้างโรงเรียน และโรงพยาบาล

ด้านคณะกรรมการสอบสวนและติดตามเส้นทางการเงินของกัดดาฟี ทั้งที่เป็นชาวอเมริกัน ยุโรป และลิเบีย หลายคนเชื่อว่า ตลอดช่วง 4-5 ปี ก่อนหน้าที่ชาวลิเบียจะลุกฮือล้มรัฐบาลที่ยึดครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมานานถึง 42 ปี และก่อนที่ “พี่ชายผู้นำแห่งการปฏิวัติ” จะถูกสังหารดับอนาถเยี่ยงสุนัขข้างถนนเมื่อเดือนตุลาคม 2554 กัดดาฟีซึ่งต้องการจะคืนดีและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับปรกติกับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกจึงยอมยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ได้แอบโยกย้ายเงินมากผิดปรกติราว 168,000 ล้านดอลลาร์ ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในแดนอินทรีอเมริกาในนามของรัฐบาลลิเบียมากถึง 37,000 ล้านดอลลาร์ ไม่นับรวมการซุกซ่อนเงินอีกราว 30,000 ล้านดอลลาร์ในประเทศตะวันตกและประเทศแถบแอฟริกา รวมแล้วอาจจะมากถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งการลงทุนในรูปของทองคำสำรองมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่เก็บไว้ในประเทศ ซึ่งเชื่อว่าเตรียมนำมาใช้ในกรณีที่รัฐบาลตริโปลีกำลังถูกคุกคาม

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของตะวันตกยังเชื่อด้วยว่า กัดดาฟีและคนสนิทได้พยายามโยกเงินสดกลับเข้าประเทศเพื่อใช้จ่ายระหว่างเกิดสงครามกลางเมือง โชคดีที่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติได้ลงมติเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ให้อายัดเงินของรัฐบาลลิเบียรวมมูลค่าราว 150,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันที่ฝากในบัญชีธนาคารต่างชาติ และยังครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินส่วนตัวของชาวลิเบีย 13 คน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 6 คน รวมไปถึงธนาคารกลางลิเบียและครอบครัวกัดดาฟี

จากมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำให้ทำเนียบขาวสามารถอายัดทรัพย์สินของลิเบียจำนวน 32,000 ล้านดอลลาร์ ที่ฝากไว้ในธนาคารหลายแห่ง ก่อนที่กัดดาฟีหรือตัวแทนจะสามารถเคลื่อนย้ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้ทัน เช่นเดียวกับรัฐบาลฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และเยอรมนี ที่ได้ร่วมกันอายัดเงินได้อีกอย่างน้อย 30,000 ล้านดอลลาร์ โดยรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ประกาศหลังจากเพิ่งอายัดทรัพย์ของฮอสนี มูบารัก อดีตผู้นำอิยิปต์เพียง 2 สัปดาห์ว่า ได้อายัดทรัพย์ของกัดดาฟีและคนสนิท 26 คน โดยก่อนหน้านั้น หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า กัดดาฟีได้ฝากเงินในบัญชีลับธนาคารในสวิสรวมกันอย่างน้อย 416 ล้านดอลลาร์หรืออาจจะมากถึงพันล้านดอลลาร์

ส่วนอิตาลีได้อายัดทรัพย์ของครอบครัวกัดดาฟี 1,100 ล้านยูโร หรือ 1,460 ล้านดอลลาร์ หลังจากสืบพบว่ากัดดาฟี กับซาอีฟ อัล อิสลาม ลูกชายคนโปรดซึ่งถูกจับเมื่อปลายปี 2554 และถูกจองจำอยู่ลิเบีย และอับดุลเลาะห์ เซนุสซี อดีตผู้อำนวยการข่าวกรอง ผู้ซึ่งเป็นน้องเขยของกัดดาฟี ที่ถูกจับที่มอริตาเนียและถูกส่งตัวกลับไปที่ลิเบีย เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง อาทิ หุ้นของสโมสรฟุตบอลชื่อดังจูเวนตุส หุ้นบริษัทน้ำมันยูนิ หุ้นบริษัทฟินเมคคานิคา และบริษัทผลิตรถยนต์เฟียต รวมทั้งคฤหาสน์หรูของกัดดาฟีบนเนื้อที่ 150 เอเคอร์ บนเกาะแห่งหนึ่งกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผู้อพยพยและผู้ลี้ภัยจากลิเบียจะต้องผ่านหากจะแอบลักลอบเข้าไปยังยุโรป และรถฮาร์เลย์-เดวิดสันอีก 1 คัน

นอกจากนี้ อิตาลียังได้อายัดดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารยูนิเครดิตมูลค่ากว่า 600 ล้านยูโร หรือราว 502 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากอายัดแฟลตหลังหนึ่งบริเวณใจกลางกรุงโรม แต่ยังแยกแยะไม่ได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นของกัดดาฟี หรือของลูกชายคนโปรด หรือของน้องเขย

ขณะที่อียูได้อายัดทรัพย์ส่วนบุคคลของชาวลิเบีย 27 คน เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 48 คนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกัดดาฟี โดยให้เหตุผลการยึดทรัพย์ครั้งนี้ว่าเป็นไปตามคำขอของศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี หลายประเทศในแอฟริกาไม่ยอมทำตามมติของสหประชาชาติเนื่องจากมีความสัมพันธ์อันดีกับกัดดาฟี ประกอบกับเกรงว่าการอายัดเงินก้อนนั้นจะส่งผลประทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ

ช่วงเดียวกันนั้น เว็บไซต์ฟ็อกซ์ นิวส์ ของรูเพิร์ต เมอร์ด็อก ราชาสื่อโลกรายงานว่า ระหว่างที่ผู้นำทำเนียบขาวกำลังเตรียมการจะอายัดทรัพย์สินของกัดดาฟีที่ลงทุนอยู่ในแดนดินถิ่นอินทรี ปรากฎว่า “หมาบ้าแห่งตะวันออกกลาง” ตามที่อดีตโคบาลเฒ่าโรนัลด์ เรแกน ให้สมญา กลับได้กลิ่นข่าวไวกว่าจึงรีบโยกย้ายทรัพย์สินออกจากประเทศนั้นทันที โดยโยกเงินสดราว 4,800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.44 แสนล้านบาท ) ออกจากสหรัฐฯ ไปเข้าบัญชีของสำนักงานบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลของเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ผ่านตัวแทนในสวิตเซอร์แลนด์ โดยใช้เวลาแค่สัปดาห์เดียวศึกษาลู่ทางการลงทุนผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้นในอังกฤษ

แต่ความมาแตกเมื่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้นแห่งนั้นพบความไม่ชอบมาพากลของแหล่งที่มาของเงิน จึงปฏิเสธตัวแทนของกัดดาฟี โดยให้เหตุผลตรงไปตรงมาว่าไม่ถนัดที่จะทำธุรกิจกับทรราชย์มือเปื้อนเลือด พร้อมกับแนะนำให้ไปลงทุนที่บริษัทอื่นแทน

ส่วนที่อังกฤษ ศาลสูงได้ตัดสินให้คืนบ้านหรูราคา 16 ล้านดอลลาร์ หลังหนึ่งในเขตหรูหราทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ที่เคยเป็นของซาดี ลูกชายคนหนึ่งของกัดดาฟี ให้รัฐบาลลิเบีย ซึ่งประสบความสำเร็จเมื่อสามารถอ้างสิทธิเหนือบ้านหรูแห่งนั้น โดยให้เหตุผลง่ายๆ ว่าซาดีเป็นเพียงนายทหารระดับผู้บัญชาการทหารประจำกระทรวงกลาโหม กินเงินเดือนประจำซึ่งไม่มากพอที่จะซื้อบ้านหรูราคาแพงหลังนี้ได้ แม้ว่าอาจจะมีรายได้พิเศษในช่วงที่เป็นอดีตนักบอลอาชีพของทีมสโมสรอิตาลีแต่ก็ไม่นานนัก

ปัจจุบันเชื่อว่าซาดีถูกกักบริเวณในบ้านพักในประเทศไนเจอร์ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศที่ประสบวิกฤติจากอาหรับสปริงสามารถตามทวงคืนสมบัติของแผ่นดินได้ ความสำเร็จครั้งนี้อาจเปิดช่องทางให้สามารถตามคืนบ้านหรูอีกหลังหนึ่งของซาดีในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดาในภายหลัง