ThaiPublica > คอลัมน์ > ใบอนุญาตโรงงาน

ใบอนุญาตโรงงาน

10 กรกฎาคม 2013


หางกระดิกหมา

หลายวันก่อนได้อ่านข่าวเกี่ยวกับใบอนุญาต รง.4 แล้วก็รู้สึกว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

สำหรับผู้ที่อาจไม่ได้ตามข่าว เนื้อเรื่องพอจะเล่าหยาบๆ ได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้ รัฐได้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการออกใบอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือใบอนุญาต รง. 4 ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบัน หากเอกชนต้องการจะสร้างโรงงานบางประเภทที่กฎหมายกำหนด ก็จำเป็นจะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะไปเปิดโรงงานไม่ได้

เรื่องนี้ ถ้ามองเหตุผลในแง่ของรัฐก็คือต้องการจะเพิ่มความรัดกุมในการออกใบอนุญาต จะได้ไม่มีปัญหาว่าสร้างโรงงานไปแล้วไม่ได้มาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือไปสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ให้ต้องมีการประท้วงวุ่นวายในภายหลัง ซึ่งก็ดูจะเป็นเจตนาที่ดี

อย่างไรก็ดี หากหันไปฟังทางเอกชนก็จะพบว่า อย่างดี เอกชนก็เห็นว่าขณะกรรมการกลั่นกรองฯ นี้เป็นกลไกที่รัฐสร้างขึ้นมาให้รกรุงรัง เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจเปล่าๆ เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนหลายโรง ซึ่งมาติดแหง็กอยู่ที่ขั้นขอใบอนุญาต รง.4 เลยเริ่มเปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าไม่ได้เสียที จนทำท่าว่าจะต้องผิดสัญญากับคนที่มาขอซื้อไฟฟ้าไว้ อันอาจทำให้ถูกปรับหรือถูกเลิกสัญญาได้ง่ายๆ เป็นต้น

ส่วนพวกที่มองในแง่ร้ายกว่านี้ ยิ่งฟันธงไปเลยว่าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ นั้นตั้งขึ้นมาไว้ “กิน” ทีเดียว กล่าวคือ มองว่าคงมีผู้อำนาจสักคนอยากได้รายได้เสริม ดังนั้น พอครึ้มอกครึ้มใจมากๆ เข้า ก็เลยตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ขึ้นมาเหมือนตั้งด่านเก็บค่าทางด่วน ใครอยากได้ใบอนุญาตก็ต้องจ่ายเงินเสียก่อน ไม่เช่นนั้นก็เชิญรอและเสี่ยงที่จะประกอบธุรกิจไม่ได้ไปเอง

มุมมองเหล่านี้ ไม่ว่าแง่ดีแง่ร้าย รัฐจะมองข้ามไปไม่ได้เสียทีเดียว

เพราะรัฐต้องยอมรับว่า ข้อแรก กลไกนี้จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ในมุมหนึ่งนั้น อย่างไรกลไกนี้ก็ถือเป็น “ต้นทุน” กับเอกชน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเงินทอง เวลา หรือทรัพยากรอื่นๆ ที่เอกชนต้องใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตนั้น โดยต้นทุนเหล่านี้ แม้จะดูเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจของเอกชนได้อย่างมาก กล่าวคือ ทำให้เอกชนไม่ค่อยอยากจะขยายหรือเปิดธุรกิจใหม่เพราะเห็นว่ามันยุ่งยาก ยิ่งเอกชนต่างประเทศซึ่งมีประเทศอื่นๆ ให้เลือกไปลงทุนเยอะแยะนั้น ยิ่งจะพลอยไม่เห็นเหตุผลว่าจะมาลงทุนเมืองไทยทำไมเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพบริษัทหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจปรับลดเงินลงทุนสร้างโรงงาน จาก 220 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 190 ล้านบาท เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าเกณฑ์ที่จะต้องขออนุญาต ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า กลไกควบคุมต่างๆ ของรัฐนั้นมีผลเป็นการทำลายแรงจูงใจในการประกอบธุรกิจของเอกชนได้มากขนาดไหน

ข้อสอง มองในแง่รัฐเอง ในเมื่อก่อนจะมาถึงขั้นใบอนุญาต รง. 4 ปกติเอกชนเขาจะต้องขออนุญาตก่อสร้างโรงงานจากส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว การที่รัฐตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาต รง. 4 ซ้อนขึ้นมา รัฐจึงต้องถามตัวเองว่ามีเหตุผลสมควรหรือไม่ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่ารัฐตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ขึ้นมาเพียงเพื่อให้ซ้ำซ้อนกับกลไกอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว อันเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับตัวรัฐเอง โดยไม่ได้สร้างประสิทธิภาพอะไรเพิ่มขึ้น

ข้อสาม หากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอย่างที่เอกชนบางส่วนเชื่อจริง กล่าวคือ ถ้าคณะกรรมการใช้ “ดุลพินิจ” ให้อนุญาตกับคนที่ยอมจ่ายสินบน และไม่ให้อนุญาตแก่คนที่ไม่จ่าย ก็จะเท่ากับว่าคณะกรรมการนี้เองเป็นตัวปัญหาสำคัญของประเทศ เพราะทางหนึ่ง คณะกรรมการที่ทุจริตย่อมกีดกันไม่ให้เอกชนซึ่งแท้จริงแล้วมีความสามารถ มีทรัพยากร มีความพร้อม และทำถูกกฎหมายทุกอย่างเข้าประกอบธุรกิจได้ เพียงเพราะเอกชนนั้นไม่ยอมจ่ายสินบน

ยิ่งกว่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากเอกชนใด ยอมจ่ายสินบน คณะกรรมการก็อาจออกใบอนุญาตให้กับเอกชนนั้นได้เช่นกัน แม้ว่าจริงๆ แล้วเอกชนนั้นอาจไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดเลยก็ตาม ทำให้สุดท้าย พอเอกชนพวกหลังนี้สร้างโรงงานออกมา ก็จะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และต้องถูกชาวบ้านประท้วง ไม่ต่างกับสมัยก่อนที่มีคณะกรรมการกลั่นกรองนั่นแหละ เลยเป็นอันว่าคณะกรรมการกลั่นกรองนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่ตัวถูกตั้งขึ้นมาให้แก้แต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังกลายเป็นตัวปัญหาเสียเองอีก

อย่างไรก็ตาม น่าดีใจว่าดูเหมือนรัฐจะไม่ได้มองข้ามประเด็นเหล่านี้เสียทีเดียว เพราะข่าวล่าสุดนั้นเห็นว่ามีการปรับลดบทบาทของคณะกรรมการกลั่นกรองลง จากที่มีอำนาจออกใบอนุญาตโรงงาน 7 ประเภท ก็เหลือเพียง 2 ประเภท และยังมีการปรับกระบวนการให้คล้าย Service Level Agreement มากขึ้นอีก คือบอกว่ารัฐจะทำอะไร ในระยะเวลาเท่าไหร่ และยังมีระบบออนไลน์ให้ผู้ขออนุญาตติดตามได้ว่าคำขออนุญาตของตนได้รับการดำเนินการอยู่ในขั้นไหน อย่างไร โดยเจ้าหน้าที่คนใด นอกจากนั้น ถ้าพบเรื่องไม่ชอบมาพากลก็มีศูนย์ฮอตไลน์รับร้องเรียนอีกต่างหาก นับว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าเดี๋ยวนี้รัฐจริงจังกับการต่อสู้กับคอร์รัปชันขึ้นมาก

บางที อะไรๆ ในเมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นบ้างกระมัง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2556